เป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ภาพอนาคตของสังคมไทยขมุกขมัว ทุกคนถูกกดให้ปิดปากเงียบ คล้ายไม่รับรู้ถึงความผิดปกติบางอย่างที่ดำรงอยู่ในสังคมไทย กระทั่งปากที่เคยปิด ‘กล้า’ จะเปิดออกเพื่อส่งเสียงร้องบอกความอัดอั้นตันใจ การเคลื่อนไหวครั้งใหญ่เมื่อปี 2563 จึงปะทุขึ้นมา การเคลื่อนไหวที่ทั้งทำให้เราเห็นพลังของมวลชน ขณะเดียวกันก็ตีแผ่ให้เห็นความบิดเบี้ยวของผู้ครองอำนาจอย่างเกินจะคาดเดา 

วิทวัส ทองเขียว เป็นศิลปินคนหนึ่งที่ยืนหยัดอยู่ข้างประชาธิปไตย สำหรับเขาศิลปะไม่อาจปฏิเสธความข้องเกี่ยวกับอุดมการณ์ได้ และตลอดการเฝ้ามองสถานการณ์ทางสังคมมาหลายปี ทำให้เขาสัมผัสได้ถึงความอึดอัดคับข้องใจต่อโลกทัศน์ของฝ่ายอำนาจนิยม ความรุนแรงที่กระทำต่อประชาชนโดยการใช้อำนาจที่ทั้งมองเห็นและถูกบังคับไม่ให้มองเห็น การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ไปจนถึงสภาวะอัมพาตทางการรับรู้และรู้สึกต่อความผิดปกติของสังคมไทย

ทั้งหมดกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นิทรรศการชุด ‘นิ/ราษฎร์: The L/Royal Monument’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 3 ของเขา ที่บอกเล่ากระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวิกฤตการณ์ของประชาธิปไตยในปัจจุบัน ผ่านงานจิตรกรรม ภาพถ่าย และศิลปะจัดวาง (Installation art) ที่ผสมผสานการวิพากษ์การเมืองเข้ากับสุนทรียภาพ 

ทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามาบริเวณห้องจัดแสดงงานที่ 1 ‘Interlude’ สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือความมืดที่ต่างออกไปจากปกติ และสีท้องฟ้ายามเย็นบนภาพวาดที่ฉายเด่นออกมาแต่ไกล

“เวลาโพล้เพล้เป็นช่วงเวลาก้ำกึ่งของการเปลี่ยนผ่าน อาจจะเปลี่ยนผ่านจากสว่างไปหามืด หรือเปลี่ยนจากมืดไปหาสว่าง แต่รูปถ่ายที่เป็นต้นแบบของภาพวาดชุดนี้นั้น คนดูน่าจะรู้ว่าเป็นช่วงเวลาย่ำค่ำที่หลังจากนี้น่าจะมืดขึ้นเรื่อยๆ”

วิทวัสอธิบายให้ฟังว่าความมืดที่เราสัมผัสได้ คือส่วนหนึ่งของการจัดแสดงงานที่เขาตั้งใจให้เป็นอย่างนั้น 

แรกเริ่มเดิมที วิทวัสมีชื่อเสียงจากการวาดภาพเหมือนแลนด์สเคป ที่เหมือนมากชนิดมองผิวเผินอาจคิดว่าภาพถ่าย กระทั่งเขาเปลี่ยนมาทำงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในปี 2557 ตามมาด้วยปี 2561 โดยไม่ได้มีผลงานแลนด์สเคปอันเป็นเอกลักษณ์ของเขาออกมาเลย 

“ผลงานชุดนี้จึงเป็นงานชุดแรกที่ย้อนกลับไปสำรวจตัวเอง และย้อนกลับมาดูว่า ถ้าเรากลับไปทำงานในรูปแบบเดิมที่คนคุ้นเคยและเราถนัดที่สุด เราจะทำได้หรือเปล่า ปรากฏว่ามันทำได้ ผมจึงหยิบภาพที่ถ่ายเก็บเอาไว้จำนวนมากมาเป็นต้นแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นภาพที่เก็บจากการเดินทางของตัวเอง เมื่อผมเห็นบางรูปก็คิดว่ามันใช้การได้ หลายคนเห็นก็น่าจะมองเห็นความหมายบางอย่างที่ถูกซุกซ่อนไว้”

