‘อ่อนโยน นุ่มนวล และงดงาม’

มายาคติที่ถูกปลูกฝังอยู่ในขนบธรรมเนียมอันล้าหลังและกดทับต่อขีดความสามารถของสตรีเพศเอาไว้จนกลายเป็นความเคยชิน แต่ด้วยวิวัฒนาการของยุคโลกาภิวัตน์ ปัจจุบัน มายาคติเหล่านั้น ถูกคลื่นแห่งความสามารถของพวกเธอซัดพังทลายทิ้งลงจนหมดสิ้น ไม่เว้นแม้แต่ในแขนงงานศิลป์

และเนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2021 นี้ ทาง ‘SAC Gallery’ ได้ร่วมผลักดันความสามารถของศิลปินหญิงในประเทศไทยสู่สายตาผู้คนผ่านตัวแทนทั้ง 4 คน ได้แก่  ธนธร สรรพกิจจํานง, ธิดารัตน์ จันทเชิ้อ, ไปรยา เกตุกูล และอ้อ สุทธิประภา ที่มีความแตกต่างด้านกลวิธีงานศิลป์กันออกไป แต่แฝงด้วยวิธีเชื่อมโยงและการร้อยเรียงที่เหมือนกัน ในนิทรรศการงานศิลป์ร่วมสมัย ‘Herspective’ 

ชื่องานนิทรรศการ ‘Herspective’ เป็นการเล่นคำจาก ‘Perspective’ ซึ่งสื่อให้เห็นถึงมุมมอง ความสามารถ และกระบวนการคิดอันเฉียบแหลมของ 4 ศิลปินหญิง ผ่านสิ่งรอบข้างอย่างสังคม ครอบครัว และความเชื่อ ที่หล่อหลอมพวกเธออย่างตรงไปตรงมา

 

มุมจัดแสดงฝั่งแรกเป็นการพูดถึงผลงานของ ‘ธนธร สรรพกิจจำนง’ ที่ว่าด้วยเรื่องของสถานการณ์บ้านเมือง ณ ปัจจุบันอันสุดแสนตึงเครียด ทำให้สิ่งที่ธนธรฉุกคิดถึงนั้นคือคำว่า ‘Together’ กับการจับมือก้าวผ่านปัญหาด้วยกันผ่านประโยคตัวอักษรให้กำลังใจทั้งภาษาไทยและอังกฤษบนกระดาษ ‘อะวากามิ’ (Awagami) ของประเทศญี่ปุ่น ที่มีความทนทานและสีคงทนต่อกาลเวลา โดยนำกระดาษเหล่านั้นมาจับวางเรียงประกอบจนเกิดเป็นรูปใบหน้าคนสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งสื่อให้เห็นถึงสภาพการใช้ชีวิตของผู้คนในยุคนี้

อีกหนึ่งความพิเศษของผลงาน ‘Together’ อยู่ตรงที่ตัวอักษรบนกระดาษอะวากามิที่ทางธนธรพัฒนาเทคนิคมาจากประสบการณ์การเปิดโรงเรียนสอนพิมพ์ดีดของครอบครัว ทุกตัวอักษรบนกระดาษอะวากามิเกิดจากเทคนิคความพยายามด้วยการพิมพ์ดีดย้ำลงไปซ้ำๆ จนตัวอักษรฝังเรียงกัน เมื่อนำมาประกอบจะเกิดเป็นชั้นเลเยอร์ตามที่เห็นในภาพ เทคนิคนี้สื่อให้เห็นถึงความสำคัญของครอบครัวที่หล่อหลอมเติมเต็มชีวิตเธอจนสมบูรณ์ เปรียบเสมือนตัวเธอที่เป็นดั่งอักษรพยัญชนะ และพ่อ-แม่คือวรรณยุกต์ ก่อร่างกันจนมีความหมายเป็นภาพหนึ่งภาพ

ภาพตัวอักษรที่เกิดจากการเคาะพิมพ์ดีดย้ำลงไปยังกระดาษอะวากามิ

ส่วนถัดมาเป็นผลงาน ‘Gravitation from Your Story’ และ ‘Mysterious Path’ ของ ‘ธิดารัตน์ จันทเชื้อ’ โดยเธอใช้เทคนิคสร้างสรรค์ด้านการทักทอเส้นด้ายและงานปักมาร้อยเรียงเป็นภาพมุมมองลวงตา เปรียบเสมือนตกอยู่ในห้วงจินตนาการอันลึกลับ

