ซ่อง: วัฒนธรรมที่ผู้คนหลงลืมละเลย
“สมัยก่อนแถวนี้เต็มไปด้วยซ่อง ซ่องเต็มไปหมดทั้งซอย ขอนแก่นที่ที่มีซ่องเยอะๆ ก็ต้องถนนเส้นนี้แหละ อีกที่ก็เป็นแถวสะพานเหล็ก แต่เดิมตรงที่ต้นไม้ขึ้นรกๆ นี่ก็เป็นซ่องนะ แต่เขาทุบทิ้งกันไปหมดแล้วตั้งแต่ คสช. ขึ้นมายึดอำนาจ อาคารที่เราอยู่กันนี่ก็เป็นซ่องเก่าที่ยังไม่ถูกรื้อ”
คำบอกเล่าของคนในตัวเมืองจังหวัดขอนแก่นที่บอกว่า สมัยก่อนบริเวณถนนเทพารักษ์และย่านสะพานเหล็ก ถือได้ว่าเป็นพื้นที่ที่ค่อนข้างรุ่งเรืองทางการค้า มีผู้คนมากหน้าหลายตาเดินทางหลั่งไหลเข้ามาเพื่อแสดงหาโอกาส หวังจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อกลายเป็นย่านเศรษฐกิจของเมือง ถนนเทพารักษ์และย่านสะพานเหล็กจึงเต็มไปด้วยผับ บาร์ สถานบันเทิง รวมถึงซ่องโสเภณีเช่นเดียวกับย่านเศรษฐกิจในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ความรุ่งเรืองของพื้นที่ที่ว่านี้ก็เสื่อมคลายลงไปด้วย ศูนย์รวมการค้าและความเจริญแห่งใหม่ของจังหวัดขอนแก่นถูกโอนย้ายมาอยู่ที่ถนนศรีจันทร์
ประกอบกับในช่วงปี 2557 หลังจากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรัฐประหาร เข้ามาบริหารประเทศ ได้มีการออกมาตรการกวาดล้างสถานบริการทั่วประเทศ โดยเฉพาะสถานบันเทิงตามคําสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 22/2558 เรื่อง มาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแข่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในทางและการควบคุมสถานบริการหรือสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายกับสถานบริการ ส่งผลให้สถานบริการตลอดแนวถนนเทพารักษ์และย่านสะพานหินปิดตัวลง อาคารสถานบริการหลายแห่งถูกปิด หลายแห่งถูกรื้อถอน อีกหลายแห่งถูกทิ้งร้างอย่างซ่องร้างสองชั้นแห่งหนึ่งบริเวณซอย 5 ของถนนเทพารักษ์
แม้โดยรอบอาคารแห่งนี้จะยังมีบ้านเรือนอยู่ มีผู้คนสัญจรผ่านไปมา แต่ก็กลับไม่มีใครหันมาเหลียวแล ขณะที่กลุ่มขอนแก่นเมนิเฟสโต้กลับให้ความสนใจ และเลือกให้ซ่องแห่งนี้เป็นสถานที่จัดแสดงงานศิลปะ เพื่อเรียกร้องให้ผู้คนที่สัญจรไปมาเห็นว่า พื้นที่แห่งนี้มีชีวิต มีความเป็นมา และเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ชาวขอนแก่นและคนในพื้นที่อื่น ๆ หลงลืมละเลยไป
Pink Lady: เกิดอะไรขึ้นกับหญิงสาวใต้แสงไฟสีชมพู
หากในค่ำคืนหนึ่ง คุณมีโอกาสเดินเข้าไปในซอย 5 ของถนนเทพารักษ์ ย่านเศรษฐกิจอดีตที่เคยรุ่งเรืองของจังหวัดขอนแก่น คุณจะพบไฟสีชมพูบานเย็นส่องสว่างอยู่บนชั้นสองของ ‘ซ่องร้าง’ ที่รายล้อมไปด้วยป่ารก เมื่อเข้าไปสำรวจภายใน คุณก็จะพบข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของหญิงค้าบริการวางกระจัดกระจายอยู่อย่างไร้ระเบียบ ทั้งโต๊ะพลาสติกขนาดเล็กวางชามใส่อาหาร แก้วน้ำ ขวดน้ำ กระติกน้ำ กะละมังใส่ข้าว ถาดใส่อาหาร ไม้กวาด เสื้อกันหนาว ที่น่าสังเกตก็คือข้าวของทุกชิ้นเป็น ‘สีชมพูบานเย็น’ เหมือนกันทั้งหมด สีที่ว่านี้มักจะถูกเปิดใช้ในสถานบริการทางเพศจนเป็นที่มาของคำว่า “Pink Lady” อันหมายถึงหญิงโสเภณี
