ประเด็นที่กำลังเป็นข่าวใหญ่สำหรับผู้ลงทุนไทยในคริปโตเคอร์เรนซีตอนนี้ คงหนีไม่พ้นการที่ธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยอย่าง ธนาคารไทยพานิชย์ จำกัด หรือ SCBS ได้เข้าซื้อหุ้น 51% ในบริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอลกรุ๊ปโฮลดิงส์ จำกัด ซึ่งดันให้ Bitkub กลายเป็นสตาร์ทอัพยูนิคอร์น (Unicorn) ตัวแรกของประเทศไทย แต่สิ่งที่ผู้คนต่างเฝ้าจับตามองคือ การร่วมมือกันของโลกการเงินดั้งเดิมและโลกการเงินยุคใหม่จะส่งผลต่อนวัตกรรมทางการเงินอย่างไรบ้าง

หากมองให้กว้างมากกว่านี้ และตัดเรื่องตัวเลขการซื้อหุ้น 51% ออกไป ในฝั่งของต่างประเทศ การที่ธนาคารใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนนั้น เป็นการอำนวยความสะดวกต่อโลกการเงินของผู้ใช้บริการ เพราะจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัลชนิดต่างๆ อย่างคริปโตเคอร์เรนซี สินทรัพย์อย่าง NFT หรือแม้กระทั่งที่ดินในโลกของเมตาเวิร์ส เพื่อที่จะสามารถดึงเงินจากสินทรัพย์ประเภทอื่นเข้ามาสู่โลกของบล็อกเชนได้อย่างมากมายมหาศาล

ตัวอย่างหนึ่งของการร่วมมือกันที่เอื้อประโยชน์ คือการที่หนึ่งในธนาคารชื่อดังของประเทศสหรัฐฯ JP Morgan ได้หันมารับลูกค้าองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับกระดานเทรดอย่าง Coinbase และ Gemini โดยจะให้บริการในการจัดการเงินทุน และช่วยประมวลผลการทำธุรกรรมในทางฝั่งเงินดอลลาร์ฯ ซึ่งรวมไปถึงความสะดวกในการถอนเงินจากกระดานเทรดให้อยู่ในรูปแบบของเงินสดผ่าน JP Morgan อีกด้วย ทำให้สะพานที่เชื่อมต่อระหว่างคริปโตฯ​ และสกุลเงินทั่วไปนั้นลื่นไหลกว่าเดิม

สะพานที่แข็งแกร่งย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนรายใหญ่อย่างนักลงทุนสถาบันหรือบริษัทต่างๆ ได้มากขึ้นกว่าเดิม ผลที่ตามมาคือสภาพคล่องในกระดานเทรดอย่าง Coinbase เพิ่มสูงขึ้น และที่สำคัญคือการแลกเปลี่ยนนวัตกรรมระหว่างโลกการเงินทั้งสอง เพราะหลังจากนั้น ทาง JPMorgan ได้มีความพยายามที่จะสร้างบล็อกเชนของตนเองโดยที่มีเงินดอลลาร์สหรัฐฯ รองรับอยู่แบบ 1:1 ในชื่อของเหรียญ JPM โดยหวังว่าในอนาคตจะเป็นบริการทางการเงินอีกรูปแบบให้กับลูกค้าของ JP Morgan เอง

สิ่งที่เราอาจจะได้เห็นในอนาคตของการที่สถาบันการเงินดั้งเดิมเข้ามาใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน คือความโปร่งใสทางด้านการเงิน ที่เรียกได้ว่าแทบจะตรวจสอบไม่ได้เลยจากภาคประชาชนในอดีต เพราะทั้งการเข้ามาจับมือกับกระดานเทรดคริปโตฯ ของทั้ง JP Morgan และ SCBS นั้น เป็นการส่งสัญญานไปสู่ธนาคารอื่นๆ แล้วว่า ‘อำนาจทางการเงิน’ ที่ไม่เคยถูกท้าทายจากสิ่งใดมาก่อนกำลังถูกทำให้สั่นคลอน และใครที่ปรับตัวไม่ทันอาจจะต้องพบกับความเสียหายครั้งใหญ่หลวง

จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจเลยในการจับมือกันระหว่าง SCB และ Bitkub เพราะหากดูจากการเติบโตของระบบการโอนที่รวดเร็ว แม่นยำ และต้นทุนต่ำของเทคโนโลยีบล็อกเชน อีกทั้งการมาถึงของ Decentralize Finance จึงทำให้พูดได้อย่างเต็มปากว่า คริปโตเคอร์เรนซีและบล็อกเชนเป็นขั้วตรงข้ามที่จะมาดิสรัปต์ธุรกิจธนาคารดั้งเดิมอย่างไม่ต้องสงสัย

เพียงแต่สิ่งที่ยังคงน่ากังวลในปัจจุบัน คือการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ที่ดำเนินธุรกิจทางด้านคริปโตฯ ว่าจะมีการบังคับใช้และตีความใหม่อย่างไร เพราะหากหน่วยงานกำกับดูแลอย่าง ก.ล.ต. มีการวางข้อกฎหมายที่จำกัดการทำธุรกิจในกลุ่มคริปโตฯ ที่ไม่เหมาะสม ก็อาจเป็นการปิดกั้นการเกิดขึ้นของนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ได้ในอนาคต เช่นการสั่งห้ามไม่ให้ลิสต์โทเคนที่ออกโดยกระดานเทรดเอง หรือไม่อนุญาตให้ลิสต์มีมโทเคน หรือ NFT จึงหวังว่าการจับมือของสองยักษ์ใหญ่ในครั้งนี้จะเป็นสัญญาณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงประเด็นนี้อย่างถี่ถ้วน

เพราะไม่เช่นนั้น ในขณะที่นวัตกรรมการเงินของต่างชาติกำลังพุ่งทะยานไปไกลแสนไกล ประเทศไทยของเราอาจจะทำได้แค่นั่งมองด้วยความเสียดาย

ที่มา:

https://www.coinbase.com/th/learn/crypto-basics/what-is-usdc

https://web.facebook.com/…/a.16563584…/2823493507942335/

https://hbr.org/…/what-if-central-banks-issued-digital…

https://www.coindesk.com/…/jpmorgan-bank-takes-on…/

https://www.bcg.com/…/how-banks-can-succeed-with…

https://www.efinancethai.com/Laste…/LatestNewsMain.aspx…

Tags: , , , ,