ในงานแถลงข่าวรณรงค์ ชีวิตวิถีใหม่ สงกรานต์ดื่มไม่ขับ คิดถึง…กลับให้ถึงอย่างปลอดภัย ซึ่งจัดขึ้นโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กับสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) พร้อมภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีประเด็นสำคัญคือเรื่องของอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับขี่บนท้องถนนอย่างประมาทในช่วง 7 วันอันตราย ของเทศกาลสงกรานต์ปีที่ผ่านๆ มา
สถิติช่วง 3 ปีหลัง จากทาง สคอ. เริ่มตั้งแต่ปี 2561 พบว่ามีการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทั้งหมด 3,724 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,897 ราย และเสียชีวิต 418 ราย ต่อมาในปี 2562 เกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 3,338 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 3,442 ราย และเสียชีวิต 386 ราย
ส่วนปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งต้องงดจัดเทศกาลสงกรานต์ด้วยสาเหตุการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ก็ยังมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตอยู่เนืองๆ โดยเกิดอุบัติเหตุทั้งหมด 1,307 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 1,260 ราย และเสียชีวิต 167 ราย กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ตรวจพบเจอปริมาณแอลกอฮอล์ปริมาณมากในตัวผู้ขับขี่
การพูดคุยในวงเสวนาพูดถึงประเด็นน่าสนใจต่างๆ ได้แก่ บทบาท สสส. กับความปลอดภัยทางถนน ร่วมหนุนการแก้ไขอุบัติเหตุ โดย รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส., การเตรียมพร้อมรับมือสงกรานต์ยุคโควิด ‘ด่านชุมชนสกัดคนดื่ม’ โดย สุรินทร์ หอมชื่นใจ กำนันตำบลแสลงพัน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี, เยาวชนคนรุ่นใหม่ ‘ไม่ดื่ม-ไม่แว้น’ สนุกได้ปลอดภัยด้วย โดย พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย และการสร้างกระแสขับขี่ปลอดภัย ดื่มไม่ขับ แนะเตรียมพร้อมก่อนเดินทาง โดย พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการ สคอ.
รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. พูดถึงการทำงานของ สสส. ในช่วงหยุดยาวสงกรานต์ปี 2564 นี้ ซึ่งบรรดาประชาชนจะเริ่มทยอยออกเดินทางกลับภูมิลำเนากันตั้งแต่วันที่ 9-15 เมษายน เป็นจำนวนมาก หลังปีที่แล้ว สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เป็นที่น่าจับตามองและเฝ้าระวังถึงอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นสูงตามไป ด้วยพฤติกรรมเสี่ยงทั้ง ดื่มแล้วขับ, ไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันนิรภัย, ขับขี่เร็วเกินกว่ากำหนด แม้แต่ประเด็นเรื่องของการ ‘หลับใน’ เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอก็เช่นกัน
รุ่งอรุณให้ข้อมูลว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ล้วนแวะดื่มสังสรรค์ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติในหน้าเทศกาล ด้วยสาเหตุนี้ ทำให้ผู้ขับขี่มีสติสัมปชัญญะลดน้อยลง รวมถึงปราศจากการสวมอุปกรณ์นิรภัย ฉะนั้น หากมีการดื่มสังสรรค์ควรงดขับขี่เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทั้งต่อตนเองและผู้อื่น ส่วนถ้าหากไม่ได้ดื่มสังสรรค์ก็ควรใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ซึ่งเป็นความเร็วมาตรฐานปลอดภัยมากที่สุด โดยเฉพาะในเขตชุมชนขนาดเล็ก
ด้าน พรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการ สคอ. ได้ให้การเน้นย้ำในส่วนของแนวทางปฏิบัติของผู้ใช้รถยนต์ส่วนตัวช่วงเทศกาลสงกรานต์เช่นกัน แต่เพิ่มส่วนของข้อมูลความเข้าใจแก่ผู้ใช้รถที่ไม่ได้เดินทางไกลให้มีการเตรียมพร้อมตรวจเช็คสภาพรถให้เรียบร้อย และโทษของการดื่มแล้วขับ อีกทั้งยังเน้นเรื่องของการใช้ชีวิตวิถีใหม่แบบ ‘นิวนอร์มอล’ ไม่พาตัวเองไปยังพื้นที่เสี่ยง สวมใส่หน้ากากอนามัย พกเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เพื่อลดโอกาสการแพร่เชื้อกลับไปสู่ครอบครัวที่ภูมิลำเนาอื่น
