สิ่งใดที่เคยถูกเรียกขานว่าเป็นของใหม่ อย่างไรเสีย วันหนึ่งก็คงต้องกลายเป็นของเก่า นั่นคือสัจธรรมของโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นผู้นำ คนรัก ทักษะ หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีเอง และในขณะที่โลกการเงินยุคเก่าอย่างระบบเงินเฟียต (Fiat) และระบบธนาคารกำลังถูกท้าทายโดยสกุลเงินดิจิทัล และ DeFi (Decentralize Finance) ซึ่งเป็นผลผลิตมาจากเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่ช่วยสร้างระบบการเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยและกระจายศูนย์ ไม่ผูกขาดอำนาจไว้ที่ใครคนใดคนหนึ่ง ถ่วงดุลอำนาจทางการเงินจากภาครัฐที่เคยผูกขาดต่อประชาชนมานาน
แต่หากย้อนไปตั้งแต่ที่บล็อกเชนได้ถูกนำมาใช้กับระบบการโอนมูลค่าเมื่อปี 2008 นับว่าเป็นเวลา 13 ปีเข้าไปแล้ว จึงอาจมีข้อสงสัยว่าในโลกที่เทคโนโลยีกำลังหมุนไปอย่างรวดเร็วนั้น บล็อกเชนจะ ‘ตกรุ่น’ บ้างหรือไม่ เพราะจากการสังเกตอันดับของมูลค่าเหรียญ 3 อันดับแรก ล้วนเป็นเหรียญประจำบล็อกเชนไม่ว่าจะเป็น ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin Blockchian), อีเธอเรียม’ (Ethereum) และ ‘ไบแนนซ์เชน’ (Binance Chain) จึงเป็นคำถามที่คาดว่าหลายๆ คนค่อนข้างที่จะสงสัยว่า หากวันหนึ่งบล็อกเชนกลายเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยขึ้นมา มูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลจะเป็นอย่างไร
ถึงแม้ว่ามูลค่าของเหรียญอันดับหนึ่งจะยังคงเป็น ‘บิตคอยน์’ แต่หากจะพูดถึงกรณีดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ต้องยกตัวอย่างโดยใช้ ‘อีเธอเรียม’ ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นเหรียญที่มีมูลค่าเป็นอันดับ 2 แต่ในแง่ของการสร้างนวัตกรรมนั้น เรียกได้ว่ามีความสำคัญไม่แพ้บิตคอยน์เลย เพราะด้วยความสามารถในการเขียน Smart Contract ลงบนอีเธอเรียมบล็อกเชน ที่ทำให้สามารถสร้างแอพพลิเคชันไร้ตัวกลางที่ไม่ถูกควบคุมโดยใครคนใดคนหนึ่งได้ ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมทางการเงินได้อย่างมหาศาล แต่ปัญหาใหญ่ของอีเธอเรียม หรืออาจเรียกได้ว่าปัญหาสุดคลาสสิกของบล็อกเชนคือ ‘การเพิ่มขนาดของการทำธุรกรรม’ (Scalability)
บล็อกเชนเป็นฐานข้อมูลของเครือข่ายที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเก็บข้อมูลโดยปราศจากการพึ่งพาตัวกลางในการควบคุมดูแล โดยให้หน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องของการทำธุรกรรมในเครือข่ายเป็นผู้ตรวจสอบตกอยู่ที่ผู้ใช้งานเครือข่ายเอง โดยอีเธอเรียมสามารถรองรับการทำธุรกรรมได้เพียง 15 ธุรกรรมต่อวินาทีเพียงเท่านั้น อีกทั้งการที่ต้องบันทึกข้อมูลใหม่ๆ เข้าไปอยู่ตลอดเวลา ทำให้อีเธอเรียมบล็อกเชนนั้นมีขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ ณ ปัจจุบัน อีเธอเรียมมีปัญหาคือการทำธุรกรรมจะต้องใช้เวลานาน และมีค่าแก๊สที่แพง หากต้องการที่จะให้บล็อกเชนอีเธอเรียมถูกใช้งานอย่างแพร่หลายมากกว่านี้ ปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้แน่นอน
