นักลงทุนสายคริปโตฯ ที่ติดตามข่าวอยู่ตลอดจะทราบว่า คู่แข่งอันดับหนึ่งที่คอยโจมตีและขัดขวางการเติบโตของเหล่าสินทรัพย์ดิจิทัลมาตลอดนั่นไม่ใช่ใครที่ไหน หากคือ ‘รัฐบาล’ เนื่องด้วยการมีอยู่ของตัวคริปโตฯ นั้นเป็นการลดทอนอำนาจทำให้รัฐบาลไม่สามารถควบคุม ‘นโยบายการเงิน’ ได้อย่างอิสระเช่นเคยเป็นในอดีต (อ่านเพิ่มเติมทาง Crptonian EP0)
แต่นอกเหนือไปจากการขัดขวางอำนาจในการควบคุมเงินตราของรัฐแล้วนั้น เราต้องยอมรับกันด้วยว่าก่อนหน้าที่บิตคอยน์หรือสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ จะได้รับความนิยมอย่างในปัจจุบัน ประวัติศาสตร์การใช้งานของเหล่าสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ต้องเรียกว่าได้อยู่ในหมวด ‘เทาๆ’ เสียมากกว่า นี่จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ในบางรัฐหรือบางประเทศยังคงไม่ไว้วางใจสกุลเงินดิจิทัล และอยู่ในหมวดสินทรัพย์ที่ผิดกฎหมาย
Cryptonian EP นี้ ขอพาทุกคนไปย้อนรอยดูอีกด้านหนึ่งที่ ‘เทาๆ’ ของการใช้งานสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างสกุลเงินดิจิทัลในอดีต เพื่อให้นักลงทุนที่สนใจได้รับข้อมูลอย่างครบถ้วนก่อนที่จะตัดสินใจกันเอาเองว่า วงการสกุลเงินดิจิทัลนั้นจะกลายมาเป็น ‘อนาคต’ ได้จริงๆ หรือเปล่า
อย่างที่เราทราบกันอยู่แล้วว่า การกำเนิดของ ‘บิตคอยน์’ สกุลเงินดิจิทัลตัวแรกของโลกนั้น ถูกสร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหา ‘การทำธุรกรรมซ้ำซ้อน’ (Double Spending) เพื่อที่โลกของเราจะได้มีระบบการเงินที่ไม่ถูกแทรกแซงจากภาครัฐ และกระจายอำนาจทางการเงินคืนแก่ทุกคนได้อย่างเท่าเทียม
ด้วยคอนเซ็ปต์ของบิตคอยน์คือการทำธุรกรรมที่มีระบบบล็อกเชนที่อุดช่องโหว่ในการทำธุรกรรม ทำให้การการโอนมูลค่าระหว่างกันนั้นมีความปลอดภัย และสามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งนายซาโตชิ นาคาโมโตะ (Satoshi Nakamoto) มองว่าธุรกรรมการเงินนั้น เพียงแค่ตรวจสอบการโอนได้ก็เพียงพอแล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ข้อมูลส่วนตัวผู้โอนในการใช้งานบิตคอยน์
นั่นหมายความว่า เราสามารถรู้ได้ว่าเงินถูกโอนจากกระเป๋าเงินไหนไปกระเป๋าเงินไหน แต่ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าใครเป็นผู้ถือกระเป๋าเงินใบนั้น
จึงทำให้ ‘บิตคอยน์’ เป็นสกุลเงินที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปของการโอนได้ และมีความเป็นส่วนตัวต่อผู้ใช้งาน แต่ด้วยช่องโหว่ตรงจุดนี้เอง ทำให้บิตคอยน์ในอดีตเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน ‘สินค้าผิดกฎหมาย’ และเป็นหนึ่งในวิธีการในการ ‘ฟอกเงิน’ ของเหล่ามิจฉาชีพ
ลองจินตนาการภาพว่า การใช้สกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ที่ไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลของผู้ใช้นั้น ย่อมเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดในการแลกเปลี่ยนสินค้าผิดกฎหมาย อีกทั้งยังไม่สามารถที่จะถูกแทรกแซงโดยภาครัฐเสียอีกต่างหาก แถมยังง่ายต่อการฟอกเงิน เพราะเมื่อมีการแลกเปลี่ยนเงินสดและสกุลเงินดิจิทัลเกิดขึ้น การเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลเป็นเงินสดอีกครั้งหนึ่งก็กลายเป็นการล้างที่มาของเงินผิดกฎหมายไปได้อย่างไร้ร่องรอย
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงพยายามที่จะทำให้สกุลเงินดิจิทัลผิดกฎหมายอยู่ตลอด เพื่อหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย อีกทั้งด้วยราคาที่ขึ้นลงอย่างผันผวน การถือครองสกุลเงินดิจิทัลจึงเป็นการหลบเลี่ยงภาษีที่ไม่สามารถตรวจจับได้เสียอีกต่างหาก
นอกเหนือไปจากการใช้งานที่ไปกระทบกฏระเบียบของรัฐ ข้อมูลของ Digiconomist ชี้ว่า การทำธุรกรรมบิตคอยน์หนึ่งครั้ง ปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ (Carbon Footprint) เทียบเท่ากับการดูคลิปวิดีโอบนยูทูบนานถึง 55,280 ชั่วโมงอีกต่างหาก นี่จึงเป็นเหตุผลที่บุคคลที่รวยเป็นอันดับที่ 2 ของโลกอย่างบิล เกตส์ (Bill Gates) ปฏิเสธที่จะให้ความสนใจในตัวบิตคอยน์อย่างสิ้นเชิง
วงการสกุลเงินดิจิทัลจึงต้องมีการพิสูจน์ตัวเองอีกมากในอนาคตข้างหน้า เพื่อที่จะสามารถก้าวผ่านอดีตสีเทาที่ผู้คนเคยอาศัยช่องโหว่ของเทคโนโลยีในการกระทำผิดกฎหมายนี้ได้ ในตลาดขาลงสับดาห์นี้ เหล่านักลงทุนอาจจะต้องมานั่งครุ่นคิดกันอีกครั้งหนึ่งว่า อีกนานแค่ไหนกว่าสกุลเงินดิจิทัลจะล้างบาปในอดีตลงได้ และได้รับการยอมรับจากภาครัฐเสียที
ที่มา
https://www.finnomena.com/ran/bitcoin-darkside/
https://www.posttoday.com/world/647524
https://blockchain-review.co.th/blockchain-review/altcoin-today-ep-5-monero/
https://www.moneybuffalo.in.th/business-economy/อาชญากรใช้-bitcoin-ฟอกเงิน
Tags: สินทรัพย์ดิจิทัล, Cryptocurrency, บิตคอยน์, สกุลเงินดิจิทัล, Cryptonian