หากจะกล่าวถึง ‘โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อ’ (Propaganda Posters) ที่โด่งดังติดตามากที่สุดเป็นอันต้นๆ ย่อมหนีไม่พ้นโปสเตอร์ ‘I Want You’ หรือที่คนไทยเรียกติดปากว่า ‘ลุงแซม’ ที่ถูกวาดขึ้นเพื่อชักจูงให้ชายหนุ่มชาวอเมริกันเข้าสมัครเป็นทหารในกองทัพ ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 

ทว่าเมื่อสืบค้นเพิ่มเติม จะพบว่าไม่ใช่เพียงแค่สหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ใช้โปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อในการปลุกใจประชาชน ให้เตรียมพร้อมปกป้องประเทศจากเงื้อมมืออริราชศัตรู แต่สหภาพโซเวียต หรือประเทศรัสเซียในปัจจุบัน ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ใช้วิธีนี้ในการสอดแทรกอุดมคติความรักชาติ และกระตุ้นความเกลียดชังที่มีต่อศัตรูผ่านงานศิลปะ ซึ่งมีการตีพิมพ์ให้เห็นตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 มาจนถึงยุคก่อนการปฏิวัติรัสเซีย (1917) ก่อนจะเข้ามามีอิทธิพลสูงสุดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการต่อการสู้กับฝ่ายอักษะ ที่นำโดยกองทัพนาซีของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

จากวันนั้นถึงวันนี้ นับเป็นเวลากว่า 80 ปีมาแล้ว ที่สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง (1941-1945) ทว่าภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของชาวโซเวียตที่เต็มเปี่ยมด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความรู้สึกในห้วงเวลานั้นยังคงถูกอนุรักษ์และสืบทอดต่อมายังชนรุ่นหลัง เพื่อรำลึกถึงชัยชนะและการเสียสละของเหล่าทหารหาญที่จับอาวุธปกป้องมาตุภูมิของตนเอง 

Culture Club สัปดาห์นี้ พาไปชมนิทรรศการภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อของสหภาพโซเวียต ในชื่องาน ‘Glory to the victorious soldier’ หรือ ‘ความรุ่งโรจน์สู่ชัยชนะของทหารโซเวียต’

 

นิทรรศการ ‘Glory to the victorious soldier’ เริ่มจัดแสดงเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมี เยฟกินี โทมิคิน (Evgeny Tomikhin) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย ให้เกียรติเข้าร่วม 

ภาพโปสเตอร์โฆษณาชวนเชื่อกว่า 20 ชิ้น ถูกวาดขึ้นในลักษณะคล้ายภาพเหมือนหรือการ์ตูนล้อเลียน เป็นฝีมือของนักวาดชาวโซเวียตชื่อดังในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่น วิกเตอร์ โคเรตสกี (Viktor Koretsky), นิโคไล ชูคอฟ (Nikolai Zhukov), ดมิตรี มัวร์ (Dmitry Moor), วิกเตอร์ เดนี (Viktor Deni), อเล็กเซย์ คอโคเรกิน (Alexei Kokorekin), วิกเตอร์ อีวานอฟ (Viktor Ivanov), กลุ่มศิลปินคูครูนิซึย (Kukryniksy) และกลุ่มศิลปินอ็อกนา ทาสส์ (Okna TASS) ซึ่งสมัยนั้นโปสเตอร์เหล่านี้จะถูกแปะไว้ให้ประชาชนชาวโซเวียตได้พบเห็นทั่วทั้งเมือง

 

(ซ้าย) ภาพชื่อ ‘We’ll ruthlessly defeat and destroy the enemy’ (เจ้าต้องพ่ายแพ้อย่างไร้ความปรานี พวกศัตรู!) วาดโดยกลุ่มศิลปิน ‘คูครูนิซึย’ (Kukryniksy) ในปี 1941 หลังกองทัพนาซีออกรุกรานประเทศต่างๆ จนมาถึงดินแดนของสหภาพโซเวียต เนื้อหาภายในภาพเป็นทหารจากกองทัพแดงกำลังหันอาวุธปืนเข้าใส่ผู้นำจอมเผด็จการที่กำลังพลาดท่าบนหน้าหนังสือพิมพ์ ที่มีใจความเดียวกับชื่อภาพนี้ สื่อให้เห็นถึงการปลุกใจอันฮึกเหิมและมั่นใจต่อการเอาชนะกองทัพนาซี

(ขวา) ภาพชื่อ ‘Our forces are inumerable’ (พลังของเรานั้นมีมากมาย) วาดโดย วิกเตอร์ คาเรตสกี (Viktor Koretsky) ในปี 1941 เป็นช่วงที่กองทัพนาซีบุกเข้าโจมตียึดเมืองมอสโก เลนินกราด และเคียฟ ตามแผนปฏิบัติการบาร์บารอสซาของฮิตเลอร์ ช่วงเวลานั้นเอง ข่าวคราวตามสายวิทยุได้กระจายไปถึงหูประชาชนชาวโซเวียต จนเกิดความวิตกและสุ่มเสี่ยงต่อการพ่ายแพ้สงคราม อย่างไรก็ตาม ทหารโซเวียตได้ออกตามหาอาสาสมัครที่ต้องการเข้าร่วมกองกำลังด้วยการแสดงสัญลักษณ์ เช่น ไม่ติดกระดุมเสื้อ หรือไว้หนวดเครา

