หากใครติดตามวงการคริปโตเคอร์เรนซี และ NFT จะรู้ว่า ‘ครีเอเตอร์’ นั้นได้ผลประโยชน์อย่างมากมายมหาศาล ปัจจุบันเราจึงเห็นเหล่าครีเอเตอร์กระโดดลงมาเล่นในตลาด NFT กันเต็มไปหมด เช่นเดียวกับบทความที่แนะนำแนวทางการขายงาน NFT ก็มีให้อ่านไม่หวาดไม่ไหวเช่นกัน

แต่แนวคิดของตลาดคริปโตฯ และ NFT คือ ‘ตลาดเสรี’ หากเราโฟกัสไปที่การสร้างงานของครีเอเตอร์เพียงฝ่ายเดียว ก็เหมือนกับการพูดถึงแค่ความต้องการขาย (Supply) โดยไม่ดูความต้องการซื้อ (Demand) วันนี้จะพาไปค้นหาว่าเหล่านักสะสม (Collector) ที่ยอมจ่ายค่าแก๊ส และ ETH ราคาแสนแพงเพื่องาน NFT Art นั้น พวกเขามองเห็นอะไรในสิ่งที่ตัวเองลงทุนไปบ้าง 

แน่นอนว่าสาเหตุการซื้องานของเหล่านักสะสมมีแตกต่างกันไป บางคนเลือกซื้องานเพราะความชื่นชอบในตัวผลงานและตัวศิลปิน  บางคนซื้องานเพราะต้องการให้สังคม NFT สามารถก้าวไปข้างหน้า

นอกเหนือไปจากนักสะสมทั้งสองประเภท ‘นักลงทุนเพื่อเก็งกำไร’ ก็ถือว่ามีสัดส่วนมากที่สุดในตลาด NFT ในปัจจุบัน เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ (Demand) ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งยังมีแรงจูงใจในการซื้อที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือการซื้องานไปขายต่อในราคาที่สูงกว่าเดิม เราสามารถจำแนกปัจจัยในการเลือกซื้องานได้ทั้งหมด 3 ข้อ 

ข้อแรกที่นักสะสมจะดูก่อนเลยนั่นคือ ความหายาก (Rarity) ของชิ้นงาน เมื่อโลกของ NFT นั้น ครีเอเตอร์คือผู้ที่กำหนด Supply ของระบบ และในยุคปัจจุบันการสร้างสรรค์งานดิจิทัลอาร์ตทำได้ง่ายกว่าสมัยที่ปิกัสโซสะบัดปลายพู่กันเสียอีก ทำให้เราเห็นศิลปินบางคนผลิตงานออกมามากมาย กระนั้น Supply ที่ล้นเกินย่อมส่งผลต่อราคาของผลงาน นักสะสมจึงจะพิจารณาดูจากจำนวนผลงานในหนึ่งคอลเลกชันของศิลปินด้วยว่า จำนวนชิ้นงานในคอลเลกชันดังกล่าวมีมากน้อยเพียงใด ก่อนจะตัดสินใจซื้อมาครอบครอง

ปัจจัยต่อมาคือชื่อเสียงของศิลปินเจ้าของผลงาน เป็นเรื่องปกติที่ผลงานของศิลปินมีชื่อเสียงจะมีราคาสูงกว่าศิลปินทั่วไป ยิ่งกับตลาดเสรีด้วยแล้ว อารมณ์ของผู้คนนั้นย่อมมีผลต่อราคาของชิ้นงาน การซื้อผลงานของศิลปินมีชื่อเสียงในวงการก็มีแนวโน้มว่าราคาของงานจะพุ่งสูงขึ้นอีก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าศิลปินหน้าใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่วงการจะไม่สามารถขายงานได้เลย หากผลงานชิ้นไหนมีคอนเซปท์ที่แปลกใหม่ หรือลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ ก็จะถูกพูดถึงในสังคมของชาว NFT อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันหากนักสะสมชื่อดังเคยซื้อผลงานของศิลปินคนใดไป ก็มีแนวโน้มว่าผลงานอื่นๆ ของศิลปินคนนั้นจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างเช่น Metakovan นักสะสมผู้เป็นเจ้าของผลงาน NFT ราคาแพงที่สุดในโลกอย่าง Everydays: the first 5000 days ของศิลปิน บีเพิล (Beeple) ชื่อเสียงของนักสะสมรายนี้โด่งดังขึ้นทันทีหลังจากที่ซื้อ NFT  Art ชิ้นดังกล่าวสำเร็จ ทำให้ผลงานอื่นๆ ที่เขาเคยซื้อมานั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าหากไม่ใช่ผลงานที่เข้าข่าย 3 ปัจจัยที่กล่าวมานี้จะเป็นงานที่ขายไม่ได้ เพราะยังมีเรื่องของรสนิยมและความชื่นชอบส่วนตัวของเหล่านักสะสมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

ภาพ: https://www.imaginarysina.io/?fbclid=IwAR2Y1-3V8s11nCLnDg141RjBMeUp65sgg9YJAJiFwN3P0hr2sgrIXPN8IAU 

ที่มา: 

https://digitalartcollector.com/what-nft-art-collectors-may-be-looking-for/ 

https://www.nftically.com/blog/how-to-make-money-as-nft-collectors/ 

https://www.theguardian.com/artanddesign/2021/mar/23/can-anyone-become-nft-collector-non-fungible-token 

https://www.artrights.me/en/5-great-collectors-of-crypto-art/ 

https://marker.medium.com/an-oversupply-of-nfts-is-going-to-kill-the-golden-goose-502533d6d409 

Tags: , , ,