อย่างที่ได้เล่าไปเมื่อสัปดาห์ก่อนว่าผมได้ไปดูงานที่คลินิกท่องเที่ยวและการเดินทาง ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนมา เรื่องหนึ่งที่ทำให้ผมเดินเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต ไปขลุกตัวอยู่ตรงแผนก ‘ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง’ อยู่นานสองนาน ก็คือสารที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในยาทากันยุงและความเข้มข้นที่แนะนำ
เพราะหากนักท่องเที่ยวมีแผนการเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคมาลาเรียและโรคไข้เหลือง (ซึ่งทั้ง 2 โรคนี้ติดต่อผ่านยุง) หมอที่คลินิกฯ ก็จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการป้องกันยุงกัดด้วยทุกครั้ง ได้แก่
- การสวมเสื้อแขนยาว-กางเกงขายาวและถุงเท้า
- การสวมเสื้อคลุมที่ชุบสารเพอร์เมทริน (permethrin)
- การทายาหรือพ่นยากันยุง (repellent) ลงบนผิวหนังที่ไม่มีเสื้อผ้าคลุม
ความจริงเรื่องนี้เราก็ “น่าจะ” ทราบกันดีอยู่แล้ว และ “ต้อง” ทราบด้วยซ้ำ เพราะถึงจะไม่ได้เดินทางไปที่ไหน บ้านเราก็เป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอยู่แล้ว ซึ่งติดต่อผ่านยุงเช่นกัน และพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า, ไทย-กัมพูชา และไทย-มาเลเซียก็ยังเป็นพื้นที่ระบาดของโรคมาลาเรียอยู่ แต่มีใครเคยทราบไหมครับว่าสารดีอีอีที (DEET: N,N-Diethyl-meta-toluamide) ที่ใช้ในการป้องกันยุงกัด ควรมีความเข้มข้นระหว่าง 20-50%
หลายคนอาจไม่เคยได้ยินชื่อสาร DEET มาก่อน แต่ถ้าพูดชื่อโลชั่นหรือสเปรย์กันยุงที่มีส่วนประกอบเป็นสารนี้ขึ้นมา ทุกคนคงร้องอ๋อ ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อที่เป็นตัวย่อแล้วตามด้วยตัวเลข ยี่ห้อที่มีมีฝาสีชมพู-ส้ม-เขียว ยี่ห้อสีส้ม (อ๋อ!) ใครมีขวดเหล่านี้อยู่ใกล้ตัว ลองพลิกอ่านฉลากดูประกอบได้ครับ
DEET เป็นสารเคมีที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยกองทัพสหรัฐอเมริกา และได้รับอนุญาตให้ใช้กับคนทั่วไปในปี 1957 ออกฤทธิ์เหมือนสารไล่ยุงส่วนใหญ่ คือรบกวนกลไกการรับกลิ่นของยุง โดยเชื่อว่ายับยั้งการรับรู้กรดแลกติกที่หนวดของยุง ทำให้พรางตัวเราจากยุงได้ (คล้ายๆ ผ้าคลุมล่องหนในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์อยู่เหมือนกัน)
ถึงแม้บางคนจะไม่กล้าใช้เพราะเป็นสารเคมี แต่ด้วยความที่ใช้กันมานาน จึงถือว่าปลอดภัยหากใช้ในความเข้มข้นที่เหมาะสม สามารถใช้ได้ในคนท้องและแม่ที่ให้นมลูก และไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นแต่น้อยมาก เช่น ผื่นแพ้ หรือผิวหนังอักเสบ แต่มีข้อห้ามใช้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 เดือน และระมัดระวังการทาลงบนมือเด็ก เพราะเด็กอาจขยี้ตาได้ ผู้ปกครองจึงควรเป็นผู้ทายากันยุงให้
แต่ทว่าโลชั่นหรือสเปรย์กันยุงที่ยกตัวอย่างขึ้นมาเหล่านั้นมีความเข้มข้นของ DEET เพียง 12-15% เท่านั้น
ปกติแล้ว ยิ่งมีความเข้มข้นมากเท่าไรก็จะสามารถป้องกันยุงกัดได้ยาวนานเท่านั้น จากการศึกษาพบว่าผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของต่ำกว่า 10% จะป้องกันยุงได้ 1-2 ชั่วโมง หากเพิ่มความเข้มข้นเป็น 24% จะป้องกันยุงได้ประมาณ 5 ชั่วโมง ในขณะที่ความเข้มข้นที่มากกว่า 50% จะไม่ค่อยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันยุงแล้ว ดังนั้นศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา (CDC) จึงแนะนำให้ใช้ความเข้มข้นที่มากกว่าหรือเท่ากับ 20% โดยสามารถป้องกันเห็บ-หมัด-ไร ซึ่งเป็นพาหะนำโรคติดเชื้อริคเก็ตเซีย (Rickettsial infection) เช่น ไข้รากสาดใหญ่ได้อีกด้วย
