มีใครรู้จัก ‘ร้านหนังสือใต้ดิน’ ที่ชั้น 2 ของโรงภาพยนตร์สยามบ้างไหมครับ

สำหรับนักอ่านจำนวนหนึ่ง ร้านหนังสือใต้ดินคือที่รวมของหนังสือที่มักจะหาไม่เจอในร้านหนังสือทั่วไป เป็นพื้นที่ของหนังสือทำมือซึ่งเป็นกระแสอยู่ช่วงหนึ่ง เป็นสถานที่พบปะพูดคุยของบรรดานักคิด-นักเขียน รวมทั้งเป็นที่รวมของนักเรียนกางเกงขาสั้นจำนวนไม่น้อยที่เบื่อหน่ายห้องเรียน

ผมไปที่ ‘ร้านหนังสือใต้ดิน’ ครั้งแรกในช่วงปลายปี 2547 พบเด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งแวะเวียนไปนั่งเล่นที่ร้านอยู่บ้าง แต่ไม่เคยได้พูดคุยกัน และเอาเข้าจริง ผมก็มองพวกเขาเป็นแค่เด็กบ้านรวยหนีเรียนซึ่งหาที่จับกลุ่มสูบบุหรี่เพียงเท่านั้น

‘มาร์วิน-ธนธัช ไตรรัตน์วงศ์’ คือหนึ่งในนักเรียนชั้นมัธยมปลายที่อาศัยร้านหนังสือใต้ดินเป็นที่ ‘ซ่องสุม’ เขาไปที่นี่เพราะพี่เจ้าของร้านอนุญาตให้เขาและเพื่อนๆ สูบบุหรี่ และที่นี่ก็ช่วยนำทางให้เขาได้รู้จักกับวาด รวี, ปราบดา หยุ่น, วรพจน์ พันธุ์พงศ์, ชาติวุฒิ บุณยรักษ์, บินหลา สันกาลาคีรี, ชาติ กอบจิตติ, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, นิตยสาร open และหนังสืออีกมากมายที่เขาไม่เคยรู้จักมาก่อน

ปลายปี 2547 เราคงเดินสวนกันอย่างน้อยหนึ่งครั้งตรงที่ใดที่หนึ่งบริเวณโรงภาพยนตร์สยาม และร้านหนังสือใต้ดินก็ปิดตัวลงหลังจากผมไปที่นั่นครั้งแรกได้ไม่นาน

ปลายปี 2560 โรงภาพยนตร์สยามหลงเหลือเพียงพื้นที่ในความทรงจำของคนจำนวนหนึ่ง แต่ผมกับมาร์วินก็โคจรกลับมาพบกันอีกครั้ง

หลังจากนั่งคุยกันเกือบสองชั่วโมง มาร์วินบอกว่าเขาหนีเรียนไปเดินสยามพร้อมกับกระดานวาดรูปเป็นประจำ ซึ่งผมก็จำได้ว่าเคยเห็นเด็กนักเรียนบางคนไปที่ร้านหนังสือใต้ดินพร้อมกับกระดานวาดรูป

“ที่นี่เป็นที่พักผ่อนของหัวใจ” และ “ผมผ่านชีวิตช่วง ม.ปลายมาได้เพราะร้านนี้แหละ” มาร์วินบอกกับผมแบบนี้

วันนี้ เขาคือโปรดิวเซอร์แห่งฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์ของบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) หน้าที่ของเขาคือการดูแลภาพรวมของรายการที่อยู่ในความรับผิดชอบ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ปริศนาฟ้าแลบ รายการควิซโชว์ซึ่งคงมีคนไทยน้อยคนที่ไม่รู้จัก

ก่อนทำงานกับเวิร์คพอยท์ คุณทำอะไรมาบ้าง

ผมเรียนจบสถาปัตย์ ธรรมศาสตร์ แต่ไม่ชอบสถาปัตย์เสียทีเดียว ผมรู้ตัวเองว่าอาจจะไม่เหมาะกับระบบการคิดแบบนั้นแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนเรียนก็เลยชอบไปเล่นที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จริงๆ คือไปจีบหญิง สาวศิลปกรรมฯ เขาสวย เราก็ไปเล่นที่คณะของเขา พอเขารู้ว่าเราเป็นเด็กสถาปัตย์ เขาก็ “ทำฉากให้หน่อย ช่วยดูไฟให้หน่อย” ก็เลยเถิดไปจนถึงขั้นชวนผมไปเล่นละคร

ผมเรียนสถาปัตย์ ธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 7 ตอนนั้นละครคณะเพิ่งเคยมีครั้งเดียว พอไปขโมยวิชาของเขามา ผมก็เลยทำละครคณะ จากนั้นก็เลยเริ่มสนใจเกี่ยวกับเรื่องบันเทิง แต่ด้วยความที่เรียนสถาปัตย์ ก็ต้องเรียน บันเทิงมากไม่ได้ เป้าหมายคือต้องเรียนให้จบ ผมเลยบูรณาการระหว่างสถาปัตย์กับบันเทิง ตอนทำละครคณะ ผมเป็นผู้กำกับฯ ตอนนั้นก็เริ่มสนใจเรื่องไฟ เรื่องการออกแบบแสงสว่าง จากนั้นก็เลยทำงานออกแบบแสงสว่าง

หลังจากเรียนจบ ผมทำงานออกแบบแสงอยู่หนึ่งปี ระหว่างนั้นก็ทำงานคอนเสิร์ตเป็นงานนอก งานแรกของผมคือ Big Mountain Music Festival ปีที่สอง งานใหญ่มาก เพื่อนรุ่นพี่ที่รู้จักกันเขาโยนให้ทำเวทีหนึ่ง ป๋าเต็ด (ยุทธนา บุญอ้อม) เขาบอกว่า “เอ็งจบสถาปัตย์ ลองทำดู” ผมก็เลยได้ทำ Big Mountain Music Festival หลังจากนั้นก็มาสมัครงานที่เวิร์คพอยท์

