บล็อกเชนคืออะไร? และมูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลมาจากไหนกัน?
หลังจากที่ได้อธิบายประวัติศาสตร์ความล้มเหลวในการบริหารเงินของรัฐไปในบทความ Cryptonian ตอนที่แล้ว หลายๆ คนคงเข้าใจการทำงานของระบบสกุลเงินดิจิทัลมากขึ้นในระดับหนึ่งว่า ทำไมเทคโนโลยีดังกล่าวจะมาทดแทนระบบสกุลเงินของรัฐได้ แต่คำถามยอดนิยมที่หลายๆ คนยังคงสงสัยคือ ถ้ามูลค่าเงินดั้งเดิมถูกกำหนดด้วยความเชื่อมั่นของรัฐ แล้วมูลค่าของเงินดิจิทัลขึ้นอยู่กับอะไรกันล่ะ? หากจะสามารถอธิบายได้อย่างชัดเจนเราต้องเปรียบเทียบกับจุดกำเนิดของ ‘ทองคำ’ เพราะ ‘บิตคอยน์’ กับทองคำนั้นมีความคล้ายคลึงกันเสียเหลือเกิน
แรกเริ่มทองคำเป็นเพียงแค่ก้อนหินสีเหลืองแวววาวที่อยู่ในกลุ่มของธาตุโลหะมีสกุลชนิดหนึ่ง ลักษณะเด่นของทองคำคือ ไม่สามารถที่จะทำปฏิกิริยากับสารเคมีส่วนใหญ่ และไม่สามารถที่จะถูกสังเคราะห์ขึ้นมาได้ การได้มาของทองคำมีเพียงอย่างเดียวคือการ ‘ขุด’ เท่านั้น อีกทั้งผู้คนยังเชื่อว่าทองเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด หากวันใดที่ทองคำหมดโลก เราจะไม่สามารถหาทองคำได้จากการขุดอีกต่อไป
การได้มาที่แสนจะยากลำบากของแร่ทองคำนั้น ทำให้มนุษย์ในยุคสมัยใหม่ได้กำหนดให้แร่สีเหลืองทองชนิดนี้ทำหน้าที่เป็น ‘ตัวสะสมมูลค่า’ (Store of Value) และเป็นที่เข้าใจกันว่า เจ้าหินสีเหลืองที่มีส่วนผสมของธาตุเคมีหมายเลขอะตอมที่ 79 นี้ สามารถใช้แลกเปลี่ยนมูลค่ากันได้ ซึ่งในช่วงเวลา 5 พันกว่าปี ทองคำได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่ามีคุณสมบัติในการแลกเปลี่ยนโดยไม่มีใครมาโค่นโลหะชนิดนี้ได้เลย
จากประวัติโดยย่อของเจ้าทองคำ ทำให้เราเห็นได้ว่าทองคำมีคุณสมบัติในการเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยน (Medium of Exchange) อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น 1. ความเป็นมาตรฐานของทองทุกหน่วยจะมีคุณสมบัติเหมือนกัน 2. สามารถที่จะแบ่งแย่งเป็นหน่วยได้ 3. ง่ายต่อการสะดวกในการพกพา 4. ไม่เสื่อมสภาพไว 5. ได้รับการยอมรับในวงกว้างและข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญที่สุด ซึ่งที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น ก็เป็นคุณสมบัติที่บิตคอยน์มีอยู่ครบถ้วนเช่นเดียวกัน และผู้ที่ทำให้บิตคอยน์มีคุณสมบัติครบคือเทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ (Blockchain) นั่นเอง
เทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ เบื้องหลังมูลค่าของ ‘บิตคอยน์’
อย่างที่ได้กล่าวไปในบทความก่อนหน้าว่า ‘บิตคอยน์’ เป็นระบบที่ใช้เพื่อโอนมูลค่าระหว่างกันโดยไม่ผ่านตัวกลาง โดยให้เครือข่ายของผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่วโลกเป็นคนยืนยันความถูกต้องผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) แทนที่จะเป็นหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง และจะปันผลตอบแทนให้เป็นเหรียญบางส่วนมาให้กับผู้ยืนยัน
แต่ก่อนหน้านั้น เราไม่สามารถโอนมูลค่าระหว่างกันมาก่อนได้เลย นับตั้งแต่ที่โลกของเรามี ‘อินเทอร์เน็ต’ การส่งข้อมูลต่างๆ กลายเป็นเรื่องที่ธรรมดามากๆ ไม่จำเป็นต้องหอบเอกสารวิ่งไปมาหากันอีกต่อไป เพราะเราสามารถส่งข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย
คำถามคือ เรายังจำเป็นต้องหอบเงินไปมาหากันอยู่อีกหรือ เราสามารถโอนเงินผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้หรือยัง?
