ศาลอาญายกฟ้องคดีคนอยากเลือกตั้ง เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่องห้ามการชุมนุมไปก่อนหน้าแล้ว ศาลอาญาบอกด้วยว่า การชุมนุมเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งถือเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ ส่วนการเรียกร้องให้ตรวจสอบเรื่องการไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินในกรณียืมนาฬิกาเพื่อนนั้นไม่ผิด ไม่เข้าข่ายมาตรา 116 เรื่องการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง
ในคดีนี้ อัยการคดีอาญา 5 เป็นโจทก์ฟ้องแกนนำคนอยากเลือกตั้งทั้งหมด 6 คน ได้แก่ สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, กาณฑ์ พงษ์ประภาพันธ์, อานนท์ นำภา, ณัฏฐา มหัทธนา, สุกฤษฏิ์ เพียรสุวรรณ และ ชลธิชา แจ้งเร็ว (เรียกชื่อย่อกันในนาม RDN50) โดยตั้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 เรื่องการห้ามชุมนุม และความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116
ทั้งนี้ เนื่องจากหัวหน้าคสช.มีคำสั่งที่ 22/2561 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 เป็นกรณีการบัญญัติของกฎหมายขึ้นในภายหลัง ซึ่งเมื่อมีกฎหมายยกเลิกความผิด ให้ถือตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 2 วรรค 2 ประมวลวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(5) จำหน่ายคดีความผิดตามคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 ออกจากสารบบความ
ศาลอ่านคำพิพากษา โดยพิเคราะห์พยานหลักฐานซึ่งเป็นคำถอดเทปที่จำเลยพูดขณะเกิดเหตุ ไม่ปรากฎว่ามีการใช้ถ้อยคำหยาบคายหรือที่จะสร้างความรุนแรง และไม่ได้ทำร้ายเจ้าหน้าที่ ขณะที่การชุมนุมมีเป้าหมายเดียวคือการเรียกร้องให้รัฐบาลและหัวหน้าคสช. จัดการเลือกตั้ง ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 หลังจากที่เลื่อนเลือกตั้งมาหลายครั้ง โดยการเรียกร้องนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ ซึ่งหัวหน้าคสช. ก็ประกาศจะให้มีการเลือกตั้ง ดังนั้นการกระทำของจำเลยที่ 1-6 จึงเป็นไปตามความมุ่งหมายของกระบวนการประชาธิปไตย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่จำเลยพูดถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เกี่ยวกับการตรวจสอบเรื่องยืมนาฬิกาเพื่อนมานั้น ก็ปรากฎว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนรับทราบและรับรู้อยู่เป็นการทั่วไปอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ติชมโดยสุจริต ตามหลักประชาธิปไตย การกระทำของจำเลยที่ 1-6 จึงไม่เป็นความผิด ตามมาตรา 116 พิพากษายกฟ้อง
สำหรับคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2562 บริเวณข้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน โดยมีการแยกคดีของแกนนำและผู้ชุมนุมเป็นสองคดี ในส่วนคดีของผู้ชุมนุม อัยการได้ถอนฟ้องจำเลยทั้ง 43 คน เนื่องจากคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองได้ถูกยกเลิกไปแล้ว
รายละเอียดคำฟ้องในคดีนี้ ระบุว่า จำเลยร่วมกันมั่วสุมและชุมนุมทางการเมือง และร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาหนังสือและวิธีการอื่นใด และร่วมกันใช้รถยนต์ติดเครื่องขยายเสียงเป็นเวที ด้านข้างของตัวรถยนต์ได้ติดป้ายโจมตีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และร่วมกันปราศรัยโจมตีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ คณะรัฐบาล คณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยร่วมกันปลุกระดมมวลชนให้เกิดการชุมนุมขับไล่รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2561 พร้อมกับการชูสามนิ้ว (นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง) บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และถนนราชดำเนินอันเป็นการแสดงเชิงสัญลักษณ์ในทางการเมืองต่อต้านรัฐบาลที่บริหารประเทศอยู่ในขณะนั้น อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนที่พบเห็นเข้าใจว่า รัฐบาลและทหารจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งก่อให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบกับรัฐบาล และเป็นการยุยงปลุกปั่นสร้างความแตกแยกระหว่างประชาชนที่เห็นต่างกับรัฐบาล
การฟังคำพิพากษาในวันนี้ มีตัวแทนจากสถานทูตเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีด้วยประมาณ 4 คน นอกจากนี้ ในคดีนี้ยังมี รังสิมันต์ โรม เป็นจำเลยร่วม แต่เนื่องจากปัจจุปัน รังสิมันต์ปฎิบัติหน้าที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคอนาคตใหม่ ศาลจึงให้แยกคดีออกไป และเลื่อนการสืบพยานคดีออกไปเป็นปีหน้า
Tags: ชุมนุม, RDN50, คนอยากเลือกตั้ง