 

สมัครงานตำแหน่งอะไร

ครีเอทีฟ สำหรับฝ่ายผลิตรายการทีวี ที่เวิร์คพอยท์เริ่มต้นที่ตำแหน่งครีเอทีฟ ก็ทำรายการทีวีทั่วไป ผมโชคดีที่รายการแรกที่ได้ทำคือ หนูน้อยกู้อีจู้ เป็นรายการเด็ก แต่สิ่งที่ผมรู้สึกว่ามันมีค่าที่สุดสำหรับผมในตอนนั้นคือพิธีกรของผมคือปัญญา นิรันดร์กุล ผมคิดว่าข้อดีของการได้ทำงานกับคนเก่งคือมันทำให้เรารู้ว่าเรากระจอกมาก

ตอนนั้นอายุประมาณ 22-23 ผมเข้ามาเป็นลูกน้องในทีม ก็ได้ทำหน้าที่พื้นฐานทั้งหมด ผมทำ หนูน้อยกู้อีจู้ ได้ปีเดียว แล้วก็โชคดีได้ทำอีกรายการที่คุณปัญญาเป็นพิธีกร คือ ยกสยาม

 

คิดว่าเวิร์คพอยท์รับคุณเข้าทำงานเพราะอะไร

ผมคิดว่าเราน่าจะทำอะไรหลายอย่างตั้งแต่สมัยเรียน การเรียนจบสถาปัตย์ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ผมจะชอบวิชาที่ได้ลงมือปฏิบัติ วิชาพวกนี้เกรดจะดีหน่อย แต่พอเป็นวิชาเกี่ยวกับทฤษฎี เกรดจะห่วยและเน่าหนอน ประกอบกับตอนเรียนกินเหล้าเยอะด้วยมั้ง การใช้เวลากับการสังสรรค์หรือการทำกิจกรรม มันทำให้เราได้คุยกับคนที่หลากหลาย ธรรมศาสตร์มีกิจกรรมให้ทำเยอะ มันจึงทำให้เราได้เจอคนที่หลากหลาย

ตอนที่สัมภาษณ์ เขาก็ถามแบบกว้างๆ เช่น ดูหนังล่าสุดเรื่องอะไร ฟังเพลงล่าสุดเพลงอะไร เล่นกีตาร์เป็นไหม เล่นเครื่องดนตรีอะไรเป็นบ้าง เคยไปดูหนังเรื่องนี้ไหม อ่านการ์ตูนหรือเปล่า เพราะการทำทีวีมันคือการสื่อสารกับคนหมู่มาก เราไม่ได้ทำหนังสั้นไว้ดูเอง แต่เราทำอะไรสักอย่างหนึ่งเพื่อให้คนส่วนมากดู เพราะฉะนั้น เขาก็เลยอยากจะรู้ว่าคุณอ่าน คุณเห็น หรือคุณทำอะไรมาบ้าง

ประสบการณ์ตอนที่เริ่มต้นทำรายการช่วงแรกเป็นอย่างไรบ้าง

ตอนที่ทำรายการ หนูน้อยกู้อีจู้ มันเพ้อสุดๆ มันคือจินตนาการของเด็ก เด็กคิด เด็กพูด เด็กเห็นอะไร เขาก็พูดออกมา แต่พอมาทำรายการ ยกสยาม ข้อดีของการได้ทำรายการนี้คือ ยกสยาม เป็นเรื่องของข้อเท็จจริง เป็นเรื่องประวัติศาสตร์ ซึ่งเราต้องค้นข้อมูล และสิ่งสำคัญสำหรับเด็กน้อยที่ทำงานปีที่สองคือได้เจอกับคุณปัญญาในเวอร์ชันที่จริงจังกับเรื่องข้อมูล มันจึงทำให้เราต้องทำการบ้านอย่างหนัก และความโหดคือรายการออกอากาศห้าวัน จากที่เคยทำรายการออกอากาศวันเสาร์-อาทิตย์ สองเทปต่อสัปดาห์ กลายเป็นมาทำห้าวัน ตอนนั้นผมรู้สึกว่าต้องใช้พลังเยอะมาก แต่ก็สนุกดี แล้วก็ผ่านมันมาได้

พอปีที่สาม หัวหน้าก็ให้โอกาส ได้ไปทำรายการที่เพี้ยนรายการหนึ่ง คือ เกมเผาขน น้าเน็ก (เกตุเสพย์สวัสดิ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) เป็นพิธีกร ซึ่งมีช่วงหนึ่งที่ถือว่าดังในยุคนั้น คือช่วง ‘ฮา-รู-ฟรึ่บ’ ให้คนมาเล่าเรื่องตลกบนรู ถ้าเล่าแล้วไม่ตลก คุณจะร่วงลงไปในรู นี่เป็นรายการแรกในประเทศไทยที่มีคนหล่นลงไปในรู

ไอเดียของรายการ เกมเผาขน มันเกิดจากการนั่งคุยกับพี่ที่ออฟฟิศ ก็คุยกันว่าช่วงนั้นบริษัทมีแต่รายการเครียดๆ อย่าง ยกสยาม หรือ แฟนพันธุ์แท้ เรามาทำรายการที่เฮฮาไร้สาระกันไหม เอาฮาอย่างเดียว และด้วยความที่ตอนอยู่สถาปัตย์ผมเป็นคนขี้แกล้งขี้อำคนอื่น ก็เลยเล่าให้พี่เขาฟังว่าสมัยเรียนเราชอบแกล้งชอบอำคนอื่น ก็เลยได้ไอเดียว่าถ้าอย่างนั้นทำรายการเกี่ยวกับการแกล้งคน เป็นรายการง่ายๆ เลย อย่างช่วง ‘ผ่อนเผาขน’ ก็ท้าเลยว่าถ้าขอเบอร์สาวในร้านกาแฟได้สามคน เอาเงินไปเลย หรือถ้าทำให้ตำรวจจับได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีอะไรก็ตาม เอาเงินไปเลย อะไรแบบนี้

