รัฐประหาร 19 กันยาฯ คือการจำลองการเมืองแบบ ‘ป๋าเปรม’ ที่ผลลัพธ์คือความล้มเหลว
วันนี้เมื่อ 15 ปีที่แล้ว (19 กันยายน 2549) คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) มีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งในเวลานั้นอยู่ระหว่างการประชุมสหประชาชาติ ที่นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา
ในแง่หนึ่ง การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 จะถูกวิจารณ์ว่าเป็น ‘รัฐประหารเสียของ’ แต่จุดเปลี่ยนทางการเมืองในครั้งนั้นกลับส่งต่อความขัดแย้งทางการเมืองมาถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะผ่านรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งเป็นต้นกำเนิด 2560 หรือการส่งผ่านระบอบ ‘ทหารเป็นใหญ่’ ในยุคที่ทุกคนคิดว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องล้าหลัง และเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว
The Momentum ทบทวนความหลังรัฐประหาร 15 ปี กับ ศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และอาจารย์กลุ่ม ‘มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน’
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 คุณอยู่ไหน และทำอะไรอยู่
19 กันยายน วันที่มีรัฐประหาร ตอนนั้นมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนประชุมกันอยู่ และออกแถลงการณ์เพื่อประณามการรัฐประหาร แต่ตอนนั้นที่ประชุมก็พูดทำนองว่า ‘โอเค เราคงจะต้องอยู่กับมัน’ ดังนั้นแถลงการณ์ที่ออกมาจึงค่อนข้างเบามากๆ เพราะตอนนั้นเรายังมีความสับสนกันอยู่ 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งเราปฏิเสธคุณทักษิณ เพราะเขาเองก็มีนโยบายจำนวนหนึ่งที่เรามองว่ามันล้ำเส้นประชาธิปไตย นอกจากนี้ยังมีกรณีสังหารต่างๆ ที่ภาคใต้ และการฆ่าตัดตอนกลุ่มคนค้ายาเสพติด ดังนั้นพวกเราจึงกลายเป็นกลุ่มที่ถูกประณามว่าเป็นพวก 2 ไม่เอา คือไม่เอาทั้งทักษิณและไม่เอารัฐประหาร นี่คือสิ่งที่พวกเราทำกันช่วงนั้น
หากพูดในเชิงประวัติศาสตร์ คุณมองว่ารัฐประหารครั้งนี้เปลี่ยนอะไรบ้าง และทำให้เห็นภาพอะไรชัดขึ้น
กรณีการขึ้นมามีอำนาจของทักษิณ ตั้งแต่ปี 2540 กว่าๆ สิ่งที่เขาทำมันได้เขย่าระบบการเชื่อมต่อ หรือระบบเครือข่ายชนชั้นนำ การเขย่าระบบเครือข่ายชนชั้นนำทั้งหลายจึงส่งผลให้กลุ่มชนชั้นนำสามัคคีชุมนุมกันเพื่อเอาทักษิณออกจากตำแหน่ง และต้องการสถาปนาระบอบเดิม หรือรักษาระบอบเดิมไว้ คือกลุ่มทุนใหญ่ กลุ่มข้าราชการ กลุ่มพรรคการเมือง ที่ดุลอำนาจกันโดยมี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นั่งอยู่ข้างบน
การรัฐประหารปี 2549 จึงเป็นการยึดอำนาจเพื่อหวนกลับไปสู่ระบบเดิมแต่ล้มเหลวเรื่อยมา จนมาถึงการรัฐประหาร คสช. ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ่งที่เราเห็นคือการรัฐประหารครั้งนี้มีความพยายามที่จะกลับไปสู่ยุคของป๋าเปรม คือการให้คนดีครองบ้านครองเมืองโดยที่ลอยเหนือจากพรรคการเมือง แต่ขณะเดียวกัน กลับเป็นคนถ่วงดุลประสานงานระหว่าง 3 กลุ่มใหญ่คือ
-
กลุ่มทุน
-
กลุ่มข้าราชการโดยเฉพาะทหารและพรรคการเมือง นี่คือภาพของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่พลเอกประยุทธ์ดำเนินมา ดังนั้นสิ่งที่น่าตกใจคือ ชนชั้นนำไทยพยายามจะสร้างโมเดลนี้ขึ้นมาอีก โดยเขาคิดว่านี่คือรูปแบบที่เหมาะที่สุดในสังคมไทย
ดังนั้นการรัฐประหารปี 2549 จึงเป็นจุดเริ่มต้นนำมาสู่รัฐธรรมนูญ 2560 ดังที่เราเห็นนายกไม่จำเป็นต้องมีสังกัดพรรคการเมือง แต่กลับมีพรรคการเมืองสนับสนุน มีคนจัดการพรรคให้ ในขณะที่ตัวเองก็เป็นคนดีลกับระบบข้าราชการ ขณะเดียวกัน ระบบข้าราชการและกลุ่มทุนก็สนับสนุนอีกที นี่จึงเหมือนโมเดลที่ทำให้เราย้อนกลับไป หรือพยายามจำลองภาพอุดมคติช่วงสมัยพลเอกเปรม