คำตอบคือไม่ได้เด็ดขาด!
ลองนึกภาพว่าเวลาเราส่งไฟล์ข้อมูลให้ผู้อื่น ไฟล์ต้นแบบยังอยู่ที่เรา สิ่งที่อีกฝ่ายได้รับคือสำเนาของไฟล์ที่เราส่งให้ ถึงแม้ระบบอินเทอร์เน็ตทำให้เราส่งไฟล์ได้อย่างรวดเร็ว แต่กลับทำให้ทุกคนที่มีไฟล์สามารถที่จะดัดแปลงข้อมูลข้างใน และยังส่งไฟล์นั้นต่อได้อีกต่างหาก สิ่งที่มีมูลค่าอย่างเงินหรือทอง ไม่สามารถใช้ระบบอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยโอนระหว่างกันได้ เพราะอาจทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่า ‘การโอนมูลค่าซ้ำเกิดขึ้น’ (Double Spending) ลองจินตนาการว่า เงินในบัญชีของคุณคือไฟล์ข้อมูลการคุณโอนเงินไปให้อีกฝ่ายนั่นคือสำเนาไฟล์เงินของคุณต่างหาก คุณไม่ได้ส่งมอบเงินให้อีกฝ่าย
แล้วเงินที่เราโอนใช้กันอยู่ทุกวันนี้ล่ะคืออะไรกัน? เราโอนเงินไปแล้วเงินเราก็ไม่ได้อยู่ที่เดิมสักหน่อย
ต้องอธิบายเพิ่มเติมว่าจริงๆ เงินที่เราใช้โอนกันอยู่ทุกวันนี้ก็เป็น ‘สกุลเงินดิจิทัล’ รูปแบบหนึ่งเช่นกัน แต่เป็นสกุลเงินที่โอนผ่านตัวกลางที่มีชื่อว่า ‘ธนาคาร’ ที่คอยถือกระเป๋าเงินออนไลน์ของเรา และตรวจสอบการทำธุรกรรมของเราทุกคน เพื่อไม่ให้เกิดการโอนมูลค่าซ้ำซ้อน ทำให้เรามั่นใจได้ว่าธุรกรรมที่จะเกิดขึ้นนั้นไม่มีข้อผิดพลาดและมีความน่าเชื่อถือ เราเรียกระบบการเงินแบบนี้ว่าระบบการเงินแบบรวมศูนย์ (Centralize)
แต่เรามีบทเรียนในอดีตมาแล้วว่า การที่มอบอำนาจทางการเงินให้คนกลุ่มหนึ่งส่งผลร้ายแรงแค่ไหนในอดีต ในอดีตรัฐเพียงแค่ถือเงินของเราไว้ แต่ในวันนี้ ธนาคารกลับรับรู้ถึงข้อมูลการโอนของเราด้วย นาย ซาโตชิ นาคาโมโตะ จึงให้กำเนิด ‘บิตคอยน์’ ระบบโอนมูลค่าที่อาศัยเทคโนโลยี ‘บล็อกเชน’ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และปลดแอกประชาชนจากการควบคุมเงินของรัฐเพื่อเป็นสัญญานเตือนว่า ‘คุณจะทำตามใจชอบกับเงินของพวกเราไม่ได้อีกต่อไป’
Blockchain ความปลอดภัยทางข้อมูลที่ทุกคนช่วยกันดูแล
หากอธิบายให้เข้าใจโดยง่าย การทำงานของเทคโนโลยีนี้คือการนำข้อมูลมูลค่าของคุณมาไว้ใน ‘กล่อง’ (Block) และร้อยต่อกล่องทุกกล่องร่วมกันด้วย ‘โซ่’ (Chain) ที่มีการเข้ารหัสที่ชื่อว่า ‘Cryptography’ ซึ่งมีความปลอดภัยสูงมากๆ เมื่อมีการแก้ไขข้อมูลจะถูกส่งกระจายไปยังคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่มีเครือข่าย ข้อมูลมูลค่าที่อยู่ใน ‘บล็อกเชน’ จึงมีความน่าเชื่อถือสูงมาก เพราะคนในเครือข่ายทุกคนจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเหมือนกันหมด และการที่จะแก้ไขข้อมูลจำเป็นต้องแก้จากคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่ในเครือข่าย
ยกตัวอย่างเช่น มีคอมพิวเตอร์อยู่ในเครือข่ายทั้งหมด 100 เครื่อง มีการโอนเงินจาก Block A ไปยัง Block B ข้อมูลการโอนจะถูกบันทึกไว้ในเครือข่ายทั้งหมด 100 เครื่อง การที่จะแก้ไขจำนวนเงินจำเป็นจะต้องแก้ไขจากคอมพิวเตอร์ทั้งหมด 100 เครื่องในเครือข่าย ลองจินตนาการดูว่าหากมีคอมพิวเตอร์อยู่บนเครือข่ายทั้งหมด 1 ล้านเครื่อง จะสามารถตบแต่งตัวเลขกันได้อย่างไร? และคนในระบบที่อาสายืนยันความถูกต้องในการทำธุรกรรมก็จะได้รับเหรียญที่เรียกว่า ‘บิตคอยน์’ เป็นรางวัล หรือที่เราเรียกว่า ‘การขุดเหรียญ’ นั่นเอง
