เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นเคยกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม (Capitalism) ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดยบิดาแห่งเศรษฐศาสตร์อย่าง อดัม สมิธ (Adam Smith) ผู้ที่กล่าวว่าราคาของสินค้าและบริการจะถูกควบคุมโดยกลไกตลาด เปรียบเสมือนมือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand) เป็นตัวกำหนดตามอุปสงค์  อุปทานของสินค้าและบริการ ทำให้โลกของเราถูกขับเคลื่อนด้วยแนวคิดตลาดเสรี (Free Market) นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

แต่รู้หรือไม่ว่า หลังจากนั้นแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์การคลังก็ได้มาถึงทางแยกอีกครั้ง จนเกิดแนวคิด 2 สำนัก ที่มองเงินตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง 

แนวคิดของเศรษฐศาสตร์การคลังที่แพร่หลาย และทุกคนคุ้นเคยกันดีนั้นเรียกว่า แนวคิดเศรษฐศาสตร์แบบคีย์เนเชียน (Keynesian Economics) ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ (John Maynard Keynes) ที่เชื่อว่าระบบเศรษฐกิจไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นเสมอไป จึงจำเป็นต้องมีการแทรกแซงของรัฐบาล ช่วยทำให้ระบบเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะมาอุดรอยรั่วผ่านการออกนโยบายอัตราดอกเบี้ยหรือการเพิ่มปริมาณเงินในระบบ

ในช่วงปี 1930 ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกตกต่ำจากภาวะสงคราม และทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่มีอยู่ในขณะนั้น ไม่สามารถหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาการว่างงานของประชาชนได้ เคนส์จึงกำเนิดแนวคิดที่ว่า กลไกของตลาดเสรีไม่สามารถสร้างจุดสมดุลในตัวของมันเองได้ จึงจำเป็นต้องมีการเข้าแทรกแทรงผ่านการออกนโยบายสาธารณะเพื่อจ้างงานเต็มอัตรา สร้างเสถียรภาพของราคาของสินค้าและบริการ 

ดังนั้นตัวชี้วัดของระบบเศรษฐกิจสำนักคีย์เนเชียนจึงเชื่อว่าการใช้จ่ายจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจ ทำให้เกิดการขยายตัว เพราะการใช้จ่ายหมายความว่าผู้คนมีงานทำ และมีเงินมาเพื่อจับจ่ายใช้สอยในสภาวะเศรษฐกิจที่เหมาะสมจำเป็นต้องมีภาวะเงินเฟ้ออยู่นิดหน่อย เพื่อกระตุ้นให้ผู้คนจับจ่ายมากขึ้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์สำนักนี้มีความเชื่อมั่นในระบบการเงินเฟียต (Fiat Standard) ที่สามารถควบคุมโดยรัฐบาลนั่นเอง

แนวคิดของเคนส์ขัดกับแนวคิดของสำนักเศรษฐศาสตร์แบบออสเตรียน (Austrian school of Economic) ที่ถูกคิดค้นขึ้นโดย คาร์ล เมนเจอร์ (Carl Menger) และถูกต่อยอดพัฒนาโดย ฟรีดิช ฮาเยก (Friedrich Hayek) ที่ได้ต่อต้านการเข้าแทรกแซงเศรษฐกิจของรัฐบาล เนื่องจากเชื่อว่าการกระตุ้นความต้องการของผู้บริโภคเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เป็นการสิ้นเปลืองทรัพยาการโดยใช่เหตุ มีผลเสียมากกว่าผลดี อีกทั้งยังได้วิจารณ์นโยบายการควบคุมเงินของรัฐว่าเป็นการกระทำที่ส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนของเงินเสื่อมค่าลง ทำร้ายผู้คนที่ตั้งใจทำงานหนักเผื่อเก็บออมทางตรง

แนวคิดของเศรษฐศาสตร์สำนักออสเตรียนคือการเชื่อในตลาดเสรี (Free Market) ที่ตลาดมีกลไกจัดการตัวเองได้เสมอ แม้ว่าการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจจนอาจทำให้ผู้คนภายในประเทศต้องลำบากไปบ้าง แต่ในระยะยาวจะเป็นผลดีมากกว่า และทุกครั้งที่รัฐเข้าแทรกแซงจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจเกิดความร้อนแรงขึ้น ส่งผลให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน ดังนั้นเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนจึงสนับสนุนการใช้เงินที่ไม่เสื่อมค่าลง (Sound Money) อย่างระบบการเงินมาตรฐานทองคำ (Gold Standard) และตัวชี้วัดการเติบโตทางเศรษฐกิจคือ การเก็บออมและการผลิต (Saving and Production)

เมื่อผู้คนมีเงินที่ไม่เสื่อมมูลค่าลงได้โดยง่าย จะส่งผลให้ผู้คนนำเงินดังกล่าวไปลงทุน ก่อให้เกิดการผลิตที่มีคุณภาพ เป็นผลดีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จากแนวคิดของเศรษฐศาสตร์ออสเตรียน จึงทำให้เชื่อว่าผู้ถือเงินควรมีอำนาจที่แท้จริงในการจับจ่ายใช้สอย

คุณสมบัติของบิตคอยน์นั้นสามารถที่จะเป็น Sound Money ตามหลังแนวคิดเศรษฐศาสตร์ออสเตรียนได้ทุกประการ และเป็นขั้วตรงข้ามโดยตรงกับแนวคิดของคีย์เนเชียน จึงไม่แปลกใจหากเราเห็นหน่วยงานกำกับดูแล ต้องการออกกฏเพื่อควบคุมบิตคอยน์อยู่ตลอดเวลา ทั้งการเก็บภาษี การยืนยันตัวตนผ่านกระดานเทรดที่ได้รับใบอนุญาต แต่อย่างที่เห็นกันแล้วว่า ความพยายามในการควบคุมไม่สามารถทำได้ในตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผู้คนที่เข้าใจในเทคโนโลยีของบิตคอยน์จึงเชื่อมั่นว่าบิตคอยน์จะกลายมาเป็นเงินในยุคถัดไปอย่างแท้จริง

ที่มา:

https://www.investopedia.com/articles/economics/09/austrian-school-of-economics.asp 

https://www.essentialscholars.org/austrian-economics 

https://www.investopedia.com/updates/adam-smith-economics/ 

https://www.imf.org/external/pubs/ft/fandd/2014/09/basics.htm 

https://blockchain-review.co.th/blockchain-review/austrian-economy-sound-money-bitcoin/ 

https://www.theglobalist.com/smith-and-keynes-the-economic-insight-they-shared/ 

https://www.imf.org/external/pubs/ft/fandd/2014/09/basics.htm 

https://coro.global/blog/whats-the-difference-between-austrian-and-keynesian-economics/

Tags: ,