บนบานประตูทางเข้าห้องแสงสีชมพู มีข้อความข้างท้ายพระราชบัญญัติ ปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 ระบุว่ากิจกรรมการค้าประเวณีนี้เป็นการกระทำอันไม่สมควร น่ารังเกียจ และ ‘ผิดกฎหมาย’ จำเป็นต้องได้รับการปราบปราม ซึ่งกฎหมายทั้งฉบับได้รับการรับรองโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อาชีพโสเภณีสามารถทำได้อย่างเปิดเผย ซึ่งก็สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง จะมีข้อพึงระวังก็เพียงเรื่องการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโดยเฉพาะกามโรค ที่ผ่านมา ก็มีการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน แต่ก็ยังคงสาระสำคัญที่ว่า การค้าประเวณีเป็นเรื่องผิดกฎหมาย
เหตุใดอาชีพสำคัญยุคนั้นอย่างโสเภณีถึงไม่ถูกรับรอง
ภายในสถานบริการร้างหลังเดียวกันนี้ เมื่อเปิดประตูเข้าไปบริเวรด้านหน้าทางเข้า ไม่พบห้องโถงใดๆ แต่กลับเป็นทางเดินแคบพอดีตัว ยาวตั้งแต่หน้าไปจนท้ายสุดของอาคาร ห้องแรกที่พบเป็นห้องน้ำผู้หญิงสองห้อง และห้องน้ำผู้ชายอีกหนึ่งห้องใหญ่ ภายในอาคารประกอบด้วยห้องโถง 1 ห้องมีหิ้งบูชาวางอยู่ ห้องทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของหญิงค้าบริการ 1 ห้อง และห้องรับแขกที่มาซื้อบริการเป็นห้องเล็ก ๆ ขนาด 2×3 เมตร พอมาเตียงนอนและเหลือทางเดินเล็กน้อยอีก 15 ห้อง (ตามความเข้าใจของผู้เขียน)
นอกจากห้องแสงสีชมพูบานเย็น กลุ่มขอนแก่นเมนิเฟสโต้ยังได้ใช้พื้นที่ในห้องรับแขกซื้อบริการหลายห้องจัดแสดงงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในท้องถิ่นที่เชื่อมโยงเข้ากับการเมืองในระดับประเทศ ดังเช่น ‘เพราะเสร็จ จึงเจริญ’ ผลงานของกุลธิดา กระจ่างกุล ศิลปินชาวขอนแก่น ที่บอกเล่าเรื่องราวความรุ่งเรืองของถนนเทพารักษ์แห่งนี้ ผ่านคราบน้ำกามบนเตียงนอนของห้องรับแขกภายในสถานบริการ ด้วยการใช้น้ำกามจากอาสาสมัคร 10 คน เพ้นท์ภาพแผนที่เทศบาลนครขอนแก่นลงบนผ้าปูเตียง ปักหมุดลงบนถนนเทพารักษ์ซอย 5 เพื่อจะสื่อว่าอาชีพโสเภณีก็เป็นอีกงานที่สำคัญและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเมืองนี้ ขณะเดียวกันความรุ่งเรืองของเมืองก็ค่อยๆ จางหายไป เช่นเดียวกับน้ำกามที่เมื่อแห้งก็จางลง
อีกห้องเป็นผนังที่ติดภาพคำเตือนใจของหญิงสาวที่มาทำงานค้าบริการ โดยเฉพาะการเดินทางไกล้เข้าเมืองใหญ่ ที่มาพร้อมกับความหวังในการหาเงิน แต่ความฝันที่จะกลับไปสู่บ้านเกิดบนท้องทุ่งที่อบอุ่นแสนหวาน ก็ค่อยเหือดหายลงไปพร้อมกับร่างกายที่ทรุดโทรมจากการโหมงานขายตัว
