การประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 หรือ COP26 กำลังจะเปิดฉากขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ตุลาคม ถึง 12 พฤศจิกายนนี้ ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ ท่ามกลางความสนใจจากทั่วโลกว่าบรรดาผู้นำทั้ง 120 ประเทศจะแก้ไขปัญหาโลกร้อนที่เข้าขั้นวิกฤตอย่างไร หลังจากเลื่อนจัดการประชุมมานานกว่าหนึ่งปี เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจของ COP26 นอกจากเป็นความเคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศครั้งสำคัญที่สุด เมนูอาหารที่เสิร์ฟให้ผู้แทนและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทั่วโลกกว่า 25,000 คน ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะอาหารทั้งหมดมีพืชพื้นถิ่นของสกอตแลนด์เป็นวัถตุดิบหลักถึง 80 เปอร์เซ็นต์ 

นอกจากนี้ยังคำนึงการการปล่อยคาร์บอนไดออกไซน์ ตั้งแต่กระบวนการเพาะปลูกจนถึงการประกอบอาหารภายในงาน ไม่ว่าจะการเลือกใช้สาหร่ายทะเลจากแบรนด์ Mara Seaweed ที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ไม่ต้องใช้น้ำจืด และดินในการเจริญเติบโต หรือใช้แครอตและมันฝรั่งจากแบรนด์ Benzies ที่ใช้กังหันลมเพื่อจ่ายพลังงานภายในฟาร์ม และรีไซเคิลน้ำที่ใช้ด้วย

สำหรับเมนูอาหารแต่ละรายการ มีตั้งแต่ซุปที่ทำมาจากมันฝรั่ง ต้นหอม และโรสแมรี ลาซานญาฟักทองเทศ พาสตาผัก เบอร์เกอร์เห็ดเสิร์ฟพร้อมซอสมาโยมะเขือเทศ ฯลฯ พร้อมติดข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนเอาไว้ด้วย เพื่อช่วยให้ผู้เข้าร่วมงานตัดสินใจเลือกว่าจะทานเมนูใดที่เป็นมิตรต่อสภาพอากาศมากที่สุด เพราะบางเมนูอย่างเบอร์เกอร์เนื้อสกอต ที่ทำมาจากผักจำพวกราก (Root Vegetables) และข้าวโอ๊ตผสมกัน ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากกว่า 16 เท่า เมื่อเทียบกับเบอร์เกอร์เห็ด 

เจนนิเฟอร์ โมลิดอร์ (Jennifer Molidor) นักรณรงค์ด้านอาหารอาวุโสที่ Center for Biological Diversity องค์กรปกป้องสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เผยว่าเมนูส่วนใหญ่เป็นการปรับปรุงจากเมนูเดิมในปีก่อนๆ ให้ดีขึ้น เพราะการมีผู้เข้าร่วมมากถึง 25,000 คน เมนูที่คัดสรรมาเสิร์ฟอาจสร้างปัญหามากกว่าที่คิด จากการศึกษาในปี 2018 พบว่าเมนูของ COP24 อาจปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่ากับการเผาไหม้เชื้อเพลิงน้ำมันเบนซิน 5 แสนแกลลอน ถ้าผู้เข้าร่วมทั้งหมดเลือกทานอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์ 

Youngo เครือข่ายเยาวชนที่เคลื่อนไหวด้านสภาพอากาศ จึงจัดแคมเปญกดดันให้ผู้จัดงาน COP เสิร์ฟอาหารจากพืช 100 เปอร์เซ็นต์ และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 100 แห่ง เช่น Greenpeace, 50by40 และ International Student Environmental Coalition

ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาว่าทำไม COP26 ถึงได้หันมาเสิร์ฟเมนูจากพืชเกือบจะ 100% ทั้งยังพยายามลดขยะด้วยการเสิร์ฟเครื่องดื่มร้อนในถ้วยที่นำกลับมาล้างเพื่อใช้ซ้ำได้ถึง 1,000 ครั้ง และเลือกวัตถุดิบที่สามารถนำกลับไปประกอบอาหารมื้ออื่นๆ ต่อได้หากยังไม่ได้รับประทาน

นาตาลี รีส์ (Natalie Rees) ผู้จัดงาน Conference of Youth ประจำปี 2021 แสดงความคิดเห็นว่า การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ได้พิสูจน์แล้วว่าทางเลือกเหล่านี้สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การใช้น้ำ และระยะทางที่อาหารถูกขนส่งจากแหล่งผลิตจนถึงผู้บริโภคได้อย่างมาก การจัดเลี้ยงลักษณะนี้ภายใต้เหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมและจริยธรรมนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าข้อเรียกร้องถูกนำไปปฏิบัติใช้โดยตรง 

ที่มา: 

https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-10-22/un-s-climate-gathering-in-glasgow-features-plant-forward-menu

https://www.theguardian.com/environment/2021/oct/23/cop26-menu-plant-based-dishes-scottish-food

Tags: , , ,