แต่รายการต่อมาซึ่งทำให้ผมได้เติบโตจริงๆ ที่เวิร์คพอยท์คือมีลูกค้าเจ้าหนึ่งมาซื้อรายการ คือเอสซีจี (บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)) ปีนั้นเอสซีจีครบรอบ 100 ปี เขาก็อยากจะทำรายการ และเขาก็มาจับมือกับเวิร์คพอยท์ ตอนนั้นต้องเรียกว่าถูกที่ถูกจังหวะ คือพอจะมีรายการเกี่ยวกับบ้าน ผู้ใหญ่เขาก็บอกว่า “ไอ้นี่ไง ไอ้มาร์วินไง มันจบสถาปัตย์” ซึ่งจริงๆ แล้วผมเป็นเด็กสถาปัตย์ที่กากมาก คำว่ากากคือไม่ได้ตั้งใจเรียน แต่เราก็พอมีพื้นฐานผ่านหูผ่านตามาบ้าง ผู้ใหญ่ก็เลยโยนรายการนี้ให้ผมรับผิดชอบ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรายการที่ผมรับผิดชอบมันอย่างเต็มตัว ชื่อว่ารายการ บ้านเจ้าปัญญา

การใช้เวลากับการสังสรรค์หรือการทำกิจกรรม มันทำให้เราได้คุยกับคนที่หลากหลาย ธรรมศาสตร์มีกิจกรรมให้ทำเยอะ มันจึงทำให้เราได้เจอคนที่หลากหลาย

 

ยากไหมสำหรับการดูแลรายการเต็มตัวเป็นครั้งแรก

ข้อดีของการได้รับผิดชอบรายการอย่างเต็มตัวครั้งแรก จากที่เคยเป็นเด็กที่อยู่ในโซนปลอดภัย มีหัวหน้า มีพี่คนนี้คนนั้นช่วยรับผิดชอบ ช่วยตัดสินใจ ผมทำงานมาได้สามปี อยู่ดีๆ ก็ได้รับผิดชอบรายการหนึ่งรายการ ได้ตั้งทีมของตัวเอง ก็เลยรู้สึกว่ามันยิ่งใหญ่ มันทำให้เราโตแบบก้าวกระโดด อารมณ์เหมือนโดนถีบตกน้ำ พอตกน้ำ ถ้ามึงอยากมีชีวิตรอด มึงต้องตีขาให้เป็น แล้วการทำรายการกับลูกค้ามันยิ่งกว่าการทำรายการสักรายการหนึ่ง เพราะเราต้องคุยกับลูกค้า ต้องคุยกับผู้ใหญ่ในบริษัท และต้องคุยกับตัวเองว่าทิศทางของรายการควรจะไปทางไหน

ผมทำรายการ บ้านเจ้าปัญญา ได้หนึ่งปี แต่เป็นหนึ่งปีที่สนุกมาก และเป็นประสบการณ์ที่ทำให้ผมรู้สึกว่าเราโตขึ้นจริงๆ

หลังจากนั้นก็ทำรายการมาเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นโชคดีของตัวเองคือผมรู้สึกว่าการทำรายการทีวีมันทำให้เรารู้ลึกในเรื่องนั้นๆ อย่างตอนที่ทำรายการเด็ก เราก็ต้องรู้จักเด็ก ทำรายการ ยกสยาม เราก็ต้องรู้ข้อมูลที่แท้จริง ทำรายการเกี่ยวกับบ้าน การแกล้งคน หรือเกมโชว์แบบ My Man Can แฟนฉันเก่ง เราก็ต้องคิดว่าเล่นเกมยังไงถึงจะสนุก ถึงจะตลก เราต้องเอาจุดประสงค์ของแต่ละรายการมาถอดรหัสว่ารายการนี้ต้องการและไม่ต้องการอะไร

หลังจากทำงานได้ 4-5 ปี เวิร์คพอยท์ก็จะมีช่องทีวีเป็นของตัวเอง ซึ่งโจทย์จากผู้ใหญ่คือจะทำรายการอะไรที่จะเป็นธงนำของเวิร์คพอยท์ ช่วงนั้นแกรมมี่ก็จะมีช่อง อาร์เอสก็จะมีช่อง ไทยรัฐก็จะมีช่อง แล้วเวิร์คพอยท์จะมีอะไร แน่นอนว่าเรามีหม่ำ เท่ง โหน่ง เรามีปัญญา นิรันดร์กุล เราจะใช้ตรงนี้แหละในการบอกว่าเวิร์คพอยท์จะมีช่องแล้วนะ

ตอนนั้นเราก็ถามกันเองว่าเราควรจะทำรายการประเภทไหน ซึ่งก็ต้องขอบคุณคนดูที่เขาบอกเสมอว่าเวิร์คพอยท์โตมาจากเกมโชว์ ถ้าควิซโชว์ต้องเวิร์คพอยท์ เราก็เลยคิดว่าต้องกลับไปหารากเหง้าของเรา

ในชั่วโมงนั้นเมื่อ 3-4 ปีที่แล้ว เราก็เลยคิดว่าจะทำรายการเกมโชว์ให้ปัญญา นิรันดร์กุล หลังจากที่ช่วงนั้นเกมโชว์ในประเทศไทยมันตายไปแล้ว

รายการ ปริศนาฟ้าแลบ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ตอนที่เริ่มคุยกัน ในขั้นต้นผมไม่ได้คุยแน่นอน เพราะในขั้นต้นจะเป็นบอร์ดบริหารคุยกัน เสร็จแล้วก็จะเป็นการตกผลึกแบบย่อยๆ คือเมื่อหัวหน้าแต่ละคนได้รับมอบหมายหรือได้รับคำสั่งจากพี่ตา (ปัญญา นิรันดร์กุล) พี่จิก (ประภาส ชลศรานนท์) หรือเขามีไอเดียอะไรจากการประชุม เราก็จะมาคุยกันวงย่อยๆ