อายุเฉลี่ยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่เกิดบนท้องถนนคือ 15-19 ปี ฟังดูแล้วอาจจะดูน่าตกใจกับสถิตินี้ ที่สามารถพูดได้เต็มปากว่าผู้ขับขี่เป็นเยาวชน ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และยังไม่สามารถขออนุญาตทำใบขับขี่ได้เลย ซึ่งพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า เยาวชนในยุคนี้สามารถเข้าถึงต่อการใช้งานรถจักรยานยนต์ได้ง่าย โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ที่จำเป็นต่อการสัญจรไปมาในชีวิตประจำวัน
ช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2562 สคอ. ระบุไว้ว่า เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 26.2 เคยเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ลื่นล้มไถล และกว่าร้อยละ 9.4 ถูกเฉี่ยวชนขณะขับขี่จักรยานยนต์ โดยร้อยละ 5.4 ถึงขั้นบาดเจ็บสาหัส สาเหตุที่มาของสถิติมาจากการขับขี่ด้วยความคะนึกคะนอง ขาดความเข้าใจในการใช้รถใช้ถนน ไม่สวมอุปกรณ์ป้องกันนิรภัย จนถึงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ฉะนั้นแล้ว การร่วมส่งต่อความรู้ความเข้าใจให้แก่เยาวชนต่อประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ ที่เมื่อเข้าถึงสังคมวัยรุ่น หากมีการบอกต่อกันในกลุ่มเพื่อน รุ่นพี่ ให้ตระหนักจนเกิดการป้องกันเป็นพฤติกรรมเลียนแบบ ย่อมส่งผลดีต่อตัวเยาวชนและทุกฝ่าย ไปจนถึงการร่วมปรับเปลี่ยนวัตถุอุปกรณ์ป้องกันให้เป็นไปตามยุคตามสมัย เช่น หมวกกันน็อกที่ดูธรรมดา หากให้เยาวชนได้ลงมือใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกแบบย่อมทำให้พวกเขาหันมาสนใจสวมใส่กันมากยิ่งขึ้น
สุดท้ายกับประเด็นการ ‘ตั้งด่านชุมชน’ ที่สุรินทร์ หอมชื่นใจ กำนันตำบลแสลงพัน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี เป็นโมเดลต้นแบบต่อพื้นที่จังหวัดอื่นๆ โดยจัดตั้งทีม ‘อสม.’ (อาสาสมัครชุมชน) คอยสกัดกั้นคัดกรองผู้ใช้รถในพื้นที่เสี่ยงทั้ง 3 จุดของจังหวัดสระบุรี โดยมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ให้คำแนะนำ หากพบว่าผู้ขับขี่มีอาการมึนเมา สภาพไม่พร้อม จะถูกห้ามขับขี่พร้อมคาดโทษ และให้ญาติมารับกลับบ้านทันที เพื่อลดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุทั้งต่อตนเองและผู้อื่น อีกทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าวสารประจำชุมชนให้ตระหนักถึงอันตรายอันเกิดจากพฤติกรรมประมาทในการขับขี่
หลังจากจบการแถลงข่าว The Momentum ได้มีโอกาสพูดคุยเพิ่มเติมกับรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคมของ สสส. ในเรื่องเป้าหมายและความคาดหวังที่จะลดอุบัติเหตุช่วงสงกรานต์ในปีนี้
“ช่วงสงกรานต์ปีที่แล้ว เนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ สั่งห้ามงดจำหน่ายสุรา ส่งผลให้อุบัติเหตุบนท้องถนนลดน้อยลง แต่ปีนี้ ประชาชนมีความพร้อมมากยิ่งขึ้นกับการเตรียมตัวกลับภูมิลำเนาช่วงหยุดยาว ทำให้ปริมาณการใช้รถใช้ถนนเพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น เรื่องของการรณรงค์ระมัดระวังการใช้รถใช้ถนนจึงเป็นสิ่งที่ สสส. ต้องทำควบคู่ไปกับการระวังเรื่องของโควิดด้วย
“ส่วนเรื่องของการดื่มสุราอยากให้ทุกท่านดื่มแล้วไม่ขับเพื่อลดอุบัติเหตุ การตั้งวงดื่มสุราก็ขอให้ระมัดระวังตัว ดื่มเฉพาะแก้วของตนเองเพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้อโควิด ส่วนเรื่องของมาตราการลดอุบัติเหตุ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยบนท้องถนนได้สั่งการกระจายกำลังดูแลทั้งถนนสายหลักและถนนสายรอง รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขได้ให้คำแนะนำกับทาง อสม. ในการตั้งจุดคัดกรองผู้ขับขี่ ซึ่งทาง สสส. สามารถนำข้อมูลทางวิชาการมายืนยันได้ว่า หากปราศจากการดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้อย่างแท้จริง”
สุดท้าย รุ่งอรุณได้ฝากถึงประชาชนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ไว้ว่า
“เราขอให้นึกถึงสายใยรักจากคนในครอบครัว ระมัดระวังดูแลตนเอง งดเว้นสถานที่ติดเชื้อ งดเว้นพฤติกรรมเสี่ยง และใช้เวลาอยู่ร่วมกับคนที่เรารัก เชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นเกราะป้องกันภัยชั้นดีให้ทุกๆ คนมีความสุขในช่วงเทศกาลสงกรานต์”
Tags: สสส., Thaihealth, ดื่มไม่ขับ, สงกรานต์ 2564