แต่การเพิ่มขนาดของการทำธุรกรรมนั้นไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น และมีราคาที่ต้องจ่ายอยู่เสมอ วิทาลิก บูเทอลิน (Vitalik Buterin) ผู้ให้กำเนิดอีเธอเรียม เคยกล่าวไว้ว่า บล็อกเชนที่สมบูรณ์แบบจะต้องประกอบไปด้วย 3 องค์ประกอบ คือ
-
ระบบการกระจายอำนาจ (Decentralization)
-
ขนาดของการทำธุรกรรม (Scalability)
-
ความปลอดภัย (Security)
แต่คำว่าสมบูรณ์แบบนั้นยังมาไม่ถึงในปัจจุบัน วิทาลิกได้กล่าวว่า บล็อกเชนที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ประการ ในปัจจุบันยังไม่ถือกำเนิดขึ้น และเป็นไปไม่ได้เลย ที่จะคงลักษณะทั้ง 3 เข้าไว้ด้วยกัน หรือมากที่สุดคือทำได้สองอย่างเพียงเท่านั้น
ยกตัวอย่าง Ripple บล็อกเชนที่สามารถเพิ่มขนาดของการทำธุรกรรมได้ และมีความปลอดภัย แต่นั่นเป็นเพราะว่า Ripple ดึงความกระจายอำนาจของผูคนในเครือข่ายทิ้งออกไป โดยหากเปรียบเทียบกับบิตคอยน์ และอีเธอเรียม Ripple มี Node หรือผู้คนใช้งานเครือข่ายอยู่น้อยมาก ซึ่งถึงแม้ว่าการทำธุรกรรมจะรวดเร็ว และปลอดภัย แต่หากไร้ซึ่งความกระจายศูนย์ ย่อมผิดจากความตั้งใจของการเป็นสกุลเงินไร้ตัวกลาง
ทำให้ก่อนหน้านี้ อีเธอเรียมที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการกระจายอำนาจและความปลอดภัย ต้องประสบกับปัญหาเกี่ยวกับความสามารถในการทำธุรกรรม ซึ่งส่งผลให้มีการประมวลผลที่ช้าและค่าบริการที่แพง โดยส่วนหนึ่งมากจากระบบในการตรวจสอบความถูกต้อง (consensus) ใช้งานเป็นระบบ Proof Of Work ผ่านคนในเครือข่าย (Node) จึงเป็นที่มาของการอัพเกรดบล็อกเชนอีเธอเรียมให้กลายเป็น ‘อีเธอเรียม 2.0’ ที่ต้องรอคอยถึง 2 ปี ถึงจะได้ยลโฉมหน้าตาของมัน
อีกสิ่งหนึ่งที่ควรจับตาดูก็คืออีก 2 ปีถัดมานั้น อีเธอเรียม 2.0 จะประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาการ Scaling รึเปล่า เพื่อที่ว่าโลกของเราจะได้พบกับบล็อกเชนที่สมบูรณ์แบบตัวแรกของโลกเสียที
อ่าน Cryptonian EP25: เมื่อโลกการเงินเก่าและอนาคตเชื่อมต่อกัน การร่วมมือกันของ Bitkub และ SCB กำลังบอกอะไรเรา? ทาง https://bit.ly/3n88ZRt
ภาพ: https://cryptosiam.com/80-of-eth-is-ready-for-an-upgrade/
ที่มา:
– https://101blockchains.com/blockchain-scalability-challenges/
– https://ethereum.org/en/developers/docs/scaling/layer-2-rollups/
– https://www.efinancethai.com/Fintech/FintechMain.aspx?release=y&name=ft_202108041519
Tags: Blockchain, Ethereum, Cryptonian, StayCuriousBeOpen, TheMomentum, Scalability