ตอนนั้นพี่จิกกับพี่เจมส์ (เทพฤทธิ์ วงศ์วาณิชวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตรายการโทรทัศน์) หัวหน้าของผม มีไอเดียว่าเราจะทำรายการควิซโชว์ ทุกคนก็ช่วยกันคิดว่าจะทำรายการอะไรดี จนกระทั่งได้มารายการหนึ่ง ก็เอาไปเสนอ วันนั้นก็นัดเสนอพี่ตาในห้องประชุม พี่ตาแกก็ดู แล้วแกก็บอกว่า พี่ชอบนะ แต่ว่า… ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นความดีความชอบของคุณปัญญา คือแกบอกว่า พี่ว่าพี่เครียด เจอแต่รายการเครียดๆ อย่าง ยกสยาม แฟนพันธุ์แท้ หรือ ราชรถมาเกย ซึ่งเป็นรายการแบบจริงจั๊งจริงจัง พี่ตาแกอยากได้รายการควิซโชว์ที่มันง่ายๆ ถามอะไรง่ายๆ แบบ…ปลากระป๋องตราสามแม่ครัว แม่ครัวคนกลางผมสั้นหรือผมยาว ปุ๋ยตรากระต่ายบิน กระต่ายบินไปทางซ้ายหรือทางขวา อะไรประมาณนี้

 

แล้วเก้าอี้ฟ้าแลบล่ะ มีที่มาอย่างไร

ตอนนั้นทีมงานคิดรายการ ปริศนาฟ้าแลบ จนครบเป็นหนึ่งรายการแล้ว แต่ที่ยังขาดคือเก้าอี้ วันนั้นเราอยู่ที่ร้านสตาร์บัคส์ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต พี่จิกก็พูดขึ้นมาว่าตอนนี้รายการนี้มันสมบูรณ์แล้ว แต่ไม่มีอะไรให้จำ ที่บอกว่าไม่มีอะไรให้จำคือลองคิดว่าถ้ารายการมันออกอากาศ คนจะนึกถึงรายการนี้ในฐานะรายการถามตอบ ตอบคำถามเร็วๆ ตอบคำถามไร้สาระอะไรก็ไม่รู้ แต่มันไม่มีอะไรให้จำ พี่จิกแกก็ถามว่าจะมีอะไรดี วันนั้นก็ช่วยกันเสนอ ตกรูไหมพี่ ตกรูมันซ้ำแล้ว ดึงขึ้นไหมพี่ เทหนอนใส่ หรืออะไรยังไง มันก็ยังไม่ลงตัว

พอดีตอนนั้นผมเพิ่งได้ดูคลิปสวนสนุกที่ให้คนยืนแล้วก็ร่วงลงมา ผมก็เลยเสนอเก้าอี้ที่มันเลื่อนขึ้นเลื่อนลงได้ ถ้าตอบคำถามถูกก็เลื่อนเก้าอี้ขึ้นไป พอพี่จิกฟังเขาก็ “เฮ้ย น่าสนใจ ไม่เคยมี ลองคิดกันต่อซิ วันนั้นก็โทร.เรียกพี่ที่เป็นหัวหน้าทีมเทคนิคของเวิร์คพอยท์ให้ไปที่ฟิวเจอร์ฯ เพื่อช่วยกันคิดว่าหน้าตาของเก้าอี้จะเป็นยังไง แล้วก็คุยกับทีมช่าง เพราะตอนนั้นรายการใกล้จะออกอากาศแล้ว คุยวันจันทร์ถึงศุกร์แล้วมันไม่จบ พี่จิกแกก็เลยนัดวันเสาร์ “เดี๋ยวพี่เลี้ยงข้าว มาคุยกันหน่อยซิ อีกสักทีหนึ่ง” มันก็เลยเกิดเป็นเก้าอี้ฟ้าแลบขึ้นมาในรายการ ซึ่งมันก็จริงตามที่พี่จิกบอก ในรายการมันต้องมีอะไรสักอย่างที่ทำให้คนจำ

การทำรายการกับลูกค้ามันยิ่งกว่าการทำรายการสักรายการหนึ่ง เพราะเราต้องคุยกับลูกค้า ต้องคุยกับผู้ใหญ่ในบริษัท และต้องคุยกับตัวเองว่าทิศทางของรายการควรจะไปทางไหน

 

อู๋ ฟ้าแลบ เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญหรือความตั้งใจ

อู๋ ฟ้าแลบ เกิดขึ้นระหว่างถ่ายรายการ ตอนคิดเก้าอี้ฟ้าแลบ คิดอย่างดีทุกอย่าง เรื่องนี้ต้องบอกว่าข้อผิดพลาดทำให้เกิดอู๋ ฟ้าแลบ ตอนนั้นคิดกันเรียบร้อยแล้วว่าจะมีเก้าอี้ฟ้าแลบอยู่ในรายการ ออกแบบทุกอย่างเรียบร้อย แต่คนออกแบบลืมคิดว่าจะขึ้นไปนั่งเก้าอี้ยังไง ทุกอย่างสร้างเสร็จแล้วนะ เฮ้ย แล้วจะขึ้นไปนั่งยังไง เออว่ะ ลืมคิด ก็เลยต้องทำบันไดให้คนเดินขึ้นไปแล้วก็เปิดให้เข้าไปนั่งเก้าอี้ นั่นคือข้อผิดพลาดของเก้าอี้ฟ้าแลบ ตอนถ่ายรายการก็เลยต้องมีหนึ่งคนคอยเปิดให้คนเข้าไปนั่งเก้าอี้ แต่นี่คือความสุดยอดของคุณปัญญา