ภาพเริ่มต้นของผลงานชุดนี้ คือภาพแสงอาทิตย์สีทองสาดส่องออกมาจากปุยเมฆทางด้านขวามือสุด วิทวัสเก็บภาพนี้ได้ขณะอยู่บนเครื่องบิน ทันทีที่เห็นก็รู้สึกได้ถึงคำว่า ‘ฟ้าสีทองผ่องอำไพ’ 

ถนนเส้นหนึ่งทอดยาวไปยังสถานที่บางแห่ง โดยมีต้นไม้เขียวขจีขนาบข้าง เป็นภาพวาดชิ้นสุดท้ายของผลงานชุดนี้ และเป็นภาพที่วิทวัสจงใจวาดให้ไม่เสร็จ หากเดินเข้าไปดูใกล้ๆ จะปรากฏโครงเส้นที่ขีดร่างเอาไว้ 

“จริงๆ ภาพทุกภาพ ตามเทคนิคจะถูกรองพื้นด้วยสีเทาเพื่อสร้างน้ำหนักกลาง จากนั้นเราก็วาดรูปโดยการเพิ่มน้ำหนักอ่อนหรือเข้มเข้าไป ภาพนี้เลยเห็นเป็นสีเทา เพราะผมลงพื้นที่สีเทาทั้งรูปแล้วค่อยร่าง เนื่องภาพมันเป็นมุม perspective ฉะนั้นจึงต้องร่าง perspective ด้วย แต่เวลาวาด เราเลือกวาดบางสิ่งและไม่วาดบางสิ่ง ผมคิดว่าต้นไม้สวยมาก ผมคิดว่าถนนอยู่หน้า แต่พื้นที่ด้านหลังนั้นขึ้นอยู่ว่าใครจะมองเป็นอะไร”

ผลงานชิ้นอื่นๆ มีความคมชัด ละเอียด และสมจริง ด้วยนัยต้องการจะสื่อให้เห็นถึงความชัดเจนบางอย่างของสังคมไทยที่ชัดแจ้งเสียจนแทบจะทิ่มตา

“แทนที่จะเขียนเบลอๆ ผมจึงเลือกเขียนให้ชัดที่สุด เพื่อให้เห็นว่ามันชัดขนาดนี้ คุณไม่เห็นอีกหรือ” 

ทว่า มีเพียงภาพนี้ภาพเดียวที่ต่างออกไป โดยเป็นความเจาะจงวาดให้เบลอ และความหมายของการเบลอก็อาจจะมีความหมายในตัวมันเอง หรือตีความได้ว่าผู้มองอาจมีอะไรมาบังตา หรือเราเลือกที่จะมองไม่ชัดเอง คล้ายกับการปรับโฟกัสกล้อง 

มองผิวเผิน ภาพนี้อาจเป็นเพียงแค่มุมหนึ่งของห้างสรรพสินค้าใจกลางเมือง ทว่ามันกลับมีความหมายลึกซึ้งมากจนเราคาดไม่ถึง วิทวัสเล่าให้ฟังว่า บริเวณดังกล่าวอยู่ตรงขอบทางเท้าของหัวมุมสี่แยก ซึ่งทุกคนมักจะเดินไม่ค่อยถึงบริเวณนี้ แต่หากขับรถมาจากด้านหน้าเราจะเห็นแบริเออร์ทาสีขาวสลับแดงสวยงามตามปกติ ส่วนด้านหลังก็เป็นอย่างที่ปรากฏในภาพ ปูนเปลือยเปล่า เปรอะเปื้อนด้วยคราบสีจากอีกฝั่งที่ไหลทะลัก คราบดำสะท้อนให้เห็นความสมบุกสมบันที่ผ่านร้อนผ่านฝนมายาวนาน 

“หมายความว่าความสวยงามมันถูกนำเสนอออกไปแค่ด้านเดียว ด้านหลังจะเกิดอะไรขึ้นไม่มีใครสนใจ ซึ่งผมไม่ได้เห็นสิ่งนี้แค่สี่แยกเดียว สี่แยกอื่นก็เป็นเหมือนกัน ด้านหลังของสิ่งที่ไม่ได้อยากให้มองเห็น มันเป็นแบบนี้หลายที่มาก” 