ถนอม ชาภักดี นักวิจารณ์ศิลปะ หนึ่งในผู้จัดงานเล่าว่า ต้องการให้เห็นขอนแก่นอีกมุมหนึ่ง เพราะเวลาพูดถึงขอนแก่นคนพูดถึงแต่สมาร์ทซิตี้ แต่บริเวณนี้ที่เป็นเส้นเลือดขอนแก่น สร้างคนให้มีชีวิตชีวากลับถูกหลงลืมไป ซ่องซอย 5 ทำให้คนขอนแก่นมีชีวิตชีวา มีความหมาย และความเป็นคนมากกว่าถนนศรีจันทร์ (ถนนเศรษฐกิจสายหลักในปัจจุบัน) ในอีกด้านกฎหมายบ้านเราก็บอกว่าอาชีพโสเภณีเป็นอาชีพที่ผิดกฎหมาย คนที่แสดงออกต่อต้านรัฐก็ผิดกฎหมาย ถ้าเช่นนั้นพวกเราก็เป็นโสเภณีด้วยเหมือนกันหรือเปล่า และสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ
ครั้งที่หนึ่งของขอนแก่นเมนิเฟสโต้เป็นการปักหมุดว่า จอมพลสฤษดิ์ มาสร้างโมเดลสำหรับการพัฒนาขอนแก่นเอาไว้ โดยอยากให้ขอนแก่นเป็นเมืองพัฒนา น้ำไหล ไฟสว่าง ทางสะดวก เป็นจุดมุ่งหมายของจอมพลสฤษดิ์ และครั้งที่สองการขยายความว่าหลังเกิดความเจริญแล้วเกิดอะไรขึ้น เช่น แรงงานอพยพเข้าสู่เมือง เกิดอาชีพโสเภณี ผับบาร์ ในเมืองขอนแก่น “ทำไมอาชีพสำคัญยุคนั้นอย่างโสเภณีถึงไม่ถูกรับรอง”
คำประกาศอิสรภาพของชาวประชาขอนแก่น
การจัดแสดงงานศิลปะ Khonkaen Manifesto ในปีนี้ นอกจากซ่องซอย 5 ยังจัดแสดงอีกใน 4 พื้นที่
ทาวเฮ้าส์ในย่านถนนเทพารักษ์ (อาคารบี) เป็นนิทรรศการการเมืองร่วมสมัย อันเป็นดั่งคำประกาศอิสรภาพตาม ที่เหล่าศิลปินขบถต่างยึดถือ
ที่ ‘ใหม่อีหลี’ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยริมบึงแก่นนคร อีกจุดแสดงงาน วีรยุทธ โพธิ์ศรี เจ้าของผลงานหลากภาพ จิตรกรรม เล่าว่าสนใจงานยุคปี 2500 หรือใกล้ปี 2500 ที่จัดแสดงเป็นภาพตัวแทนของชาวบ้านที่มีลักษณะไทยนิยม มีความเป็นขนบผ่านชุดยูนิฟอร์ม หรือละเล่นรำวง ส่วนภาพรูปคนกราบไหว้ แนวคิดมาจากอนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เป็นการสร้างภาพลักษณ์ของชาวบ้านต่อเรื่องๆ หนึ่งในประวัติศาสตร์และอนุสาวรีย์ว่าภาพของชาวบ้านจะปรากฎออกมาเป็นแบบไหน และในเชิงระดับประเทศ เช่น ภาพร.5 สมัยเลิกทาส จึงนำมาตีความใหม่ในเชิงความหมายและหมุดหมาย โดยมองไปที่ชาวบ้านและคนเล็กคนน้อย
(ภาพจาก manycuts.artspace)
ส่วนที่ YMD Art Space บริเวณถนนกลางเมืองขอนแก่น เป็นงานจากศิลปินหน้าใหม่หรือบุคคลที่สนใจ ต้องการพื้นที่ Open Call สิ่งที่ตัวเองอยากให้มุมมอง มีทั้งเพลงแร็ปเล่าถึงอำนาจอาวุโสของระบบตำรวจ งานเพ้นท์สื่อถึงมือเปื้อนเลือดจากอาชญากรรมโดยรัฐ งานวิดีโอวัฒนธรรมหน้าฮ่านของวัยรุ่นอีสาน และบนชั้นดาดฟ้ายังจัดฉายภาพยนตร์จากประเทศเยอรมนี โดย Goethe-Institute Thailand ในวันที่ 13-17 ธันวาคม 2563 และ 19 ธันวาคม 2563 และที่บ้านนักกิจกรรมกลุ่มดาวดิน ซอยโคลัมโบ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จะมีกิจกรรมส่งท่ายพ่นสีกำแพงต่อต้านอำนาจรัฐ เริ่มวันที่ 18 ธันวาคม 2563
Fact Box
- ปฏิบัติการทางศิลปะขอนแก่นเมนิเฟสโต้จะจัดถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2563 สามารถดูรายละเอียดวันเวลาและสถานที่อีกครั้งได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้
- https://www.facebook.com/ManifestoAgendaSummit
- https://www.facebook.com/ymdartspace/