จริงๆ แล้วก่อนที่จะมาเป็นคุณอู๋ มีคนที่ทำหน้าที่นี้มาแล้ว 2-3 คน แต่ในช่วงแรกเราตัดช่วงเดินขึ้นเดินลงทิ้ง ตัดมาเขาก็นั่งเก้าอี้เลย แล้วก็มีอยู่วันหนึ่ง วันนั้นผมจำได้ว่าคุณอู๋เขากำลังรัดเข็มขัดให้ใครสักคน แล้วดาราคนนั้นเขาก็… “มารัดเข็มขัดอะไรของคุณเนี่ย คุณมายุ่งอะไรกับผม ผมเป็นดารานะ” คือดาราเขาก็แซว เพราะดาราที่เขามาถ่ายรายการบ่อยๆ เขาจะสนิทกับทีมงาน วันนั้นดาราเขาก็แซวคุณอู๋ ประกอบกับพี่ตาก็เล่นต่อ แล้วอู๋ก็ตอบกลับ แล้วมันก็เกิดเป็นความฮาอะไรบางอย่าง วันนั้นในห้องตัดต่อ เราก็คิดว่าควรจะตัดตรงนี้ทิ้งไหม เพราะมันเป็นช่วงที่เห็นคนคนนี้กับเห็นการเปิดปิดเก้าอี้ แต่สุดท้ายเราก็… “เอาวะ ลองดู” เพราะมันก็ฮาดี

พอเทปนั้นก็ออกอากาศก็ได้รับเสียงตอบรับดีมาก ในโลกโซเชียล คนก็บอกว่า “เฮ้ย ไอ้นี่กวนตีนดี ไอ้นี่ฮาดี” แล้วการปรากฏตัวทุกครั้งของคุณอู๋ ซึ่งคนดูรู้ว่าเขาจะมาตอนไหน ก็คือทุกครั้งที่มีการเดินขึ้นหรือเดินลง ก็กลายเป็นว่าคนจะรอดูคนนี้ และด้วยความที่เขาเป็นคนสนุกสนาน เขาก็จะมีมุกมีอะไรของเขา หรือบางทีเราก็บอกเขาผ่านอินเตอร์คอมว่า “เฮ้ย อู๋ แซวแป้ง อรจิรา หน่อย” ก็ว่ากันไป

 

ปริศนาฟ้าแลบ ต้องใช้คำถามเยอะมาก เคยตันหรือคิดคำถามไม่ออกบ้างไหม

ประจำ สัปดาห์หนึ่ง ปริศนาฟ้าแลบ ออกอากาศห้าวัน ผมเคยนั่งนับ เราต้องใช้คำถามประมาณ 200 คำถามต่อสัปดาห์ นั่นหมายความว่าหนึ่งปีมี 52 สัปดาห์ ต้องใช้ประมาณหนึ่งหมื่นคำถามต่อปี เราทำมาแล้วสามปี ตันแน่นอน คิดคำถามไม่ออกบ้าง คิดดารารับเชิญไม่ออกบ้าง

ผมเคยถามพี่จิกว่า “พี่จิก ผมคิดงานไม่ออก พี่ทำยังไง บอกผมหน่อย” แกก็บอกว่าง่ายที่สุดเลย เวลาคิดงานไม่ออกนะ กลับไปหาสัญชาตญาณ ผมก็ถามแกว่าสัญชาตญาณคืออะไรพี่ แกก็บอกว่า มนุษย์เนี่ย เกิดมา ก่อนที่เราจะคิดเป็น เรากิน เรานอน เราเต้นรอบกองไฟ เราร้องเพลง เราแหกปาก ถ้าคิดงานไม่ออก ไปเล่นกีตาร์ ไปใช้สัญชาตญาณ คิดงานไม่ออก ไปกินข้าว คิดงานไม่ออก ไปนอน เมื่อสัญชาตญาณของเราได้รับการเยียวยา ความคิดมันจะมาเอง

หลังจากประชุมเสร็จ พี่จิกจะชอบชวน “เฮ้ย เดี๋ยวไปกินข้าวกลางวันที่ฟิวเจอร์ฯ แล้วก็ไปนั่งกินกาแฟต่อที่สตาร์บัคส์ ซึ่งผมคิดว่ามันเป็นการทำงานของแกอย่างหนึ่ง พอไปสตาร์บัคส์ก็จะไม่คุยเรื่องงานนะ “เฮ้ย เป็นไงบ้าง ดูหนังเรื่องนี้ยัง” สักพักหนึ่งก่อนจะกลับ แกจะวกกลับเข้ามา “ตกลงรายการนั้นว่ายังไง ได้ไอเดียอะไรเพิ่มเติมบ้างไหม”

การคิดคำถามทำกันอย่างไร

ในทีมผมมีทั้งหมดสิบคน ทำสามรายการ ปริศนาฟ้าแลบ ฟ้าแลบเด็ก และ Honey Hero คู่รักนักสู้ เราก็จะนัดหมายกันทุกวันอังคารหรือวันพฤหัสฯ ส่งคำถามคนละ 100 ข้อ เหมือนเด็กเลย แล้วก็วางคำถามบนโต๊ะ แล้วก็ตรวจ เป้าหมายคือต้องผ่านคนละ 30 ข้อต่อสัปดาห์ สมมติว่าน้องในทีมส่งมา 100 ข้อ ผ่านแค่ 15 ข้อ น้องก็ต้องไปทำมาเพิ่ม หรือบางทีมีคำถามที่น่าสนใจ เฮ้ย ไปต่อยอดตรงนี้ซิ พี่ชอบคำว่าสุนทรภู่กับหอยแมลงภู่ ลองคิดซิว่าจะเล่นคำนี้ยังไงได้บ้าง เป็นคำถามอะไรได้บ้าง น้องก็จะไปช่วยคิดต่อยอด เราคนเดียวทำไม่ได้

 

การที่ต้องคิดอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เครียดหรือกดดันบ้างไหม

