วันนี้ (4 มิ.ย. 2562) หลังจากประชุมหารือนานหลายชั่วโมง ในที่สุด เวลา 19.10 น. พรรคประชาธิปัตย์ก็มีมติพรรคออกมาว่า พร้อมร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐ จากการประชุม ส.ส.และคณะกรรมการพรรค จำนวน 81 คนโดยลงคะแนนเป็นการลับ ผลปรากฏว่าเห็นควรร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐคะแนนเสียง 61 เสียง ไม่เห็นควร 16 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง และบัตรเสียอีก 1 ใบ
จากนั้นหัวหน้าพรรค นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พร้อมกรรมการบริหารพรรค ได้ร่วมแถลงข่าวถึงมติพรรคประชาธิปัตย์ที่ตัดสินใจร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐในครั้งนี้ โดยกล่าวว่า
“จากผลการเลือกตั้งซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ได้ 53 ที่นั่ง จนทำให้พรรคประชาธิปัตย์กลายเป็นพรรคขนาดกลาง เลยทำให้มีข้อจำกัดบางประการที่อาจทำให้พรรคประชาธิปัตย์ไม่อาจบรรลุความประสงค์ของพรรคได้ทุกอย่าง อย่างไรก็ตามที่สำคัญ พรรคได้ตระหนักว่าไม่ว่าจะตัดสินใจไปทางไหน ย่อมจะมีวิพากษ์วิจารณ์ไม่ว่าในทางบวกหรือทางลบ การตัดสินใจของพรรคจึงต้องอยู่บนพื้นฐานของการยึดประโยชน์ของประเทศมากกว่าประโยชน์ของพรรค เพื่อให้ประเทศสามารถหลุดพ้นจากความไม่แน่นอนในทางการเมืองได้ ให้ประเทศสามารถมีรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาได้ และขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนได้ และเสมือนเป็นการปิดสวิตช์ คสช. เพราะ คสช.จะหมดอำนาจก็ต่อเมื่อรัฐบาลใหม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณหรือเข้ามาทำหน้าที่เท่านั้น เราประสงค์ที่จะให้ประเทศได้เดินหน้าไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น”
นอกจากนี้นายจุรินทร์ยังได้บอกว่าในวันพรุ่งนี้พรรคประชาธิปัตย์ทั้งหมดรวมถึงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะยกมือสนับสนุนให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ตามมติของพรรคพลังประชารัฐที่เสนอในการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้ ซึ่งเป็นมติพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
ต่อคำถามว่า การตัดสินใจครั้งนี้ถือเป็นการผิดคำพูดของพรรคที่ให้ไว้ก่อนการเลือกตั้ง และหลักการของพรรคที่บอกไว้ว่าไม่สนับสนุนเผด็จการทุกรูปแบบหรือไม่ โดยนายจุรินทร์ตอบว่า
“พรรคคำนึงถึงประชาชนทุกคนและให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรคทุกคน รวมทั้งผู้ที่ให้การสนับสนุนทุกเสียง แม้แต่เสียงที่เราสูญเสียไปจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา 7 ล้านกว่าเสียงที่หายไป แล้วก็หวังว่าวันหนึ่งเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้พิสูจน์ตัวเองด้วยผลงานที่เป็นรูปธรรม เราหวังจะได้รับเสียงสนับสนุนนั้นกลับคืนมา
“เราไม่สามารถทำในสิ่งที่เราต้องการทุกประการได้ ด้วยข้อจำกัดของคะแนนเสียงที่เรามี แต่อย่างน้อยในเรื่องของความเป็นประชาธิปไตย เราคำนึงถึงเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นที่มาของเงื่อนไขในการแก้รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้
“ผมยังมีความเห็นเหมือนเดิมว่าก่อนหน้านี้ประชาธิปไตยมีสามแบบคือประชาธิปไตยทุจริต ประชาธิปไตยวิปริต และก็ประชาธิปไตยสุจริตอันเป็นอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ การเข้าร่วมรัฐบาลโดยมีเงื่อนไขในการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คือทางหนึ่งที่จะพาประเทศพ้นจากความเป็นประชาธิปไตยวิปริต ที่มันผิดแผกไปจากประชาธิปไตยที่ควรจะเป็น”
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า หลัง ปชป. มีมติร่วมกับ พปชร. จัดตั้งรัฐบาล สมชัย ศรีสุทธิยากร ผู้สมัคร ส.ส.ปชป.และอดีต กกต. ได้ประกาศลาออกจากการเป็นสมาขิกพรรค โดยได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ความว่า “ขอบคุณพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยให้โอกาสลงรับสมัครเลือกตั้ง และให้การสนับสนุนต่างๆ ทำให้มีประสบการณ์ที่ไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่าย แต่เมื่อแนวทางอุดมการณ์ที่แตกต่างกัน คงขออนุญาตที่จะลาออกจากสมาชิกพรรคครับ”
โดยก่อนหน้าที่การประชุมจะเสร็จสิ้นนั้นมีรายงานข่าวว่านายอิสสระ สมชัย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ส.ส.ในกลุ่ม 27 คน ยินดีเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐแน่นอน ไม่ว่าพรรคจะมีมติเป็นอย่างไร และในวันนี้นายชวน หลีกภัยนั้นไม่ได้เดินทางมาร่วมประชุมแต่อย่างใด
ภาพ: ฐิตินันท์ เสมพิพัฒน์
เมื่อช่วงเที่ยงของวันนี้ พรรคพลังประชารัฐนำโดย นายอุตตม สาวนายน หัวน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ และพรรคร่วมอีก 5 พรรค ได้แก่ พรรครวมพลังประชาชาติไทย, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคประชาชนปฏิรูป, พรรครวมพลังท้องถิ่นไทย และพรรคอนุรักษ์ผืนป่าไทย ได้ร่วมกันจัดแถลงข่าว ณ โรงแรมสุโกศล ยืนยันจัดตั้งรัฐบาลและพร้อมสนับสนุนพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
