ผู้คนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการคริปโตเคอร์เรนซีทั้งนักลงทุน นักพัฒนาบล็อคเชน และนักการเงินนั้นย่อมรู้จักกับ ‘Dogecoin’ เหรียญคริปโตฯ ที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งจาก อีลอน มัสก์ บุคคลแห่งปีของนิตยสาร Time คนล่าสุด ผู้ให้กำเนิดระบบจ่ายเงิน PayPal, รถยนต์ไฟฟ้า Tesla และธุรกิจเกี่ยวกับอวกาศอย่าง SpaceX 

แต่ผู้ที่ศึกษามันอย่างถ่องแท้จะรู้ได้ว่าต้นกำเนิดของเหรียญ DOGE นั้นถูกทำขึ้นมาเพื่อเป็นเหรียญ ‘มีม (Meme)’ เพื่อล้อเลียนบิตคอยน์เท่านั้น แต่ทำไมมูลค่าของมันถึงได้พุ่งสูงถึง 15,000% จากปีก่อนหน้า และ อีลอน มัสก์ ถึงได้ประกาศผ่านทวิตเตอร์ของตัวเองว่าอาจพิจารณาให้สามารถใช้ DOGE เป็นหนึ่งวิธีในการชำระเงินซื้อ Tesla ได้กัน? 

DogeCoin นั้นเป็นเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่ถูกสร้างขึ้นในปี 2013 โดย 2 โปรแกรมเมอร์ที่มีชื่อว่า แจ๊คสัน พาล์มเมอร์ (Jackson Palmer) และ บิลลี มาร์คัส (Billy Markus) ที่ได้ทำการดัดแปลงโปรโตคอล (Fork) เหรียญ Litecoin เพื่อสร้างเหรียญใหม่ที่มีโลโก้เป็นรูปเจ้าหมาชิบะอินุสุดน่ารักที่เป็นมีมอยู่บนโลกอินเตอร์เน็ตโดยตั้งชื่อให้ว่า ‘Dogecoin’ เพื่อที่จะล้อเลียนบิตคอยน์ และบอกกับโลกว่าเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีนั้นใครๆ ก็ทำได้เช่นกัน

โดยมีคุณสมบัติที่แตกต่างจากบิตคอยน์อย่างสิ้นเชิงคือ 

  1. จำนวนเหรียญนั้นสามารถขุดได้อย่างไม่จำกัด

  2. ในขณะที่บิตคอยน์ใช้เวลาการสร้าง Block เท่ากับ 10 นาที ซึ่งจะถูกขุด 6.25 บิตคอยน์ต่อ 1 Block ในขณะที่ DOGE ใช้เวลาเพียง 1 นาทีเท่านั้น และจะมี DOGE ถูกขุดออกมา 10,000 เหรียญต่อ Block

  3. ปล่อยเหรียญ Dogecoin ออกมาในระบบทันที 50,000 ล้าน DOGE

ในช่วงแรกเริ่ม ใครๆ จึงคิดแค่ว่า Dogecoin นั้นถูกสร้างมาเพื่อเอาฮาเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนั้น DOGE นั้นมีมูลค่ารวมถึง 2.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเหรียญคริปโตฯ ที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของเว็บไซต์ Coinmarketcap เว็บไซต์ที่จัดอันดับมูลค่าของเหรียญที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก อีกทั้งล่าสุด อีลอน มัสก์ นั้นยังได้พูดว่าเหรียญที่เหมาะจะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันนั้นควรจะเป็น DOGE มากกว่าบิตคอยน์ เรายังจะพูดได้อีกหรือไม่ว่า DOGE นั้นเกิดมาเพื่อเอาฮา