ผมรู้สึกว่ามันกลายเป็นชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว มีน้องคนหนึ่งเคยถามผมว่าคิดคำถาม 100 ข้อต่อสัปดาห์ พี่คิดได้ยังไง ผมก็ไม่รู้ ผมอาจจะทำงานจนชิน มันไม่เรียกว่าคิดน่ะ ผมว่ามันกลายเป็นสัญชาตญาณอย่างหนึ่ง พอเดินลงไปข้างล่าง ไปเจออะไรสักอย่าง เราก็จำ บางทีก็จดใส่มือถือหรือเศษกระดาษ พอถึงเวลานั่งคิดคำถาม สมมติเมื่อวานเป็นวันอาสาฬหบูชา ได้คำว่าอาสาฬหบูชาแล้ว ถ้าวันอาสาฬหบูชา แต่น้ากำลังสานอะไรบางอย่าง จะเรียกว่าวันน้าสาฬหบูชาหรืออาสาฬหบูชา อะไรประมาณนี้ หรือในร้านกาแฟที่มีนิตยสารแจกฟรีเป็นสิบเล่ม ผมก็หยิบมาอ่าน บนโต๊ะผมมีแต่นิตยสารแจกฟรี นอกจากอัปเดตข้อมูลข่าวสาร สิ่งต่างๆ ที่ผมได้อ่านก็นำมาสู่คำถามที่ใช้ในรายการได้

ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้เป็นการคิดตลอดเวลา แต่เมื่อเราได้เห็น ได้อ่าน หรือได้ยินอะไร เราก็เอามาคิดต่อ แล้วมันก็กลายเป็นชีวิตประจำวัน เพราะจริงๆ แล้วคำถามมันอยู่รอบตัวเรา

 

ก่อนจะทำรายการสักรายการ จุดเริ่มต้นคืออะไร ต้องคิดกันก่อนไหมว่ารายการนี้จะ mass หรือไม่ mass

เราไม่ได้เริ่มต้นจากการคิดว่ารายการจะ mass หรือไม่ mass เราไม่เคยคิดว่าเราจะทำรายการที่จะขายคนทั้งประเทศ เราแค่คิดว่า “พี่ มีรายการนี้ มันน่าสนุกนะ” เราก็คุยกันแค่ 20 คน แล้ว 20 คนนั้นบอกว่า “เฮ้ย สนุกดี งั้นลองไปทำดูซิ” แต่ไม่เคยมีประโยคที่บอกว่าทำยังไงให้ได้เรตติ้งอันดับหนึ่ง ทำยังไงให้รายการนี้ดังเท่า The Mask Singer ทำยังไงให้รายการนี้ลูกค้าวิ่งเข้า ไม่มี มีแต่ “เฮ้ย ช่วงนี้พี่เห็นในโลกโซเชียลพูดถึงเรื่องความงามเยอะ ลองไปคิดรายการเกี่ยวกับความงามซิ เฮ้ย ช่วงนี้เห็นคนชอบแข่งรถ ลองไปดูซิว่าจะพัฒนาเป็นรายการแข่งรถอะไรได้บ้าง เฮ้ย ช่วงนี้มีการพูดถึงเรื่องร้องเพลง แสดงว่ากระแสร้องเพลงมันมี แต่รายการที่เรามีอยู่จะร้องเพลงยังไงให้แตกต่าง”

เราทำรายการร้องเพลงอย่าง ไมค์ทองคำ ให้ชาวบ้านมาประกวดร้องเพลงลูกทุ่ง ที่หนึ่งได้หนึ่งล้าน ได้รถ แต่สิ่งที่เราค้นพบคือเวลามีคนมาสมัคร เขาจะพูดคล้ายๆ กัน “ให้ป้าเข้ารอบเถอะนะ ป้าเป็นหนี้อยู่สี่แสน ให้ลุงเข้ารอบเถอะ ลุงต้องส่งไอ้ตัวเล็กเรียนหนังสือ” เมื่อมีกรณีแบบนี้เรื่อยๆ วันหนึ่งทีมงานก็นั่งคุยกับผู้ใหญ่ว่ามีคนที่เขามาร้องเพลงเพราะเขาอยากจะเปลี่ยนชีวิตของเขา จะช่วยเขายังไงได้บ้าง ในเมื่อเขาร้องเพลงได้ โอเค ทำรายการ ไมค์หมดหนี้ ก็แล้วกัน คุณร้องเพลงเพราะ เดี๋ยวเราช่วยปลดหนี้ให้คุณ

เราไม่ได้เริ่มต้นจากการคิดว่ารายการจะ mass หรือไม่ mass เราไม่เคยคิดว่าเราจะทำรายการที่จะขายคนทั้งประเทศ

 

อายุของรายการหนึ่งรายการขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง เพราะยุคนี้ดูเหมือนสื่อทุกอย่างจะมีลักษณะมาเร็วไปเร็วมากขึ้น

ตอบแบบทุนนิยมก็คือเงินครับ ถ้าทำรายการแล้วไม่มีลูกค้าวิ่งเข้า ตัวเลขขึ้นตัวแดง รายการก็ไป นี่พูดตรงๆ เลยนะ เพราะฉะนั้น ถ้าอยากให้ลูกค้าวิ่งเข้า ก็ต้องทำรายการให้มีชื่อเสียง ให้ประสบความสำเร็จ ได้เรตติ้ง แล้วก็ไปบอกลูกค้าได้ว่ามีคนดูเท่านี้นะ คุณสนใจจะซื้อโฆษณาไหม มันก็ชัดเจน แต่ก็จะมีบางรายการที่เราทำแบบไม่แสวงหาผลกำไร เช่น คุณพระช่วย เพราะมันเป็นจุดประสงค์ของพี่จิกกับพี่ตาที่ชอบเรื่องศิลปวัฒนธรรม ก็เลยยอมละกัน ยอมเฉือนเนื้อส่วนอื่นมาโปะตรงส่วนนี้ ตอนแรกที่ทำก็ตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพราะอยากจะทำ เราอยากมีพื้นที่สำหรับคนที่รักษาสิ่งเหล่านี้ แต่พอทำมาเรื่อยๆ คนก็เริ่มเห็นดีเห็นงาม ก็เริ่มมีเจ้านั้นเจ้านี้เข้ามาสนับสนุน

