ในวันที่ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีกำลังเข้าสู่ช่วงปรับฐานราคา ถือเป็นเวลาเหมาะสมในการที่เราจะได้ศึกษาประโยชน์การใช้งานของเทคโนโลยีตัวนี้กันอย่างถี่ถ้วน เพราะหากตัดการขึ้นลงอันผันผวนของราคาออกไป การเกิดขึ้นของสกุลเงินดิจิทัลนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมที่เปรียบเสมือนหมุดหมายสำคัญของแวดวงการเงิน

 

ยิ่งวันที่โลกกำลังมุ่งสู่ ‘สังคมไร้เงินสด’ (Cashless Society) หลายฝ่ายจึงให้ความสนใจต่อการสร้างสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกับหน่วยงานของภาครัฐซึ่งมีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายการเงินของแต่ละประเทศโดยตรงอย่างธนาคารกลาง (Central Bank) ของแต่ละประเทศ จนถึงขั้นต้องการที่จะพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองที่มีชื่อเรียกว่า CBDC (Central Bank Digital Currency) เพื่อให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีต้นทุนที่ถูกลง และมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม

 

เนื่องจากปัจจุบัน บิตคอยน์ (Bitcoin) หรืออีเธอเรียม (Ethereum) ยังถูกมองว่าเป็น ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’ ที่มีการเหวี่ยงขึ้นลงของราคาอย่างรุนแรง และไม่เหมาะจะมาใช้เป็น ‘เงิน’ ที่เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนที่มีมูลค่าคงที่ ดังนั้น CBDC ของแต่ละประเทศจะต้องประกอบไปด้วยลักษณะ 3 ประการสำคัญ ได้แก่ 

  1. เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน และสามารถใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายได้ 
  2. เป็นที่เก็บรักษามูลค่าที่มีความมั่นคง 
  3. เป็นหน่วยวัดมูลค่าของสินค้าและบริการ 

 

ความน่าสนใจของ CBDC คือ จะทำให้ประชาชนในประเทศสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น ประชาชนสามารถมีเงินดิจิทัลได้โดยไม่จำเป็นต้องมีบัญชีธนาคารพาณิชย์ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของระบบการเงินทั้งระบบในประเทศได้เป็นอย่างดี ซึ่งตัวอย่างของประเทศที่มีการใช้ CBDC คือ ‘ดิจิทัลหยวน’ ของประเทศจีน

 

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องหันมาให้ความสำคัญต่อ CBDC คือการเกิดขึ้นของเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘สเตเบิลคอยน์’ (Stablecoin) ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยบริษัทเอกชนที่มีมูลค่าคงที่ เนื่องจากมีมูลค่าของสินทรัพย์จริงที่รองรับอยู่ในรูปแบบ 1:1 ตัวอย่างของสเตเบิลคอยน์ที่ได้รับความนิยมคือ USDT ของบริษัท Tether ที่ 1 USDT มีค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ 

 

ในแง่ของการใช้งานนั้น สเตเบิลคอยน์มีความใกล้เคียงกับ CBDC อยู่ค่อนข้างมาก แต่หากเทียบรายละเอียดในเชิงลึกแบบหมัดต่อหมัดแล้ว จะทำให้เราเห็นว่าในระดับรายละเอียดมีความแตกต่างกันอยู่พอสมควร โดยสามารถจำแนกได้เป็น 3 ประการใหญ่ๆ

 

ประการแรก CBDC จะมีธนาคาคกลางเป็น ‘ตัวกลาง’ คอยออกนโยบายควบคุมการไหลของเงินได้อยู่ ต่างจากสเตเบิลคอยน์ของบริษัทเอกชนที่มีอำนาจเดียวคือการผลิตเหรียญเพิ่มเท่านั้น เนื่องจากการสร้างเหรียญเพิ่มต้องทำบนระบบบล็อกเชน (Blockchain) ที่มีความปลอดภัยสูง

 

ประการที่สอง CBDC จะมีการใช้งานที่ค่อนข้างจำกัดกว่าสเตเบิลคอยน์ เนื่องจากเป็นเงินตราที่ออกโดยธนาคารกลางของแต่ละประเทศ ทำให้การใช้งานในปัจจุบันสามารถใช้ได้เพียงแค่ธุรกรรมรายย่อยของภาคธุรกิจและประชาชน รวมถึงการทำธุรกรรมระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันเท่านั้น 

 

ประการสุดท้าย CBDC ถูกรองรับโดยใช้เงินของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น (Fiat Backed) แต่สเตเบิลคอยน์สามารถใช้สินทรัพย์อื่นๆ อย่างน้ำมัน ทองคำ หรือบิตคอยน์ ในการรองรับได้ ขอเพียงแค่มีมูลค่าเทียบเท่ากับจำนวนสเตเบิลคอยน์ทั้งหมด 

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น CBDC หรือสเตเบิลคอยน์ ล้วนเป็นเรื่องใหม่สำหรับโลกนี้ และเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนถ่ายระบบการเงินของโลกอีกครั้ง จึงทำให้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า โลกเราจะให้การยอมรับรูปแบบไหนกันแน่ในอนาคตข้างหน้า

 

ภาพ: Reuters

 

ที่มา: 

https://www.coindesk.com/stablecoins-cbdcs-private-money 

https://www.antiersolutions.com/stablecoin-vs-cbdc-who-is-positioned-to-win/ 

https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_10Aug2020.aspx 

https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256304_TheKnowledge_CBDC.aspx

.

#TheMomentum #StayCuriousBeOpen #Cryptonian #CBDC #Stablecoin #Monetary

Tags: , , ,