หากพูดถึง Stablecoin หรือเหรียญที่ออกโดยบริษัทเอกชน ที่มีการตรึงมูลค่าให้เทียบเท่ากับ ‘เงินเฟียต (Fiat)’ ในรูปแบบ 1:1 ไม่ว่าจะเป็น USDT ที่มีมูลค่าเทียบเท่ากับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ THT ที่เทียบเท่ากับเงินบาท หรือ KRWT ที่เทียบเท่าได้กับเงินวอนเกาหลี ซึ่งการที่ Stablecoin เป็นเหรียญที่มีเสถียรภาพด้านมูลค่า ทำให้ต้องรับหน้าที่เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ช่วยให้ผู้คนสามารถจับจ่ายใช้สอยทำธุรกรรมในโลกของคริปโตเคอร์เรนซี่ได้อย่างสะดวกสบาย แต่เงินเฟียตของรัฐบาลที่ใช้ความมั่นคงของรัฐในการผลิตเงิน และเหล่า Stablecoin เหล่านี้ใช้กลไกแบบใดในการสร้างมูลค่าเงินกัน?
ย้อนกลับไปในสมัยแรกเริ่มที่คริปโตเคอร์เรนซี่ยังคงไม่ได้รับความนิยมเท่าทุกวันนี้ การซื้อขายในกระดานซื้อขายนั้นจะเป็นการซื้อขายในรูปแบบของคู่เหรียญบิตคอยน์ (BTC) กับเหรียญ Altcoin อื่นๆ ทำให้เมื่อเหล่านักลงทุนจะคำนวณผลประกอบการในการลงทุนของตัวเองทำได้ยากเพราะยังราคาของเหรียญมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จึงเกิดการสร้างเหรียญที่มูลค่าเทียบเท่ากับเงินเฟียต หรือ Stablecoin เกิดขึ้นมา โดยวิธีการในการตรึงมูลค่าของ Stablecoin แต่ละเหรียญก็จะมีกลไกการทำงานที่แตกต่างกันออกไป โดยวิธีที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันนั้นมีอยู่ทั้งหมด 3 วิธีด้วยกัน
-
Fiat Backed Stablecoin การตรึงมูลค่าโดยใช้เงินเฟียตเป็นหลักประกัน
วิธีการสร้าง Stablecoin ที่ทำได้ง่าย และเป็นที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน โดยการนำเงินจำนวนที่เท่ากับ Stablecoin ที่ต้องการจะสร้างมาค้ำประกันไว้กับตัวกลางที่มีความน่าเชื่อถืออย่างสถาบันการเงินต่างๆ ข้อดีของวิธีนี้คือ เป็นวิธีที่ไม่ซับซ้อน และทำได้ง่ายที่สุด แต่ข้อเสียคือ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบประเด็นเรื่องความโปร่งใสถึงเงินที่นำมาค้ำประกันนั้น มีอยู่จริงหรือเปล่า ยกตัวอย่างเช่น USDT ของ Tether ที่มีการตรวจสอบจากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐฯ ในประเด็นเรื่องความโปร่งใสในการออก USDT โดยไม่มีเงินมาค้ำประกัน โดย Stablecoin ที่สร้างโดยกลไกดังกล่าวได้แก่ USDT ของ Tether , USDC ของ Coinbase และ BUSD ของ Binance
2.Crypto Backed Stablecoin การตรึงมูลค่าโดยใช้เหรียญคริปโตฯ เป็นหลักประกัน
กลไกสำคัญที่ทำให้เหรียญคริปโตฯ ทีมีมูลค่าผันผวนตลอดเวลาสามารถเป็นสินทรัพย์ค้ำประกันในการออก Stablecoin ได้นั้นคือ ‘สัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract)’ ที่คอยควบคุมกลไกในการตรึงมูลค่าของเหรียญให้คงที่อยู่ได้ตลอดเวลา ทำให้วิธีดังกล่าวไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งตัวกลางในการรักษาสินทรัพย์ และไม่ต้องคอยตรวจสอบถึงจำนวนของสินทรัพย์ เพราะทุกอย่างที่ถูกบันทึกไว้บนบล็อคเชนสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส
ยกตัวอย่างเช่น Dai เหรียญ Stablecoin ของแพลตฟอร์ม MakerDAO ที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถนำเหรียญคริปโตฯ อย่าง Ethereum ไปฝากไว้กับแพลตฟอร์มเพื่อได้รับ Dai มาจับจ่ายใช้สอยได้ เพียงแต่ว่าวิธีการนี้ สินทรัพย์ที่นำไปฝากจำเป็นที่จะต้องมีมูลค่ามากกว่า Stabelcoin ที่ได้รับอยู่ในระดับหนึ่ง เพื่อป้องกันปัจจัยเรื่องความผันผวนของราคาที่อาจลดต่ำลงกว่าเหรียญ Stablecoin ที่ผู้ใช้ได้รับไป
3.Algorithmic Backed Stablecoin การตรึงมูลค่าโดยใช้อัลกอริทึมของสัญญาอัจฉริยะ
เหรียญ Stablecoin ที่ไม่ได้ใช้สินทรัพย์ใดๆ ในการคำ้ประกันไว้เลยไม่ว่าจะเป็นเงินเฟียต หรือว่าเหรียญคริปโตฯ แต่มีการควบคุมมูลค่าโดยการใช้อัลกอริทึมของสัญญาอัจฉริยะในการควบคุมอุปทานหมุนเวียน และกลไกทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆ ในการตรึงมูลค่าของเหรียญ Stablecoin วิธีดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงในแง่มุมของการทำงานที่ซับซ้อนมากกว่า 2 วิธีข้างบน ในปัจจุบัน จึงยังมีช่องโหว่อยู่บ้าง แต่ได้รับการปรับปรุงและพัฒนาอยู่เสมอ
ยกตัวอย่างเหรียญ Stablecoin แบบ Algorithmic ที่น่าสนใจคือ UST ของ Terra Blockchain ที่มี Ecosystem ที่ตรึงมูลค่าผานการนำ LUNA ซึ่งเป็นเหรียญคริปโตฯ ของ Terra Blockchain มา Burn ทิ้งเพื่อผลิต UST ขึ้นมาตามมูลค่าของ LUNA ณ ขณะนั้น หากให้เห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้นคือ หากมีการ Burn Luna ที่ราคา 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ จะสามารถผลิต UST ได้ 60 เหรียญ ในทางกลับกันก็สามารถที่จะ Burn UST ทิ้งเพื่อเอา LUNA กลับคืนมาได้เช่นกัน
ดังนั้นเหรียญ Stablecoin แม้จะไม่ได้รับความเสี่ยงในด้านความผันผวนของมูลค่า แต่หากมองลึกลงไปในด้านกลไกการตรึงมูลค่าจึงยังคงมีความเสี่ยงอยู่เสมอ การเลือกใช้ Stablecoin จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่นักลงทุนในโลกของคริปโตฯ ต้องศึกษาหาความรู้ และเฝ้าระวังข่าวอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน
ที่มา:
https://www.gemini.com/cryptopedia/what-are-stablecoins-how-do-they-work
https://www.techtimes.com/articles/267955/20211113/what-stablecoins-types-examples-more.htm
https://www.finnomena.com/blockchainreview/what-is-stablecoin/
Tags: Cryptonian, Stablecoin, TheMomentum, Blockchain, Cryptocurrency