เวิร์คพอยท์เคยฉายซีรีส์เรื่อง พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก ซีรีส์เรื่องนี้ คนที่เอาเข้ามา เขาไปตระเวนขายตามช่องต่างๆ แล้วไม่มีใครเอา เพราะทุกคนคิดว่าไม่น่าจะขายสปอนเซอร์ได้ จนวันหนึ่งเขาก็มาที่เวิร์คพอยท์ เขาถามเวิร์คพอยท์ว่าสนใจไหม พี่จิกกับพี่ตาก็คิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดี เขาคิดว่าถึงแม้เราไม่ได้กำไรในแง่เงิน แต่เราได้ให้ความรู้กับประชาชน ซึ่งเป็นการให้ที่ดีที่สุดแล้ว แต่หลังจากฉายซีรีส์เรื่องนี้ กลายเป็นว่ามีผู้บริหารของสินค้าต่างๆ นั่งดู แล้วเขาก็อยากจะร่วมอนุโมทนาบุญด้วย กลายเป็นว่าซีรีส์เรื่อง พระพุทธเจ้า มหาศาสดาโลก มีลูกค้าเยอะมาก

ที่ถามว่ารายการสักรายการมีอายุแค่ไหน ถ้าเป็นรายการที่ซื้อรูปแบบมาก็ว่ากันไปสามเดือน สี่เดือน หกเดือน อย่าง The Mask SingerThe Money Drop หรือ Take Me Out นี่คือรายการที่ซื้อรูปแบบจากเมืองนอก ถ้าจะซื้อต่อก็ว่ากันไป ถ้าเรตติ้งได้ ลูกค้าเข้า เขาก็ซื้อต่อไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นรายการที่เราทำเอง ขายเอง เมื่อเรตติ้งไม่ได้ ลูกค้าไม่มี ก็ต้องไป อย่าง คนอวดผี อยู่มา 7-8 ปีแล้ว ที่อยู่ได้เพราะยังมีลูกค้าอยู่ต่อเนื่อง

ความสนุกของคนทำทีวีอย่างหนึ่งคือเราเองก็ขี้เบื่อนะ อย่าง ปริศนาฟ้าแลบ ทำมาสามปีก็ต้องเบื่อบ้างแหละ แต่เราก็คิดว่าทำยังไงเราถึงจะไม่เบื่อ หาแขกรับเชิญใหม่ๆ ไหม คำถามทางนี้เบื่อแล้ว ลองเปลี่ยนเป็นคำถามทางนี้ซิ เชื่อไหมว่าตอนแรกๆ ไม่มีใครกล้ามารายการ ปริศนาฟ้าแลบ เพราะทุกคนกลัวโง่ ดาราที่เขาเป็นระดับพระเอก-นางเอก หรือที่ภาพลักษณ์ของเขาดูดี เขาจะไม่อยากมารายการควิซโชว์ เพราะมันทำให้เขาดูโง่ แต่พอเขาเห็นรายการนี้ เฮ้ย มันไม่เกี่ยวกับโง่นี่ คำถามมันกวนตีน คำถามมันยาก แต่มันสนุก เมื่อสามปีที่แล้ว พอรายการออกอากาศได้ประมาณ 3-4 เดือน เขาก็เริ่มเห็นตามโซเชียล เริ่มเห็นคลิปต่างๆ มันก็กลายเป็นว่าพวกเขาก็ติดต่อมาเอง จึงทำให้เรามีดาราหน้าใหม่ๆ มีคนใหม่ๆ เข้ามาเล่นในรายการ ทีมงานก็สนุก

คุณทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก มีวิธีเติมสมองแบบไหน

สิ่งหนึ่งที่เป็นข้อดีของที่นี่ เวิร์คพอยท์ส่งพนักงานไปดูงานเยอะมาก เป็นความตั้งใจของพี่จิกเลย คำว่าไปดูงานคือไม่ว่าจะมีงานแสดงศิลปะที่ไหน หรือหนังเรื่องอะไรกำลังเข้าโรง “La La Land พี่ไปดูมาแล้ว ดีชิบเป๋งเลย เหมาโรงเลย ไปดูกันเลย พี่อยากให้พวกเราไปดู” พี่เขาไปมาเก๊า ไปดูโชว์ “เอ้า ไปดูกัน” ที่นี่ค่อนข้างให้โอกาสมนุษย์ในการพัฒนา มีทุนไปเรียนปริญญาโท ส่งพนักงานไปเรียน ซึ่งผมก็ขอบคุณ แต่เรื่องทำงานหนัก มันทำงานหนักอยู่แล้วแหละ ไม่มีที่ไหนหรอกที่ทำงานเบาแล้วเงินเดือนเยอะหรือมีความมั่นคง

 