ถัดมาห้องจัดแสดงงานที่ 2 Imagining law-abiding citizens: Bandit – Nampa – Patiwat – K เป็นภาพบุคคลและสิ่งของสำคัญของ 4 นักโทษทางการเมือง ที่วาดออกมาใน 4 รูปแบบต่างกันออกไป มีทั้งแบบเห็นเต็มตัว เห็นเฉพาะใบหน้า เห็นเพียงสิ่งของ และเห็นเพียงเหตุการณ์ 

“ปกติคนทำงานศิลปะที่เราเห็นตามมาตรฐานทั่วไปมักจะทำอะไรคล้ายกัน ทั้งชุดเหมือนกันหมด แต่ผมมีแก่นที่เป็นคอนเทนต์บางอย่าง ผมจึงใช้ทุกวิถีทางมาอธิบาย และผมคิดว่าทุกอย่างควรจะมองหลายๆ มุม ไม่ใช่มองจากด้านเดียว”

“ผมเลือก 4 เคสนี้ เพราะเป็น 4 เคสที่ผมลงไปหาข้อมูลในพื้นที่จริง ผมเชื่อว่าปัญหาการเมืองไทยในปัจจุบันถูกแบ่งเป็นฝ่ายชัดเจนมาก ทุกคนเสพสื่อ แต่จะเชื่อเฉพาะสื่อสำนักที่ตัวเองติดตาม ทางเดียวที่เราจะรู้ว่าจริงหรือไม่คือการลงไปในพื้นที่จริง ไปคุยกับเขา ไปดูว่าจริงไหม” 

ฉากหลังสีน้ำเงินเข้มของภาพวาดชุดนี้เป็นตัวแทนของ ‘ความโศกเศร้า’ หรือ ‘ความทุกข์ใจ’ เปรียบเสมือนกับคนทั้ง 4 กำลังเผชิญกับ Blue Period หรือห้วงเวลาแห่งความขื่นขมของตัวเอง

“ผมรู้จักกับบุคคลในภาพนี้ตั้งแต่ก่อนเขาจะออกมาเคลื่อนไหว ถ่ายจากบริเวณศาลหลักเมือง ตรงสนามหลวง จริงๆ เขาก็ไม่รู้ว่าผมถ่ายรูปนี้เอาไว้ แต่มุมมันพอดีเป๊ะเลย เหมือนเขากำลังเดินไปเผชิญกับอะไรบางอย่าง และชุดที่ใส่ก็ให้ความรู้สึกเหมือนเสื้อเกราะ เหมือนนักรบ ขณะเดียวกันเขาก็เป็นคนอ่อนโยน เพราะตุ๊กตาที่ห้อยอยู่ด้านหลัง ลูกเขาเป็นคนให้มา ภาพนี้จึงชื่อว่า ‘นำพา’ ตามนามสกุลของเขา ซึ่งเขากล้าหาญมากที่จะเดินออกไปเผชิญกับความเศร้าในรูปของ Blue”

สำหรับสองภาพนี้ ภาพด้านขวามือที่ถูกสร้างสรรค์ให้มีลักษณะคล้ายกับเหรียญนั้น เหตุเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลในภาพมีต้นกำเนิดมาจากโพสต์ข้อความขายเหรียญเก่า ซึ่งทำให้คนบางกลุ่มมองว่าเป็นการ ‘หมิ่น’ จนนำมาสู่การแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ในส่วนของภาพซ้ายมือ แม้จะไม่เปิดเผยใบหน้า แต่ใครที่ติดตามข่าวการเมือง เมื่อเห็นกระเป๋าผ้าคงทราบได้ไม่ยากว่าเขาคือใคร วิทวัสเลือกจะนำเสนอเพียงสิ่งของ เพราะมองว่าเท่านี้ก็สามารถบ่งบอกได้ถึงตัวตน ตลอดจนสิ่งที่คนในภาพกำลังเผชิญอยู่ได้ครบถ้วน 

“ถุงผ้าใบนี้เป็นสัญลักษณ์ของผู้ชายคนนี้ เพราะเวลามีม็อบแกจะไปวางแบกะดินขาย แกเป็นคนลุงสูงอายุ และแกป่วยด้วยอาการไตวาย ถึงต้องมีถุงปัสสาวะอยู่ด้านนอก เสื้อที่เห็นเป็นชุดนักโทษของไทย แกเตรียมมาทุกครั้งที่ไปศาลเพื่อฟังสืบคดี และแกคิดว่าจะต้องโดนแน่ เลยเตรียมตัว” 

“บางทีภาพถ่ายมันก็สวยด้วยตัวมันเอง โดยที่เราไม่ต้องวาด” 

ชั้นบนของพื้นที่จัดแสดงงานเป็นส่วนของ ห้องที่ 3 Memorabilia หรือชื่อไทยว่า ภาพจำ ‘ความเป็นคน’ เป็นผลงานภาพถ่ายคนชายขอบทั่วกรุงเทพฯ ที่วิทวัสบันทึกเก็บไว้มาหลายปี จากทั้งหมดราว 30 ภาพ จุดร่วมอย่างหนึ่งของผลงานชุดนี้คือความไม่ประนีประนอม หากองค์ประกอบภาพไม่อยู่ด้านบนก็อยู่ด้านล่าง ไม่มีพื้นที่สำหรับตรงกลาง 

“ผมไม่ค่อยสนใจคนที่เหมือนเรา ผมสนใจคนที่เขากำลังมีปัญหาหรือเขาเดือดร้อน ซึ่งไม่ว่าจะมองไปทางไหน ผมก็เจอคนเหล่านี้ พวกเขาไม่จำเป็นต้องมาเป็นแบบนี้ก็ได้ ถ้าสังคมดีกว่านี้”

จากบรรดาภาพถ่ายทั้งหมด ชายวัยกลางคนกำลังเปิดหมวกร้องเพลงอยู่ริมฟุตบาท เป็นภาพที่วิสวัทเลือกขึ้นมานำเสนอในรูปแบบของ ‘ภาพฟิล์มกระจก’ ด้วยเหตุผลว่า “นี่เป็นรูปเดียวที่บอกทุกอย่างได้ครบถ้วน” ตำแหน่งที่ยืนอยู่ตรงกลางเมืองให้ความหมายถึงการเป็นภาพสะท้อนศูนย์กลางของกรุงเทพฯ 

ฟิล์มกระจกเป็นเทคโลยีในการถ่ายภาพช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 โดยการนำแผ่นกระจกมาใช้รองรับการบันทึกภาพ แต่เนื่องด้วยราคาที่สูงภาพถ่ายฟิล์มกระจกในยุคแรกส่วนใหญ่จึงเป็นภาพถ่ายของชนชั้นสูง ที่มีทุนทรัพย์ในการซื้อกล้องฟิล์มกระจกจากต่างประเทศ

“ด้วยความที่ราคาสูงมาก เราจึงทำได้แค่แผ่นเดียว เพราะยิ่งกระจกใหญ่เท่าไร กล้องจะต้องใหญ่เท่านั้น และถ้าเข้าใจความหมายฟิล์มกระจก ก็จะเข้าใจด้วยว่าทำไมผมถึงต้องใช้วิธีนี้ในการนำเสนอ” 

ห้องที่ 4 The Artist’s Trial เป็นส่วนของการจัดแสดง ศิลปะจัดวาง ที่อธิบายเอาไว้ว่าเป็น ‘การรื้อสร้างปริมณฑลความคิดและการทดลองของศิลปิน การทำลายเส้นแบ่งของโลกความจริงและจินตนาการ’

กองหนังสือที่ตั้งสูงขึ้นไปมีชื่อผลงานว่า ‘โจโจ้ผู้ฆ่ายักษ์’ (Jojo and the Bookstalk) เป็นความตั้งใจของวิทวัสที่อยากสื่อถึงว่าหนังสือเหล่านี้ช่วยนำเขาไปสู่การเดินทางก้าวข้ามเพดาน

