“มหาวิทยาลัยมีไว้เพื่ออะไร?”
นิรมล กุลศรีสมบัติ ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Urban Design and Development Center -UddC) เล่าว่า นี่คือคำถามแรกก่อนที่จะเริ่มวางผังแม่บทจุฬาศตวรรษที่สอง ซึ่งสำนักบริหารระบบกายภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มอบหมายให้ UddC จัดทำขึ้น
เมื่อคำตอบที่ได้คือ เพื่อบ่มเพาะปัญญาให้ผู้เรียน ให้ผู้เรียนสามารถค้นพบตัวเอง มีอิสระในการเรียนรู้ เรียนได้ตลอดเวลา และหากจะไปสู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรม จะเกิดนวัตกรรมได้ก็ต้องเกิดการแลกเปลี่ยนศาสตร์ที่หลากหลาย
คำถามต่อมา คือ “แล้วเราจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเกิดนวัตกรรมได้อย่างไร?”
สภาพแวดล้อมของสนามการเรียนรู้
นิรมล ชี้ว่า เมื่อไปดูที่มหาวิทยาลัยในกลุ่มไอวีลีก หรือมหาวิทยาลัยชั้นนำของเอเชีย จะพบการผสมข้ามศาสตร์ ปรับเปลี่ยนนโยบายหลักสูตร โดยที่น่าสนใจคือ มีการปรับเปลี่ยนทางกายภาพด้วยเช่นกัน เพราะกายภาพจะเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรม-พฤติกรรมของผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมกายภาพนั้นๆ
ห้องเรียนที่น่าเบื่อ ที่มีกระดาน มีเก้าอี้หันไปในทิศทางเดียวกัน จะถูกเปลี่ยนไปสู่สภาพแวดล้อมที่เรียกว่า ‘สนามแห่งการเรียนรู้’ หรือ the learning commons ซึ่งมีลักษณะเป็นพื้นที่ที่ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนศาสตร์ของกลุ่มคนหลากหลาย โดยเฉพาะนิสิต ออกแบบให้ยืดหยุ่น มีประโยชน์ใช้สอยหลากหลาย ส่งเสริมการใช้ชีวิตทั้งในและนอกห้องเรียน เข้าถึงง่าย ไร้รอยต่อ เชื่อมโยงกับพื้นที่การใช้ประโยชน์สำคัญ
เมื่อหันกลับไปดูจุฬาฯ นิรมลในฐานะหัวหน้าโครงการผังแม่บทจุฬาศตวรรษที่สองชี้ว่า จุฬาฯ มีจุดแข็งคือ มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีคณะครบทุกศาสตร์ ทุกระดับปริญญา มีนิสิต-อาจารย์ ชั้นนำของประเทศ มีศิษย์เก่าที่เป็นเครือข่ายในรัฐและเอกชน ขณะที่ชีวิตในมหาวิทยาลัยก็อยู่กลางเมืองในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แต่จากกระบวนการรับฟังความเห็นกว่า 60 ครั้ง จากผู้คนทั้งในประชาคมจุฬาฯ ไม่ว่าจะเป็นนิสิต อาจารย์ ผู้บริหาร บุคลากร ศิษย์เก่า ตลอดจนประชาคมรอบรั้วจุฬาฯ พบว่าอุปสรรคที่ทำให้นวัตกรรมเกิดไม่มากพอ ก็คือ รั้วและกำแพง
รั้วที่ว่านี้คือรั้วทางกายภาพที่เปิด-ปิดตามเวลาราชการ ทำให้หลัง 16.00 น. กิจกรรมต่างๆ ในมหาวิทยาลัยค่อนข้างจะเงียบลง ไปจนถึงกำแพงที่มองไม่เห็นที่เกิดขึ้นระหว่างคณะต่างๆ จากการสัมภาษณ์ผู้บริหารมหาวิทยาลัย พวกเขาเปรียบเทียบว่าเหมือนมีรัฐอิสระหลายสิบรัฐในมหาวิทยาลัย อันเนื่องมาจากคณะเกิดก่อนมหาวิทยาลัย และแม้จะมีข้อดีที่แต่ละคณะมีสิ่งอำนวยความสะดวกของตัวเอง แต่ก็เกิดข้อเสียที่ทำให้โอกาสแลกเปลี่ยนระหว่างคณะน้อยลง พื้นที่ส่วนกลางที่ถูกจัดไว้ก็ปิดทำการเร็ว ข้อจำกัดการใช้งานเยอะ ไม่มีที่เสียบปลั๊ก สภาพไม่น่าดึงดูด และอยู่ไกลเกินไป