ในฐานะโปรดิวเซอร์ คุณมีอิสระในการทำงานแค่ไหน

สิ่งที่ต้องยอมรับก่อนก็คือบริษัทนี้คือเวิร์คพอยท์ ซึ่งสองไอเดียหลักคือคุณประภาสกับคุณปัญญา ไม่ว่าคุณจะคิดต่างแค่ไหน แต่โชคดีที่คุณมีตะแกรงร่อนที่ชื่อประภาสและปัญญา เขาก็จะช่วยคัดเลือกรายการ สมมติด้วยความมั่นใจ ทำงานมาแปดปี ผมคิดว่าทำรายการนี้โดนชัวร์ๆ ผมก็ต้องบอกกับหัวหน้าของผม คือคุณปัญญากับคุณประภาส “พี่ครับ ผมคิดรายการหนึ่งมาครับ รายการอะไร มาคุยกันซิ เอ… พี่คิดว่าไม่ใช่นะ” นั่นหมายความว่าผมมีคนที่ช่วยกรองชั้นหนึ่ง แล้วผมก็กลับมาพัฒนา มาต่อยอด มาทำอะไรให้เขาเห็นด้วยให้ได้ อย่าง ปริศนาฟ้าแลบ ทุกวันนี้ เอาเลย ทำเลย ตัดต่อออกอากาศ ตอนรายการออกอากาศแรกๆ เขาอาจจะดูทุกเทป แต่พอผ่านไปก็เริ่มปล่อย เขาก็ไปดูรายการใหม่ ส่วนเราก็เริ่มทำอะไรได้ตามใจมากขึ้น

ที่บอกว่าทำอะไรได้ตามใจไม่ได้หมายความว่าเราเก็บกดกับการที่เราไม่ได้ทำอะไรตามใจนะ แต่หมายถึงสมมติว่าร้านอาหารเวิร์คพอยท์จะค่อนข้างหนักไปทางรสหวาน แต่เราชอบกินรสจัดนิดหนึ่ง พอถึงจุดหนึ่ง เมื่อรายการผ่านไปได้เรื่อยๆ เราก็เริ่มลองหยอดพริกลงไปนิดหนึ่ง คนดูยังสนุกอยู่เว้ย มีคนที่ชอบแบบนี้เว้ย แต่ถ้ามีคนติว่าทำไมเดี๋ยวนี้เผ็ดจังเลย เราก็ต้องลดพริกลง

 

ทำรายการทีวีมาเกือบสิบปี บทเรียนที่สำคัญของงานนี้คืออะไร

ผมเล่าให้ฟังอย่างนี้ก็แล้วกัน หลังจากที่ทำรายการ ปริศนาฟ้าแลบ ผู้ใหญ่ก็คงเห็นผลงาน ก็เลยให้ผมรับรายการในตำนานรายการหนึ่ง คือ เกมจารชน เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว รายการนี้ดังมาก ดังขนาดที่ว่าอินโดนีเซียซื้อรูปแบบไป และรายการนี้ก็เลิกไปแล้วสิบกว่าปี จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้ว ผู้ใหญ่ก็บอกว่า “มาร์วิน เอารายการนี้ไปทำ”

ตอนนั้นทุกคนคิดว่ารายการนี้น่าจะยังพอขายได้ แต่ผมก็มีอีโก้ เฮ้ย ให้ผมทำหรือพี่ ได้เลย ถ้างั้นผมขอแบบไม่เหมือนเดิมนะ ผมอยากจะทำเป็นรายการใหม่เลย เปลี่ยนชื่อก็ได้นะ พี่เขาบอกว่าไม่เอา ใช้ชื่อ เกมจารชนนั่นแหละ จะได้พอขายได้ ผมก็บอกว่าผมขอพิธีกรคู่เพี้ยนเลยนะ ขอเป็นตั๊ก บริบูรณ์ กับป๋อง กพล

ตอนที่ผมทำ เกมจารชน รายการสนุกฉิบหายเลย แต่สนุกกันเอง ทั้งทีมงานที่ถ่ายทำและดาราที่มาต่างบอกว่าสนุกฉิบหายเลย ตัดออกมาผมยังว่าสนุกเลย แต่มันสนุกเกินไป เราลืมคิดถึงคนดู เราแทนตัวเองเป็นวัยรุ่นจนเกินไป และประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เช่น รายการออกอากาศวันศุกร์ เวลาสี่ทุ่ม เจอกับละครก็สู้ไม่ได้ ออกอากาศได้ประมาณหกเดือน พอเรตติ้งไม่เข้าเป้า ลูกค้าไม่เข้าตามเป้า รายการก็ต้องไป

เพราะฉะนั้น มันไม่มีอะไรการันตีว่าทีมนี้ประสบความสำเร็จจากรายการนี้ พอมาทำอีกรายการจะประสบความสำเร็จ อย่างทีมของผมที่ทำ ปริศนาฟ้าแลบ พอมาทำ เกมจารชน ก็แป้ก แต่มันก็มีข้อดี คือมันทำให้เรามองตัวเองในกระจกแล้วก็บอกกับตัวเองว่ามึงไม่ใช่ใครที่ไหนเลย มึงก็เป็นแค่ครีเอทีฟธรรมดาๆ มึงอย่าผยอง

ดังนั้น มันจึงไม่มีอะไรยั่งยืน ไม่มีอะไรที่มั่นคง เราแค่ต้องทำงานให้ดี เพื่อในวันหนึ่งเมื่อเรากลับไปดู เราจะได้ไม่รู้สึกผิด

 

 

FACT BOX:

ธนธัช ไตรรัตน์วงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2530 จบชั้นมัธยมปลายจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ศิษย์เก่าสาขาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนิเทศศาสตรมหาบัณฑิตจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม

เริ่มต้นการทำงานในฐานะนักออกแบบแสงงานสถาปัตยกรรม บริษัท ไบโออาร์คิเทค จำกัด (2552-2553)

ตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน ทำหน้าที่โปรดิวเซอร์รายการโทรทัศน์ให้กับบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)

ส่วนหนึ่งของรายการที่เขารับผิดชอบคือ

  • ปริศนาฟ้าแลบ เริ่มออกอากาศวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 19.15-20.00 น.
  • Honey Hero คู่รักนักสู้ เริ่มออกอากาศวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2559 ทุกวันเสาร์ เวลา 13.30-14.30 น.
  • ฟ้าแลบเด็ก เริ่มออกอากาศวันที่ 7 มกราคม 2560 ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 11.15-12.00 น.

 

ถ่ายภาพโดย : ขจรศิริ อุ่ยมานะชัย

Tags: , , , , , , , , , , ,