ปัจจุบัน เรามีระบบการเงินแบบดั้งเดิมที่สามารถโอนเงินถึงกันได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย นั่นคือระบบ ‘พร้อมเพย์’ (Promptpay) ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้หลายคนยังลังเลไม่ยอมรับการใช้งานในระบบการเงินกระจายศูนย์อย่าง ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) เนื่องจากค่าธรรมเนียมในการโอนที่มีราคาสูง อีกทั้งยังใช้เวลาในการโอนระหว่างกันนานกว่าเครือข่ายการเงินในรูปแบบอื่น หากเปรียบเทียบกันแล้ว บิตคอยน์ในอดีตสามารถทำธุรกรรมได้เพียง 7 ธุรกรรมต่อวินาที ในขณะที่เครือข่ายของ Visa สามารถทำได้ 24,000 ธุรกรรมต่อวินาที ทำให้หลายคนคิดว่าบิตคอยน์คงไม่มีวันที่จะถูกใช้อย่างแพร่หลายได้แน่นอน

 

สาเหตุที่ทำให้บิตคอยน์โอนธุรกรรมระหว่างกันช้า เป็นเพราะการแข่งกันยืนยันธุรกรรมของคนในเครือข่าย หรือก็คือ ‘การขุด’ นั่นเอง กระทั่งในปี 2016 โจเซฟ พูน (Joseph Poon) และแธดเดียส ดรายจา (Thaddeus Dryja) ได้ปล่อย White paper ที่มีชื่อว่า ‘Bitcoin Lightning network’ ที่แก้ปัญหาการทำธุรกรรมของบิตคอยน์ให้โอนหากันได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ภายใต้แนวคิดสุดแสนเรียบง่ายคือ ‘หากการขุดทำให้ธุรกรรมเชื่องช้า งั้นเราก็ไม่ต้องขุดมันซะสิ’

 

Lightning Network เป็นเทคโนโลยี Layer 2 ของบล็อกเชน โดยเป็นการทำธุรกรรมที่เรียกว่า Off-chain หรือการบันทึกการทำธุรกรรมนอกบิตคอยน์บล็อกเชน แล้วค่อยรวมผลลัพธ์เข้ากับเครือข่ายบล็อกเชนหลัก หลังจากผ่านระบบ Smart contract ซึ่งมีความรวดเร็วสูงในระดับที่สามารถโอนบิตคอยน์ได้ถึง 1 ล้านธุรกรรมภายใน 1 วินาที แถมยังไม่เสียค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมอีกด้วย

 

การทำงานของเครือข่ายนั้น ยกตัวอย่างเช่น หากนาย A ต้องการที่จะโอนบิตคอยน์ไปหานาย B จำนวน 1 บิตคอยน์ กระบวนการที่เกิดขึ้นคือ ทั้งคู่จะทำการโอน 1 บิตคอยน์ ไปยังบัญชีแอดเดรสกลางที่เรียกว่า Payment Channel และจำนวนบิตคอยน์ที่ทั้งคู่โอนไปจะถูกเรียกว่า Commitment Transaction ตอนนั้นเอง ที่ Payment Channel จะเกิดการบันทึกข้อมูลใหม่ นั่นคือ นาย A=0 บิตคอยน์ นาย B=2 บิตคอยน์ และ Payment Channel นั้นจะเปิดไว้นานเท่าไรก็ได้ และเมื่อ Channel มีการปิดตัวลง ข้อมูลการทำธุรกรรมจะถูกบันทึกกลับไปในบล็อกเชนของบิตคอยน์

 

นอกจากนี้ เครือข่ายของ Payment Channel สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้อีกด้วย โดยสมมติว่า นาย A จะ โอนบิตคอยน์ไปหานาย C โดยที่นาย A เคยมี Payment Channel ของนาย B และนาย B มี Channel ของ นาย C ระบบจะทำการโอนเงินในรูปแบบ A ไป B และ B ไป C โดยที่ไม่ต้องสร้าง Channel ขึ้นมาใหม่ ทำให้เครือข่ายของ Lightning Network ยิ่งกว้างเท่าไร ก็ยิ่งทำให้การทำธุรกรรมไวขึ้นมากเท่านั้น

 

ถึงแม้ว่าข้อเสียของ Lightning Network คือระบบที่คล้ายคลึงกับระบบธนาคารที่ขัดไปจากหลักของการกระจายศูนย์ (Decentralize) และความโปร่งใสที่ไม่อาจเทียบเท่ากับการทำงานของระบบบล็อกเชน ทว่าด้วยความรวดเร็วและการทำธุรกรรมที่ไม่มีค่าธรรมเนียมนั้น จะทำให้ง่ายต่อการใช้งาน ทั้งยังทำให้ผู้คนยอมรับการใช้งานบิตคอยน์ได้มากขึ้นกว่าเดิม

 

ภาพ: Getty Images

 

ที่มา: https://www.investopedia.com/tech/bitcoin-lightning-network-problems/ 

https://blockchain-review.co.th/blockchain-review/what-is-lighting-network/ 

https://siamblockchain.com/2021/07/23/review-lightning-network/ 

 

#TheMomentum #StayCuriousBeOpen #Cryptonian #Bitcoin #Cryptocurrency #LightningNetwork #PaymentChannel

Tags: , , ,