คุณเป็นหนึ่งในคนที่ต่อต้านคุณทักษิณ พอหลังจากรัฐประหาร 19 กันยายน ผ่านมา 15 ปี แง่มุมต่อคุณทักษิณเปลี่ยนไปไหม
สำหรับตัวคุณทักษิณเองผมไม่เปลี่ยน ผมมองว่าคุณทักษิณคือผู้ที่สามารถแสวงหาโอกาสเพื่อเอาประโยชน์ให้ตัวเอง โดยสามารถมองสถานการณ์ออก ผมพูดกับเพื่อนหลายคนว่า ทักษิณมีโอกาสได้เป็นรัฐบุรุษ แต่เขาก็ทำลายโอกาสนั้นไปแล้ว
ผมไม่เคยฟังคลับเฮาส์ของโทนี แต่ก็มาตามอ่านหนังสือพิมพ์บ้าง ก็เห็นตอนมีคนถามเกี่ยวกับเรื่องปักษ์ใต้ ตากใบ แต่สิ่งที่เขาตอบคือ ‘จำไม่ได้’ ผมเสียใจ ผมมองว่าการตอบแบบนี้มันไม่ได้นี่ยังไม่รวมกรณีฆ่าตัดตอนอีก ผมพูดแบบนี้อาจจะโดนคนที่ศรัทธาทักษิณด่าเอาได้
หากเรายังคิดถึงทักษิณในแง่ความเป็นฮีโร่ เป็นบุรุษขี่ม้าขาว ผมว่าเราพลาด ส่วนตัวคิดว่าเราต้องมาช่วยกันสร้างพลังทางสังคม สร้างฮีโร่ให้มันหลากหลายมากขึ้น เพื่อช่วยกันประคับประครองสังคมไทย ผมไม่คิดว่าทักษิณจะเข้ามาแก้ไขปัญหาอะไรได้ จะบอกว่าผมอคติก็ได้ แต่ผมไม่ไว้ใจเขา
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผมก็ไม่ปฏิเสธว่ารัฐบาลของทักษิณเรื่องข้อเสนอ 30 บาทรักษาทุกโรคนี่สำคัญมากๆ ผมเคยเขียนบทความถึงรัฐบาลสมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อให้เขาบอกสังคมว่า 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นการขยายตัวของรัฐในการให้บริการประชาชน เพื่อลบคำว่า 30 บาทของทักษิณออกไป เพราะมันไม่ใช่ของทักษิณ มันเป็นเพียงการขยายตัวของรัฐที่ไม่ว่าใครขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำ
แต่พรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้นกลับดึงกลับมาว่าอภิสิทธิ์จะทำให้ดีกว่า ผมคิดว่าถ้าไปสู้กับแบรนด์ออริจินัลมันสู้ไม่ได้อยู่แล้ว ขอย้ำอีกรอบว่า โดยรวมการทำงานของรัฐบาลทักษิณผมคิดว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายมากๆ แต่นั่นแหละ ผมก็อคติอีกว่ามันไม่ใช่ผลงานของทักษิณ แต่เขาฉลาดที่จะหยิบมันมาใช้ประโยชน์ผ่านนายแพทย์ สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ (ผู้ริเริ่มนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค)
การเคลื่อนไหวเรียกร้องการ ‘ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์’ เกี่ยวเนื่องกับการรัฐประหาร 2549 ครั้งนี้หรือไม่
การเคลื่อนไหวของเยาวชนทุกกลุ่มที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันเป็นปฏิกิริยาต่อต้านต่อระบบประยุทธ์ หรือชนชั้นนำที่สถาปนาตัวเองขึ้นมา ผมมองว่าเยาวชนอาจจะต้องนับคนอายุ 30 ปีลงมาด้วย คนกลุ่มนี้เติบโตอยากมีทางเดินเป็นของตัวเอง ในขณะเดียวกัน โมเดลนี้กลับไม่เปิดทางให้เขามีสิทธิ์มีเสียงหรือมีทางเดินได้ นี่จึงเป็นปฏิกิริยาตอบโต้ต่อโครงสร้างทางการเมืองที่คนชนชั้นนำต้องการจรรโลงเอาไว้
ผมคิดว่าคนกลุ่มนี้มีจำนวนหลักล้านอาจจะ 10 ล้านด้วยซ้ำไป เขาเริ่มนึกถึงสิ่งที่ต้องจัดระบบ หรือต้องจัดความสัมพันธ์ทางสังคมกันใหม่ สิ่งที่เราสามารถเห็นได้ชัดคือการเปลี่ยนคำบางคำของคนรุ่นใหม่เช่น ‘สัมมาคารวะ’ ก็ถูกเปลี่ยนเป็นสัมมาคาราโอเกะ สัมมาคาราเมล ซึ่งผมฟังครั้งแรกแล้วรู้สึกว่า เออ กูเข้าใจมึงเลย มันไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาสัมมาคารวะกัน แต่มันคือเรื่องความเท่าเทียมอย่างอื่น พวกนี้คือปฏิกิริยาตอบโต้กับระบอบที่ทำให้เขาเหล่านี้ไม่สามารถมีพื้นที่ทางสังคมได้
จริงๆ แล้วสังคมไทยคือสังคมที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ความเป็นไทยมันอยู่ตรงนี้ ถ้าผู้น้อยมีสัมมาคารวะ ผู้ใหญ่ก็จะเมตตา มันหมดยุคแล้ว ผมกำลังอยากเตือนชนชั้นนำว่า นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ลึกซึ้งมาก มันไม่ใช่ความเปลี่ยนแปลงที่จำกัดแคบๆ ของวัยรุ่น แต่นี่เป็น Emotional regimes ที่ครอบสังคมไทย อย่างน้อยก็คนในระดับกลางลงมา
เรื่อง: พาฝัน หน่อแก้ว
ภาพ: วงศกร ยี่ดวง