“หลังเวลาราชการ พลังงานทั้งหมดไหลออกจากมหาวิทยาลัย โอกาสที่จะเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกันของคนที่หลากหลายในมหาวิทยาลัยก็น้อยลง”
ทั้งหมดนี้นำมาสู่การออกแบบผังแม่บทจุฬาฯ โดยใช้แนวคิด ปรับ-เปลี่ยน-เปิด นั่นคือ ปรับพื้นที่ที่มีศักยภาพให้เป็นที่เรียนรู้ร่วมที่หลากหลาย ดึงดูดให้ประชาคมจุฬาฯ เข้ามาใช้งาน เปลี่ยนการบริหารจัดการเวลาให้ตอบสนองผู้ใช้ เช่น ขยายเวลาเปิดปิดประตู เพื่อทำให้ทุกคนใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้ยาวนานขึ้น และเปิดให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างคณะ กลุ่มคณะ และจุฬาฯ กับภายนอก
ผังแม่บทจุฬาฯ 6 ด้าน
นิรมล ขยายความว่า แนวคิดของผังแม่บทนี้ประกอบด้วย 6 ด้าน คือ หนึ่ง zoning มีเกณฑ์วางผังเชื่อมโยงจากผังแม่บท 100 ปีฉบับที่แล้ว เกลี่ยความหนาแน่นให้ทั่วมหาวิทยาลัย ทำให้ทุกอย่างอยู่ในระยะที่เดินถึง และเน้นสร้างอัตลักษณ์ของคณะต่างๆ ให้เกิดขึ้น ชนิดที่เดินเข้าไปแล้วรู้ว่าอยู่ที่คณะอะไร
สอง learning commons การสร้างพื้นที่เรียนรู้ร่วม เป็นเหมือนแม่เหล็กทั้งสามระดับ ทั้งในระดับมหาวิทยาลัยและคณะ กลุ่มคณะ โดยให้อยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงง่าย และใช้งานได้ง่าย
สาม connectivity สร้างความเชื่อมโยงพื้นที่ของคณะและพื้นที่ด้านนอกด้วยทางเดินเท้า มีโครงสร้างกันแดดกันฝน สามารถลัดเข้าอาคารและเชื่อมโยงกับจุดจราจรสำคัญๆ อย่างรถไฟใต้ดิน MRT รถไฟฟ้า BTS เพิ่มขนส่งมวลชนครอบคลุมทั่วมหาวิทยาลัย
สี่ active ground floor สร้างจุฬาฯ เป็นสถาบันการเรียนรู้ เปิดบางส่วนของคณะออก ทำให้จุฬาฯ วิชาการมีได้ทุกวัน เช่น เอารั้วตรงภาควิชาการออกแบบอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ออก ยืดห้องกระจกนิทรรศการไปแตะแนวรั้ว คนเดินผ่านไปมาก็ได้เห็นผลงานนิสิต โดยที่แสงไฟจากห้องนี้จะเป็นประโยชน์กับความปลอดภัยของสาธารณะในเวลากลางคืนด้วย หรือตรงคณะสัตวแพทยศาสตร์ ที่มีผู้มาใช้บริการจำนวนมากแต่เข้าถึงยาก ก็อาจปรับปรุงลานจอดรถเป็นคลินิกให้บริการชุมชน
ห้า security ความปลอดภัย ควบคุมพื้นที่เข้าออกเป็นจุดๆ ตามที่จะเปิดพื้นที่สู่สาธารณะ เพิ่มไฟส่องสว่างมากขึ้น
และหก Green infrastructure and facilities ที่ใช้พลังงานทางเลือก ผลิตพลังงานเอง สร้างระบบออนไลน์ความเร็วสูงและทั่วถึง เพื่อประโยชน์การเรียนการสอน บริหารจัดการ เก็บข้อมูล
หากทำได้ตามแผน นิรมลหวังว่า พลังงานที่เคยไหลออกเมื่อเวลาราชการหยุดลง จะไหลเวียน หมุนวน กลับเข้ามาเกิดการแลกเปลี่ยนเป็นพลวัตของความรู้ในมหาวิทยาลัยได้ยาวนานขึ้น
Fact Box
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2460
- ดูรายละเอียดของร่างผังแม่บทที่ https://www.facebook.com/cu2040masterplan/