งานทั้งสองชิ้นของธิดารัตน์ ยังเป็นการผสมผสานอัตลักษณ์ความเป็นมุสลิมไปในตัว ซึ่งหากสังเกตมิติของผลงานทั้งสองชิ้นให้ดีจะเห็นว่า มีลักษณะเงาของมนุษย์ในอิริยาบถต่างกันไป สาเหตุที่ไม่สามารถปักเป็นรูปแบบคนตรงๆ ได้นั้น มากจากศรัทธาความเชื่อของศาสนาอิสลามที่ห้ามวาดมนุษย์บนผลงาน เธอจึงใช้กลวิธีอันเฉียบแหลมนี้สอดแทรกลงไป รวมถึงเธอยังใช้เทคนิค ‘อินทีเรีย’ สำหรับออกแบบโบสต์มัสยิด มาเป็นแนวทางวิธีร้อยเรียงเส้นด้ายอย่างสวยงาม

ลวดลายที่มีแนวคิดแบบเดียวกับอีนทีเรีย จากโบสถ์มัสยิด

ผลงานของศิลปินหญิงคนที่ 3 อย่าง ‘ไปรยา เกตุกูล’ พูดถึงจุดเล็กๆ ทั้ง กิ่งไม้ ใบหญ้า จนจรดถึงจักรวาลอันกว้างใหญ่ที่ก่อเกิดเป็นองค์ประกอบเดี่ยวกัน เธอใช้ภาพวาด ทั้ง 3 รูป ประกอบด้วย Wild Wonder, Flower Cracker และ Star on Earth เป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวผ่านปลายพู่กัน   

ใน 2 ภาพแรก Wild Wonder และ Flower Cracker เธอใช้ต้นแบบลักษณะของดอกหญ้าข้างทางที่คนมองข้ามมาเป็นองค์ประกอบหลักด้วยเหตุผลว่า สิ่งเล็กๆ เหล่านี้ต่างสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันของจักรวาล มิอาจแยกจากกันได้ และภาพสุดท้าย Star on Earth คือองค์รวมสุดท้ายของเซ็ตภาพ

 

สุดท้ายคือผลงานประติมากรรมเซรามิก 3 ชิ้น ที่ตั้งเรียงเด่นใจกลางห้องโถงที่มีชื่อว่า ‘Origin’ ของอ้อ สุทธิประภา ศิลปินหญิงผู้สื่อสารตัวตนผ่านงานเซรามิก ด้วยความเรียบง่าย คงทนต่อกระแสห้วงเวลาจึงทำให้ผลงานของเธอเข้าถึงได้ง่าย และโด่งดังไปทั่วโลก รวมถึงเธอยังเลือกใช้ ‘ดินไทย’ มาใช้เป็นวัตถุดิบการปั้น เพื่อบ่งบอกถึงความ ‘ดั้งเดิม’ ตามชื่อผลงาน

สำหรับผลงาน ‘Origin’ เป็นการบอกเล่าถึงการพัฒนาของตัวเธอ จากที่เมื่อก่อนเธอมักจะออกแบบงานประติมากรรมรูปแบบทรงกระบอกปกติ ในครั้งนี้เธอเลือกใช้กลวิธีเช่นเดิม แต่เปลี่ยนรูปทรงจากกระบอกเป็นทรงเกลียว จนคลี่คลายแผ่ออกมาในประติมากรรมชิ้นสุดท้าย เปรียบเสมือนการปลดเปลื้องขีดจำกัดของตนเอง อีกทั้งยังบ่งบอกถึงความอ่อนโยนทว่าหนักแน่นในเวลาเดียวกัน

ผลงานของศิลปินหญิงทั้ง 4 คน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความสร้างสรรค์ที่เกิดจากสตรีที่ก้าวข้ามผ่านขีดข้อจำกัดต่างๆ จนค้นพบความสามารถของตนเอง ซึ่งเชื่อเหลือเกินว่าสตรีอีกหลายพันล้านคนบนโลกสีน้ำเงินแห่งนี้ยังคงต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของตนเอง เฉกเช่นที่ ‘ปอล โกแก็ง’ จิตรกรชื่อก้องโลกชาวฝรั่งเศสเองเคยกล่าวยกย่องถึงอิสตรีทั้งมวลไว้ว่า

“ผมขอเคารพเชิดชูผู้หญิงทุกคน ที่ต่อสู้เฉกเช่นบุรุษเพื่ออิสรภาพของตัวพวกเธอเอง”

Fact Box

  • รับชมผลงานนิทรรศการ ‘Herspective’ ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 บริเวณ Art Connection ชั้น 3 โรงแรม โรสวูด กรุงเทพฯ
Tags: ,