โปสเตอร์ปลุกใจชิ้นนี้จึงเป็นภาพของชายสูงใหญ่ แววตาน่าเกรงขาม ไว้หนวดเครารุงรัง ไม่ติดกระดุมเสื้อ ในมือถือปืนโมซิน-นากองท์ ปืนไรเฟิลขนาดมาตรฐาน 7.62 มม. ของกองทัพแดง ส่วนฉากหลังเป็นอนุสาวรีย์ของบุคคลสำคัญบนหน้าประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์สงครามโปแลนด์-มอสโก (1605-1618) อย่าง คุชมา มินิน (Kuzma Minin) และเจ้าชาย ดิมิตรี โปซาสกี (Dimitry Pozharsky) สองนักรบและวีรบุรุษที่รวบรวมชาวรัสเซียเข้าไว้ด้วยกันเป็นหนึ่ง 

 

(ซ้าย) ภาพชื่อ ‘We Will Defend Moscow!’ (เราจะปกป้องกรุงมอสโก) ถูกวาดโดยสองศิลปินได้แก่ ‘นิโคไล ชูคอฟ’ (Nikolai Zhukov) และ ‘วิกเตอร์ คิลมาชิน’ (Victor Killmashin) เกิดจากความตระหนักถึงความสำคัญของเมืองหลวงกรุงมอสโก ที่หากแตกพ่ายย่อมหมายถึงการล่มสลายของชาติ และด้วยเหตุผลที่ว่า ภาพดังกล่าวจึงถูกวาดออกมาภายในค่ำคืนเดียว โดยใส่รายละเอียดเป็นนักรบกองทัพแดงที่กำลังยืนหยัดปกป้องพระราชวังเครมลิน หากสังเกตให้ดี จะเห็นว่าตัวทหารถูกออกแบบให้สูงใหญ่น่าเกรงขาม ทว่าแฝงด้วยความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ 

(ขวา) ภาพชื่อ ‘Enemy will not doge people’s revenge!’ (มาทำความสะอาดดินแดนของโซเวียตให้พ้นจากพวกฟาสซิสต์กันเถอะ) วาดโดยไอแซก ราบีเชฟ (Isaac Rabichev) เป็นภาพวาดที่เชิดชูเหล่านักรบกองโจรชาวโซเวียตราว 231 คน ที่จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับกองทัพนาซี ก่อนจะมีพลพรรคชาวบ้านทยอยสมทบเพิ่มขึ้นอีก 6,200 คน และถึง 1 ล้านคนในเวลาต่อมา โดยนักรบกองโจรทั้งสิ้น 128,000 คน ต่างได้รับเหรียญเชิดชูยกย่องจากสหภาพโซเวียต หลังสิ้นสุดเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2

 

 

อีกหนึ่งภาพไฮไลต์สำคัญ ที่ชื่อว่า ‘Young people, fight for the Motherland!’ (คุณยอดเยี่ยมมากในการต่อสู้เพื่อบ้านเกิด!) วาดขึ้นโดย วลาดิสลาฟ บราฟดิน (Vladislav Pravdin) ซึ่งภาพวาดนี้มีสถานะไม่ต่างจากภาพวาดลุงแซมอันเลื่องชื่อ เพื่อเชื้อเชิญให้ชายหนุ่บตบเท้าเข้าสู่กองทัพ และเปลี่ยนสถานะจากชาวบ้านเป็นทหารเกณฑ์รักษาแผ่นดินบ้านเกิด ในช่วงฤดูร้อนปี 1941 

โปสเตอร์ดังกล่าวถูกติดไว้ทั่วกำแพงเมือง รวมถึงหน้าแนวรบของดินแดนสหภาพโซเวียต เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ ขณะเดียวกัน ยังเหมือนเป็นเครื่องเตือนใจเป็นนัยๆ ตามข้อความบนโปสเตอร์ที่ว่า “ใครก็ตามที่ฉีกหรือปกปิดโปสเตอร์นี้ คนคนนั้นกำลังกระทำการทรยศหักหลัง”

 

 

โปสเตอร์ต่างๆ ภายในงานนิทรรศการ Glory to the victorious soldier ถูกติดไว้ตามฝาผนังอย่างสวยงาม พร้อมกับมีการติดป้ายเนื้อหา ที่มาที่ไปของโปสเตอร์ และชื่อผู้วาด กล่าวได้ว่าภาพเหล่านี้ทำหน้าที่ปลุกใจแก่พลเมืองชาวโซเวียต ณ ช่วงเวลานั้นได้อย่างทรงพลัง ขณะเดียวกัน เมื่อล่วงเลยผ่านกาลเวลาก็กลายเป็นหลักฐานจารึกเหตุการณ์เหล่านั้นได้ดี 

 

 

ผู้ที่สนใจนิทรรศการ ‘Glory to the victorious soldier’ (ความรุ่งโรจน์สู่ชัยชนะของทหารโซเวียต) สามารถเข้าชมได้ที่ ริเวอร์ ซิตี้ แบงค็อก ชั้น 1 โซนห้อง 182 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2564 เวลา 11.00-20.00 น. (เข้าชมฟรีตลอดงาน) โดยปฏิบัติตามกฎเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด

Tags: , , , , ,