ส่วนเด็กโต อาจใช้ความเข้มข้นระหว่าง 10-30%
ทั้งนี้ประสิทธิภาพของยาทากันยุงขึ้นอยู่กับอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม ปริมาณที่ใช้ การโดนเหงื่อหรือโดนน้ำ และถ้าหากยุงเริ่มกัดบริเวณที่ทาหรือพ่นยา ก็จำเป็นต้องใช้ยากันยุงซ้ำอีกครั้ง
คำแนะนำสำหรับนักท่องเที่ยวของ CDC โดยจะสังเกตว่ามีคำว่า ‘20% DEET’ เขียนไว้ชัดเจน
นอกจากนี้ยังมีสารไล่ยุงชนิดอื่นที่ CDC แนะนำ ได้แก่
- ไพคาริดิน (Picaridin, KBR3023) เป็นสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่ง หากมีความเข้มข้นสูง เช่น 20% จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ DEET แต่ระยะเวลาสั้นกว่า
- น้ำมันยูคาลิปตัส (oil of Lemon eucalyptus) ซึ่งมีพีเอ็มดี (PMD: P-menthane-3,8-diol) เป็นส่วนประกอบ มีประสิทธิภาพเป็นครึ่งหนึ่งของ DEET เช่น PMD 30% มีประสิทธิภาพเทียบเท่า DEET 15%
- ไออาร์ 3535 (IR3535: Ethyl butylacetylamino propionate) เป็นสารสังเคราะห์ จากการศึกษาหนึ่งพบว่า IR3535 มีประสิทธิภาพรองจาก DEET และ Picaridin
- ไบโอยูดี (BioUD: 2-undecanone) เป็นสารสกัดจากพืชชนิดหนึ่ง เพิ่งได้รับการรับรองจากสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา (EPA) มีความเป็นพิษน้อยที่สุด
ชนิดอื่นแทบไม่มีวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต ยกเว้นทิชชู่เปียกไล่ยุงยี่ห้อหนึ่งที่มี IR3535 เป็นส่วนประกอบ ส่วนน้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ที่หลายคนน่าจะเคยใช้ ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ของไทย หากมีประสิทธิภาพป้องกันยุงไม่ต่ำกว่า 2 ชั่วโมง ซึ่งอาจต้องทาซ้ำบ่อยครั้งเพื่อให้สามารถป้องกันยุงกัดได้นานขึ้น
ดังนั้นผลิตภัณฑ์ไล่ยุงที่ทุกคนเคยได้ยินจากโฆษณาหรือเคยซื้อมาใช้จากร้านสะดวกซื้อหรือซูเปอร์มาร์เก็ตล้วนแล้วแต่มีความเข้มข้นต่ำกว่าที่หมอคลินิกท่องเที่ยวและการเดินทางแนะนำ จึงมีประสิทธิภาพในการไล่ยุงเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ เหมาะกับการทำกิจกรรมนอกอาคารเพียงชั่วคราวเท่านั้น
หากต้องทำกิจกรรมนานหลายชั่วโมง หรือเดินป่า หรือเดินทางไปท่องเที่ยวในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคติดต่อนำโดยแมลงจำเป็นต้องซื้อยาทากันยุงโดยเฉพาะ ซึ่ง DEET ที่ความเข้มข้น 20-50% ก็สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
…
ล่าสุดที่ผมเข้าไปหาซื้อหน้ากาก N95 ในร้านขายยาและเครื่องสำอางเฟรนไชส์รายหนึ่งในห้างสรรพสินค้า ก็ได้เจอกับเจลและสเปรย์กันยุงยี่ห้อเดียวกับชื่อเฟรนไชส์ซึ่งมีส่วนผสมของ DEET มากถึง 50% (ตื่นเต้นมาก!) แต่ราคาค่อนข้างแพง สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อยาทากันยุงในปริมาณมากอาจไปหาซื้อจากร้านขายอุปกรณ์เดินป่าตามที่อาจารย์แนะนำนักท่องเที่ยวก็ได้ครับ
Tags: สุขภาพ, โรคระบาด, ไข้เลือดออก, มาลาเรีย, ยุง, ยากันยุง, ไข้เหลือง