ยอดผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 ในสหรัฐฯ พุ่งทะลุ 5,000 รายแล้ว ขณะนี้ อเมริกามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มากที่สุดในโลกด้วยจำนวนกว่า 200,000 ราย เหตุเพราะรัฐบาลอเมริกันขยับตัวไม่เท่าทันสถานการณ์การแพร่ระบาด
จนถึงเมื่อเช้าวันพฤหัสฯ (2 เมษายน) สหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 5,116 ราย ในรอบ 24 ชั่วโมง ยอดผู้เสียชีวิตทำสถิติใหม่ด้วยจำนวน 884 ราย จำนวนผู้ติดเชื้อแซงหน้าจีนตั้งแต่ช่วงก่อนสิ้นเดือนมีนาคม จำนวนผู้เสียชีวิตแซงหน้าจีนเมื่อต้นเดือนเมษายน
ภาพความสูญเสียนี้สะท้อนให้เห็นว่า สหรัฐฯ รับมือการแพร่ระบาดด้วยมาตรการที่น้อยเกินไปและสายเกินการณ์หากย้อนดูลำดับเหตุการณ์ก็จะเห็นได้ว่า ข้อบกพร่องมีที่มาจากหลายสาเหตุ
รัฐบาลกลางลังเลที่จะใช้มาตรการเข้มข้น เช่น ปิดเมือง เพราะห่วงผลกระทบทางเศรษฐกิจ อำนาจรับมือโรคระบาดกระจายไปอยู่ในมือรัฐบาลท้องถิ่น แต่ละมลรัฐ แต่ละมหานคร ต่างแยกกันประกาศมาตรการหนักบ้างเบาบ้าง ทำให้ขาดเอกภาพในการรับมือ และกฎระเบียบด้านสาธารณสุขเป็นอุปสรรคในการแก้ปัญหาขาดแคลนชุดตรวจเชื้อ ทำให้การสอบสวนโรคเป็นไปอย่างล่าช้า
ผู้ติดเชื้อรายแรกบนแผ่นดินใหญ่สหรัฐฯ
สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อรายแรกในนครชิคาโกเมื่อ 31 มกราคม โดยสามีซึ่งมีประวัติเดินทางไปยังนครอู่ฮั่น ศูนย์กลางการระบาดในขณะนั้น เป็นพาหะนำเชื้อมาติดภรรยา ในช่วงเวลานั้น สหรัฐฯ ยังไม่ได้มีมาตรการรับมือการแพร่ระบาดภายในประเทศ มีเพียงมาตรการอพยพคนอเมริกันกลับบ้าน และออกคำเตือนพลเมืองอเมริกันให้งดเดินทางไปจีน ขณะที่จีนมีผู้ติดเชื้อราว 6,000 ราย
ต่อมาในวันที่ 12 มีนาคม เมื่อการณ์ปรากฏว่า ยุโรปเริ่มกลายเป็นศูนย์กลางการระบาดแทนที่จีน องค์การอนามัยโลกประกาศให้โควิด-19 เป็นภาวการณ์โรคระบาดในระดับโลก รัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์สั่งให้ระงับการเดินทางจากยุโรปเข้าสหรัฐฯ เป็นเวลา 30 วัน พร้อมกับขอความร่วมมือกลุ่มผู้สูงอายุให้หลีกเลี่ยงการเดินทางภายในประเทศโดยไม่มีเหตุจำเป็น ขณะที่กระทรวงต่างประเทศออกคำเตือนพลเมืองอเมริกัน ขอให้งดเว้นการเดินทางไปต่างประเทศ ตอนนั้นในสหรัฐฯ มีผู้เสียชีวิต 32 ราย มีผู้ติดเชื้อราว 1,100 คน
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อ ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาพูดว่า “ประเทศเรามีคนติดเชื้อนิดเดียว แค่ห้าราย เราคิดว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างสวยงาม” (“We have little in this country at this moment. Five (cases) We think it’s going to have a very good ending for us.”)
