ปัจจุบัน บิตคอยน์กำลังอยู่ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ รัฐบาลของหลายประเทศกำลังพิจารณาว่าบิตคอยน์จะเป็นสกุลเงินที่ถูกกฎหมายได้หรือยัง
หลังจากที่รัฐสภาของประเทศเอลซัลวาดอร์ ได้ผ่านกฎหมายให้บิตคอยน์เป็นสกุลเงินที่สามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย (Legal Tender) เป็นประเทศแรกของโลกที่ยอมรับให้สกุลเงินดิจิทัล ข่าวนี้ทำให้หน่วยงานที่กำกับดูแลด้านการเงินของรัฐบาลต่างๆ สถาบันการเงิน จนถึงนักลงทุนรายย่อย ต้องหันมาทบทวนเกี่ยวกับเรื่องของความปลอดภัยของการใช้งานสกุลเงินดิจิทัลอีกครั้ง
ก่อนหน้านี้ เกิดเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะเป็น ‘ข่าวร้าย’ ของวงการคริปโตเคอร์เรนซี และบล็อกเชน เมื่อกลุ่มแฮกเกอร์นาม ‘Darkside’ ได้โจมตีบริษัท Colonial Pipeline บริษัทระบบท่อขนส่งน้ำมันสัญชาติอเมริกัน โดยการแฮ็กระบบหลังบ้านด้วย Ransomware ซึ่งเป็นการเข้ารหัสล็อกไฟล์ ทำให้ทางบริษัทไม่สามารถเปิดไฟล์ดังกล่าวได้ ส่งผลให้ระบบการขนส่งน้ำมันหยุดชะงักลงเกือบทั้งหมด ซึ่งกลุ่ม Darkside ได้เรียกค่าไถ่เป็นเงินจำนวนกว่า 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่เรียกร้องให้จ่ายเงินในรูปแบบของบิตคอยน์จำนวนทั้งสิ้น 75 บิตคอยน์
แต่เพียงไม่นาน กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศว่า สำนักงานสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ (Federal Bureau of Investigation) สามารถกู้คืนค่าไถ่จากกลุ่ม Darkside ได้มากว่า 85% หรือ 63.7 เหรียญบิตคอยน์ หลังจากเอฟบีไอติดตามการโอนย้ายถ่ายเทเงินจาก Public Key ของกระเป๋าเงินปลายทางที่ Colonial Pipeline โอนบิตคอยน์ไปให้ ซึ่งถือเป็น ‘ข่าวดี’ ของวงการคริปโตฯ ด้วยเช่นกัน ที่หน่วยงานของรัฐสามารถทวงเงินค่าไถ่ของกลุ่มแฮ็กเกอร์กลับคืนมาสู่ผู้เสียหายได้
อย่างไรก็ตาม การที่รัฐบาลสหรัฐฯ สามารถเข้าถึง Private key ของกระเป๋าเงินปลายทางที่กลุ่มแฮกเกอร์ได้โอนไปนั้น ทำให้เหล่านักลงทุนและผู้เชื่อมั่นในบิตคอยน์ต่างรู้สึกเคลือบแคลงสงสัย และพากันตั้งคำถามถึงระบบการทำงานของบิตคอยน์ ที่ว่ากันว่าโปร่งใสและปลอดภัยจากทุกคน ไม่เว้นแต่หน่วยงานของรัฐ แท้ที่จริงแล้ว เอฟบีไอสามารถเข้าถึง Private Key ของกระเป๋าเงินพวกเราได้แล้วใช่หรือไม่? เนื่องจากคอนเซ็ปต์ของระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ (Decentralize) ของบิตคอยน์ ไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น
ดังที่ทราบกันดีว่า ถึงแม้ว่าบัญชีกระเป๋าเงินของบิตคอยน์จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของผู้ถือกระเป๋า แต่ก็ยังคงสามารถตรวจสอบความโปร่งใสในการทำธุรกรรมได้ จากการตรวจสอบหมายเลข Public Key ซึ่งเปรียบเสมือนเลขบัญชีของกระเป๋าเงิน ดังนั้น การที่เอฟบีไอเข้าถึง Private Key นั้น พวกเขาใช้วิธีใดกัน
วิธีการที่เอฟบีไอใช้ในการตามบิตคอยน์กลับคืนมา คือการติดตามทำธุรกรรมของกระเป๋าเงินของแฮ็กเกอร์ โดยพบว่าแฮ็กเกอร์ได้โอนเหรียญบิตคอยน์จำนวน 63.7 บิตคอยน์ไปยังกระเป๋าเงินที่เอฟบีไอบังเอิญมีสิทธิ์ในการเข้าถึง Private Key ด้วยความบังเอิญ ซึ่งกระเป๋าเงินนั้นคือกระดานแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ถูกกำกับควบคุมตามกฎหมายของประเทศสหรัฐฯ ที่ต้องอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐสามารถเข้าถึง Private Key ได้ หากมีหมายศาล ซึ่งก็คือกระดานแลกเปลี่ยนชื่อดังที่ชื่อว่า ‘Coinbase’ นั่นเอง นั่นหมายความว่าแฮ็กเกอร์ได้พยายามที่จะเปลี่ยนเหรียญบิตคอยน์ออกมาเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ผ่าน Coinbase ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศสหรัฐฯ ที่ต้องทำตามกฎระเบียบที่รัฐกำหนดไว้
ดังนั้น หากเรารู้เช่นนี้แล้ว แสดงว่าระบบของบิตคอยน์ยังคงปลอดภัยจากการแฮ็กโดยบุคคลที่ไม่พึงประสงค์อยู่ แต่หากมองอีกมุมหนึ่งก็คือ ถ้าคุณถือสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ในกระดานเทรดที่มีรัฐกำกับดูแลอยู่ อาจต้องกลับมาศึกษาเรื่อง Wallet ในการเก็บสกุลเงินดิจิทัลให้ถี่ถ้วนอีกครั้ง
เพราะถึงแม้ว่าการที่เอฟบีไอมีสิทธิ์เข้าถึง Private Key ในครั้งนี้จะเป็นผลดีในการติดตามบิตคอยน์กลับคืนมา แต่เราไม่อาจทราบได้เลยว่าทางรัฐบาลจะทำอะไรกับเงินดิจิทัลของเราบ้าง และการกระจายศูนย์ (Decentralize) ของบิตคอยน์จะถูกทำลายลงหรือไม่
ที่มา
https://coinmarketcap.com/alexandria/article/no-the-fbi-didnt-hack-bitcoin
https://www.facebook.com/piriya33/videos/10160108072166800
Tags: Bitcoin, FBI, Cryptonian, Legal Tender, Hack