แม้กระแสความนิยมของ NFT จะทำให้โอกาสของเหล่าครีเอเตอร์ผู้สร้างสรรค์ผลงานเปิดกว้างขึ้น แต่หากเราสังเกตในคอมมูนิตี NFT ไทยก็จะเห็นได้ว่า ชิ้นงานที่ได้รับความนิยมและวางขายอยู่บนเว็บไซต์ซื้อขายงานนั้น ยังคงเป็นงานประเภทดิจิทัลอาร์ต (Digital Art) เสียส่วนใหญ่ ในขณะที่คอนเซ็ปต์ของ NFT คือการเปลี่ยนไฟล์ข้อมูลใดๆ ก็ตามให้มีความเฉพาะตัว จนสามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนกันได้ (Proof of transaction) 

Whereisone – The Serenity behind 50 photographs

ในทางกลับกัน การมาถึงของ NFT ก็ทำให้ศิลปะอีกแขนงหนึ่งได้รับความสนใจไม่แพ้กราฟิกดีไซน์หรือดิจิทัลอาร์ตเลย นั่นคือ ‘การถ่ายภาพ’ ซึ่งน่าจับตามองว่า ผลงานประเภทภาพถ่ายได้รับความนิยมแค่ไหนในโลกของ NFT 

หนึ่งในคอนเซ็ปต์หลักของโลก NFT คือการ ‘กระจายอำนาจ’ (Decentralize) ครีเอเตอร์สามารถเจอกับคอลเลกเตอร์ (Collector) ผู้สะสมผลงานโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านตัวกลางอย่าง คิวเรเตอร์ (Curator) หรือเจ้าของแกลเลอรี ทำให้การซื้อขายชิ้นงานอยู่ในลักษณะที่เรียกได้ว่าเป็นไปตาม Demand-Supply ใครพอใจจะซื้อขายกันอย่างไรก็สามารถทำได้อย่างเต็มที่ จึงทำให้ตลาดของ NFT เรียกได้ว่าเป็น ‘ตลาดเสรี’ อย่างแท้จริง

แต่ในขณะที่ราคาของงาน NFT มีราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ 10 อันดับของงานที่มีราคาสูงที่สุดในโลก NFT กลับไม่มีงานประเภทภาพถ่ายอยู่เลยแม้แต่ชิ้นเดียว จึงอาจทำให้เราสามารถตั้งสมมติฐานแบบผิวเผินได้ว่า อาจยังไม่มีคอลเลกเตอร์ที่ยินดีจะจ่ายเงินจำนวนมหาศาลสำหรับผลงานประเภทภาพถ่าย 

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่างานประเภทภาพถ่ายนั้นไม่มีมูลค่าในโลก NFT เมื่อช่างภาพหญิงจากพอร์ตแลนด์ ‘เคต วูดแมน’ (Kate Woodman) ได้ขายงานภาพถ่ายที่มีชื่อว่า ‘Always Coca Cola’ ไปในราคา 11.888 ETH หรือ 21,321 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งหากเทียบกับการขายภาพในรูปแบบเก่าก็นับว่าสูงมากทีเดียว หรือภาพถ่ายภาพสุดท้ายในอินสตาแกรมของศิลปินแรปเปอร์ชื่อดังผู้ล่วงลับอย่าง XXXTentacion ที่ ‘ไอมอส วาสเกซ’ (Aimos Vasquez) ได้ถ่ายไว้ขณะที่แรปเปอร์ผู้นี้แสดงคอนเสิร์ต ก็ถูกขายไปในรูปแบบของ NFT ในราคา 40 ETH หรือประมาณ 125,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ  

Always Coca Cola

การที่ภาพถ่ายได้รับความนิยมน้อยกว่างานดิจิทัลอาร์ต อาจมีสาเหตุมาจาก ‘รสนิยม’ ของชุมชน NFT เพราะหากสังเกตดูแล้ว งานดิจิทัลอาร์ตที่มีราคาสูงนั้น จะเป็นงานที่สื่อถึงสิ่งที่ ‘อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต’ อย่างภาพจำลองโลกยุคหลังอนาคตอันสุดแสนเลวร้ายอย่างโลกดิสโทเปีย (Dystopia) หรือโลกที่เทคโนโลยีพุ่งทะยานไปถึงจุดสูงสุดอย่างไซเบอร์พังก์ (Cyberpunk) เพราะเหล่าคนในชุมชน NFT ต่างเป็นผู้ที่คร่ำหวอดในวงการเทคโนโลยีอยู่ในระดับหนึ่ง

ในทางกลับกัน ภาพถ่ายนั้นเป็นการเก็บภาพความทรงจำในอดีตและปัจจุบัน จึงทำให้มูลค่าของงานประเภทภาพถ่ายส่วนใหญ่ไม่สูงเท่างานประเภทดิจิทัลอาร์ต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าช่างภาพจะไม่สามารถเติบโตในโลกของ NFT ได้ เพราะว่างานภาพถ่ายของศิลปินดิจิทัลอาร์ต เอลิซ สโวปส์  (Elise Swopes) ที่มีการต่อเติมด้วยเทคนิคอื่นจนมีความโดดเด่นเฉพาะตัวมากขึ้น ก็มีมูลค่าสูงถึง 107.027 ETH หรือ 339,772.88 ดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

แต่อย่างไรก็ตาม โลกของ NFT เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ที่ไม่สิ้นสุด เนื่องจากเป็นตลาดเสรี ในอนาคตข้างหน้าอาจมีงานภาพถ่ายแนวใหม่ๆ ที่ชุมชน NFT ชื่นชอบและสามารถขายราคาสูงได้อีกก็ได้ เพราะภายในโลกของบล็อกเชน อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น

 

ภาพ

https://mobile.twitter.com/katewoodmanart/status/1367291222885244928 

https://www.swopes.info/ 

https://kulturehub.com/photographers-big-eth-from-nfts-list/ 

‘Whereisone – The Serenity behind 50 photographs’ ของ ‘โทนี่’ – ณัฐวัฒน์ ตั้งธนกิจโรจน์

ติดตามผลงานของเขาได้ทาง https://opensea.io/collection/tonywhereisone 

ที่มา

https://www.all-about-photo.com/photo-articles/photo-article/977/nfts-and-photography-all-you-need-to-know 

https://www.digitalcameraworld.com/news/what-are-nfts-and-can-photographers-make-money-by-selling-them  

https://www.adorama.com/alc/nft-101-for-photographers-part-1-the-essentials-with-lindsay-adler/ 

https://kulturehub.com/photographers-big-eth-from-nfts-list/ 

Tags: , , , , , , ,