ท้องถิ่นประกาศมาตรการเฉพาะเขต
ด้วยเหตุที่ระบบการปกครองแบบสหพันธรัฐเน้นการกระจายอำนาจ มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดโดยตรงอย่างแรกๆ ที่ประกาศใช้ในสหรัฐฯ จึงมาจากรัฐบาลท้องถิ่น เป้าหมายหลักก็คือ ทำให้เกิดการเว้นระยะห่างทางสังคม และทำให้ผู้คนอยู่แต่ภายในบ้าน
ในวันที่ 12 มีนาคม มหานครนิวยอร์ก ซึ่งพบผู้ติดเชื้ออันดับต้นของประเทศ ประกาศปิดโรงละครบรอดเวย์ และสถานที่สาธารณะทุกแห่งที่มีคนไปรวมตัวกันเกินกว่า 500 คน แต่ตอนนั้นยังไม่ปิดโรงเรียนและสถานเลี้ยงเด็ก ขณะที่สถานบันเทิงและพิพิธภัณฑ์หลายแห่งประกาศปิดทำการเช่นกัน
นับแต่กลางเดือนมีนาคม บรรดาเขตปกครองท้องถิ่นและมลรัฐต่างๆ ทยอยออกคำสั่งให้ประชาชนอยู่กับบ้าน แคลิฟอร์เนียเป็นแห่งแรกที่ประกาศคำสั่งนี้ครอบคลุมทั่วทั้งมลรัฐเมื่อวันที่ 19 มี.ค. ตามด้วยมลรัฐนิวยอร์ก อิลลินอยส์ คอนเนกทิคัต นิวเจอร์ซีย์ และอีกหลายมลรัฐ
คำสั่งเหล่านี้มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน คือ ให้คนทำงานที่บ้าน ปิดร้านรวงที่ไม่มีความจำเป็นแก่การยังชีพ พนักงานลูกจ้างในกิจการที่ไม่จำเป็น ขอให้ทำงานที่บ้าน
ในวันที่ 17 มีนาคม ทรัมป์แถลงที่ทำเนียบขาว ขอความร่วมมือให้ชาวอเมริกันงดกิจกรรมที่มีการรวมตัวเกินกว่า 10 คนขึ้นไป เวลานั้น สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อกว่า 4,200 คน มีผู้เสียชีวิต 74 ราย
ถัดมาอีก 10 วัน สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อแซงหน้าจีนกับอิตาลีด้วยยอดรวมกว่า 83,000 ราย โดยมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 1,200 ราย
‘ทรัมป์’ กลับลำ แต่สายเกินไป
ย้อนไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม ขณะที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อกำลังพุ่งทำสถิติใหม่แทบเป็นรายวัน ประธานาธิบดีทรัมป์กลับพูดจาแสดงความประสงค์ว่า อยากให้ประเทศกลับมาเปิดทำการตามปกติให้ได้ในช่วงวันอีสเตอร์ 12 เมษายน พร้อมกับบอกว่า มาตรการอยู่กับบ้านทำให้เศรษฐกิจเสียหาย
แต่พอถึงวันที่ 29 มีนาคม ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 24 ชั่วโมงจำนวน 18,000 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็นกว่า 140,000 ราย ทรัมป์กลับลำด้วยการประกาศว่า คำแนะนำให้ประชาชนอยู่กับบ้านจะใช้ต่อไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน พร้อมกับบอกประชาชนว่า สหรัฐฯ จะมีอัตราผู้เสียชีวิตพุ่งสูงสุดในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า
ประโยคหลังนี้ ทรัมป์ไม่ได้พูดเองลอยๆ ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติ ดร.แอนโธนี ฟาวซี ซึ่งเป็นแม่งานควบคุมการระบาดระดับประเทศ บอกว่า โควิด-19 อาจคร่าชีวิตชาวอเมริกันราว 100,000-200,000 รายหากว่ามาตรการเว้นระยะห่างใช้ไม่ได้ผล
จนถึงวันพฤหัสฯ (2 เมษายน) มลรัฐต่างๆ 39 มลรัฐ รวมถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ออกคำสั่งห้ามคนออกนอกบ้าน เว้นแต่กรณีจำเป็น ซึ่งครอบคลุมประชากร 80% ของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลกลางยังไม่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั่วประเทศ ทรัมป์บอกว่า เขาไม่เห็นความจำเป็นที่จะออกคำสั่งแบบนั้น
ทำไมอเมริกาพ่ายไวรัส
รายงานของนิวยอร์กไทมส์ ชี้ว่า เหตุที่สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับหนึ่งของโลกนั้น เป็นเพราะมลรัฐต่างๆ บังคับใช้มาตรการเข้มอ่อนหนักเบาผิดแผกกัน ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์ส่งสัญญาณผิดๆ เกี่ยวกับความรุนแรงของการระบาด การรับมือไวรัสของผู้นำเขตปกครองในระดับต่างๆ จึงไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
มองในแง่ความพร้อมด้านสาธารณสุขก็มีปัญหา รายงานของเจแปนไทมส์ บอกว่า ชุดตรวจหาเชื้อมีไม่พอสำหรับท้องถิ่น ครั้นมลรัฐและหน่วยปกครองท้องถิ่นจะพัฒนาชุดตรวจขึ้นเองก็ติดขัดกฎระเบียบ ท้องถิ่นต้องเก็บตัวอย่างส่งไปหาเชื้อที่สำนักงานใหญ่ของศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของรัฐบาลกลางที่นครซีแอตเติล
นั่นทำให้การตรวจและการติดตามตัวผู้เข้าข่ายติดเชื้อทำได้ล่าช้า รัฐบาลกลางเพิ่งผ่อนคลายกฎระเบียบเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแรกที่มีผู้เสียชีวิต และเป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนหลังพบผู้ติดเชื้อรายแรก.
อ้างอิง:
ภาพ: Jim Watson/Pool via REUTERS
Tags: สหรัฐอเมริกา, โควิด-19