การเมืองไทยต้องวนกลับมาลุ้นเรื่องศาลรัฐธรรมนูญจะยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองอีกครั้ง โดยในวันนี้ (14 กุมภาพันธ์ 2562) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 0 ให้รับคำร้องที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอให้พิจารณายุบพรรคไทยรักษาชาติ ตามมาตรา 92 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง จากกรณีที่พรรคไทยรักษาชาติเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ ให้เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ถัดจากนี้ พรรคไทยรักษาชาติมีเวลา 7 วันเพื่อยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และศาลรัฐธรรมนูญนัดพิจารณาครั้งต่อไปวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2562
ขณะเดียวกัน เมื่อเช้าวันเดียวกันนี้ จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ และนายณัฐวุฒิ ใสเกื้อ ประธานคณะทำงานรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งพรรค และตัวแทนพรรคอีกหลายคน ร่วมกันนั่งโต๊ะแถลงข่าวร่วมกันว่า ทีมรณรงค์จากส่วนกลางจะหยุดการรณรงค์หาเสียงไปก่อน จนกว่าจะได้ข้อสรุปจากศาลรัฐธรรมนูญ
จาตุรนต์กล่าวว่า พรรคกำลังเผชิญปัญหาที่ต้องการร่วมกันคิดหาวิธีแก้ไข ซึ่งจากข้อกล่าวหาเพื่อยุบพรรคไทยรักษาชาตินั้น ระบุว่า ทางพรรคเป็นปรปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น ทางพรรคจะรอการพิจารณาของศาล ระหว่างนี้จะงดกิจกรรมพบปะประชาชนไปก่อนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน
ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค จะมีผลให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญว่าจะกำหนดระยะเวลาเพิกถอนสิทธินานกี่ปี แต่ถือว่า ห้ามไม่ให้บุคคลเหล่านั้นไปจดทะเบียนพรรคหรือเป็นกรรมการบริหารพรรคใดๆ อีกเป็นเวลา 10 ปี
วิกฤตการเมืองที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โดนศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไปแล้วหลายครั้ง เริ่มจาก
- ยุบพรรคไทยรักไทย ปี 2549 ข้อกล่าวหา เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และกระทำการอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ จากการจ้างพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้ง และปลอมเอกสาร มีผลให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี
- ยุบพรรคพลังประชาชน ปี 2551 ข้อหาทุจริตการเลือกตั้ง มีผลให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี