ในอดีต ผู้ชายชาวล้านนามีวัฒนธรรมหนึ่งในการแสดงออกถึงความเป็นลูกผู้ชายอย่างเต็มตัว ซึ่งก็คือการ ‘สักขาลาย’

การสักขาลาย คือรูปแบบของการสักขาเป็นรูปกางเกง โดยจะสักตั้งแต่บริเวณหัวเข่าขึ้นไปถึงเอว และใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน แม้จะก่อให้เกิดความเจ็บปวดอย่างยิ่ง แต่ก็เปรียบเสมือนบทพิสูจน์ความอดทน ซึ่งกลุ่มคนสักขาลายเหล่านี้เชื่อว่าเป็นการตอบแทนพระคุณแม่ที่คลอดออกมาดูโลก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มสถานะทางสังคม และความพร้อมในการจะเป็นหัวหน้าครอบครัว รวมถึงเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากวัยเด็กสู่วัยรุ่น

คอลัมน์ Culture Club สัปดาห์นี้ ชวนไปรู้จักกับวัฒนธรรม ‘สักขาลาย’ ผ่านชีวิตของอดีตเด็กพังก์ผู้หลงใหลวัฒนธรรมการสักขาลาย วัฒนธรรมเจ็บๆ ที่เป็นบทพิสูจน์ความอดทนและอัตลักษณ์ของชาวล้านนา

 

ในอดีต ผู้ชายชาวล้านนามีวัฒนธรรมหนึ่งในการแสดงออกถึงความเป็นลูกผู้ชายอย่างเต็มตัว ซึ่งก็คือการ ‘สักขาลาย’ รูปแบบของการสักขาเป็นรูปกางเกง โดยจะสักตั้งแต่บริเวณหัวเข่าขึ้นไปถึงเอว ที่เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านจากเด็กผู้ชายเป็นชายเต็มตัว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันค่านิยมการสักขาลายถูกลดทอนลงจากอดีตที่ผ่านมา เพราะสังคมส่วนใหญ่มองว่าผู้ที่สักคือคนไม่ดี แต่ก็ยังคงมีหลักฐานรอยสักเหล่านี้ปรากฏให้เห็นอยู่ตามเรือนร่างของผู้เฒ่าต่างๆ ในเชียงใหม่

‘อ๊อด’ – ศราวุธ แววงาม ช่างสักวัย 43 ปี ผู้หลงใหลวัฒนธรรมการสักขาลาย เขาเกิดและเติบโตที่จังหวัดเชียงใหม่ เริ่มหัดสักตั้งแต่อายุ 18 ปี พร้อมกับไลฟ์สไตล์ความเป็น ‘พังก์’ 

“ในยุคนั้นพังก์มันฮิตและทันสมัยที่สุด เราชอบฟังเพลงแบบพังก์ แต่งตัวแบบพังก์ สมัยนั้นอุปกรณ์สักหายากและราคาแพง เราเลยลองประดิษฐ์อุปกรณ์เอง และพัฒนาวิธีสัก โดยลองผิดลองถูกมาเรื่อยๆ ตามประสาวัยรุ่น”

ศราวุธประกอบอาชีพเป็นช่างสักมาเรื่อยๆ จนกระทั่ง 7 ปีที่แล้ว โชคชะตาก็ทำให้เขาได้พบกับรอยสักรูปแบบหนึ่ง หลังจากมีพระรูปหนึ่งมาขอแบ่งซื้อหมึกสักขณะที่เขาอยู่ที่ร้าน เมื่อลองสอบถามว่าจะนำไปสักอะไร พระรูปนั้นจึงถกจีวรขึ้นเผยให้เห็นรอยสักขาลายที่สวยงาม และทำให้เขาเริ่มสนใจ เพราะไม่คิดว่ารอยสักชนิดนี้จะมีหลงเหลืออยู่ และยังมีผู้ที่สามารถสักรูปแบบนี้ได้ เขาจึงขอที่อยู่ช่างสักจากพระรูปนั้น และออกตามหา

ศราวุธออกเดินทางโดยมอเตอร์ไซค์ไปยังหมู่บ้านพะติโจ ตำบลแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก สถานที่ที่ทำให้เขาได้พบกับวัฒนธรรมบางอย่างที่ไม่เคยพบในเชียงใหม่ อาทิ เจ้าบ้านจะต้องให้แขกที่มาบ้านกินข้าวก่อน พอแขกกินเสร็จแล้วเจ้าบ้านถึงจะกินได้

“พอไปถึงที่นู่น เราก็ตื่นเต้นเพราะได้เห็นรอยสัก รวมถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ ปกาเกอะญอ” ศราวุธเล่า เขาได้พบเจอกับ ละดา ศรีอุเบท ชาวปกาเกอะญอ ช่างสักขาลายที่ยังรับสักขาลายอยู่ถึงปัจจุบัน ซึ่งต่อมาศราวุธยกให้เขาเป็นอาจารย์

“ในวันนั้นเราตั้งใจจะสักสองขา แต่ด้วยขีดจำกัดของร่างกายก็เลยได้มาขาเดียว” 

หลังจากนั้น ศราวุธกลับมาเชียงใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ ก่อนจะกลับไปสักขาอีกข้างอีกครั้ง และเริ่มศึกษาวิจัยรอยสักชนิดนี้มาเรื่อยๆ

“ก่อนจะสักเป็นก็ต้องถูกสักก่อน” ศราวุธกล่าว เขาพัฒนาวิธีการสักและอุปกรณ์ในการสัก โดยอธิบายว่า ก่อนที่จะสักกับคนจริงๆ ก็ต้องวาดลงบนกระดาษหุ่นเสียก่อน พอมั่นใจแล้วจึงเริ่มสักกับคนจริงเป็นครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว

“ตอนนั้นอาจารย์ละดาเกือบจะขายเข็มไปแล้ว เพราะมีฝรั่งมาถาม ขอซื้อในราคาที่สูง แต่อาจารย์ไม่ขาย เพราะท่านสำนึกในบุญคุณของเข็มสัก ท่านมีข้าวกิน มีเงินเลี้ยงครอบครัวได้ก็เพราะเข็มสักนี่แหละ กระทั่งได้เจอกับเรา” ศราวุธเล่าถึงบุคคลผู้ที่เขายกให้เป็นอาจารย์ 

ทักษะของละดา ประกอบกับวิธีการสักสมัยใหม่ที่ทำให้ถูกสุขอนามัย พาให้เขาได้มาสักที่เชียงใหม่และทำให้หลายคนได้รู้ว่ายังมีคนที่สามารถสักขาลายได้

ปัจจุบัน การสักขาลายเริ่มกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เพราะก่อนหน้านี้คนมักคิดว่ารอยสักชนิดนี้ไม่หลงเหลือยู่แล้ว ดังนั้น นี่จึงเปรียบเสมือนกับการรื้อฟื้นการสักขาลายครั้งใหญ่ 

เอกลักษณ์ สายเลิศ หรือ ‘โอ้ว’ หนึ่งในผู้ที่มาสักขาลายกล่าวว่า “ผมได้เห็นและรู้จักรอยสักชนิดนี้จากปู่ แต่ไม่คิดว่าจะมีคนที่สักได้หลงเหลืออยู่ จนได้มาพบกับอ๊อด รอยสักนี้ทำให้ผมได้พบเจอเพื่อนใหม่ๆ ที่ชื่นชอบ และสนใจในรอยสักชนิดนี้เหมือนกัน จนเกิดเป็นมิตรภาพ” 

“ผมรู้สักดีที่รอยสักชนิดนี้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง เพราะมันเป็นการเเสดงออกถึงอัตลักษณ์ของชาวล้านนา”

ศราวุธพัฒนาต่อยอดทักษะการสักร่วมกับทั้งอาจารย์ละดาและเพื่อนๆ ตลอดมา ทั้งวิธีการแบบดั้งเดิม และการประยุกต์เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจ เป็นการอนุรักษ์และยังคงไว้ซึ่งความเคารพต่อบรรพชนที่ได้คิดค้นรอยสักชนิดนี้มา

Fact Box

ผู้ที่สนใจการสักขาลาย สามารถสอบถามข้อมูลและรายละเอียดได้ทาง https://www.facebook.com/oddy.lannatattoo โทร. 08-5107-3356

Tags: , , , ,