เพราะหากสังเกตกันดีๆ แล้วนั้น DOGE นั้นเป็นเหรียญที่มีความกระจายศูนย์ (Decentralize) สูงมาก เป็นรองแค่เพียงบิตคอยน์เท่านั้น และคริปโตเคอร์เรนซีของบล็อคเชนที่จะใช้ระบบ Proof Of Work นั้นยิ่งมีจำนวนผู้ใช้งานหรือ Node เยอะเท่าไร ยิ่งทำให้ความสามารถในการใช้งาน และมูลค่าของเหรียญสูงขึ้นเท่านั้น แม้ว่าในปัจจุบันตัวปริมาณของเหรียญ (Supply) จะถูกกำหนดไว้อย่างไม่จำกัดก็ตาม

ทาง อีลอน มัสก์ ซึ่งถูกขนานนามว่าเป็น Doge Father หรือเจ้าพ่อเหรียญหมาตัวนี้นั้น เคยได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ Dogecoin ไว้อย่างน่าสนใจว่า “Dogecoin นั้นเหมาะที่จะนำมาใช้งานในชีวิตประจำวัน เพราะการที่ปริมาณเหรียญสามารถสร้างออกมาได้เรื่อยๆ นั้นทำให้คนไม่มีความคิดที่จะถือมันไว้นาน เพราะไม่มีความสามารถในการเก็บมูลค่า (Store of value) ดังเช่นบิตคอยน์ ซึ่งในปัจจุบันอัตราความเฟ้อของเหรียญ DOGE นั้นกำลังลดลงเรื่อยๆ การที่ DOGE สามารถขุดขึ้นมาได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น จะต่างอะไรจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ถูกพิมพ์ขึ้นมาอยู่ตลอดล่ะ” และเขายังทิ้งท้ายไว้ว่า “อย่าลืมไปว่าก่อนที่จะมาทำ SpaceX ผมเคยทำ PayPal มาก่อน ผมเชื่อว่ามีไม่กี่คนบนโลกใบนี้ที่รู้เรื่องเงินมากกว่าผม”

ในปัจจุบันเริ่มมีร้านค้าหลายแห่งที่เปิดรับการชำระเงินผ่าน Dogecoin มากขึ้น ทำให้เหรียญที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเอาฮานั้น อาจจะกลายเป็นเหรียญที่มีการใช้งานจริงจังขึ้นมาได้ แต่การที่เหรียญน้องหมาจะกลายเป็นสกุลเงินของอนาคตหรือไม่นั้น ต้องให้เครือข่ายของผู้ใช้งานทั่วโลกเป็นผู้ตัดสิน และสำหรับผู้ที่ต้องการเก็งกำไรเหรียญ DOGE ควรที่จะศึกษาพื้นฐานของเหรียญให้ดี เพราะอย่างที่ อีลอน ได้กล่าวไว้ว่าเหรียญ DOGE นั้น ก็ไม่ได้มีความสามารถในการเก็บมูลค่าได้ดังพี่ใหญ่อย่าง บิตคอยน์เช่นกัน

อ่าน Cryptonian EP30: จะโอเคหรือไม่ หากบล็อกเชนคงความโปร่งใส แต่ไร้ความเป็นส่วนตัว ทาง https://www.facebook.com/themomentumco/posts/2851779241780428

ที่มา: 

https://www.wsj.com/articles/what-is-dogecoin-how-to-say-it-and-why-its-no-longer-a-joke-thanks-elon-11612820776 

https://www.fool.com/investing/2021/04/21/is-dogecoin-still-a-joke/ 

https://www.cnet.com/personal-finance/crypto/dogecoin-the-origin-story-of-the-elon-musk-supported-cryptocurrency/ 

https://www.facebook.com/OilTraderKP/photos/a.109714799581872/891375851415759/

https://www.efinancethai.com/Fintech/FintechMain.aspx?release=y&name=ft_202105051617 

.

เรื่อง: ธนภาคย์ อิทธิชัยพล

ภาพ: https://properea.com/the-dogethereum-bridge-02-06-2021/ / Reuters

Tags: , , , , ,