โดยนายอุตตม สาวนายน กล่าวว่า “การแถลงข่าวในวันนี้เพื่อแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือทั้งทางนโยบายและแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน และเพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพต่อไปของพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมอีก 5 พรรค”
จากนั้นในช่วงบ่าย พรรคเพื่อไทยโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวยืนยันว่า พรรคเพื่อไทยจะไม่เสนอชื่อบุคลากรของพรรคชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ แต่จะสนับสนุนแนวทางร่วมกันทั้ง 7 พรรคที่จะเสนอ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมยืนยันเจตนารมณ์ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการสืบทอดอำนาจ
ด้าน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ แถลงที่พรรคอนาคตใหม่ว่า พรุ่งนี้เป็นวันสำคัญที่จะชี้ทิศทางของประเทศว่าจะเดินไปในทิศทางไหนจะอยู่กับระบอบ คสช. ต่อไป หรือจะเลือกนำประเทศกลับสู่ปชต อีกครั้ง ในวันพรุ่งนี้ ส.ส. จากพรรคอนาคตใหม่ จะเสนอชื่อตนเอง เป็นนายกฯ
“ผมพร้อมที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี” ธนาธร กล่าว พร้อมกล่าวว่า ขอบคุณพรรคเพื่อไทย ซึ่งได้คะแนนเสียงจากประชาชน ให้มี ส.ส. มากที่สุดในการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 24 ที่ได้แสดงสปิริตที่น่ายกย่องไม่ยึดติดกับตำแหน่งและผลประโยชน์ เป็นการแสดงจุดยืนทางการเมืองที่น่านับถือ ขอบคุณ แกนนำและ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ที่เปิดโอกาสนี้ให้กับอนาคตใหม่ รวมถึงขอบคุณผู้นำพรรคและสมาชิกพรรคที่ร่วมลงสัตยาบันต่อต้านอำนาจของ คสช. ร่วมกันด้วย
ธนาธร ฝากไปยังพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยว่า ยังไม่สายเกินไปที่ทั้งสองพรรคจะตัดสินใจให้ถูกต้องแล้วเลือกเดินทางร่วมกับประชาชน หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. อยากเชิญชวนให้ทั้งสองพรรคตัดสินใจอย่างที่ตัวเองได้หาเสียงไว้กับประชาชน พรรคอนาคตใหม่พร้อมจะทำงานกับทั้งสองพรรค พร้อมและยืดหยุ่นในการพูดคุยต่อรองเพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศวันนี้คือการนำประเทศไทยกลับสู่ประชาธิปไตย โดยก้าวแรกที่จะทำเช่นนั้นได้คือ หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของ คสช. และหยุดยั้งไม่ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกในสมัยถัดไป
จากมติของพรรคประชาธิปัตย์ และการที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาได้ตอบรับเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐก่อนหน้านี้ รวมไปถึงพรรคเล็กทั้งหมดทั้งที่ร่วมแถลงข่าวในวันนี้กับพรรคพลังประชารัฐและที่เคยแถลงข่าวร่วม 10 พรรคเล็กไปแล้วนั้น สรุปได้ว่าทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาล มีพรรคร่วมรวมทั้งหมด 19 พรรค และที่นั่ง ส.ส. 254 เสียง ที่พร้อมโหวตสนับสนุน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
ในขณะที่ 7 พรรคร่วมฝั่งพรรคเพื่อไทย มีที่นั่ง ส.ส. 246 ที่นั่ง แต่สามารถลงคะแนนเสียงโหวตนายกรัฐมนตรีได้เพียง 245 เสียง ด้วยเพราะธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ต้องหยุดทำหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวโดยคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ
ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องได้คะแนนเสียงสนับสนุนมากกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งสองสภา (ส.ส.+ส.ว.) ซึ่งเท่ากับ 376 เสียงขึ้นไป ดังนั้นในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของไทยในวันพรุ่งนี้ ทางฝั่งพรรคพลังประชารัฐและพรรคร่วมรวม 19 พรรค ต้องการเสียงสนับสนนจาก ส.ว. อีก 122 เสียงเพื่อให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และฝั่งพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรวม 7 พรรคต้องการเสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อีก 131 เสียงเพื่อให้ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
อนึ่ง ในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ แคนดิเดตหลักของพรรคพลังประชารัฐอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่เดินทางมาที่สภาฯ และจะไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ใดๆ เพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวว่า ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนและมากเพียงพออยู่แล้ว
ภาพปก: Jorge Silva/ Reuters
Tags: เลือกตั้ง62, จัดตั้งรัฐบาล, ประยุทธ์ จันทร์โอชา