นี่จึงเป็นคำตอบของคำถามว่า มูลค่าของบิตคอยน์มาจากไหน? ซึ่งก็คือ ‘มาจากการใช้งานของคนในเครือข่ายนั่นเอง’ เพราะลักษณะสำคัญที่สุดของการเป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนคือ ‘การได้รับการยอมรับในวงกว้าง’ และในปัจจุบันไม่ใช่เพียงแค่คนในเครือข่ายเท่านั้นที่ให้การยอมรับ แต่กลับได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
‘บิตคอยน์’ และ ‘ทองคำ’ ความเหมือนที่แตกต่างกัน
คำถามที่อยากชวนให้ทุกคนคิดตามคือ ‘ในปีแรกของการค้นพบทองคำ ก้อนหินสีเหลืองทองนั้นมีมูลค่าเท่าไหร่?’ คำตอบก็คือ ‘แล้วแต่คนในสมัยนั้นจะให้ค่า’ บิตคอยน์ก็เช่นกัน ครั้งแรกที่มีการโอนมูลค่าระหว่างกันในปี 2010 หนึ่งเหรียญบิตคอยน์มีมูลค่าเพียงแค่ 0.04951 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น จะเอาไปซื้อกาแฟสตาร์บัคยังไม่ได้เลย
แต่ 10 ปีให้หลัง มูลค่าของเหรียญกลับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนผู้ใช้งาน เนื่องจากทั่วโลกรับรู้แล้วว่าทองคำดิจิทัลตัวนี้มีจำนวนจำกัดอยู่ที่ 21 ล้านเหรียญทั่วโลก แถมยังโอนมูลค่าได้ง่ายกว่าทองคำ ไม่จำเป็นต้องขนบิตคอยน์ไปมาหากันเพื่อทำธุรกรรมเหมือนกับทอง จึงเป็นสาเหตุที่มูลค่าของเหรียญเพิ่มพูนขึ้นอย่างมหาศาล
แต่ท้ายที่สุดก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า ‘บิตคอยน์’ จะเป็นสิ่งที่สามารถเอาชนะ ‘ทองคำ’ หรือสกุลเงินต่างๆ บนโลกนี้ได้ ในอนาคตหากมีเทคโนโลยีที่ดีกว่า ‘บิตคอยน์’ แน่นอนว่ามูลค่าของเหรียญดิจิทัลย่อมสูญหายไปตามความนิยม
กลับมาคำถามที่ว่า ‘ในเมื่อบิตคอยน์เป็นเงินดิจิทัลที่อยู่ในอากาศจะไปมีมูลค่าได้อย่างไร’ หากจะตอบอย่างกำปั้นทุบดินคงจะตอบว่า ‘เพราะคนสั่งให้มันมี’ เพราะ ‘เงินกระดาษ’ และ ‘ทองคำ’ ก็ไม่ได้แตกต่างจาก ‘เงินอากาศ’ ตัวนี้เลย
จึงอยากจะชวนผู้อ่านคิดต่อว่า หากวันใดเราสามารถสังเคราะห์ทองคำให้มีจำนวนไม่จำกัดได้เมื่อใด มูลค่าของทองคำจะเหลืออยู่เท่าไหร่? หรือจะกลับไปเป็นหินสีเหลืองทองที่เอาไว้ทับกระดาษเพียงอย่างเดียว
ที่มา:
https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1886
https://www.mitrade.com/th/forex/cryptocurrency/bitcoin/what-is-bitcoin
https://www.goldtraders.or.th/PageView.aspx?page=6
https://coinman.co/2017/06/28/bitcoin-value/
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%B3
https://zipmex.co.th/learn/why-business-care-about-blockchain/
https://www.efinancethai.com/MoneyStrategist/MoneyStrategistMain.aspx?id=ZHNzbVhubGcyeU09
https://news.trueid.net/detail/ebggQrkM6yqb
Tags: gold, Blockchain, Bitcoin, Cryptocurrency, Cryptonian