“หนังสือเหล่านี้เป็นหนังสือที่บ้านของผมเอง เป็นหนังสือที่ทำให้ผมตาสว่าง ผมเลยเอาหนังสือมาเรียงขึ้นไปให้เหมือนกับอนุสาวรีย์ จริงๆ ตั้งใจจะตั้งให้สูงจนชิดเพดาน แต่มันล้มลงมา ผมตั้งมาประมาณ 5 ครั้ง ตั้งครั้งแรกยังไม่ถึงข้างบนก็ล้มแล้ว ตั้งครั้งที่ 2 ไปถึงเพดานได้ แต่ล้ม ตั้งครั้งที่ 3 อยู่ได้ประมาณชั่วโมงกว่าก็ล้ม ตั้งครั้งที่ 4 อยู่ได้หลายชั่วโมงมาก แต่ยังล้มเหมือนเดิม ตั้งครั้งที่ 5 อยู่ได้คืนเดียวก็ล้ม” 

หนังสือที่วิทวัสเลือกให้อยู่ด้านบนสุดชิดกับเพดานคือ หนังสือชื่อ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ของ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง และ สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย ของ อานนท์ นำภา ที่มีลายเซ็นของผู้เขียนอยู่ด้านใน

“ผมตั้งใจว่าจะตั้งอีกไปเรื่อยๆ จะหาวิธีจนกว่าจะสามารถทำได้ ถึงแม้ว่าจะถูกโค่นลงมา แต่เราจะทำ อาจจะใช้วิธีทำฐานให้ใหญ่ขึ้นไปอีก เพราะในตอนแรกใช้ฐานแค่อันเดียว แล้วค่อยเพิ่มเป็น 2 เป็น 3 แต่ก็ยังเอาไม่อยู่ เดี๋ยวจะลองเพิ่มเป็น 4” 

ด้านหลังที่หันมาไว้ด้านหน้า ฟ้าที่ควรอยู่บนลงมาอยู่ด้านล่าง เป็นผลงานในชื่อ ‘เริ่ม – จบ’ (Creation – Conclusion) 

“ผมวาดภาพนี้เมื่อประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว ช่วงหนึ่งความคิดผมเป็นแบบหนึ่ง แต่พอเรียนรู้มากขึ้น ความคิดผมก็เปลี่ยนไป ผมจึงคิดว่าไม่ควรที่จะแสดงด้านหน้า ควรที่จะแสดงด้านหลัง เพราะตอนนี้ผม turn แล้ว” 

ท้องฟ้าด้านล่าง หากดูดีๆ จะพบกับก้อนเมฆกำลังเคลื่อนตัวอยู่ ซึ่งเป็นภาพเคลื่อนไหวความยาวประมาณ 4 นาที

ผลงานชิ้นสุดท้าย ‘ท้องฟ้าบนผืนผ้าใบ’ เป็นภาพเดียวกับท้องฟ้าจากจอฉายโปรเจกเตอร์ในผลงานชิ้นก่อนหน้า มันถูกวางอยู่บนขาตั้งวาดภาพโบราณขนาดใหญ่ ที่ถูกหมุนสลับให้กลับล่างขึ้นบน กลับบนลงล่าง และส่งพลังบางอย่างออกมาสมชื่อผลงานว่า ‘มาสเตอร์พีซ’ (The Masterpiece)

“ทั้งหมดที่ทำ เป็นวิธีคิดของตัวผมเองที่มีต่อชีวิตช่วงหลังๆ และเป็นแค่ส่วนหนึ่งที่ศิลปินนำเสนอออกมาให้คนได้เห็น ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ซึ่งยังต้องทำความเข้าใจอีกหลายๆ อย่างเพื่อให้สิ่งที่เราคิดว่าดีเกิดขึ้นจริง สิ่งที่ดีคือเราต้องการสิทธิเสรีภาพที่มากกว่านี้ เราต้องการอะไรหลายอย่างที่น่าจะดีได้กว่านี้ ไม่ใช่ว่าอยู่แบบนี้แล้วจงพอใจ”

Fact Box

  • นิทรรศการ นิ/ราษฎร์: The L/Royal Monument จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 มิถุนายน - 18 กันยายน 2564 ณ SAC Gallery
  • เปิดให้เข้าชมในวันอังคาร-วันเสาร์ เวลา 10.00-18.00 น.
  • สามารถติดต่อสำรองการเข้าชมได้ทาง www.sac.gallery Facebook: SAC Gallery
    โทร. 0-2662-0299, 0-2258-5580
Tags: , , , , ,