“แทนที่จะแค่ใช้เป็นหรือใช้แบบตั้งรับ (passive) ถึงเวลาที่เด็กๆ ควรได้เรียนรู้วิธีสั่งให้แท็บเล็ตหรือแล็ปท็อปทำในสิ่งที่พวกเขาต้องการ”

ไคล์ฟ บีล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการศึกษา Raspberry Pi Foundation องค์กรการกุศลในอังกฤษผู้พัฒนาบอร์ดคอมพิวเตอร์จิ๋ว กล่าวถึงบทบาทความสำคัญของการเขียนโค้ด (Coding) ไว้เมื่อปี 2014 ในห้วงเวลาที่สหราชอาณาจักรประกาศปรับหลักสูตรวิชาคอมพิวเตอร์ที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนโดยเริ่มแนะนำให้เด็กรู้จักกระบวนการคิดในทางคอมพิวเตอร์ (Computational Thinking: CT) กันตั้งแต่ระดับ Key Stage 1 (อายุ 5-6 ปี)

“ในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราไม่ได้สอนดนตรีเพื่อให้เด็กทุกคนกลายเป็นนักไวโอลินระดับวงซิมโฟนี เช่นเดียวกัน เราไม่ได้กำลังพยายามทำให้เด็กทุกคนเป็นเลิศทางคอมพิวเตอร์ การบรรจุวิชาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาคือ เรากำลังบอกว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร มันทำงานอย่างไร การทำความเข้าใจมันมีประโยชน์นะ แต่เดี๋ยวก่อน-คุณเองก็อาจเป็นเลิศในเรื่องพวกนี้ได้นะ”

 ทีนี้ลองมาดูกันว่าในระดับ Key Stage 1 ของอังกฤษ ซึ่งหากเทียบด้วยอายุก็จะเท่ากับอนุบาล 3 ถึงประถมฯ 1 ของบ้านเรา เด็กๆ เรียนอะไรกันบ้างในวิชาคอมพิวเตอร์

เมื่อดูขอบเขตของเนื้อหา จะพบว่าเด็กๆ ได้เรียนรู้ว่าอัลกอริธึมคืออะไร ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เสมอไป เมื่ออธิบายถึงชุดคำสั่ง ครูอาจยกตัวอย่างสูตรการทำอาหารจานโปรดของเด็กๆ หรือลำดับกิจกรรมในช่วงเช้าก่อนมาโรงเรียน ฝึกตั้งโจทย์เขียนลำดับการทำงานเพื่อให้บรรลุโจทย์ที่ว่า ฝึกหาข้อบกพร่อง (debugging) เพื่อแก้ไข แล้วจึงค่อยๆ เริ่มรู้จักการใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างจัดระเบียบจัดเก็บ หรือจัดการดิจิทัลคอนเทนต์ต่างๆ ตามที่เด็กต้องการ

เหล่านี้เป็นเรื่องของกระบวนการคิดทั้งสิ้น ทำให้ผู้ที่สนับสนุนการบรรจุการเขียนโค้ดเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาขั้นพื้นฐานมองว่า เรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่งกับเด็กๆ และควรจะให้เริ่มศึกษาพร้อมกับวิชาหลักอื่นๆ เช่นคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์

หากมองการเขียนโค้ดว่าเป็นเรื่องของการใช้สัญลักษณ์ กระบวนการคิดก็ไม่ได้แตกต่างอะไรกับวิชาคณิตศาสตร์ที่เด็กในวัยนี้กำลังเริ่มเรียน เช่นว่า หากมีส้มอยู่ 5 ผลแล้ว เพื่อนให้มาอีก 6 ผล เราจะมีส้มทั้งหมดกี่ผล เด็กป. 1 ก็เรียนรู้แล้วว่าเรื่องส้มๆ นี้เขียนง่ายๆ ได้ว่า 5+6 = 11 และหากเด็กรู้จักภาษาไพทอน เด็กก็จะเข้าใจได้แน่นอนว่า >>> 5+6 ก็จะได้ 11

คนที่สนับสนุนเรื่องนี้มองว่า การแนะนำให้เด็กรู้จักการเขียนโค้ดจะช่วยลดภาพลักษณ์บิดเบี้ยวว่าคอมพิวเตอร์ การเข้ารหัส จนถึงการเขียนโปรแกรม เป็นเรื่องของกีค (geek) หรือเนิร์ด (nerd) เท่านั้น ทั้งขยายพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กว้างไปกว่าการสื่อสาร การเรียนรู้ค้นคว้า หรือความบันเทิง ซึ่งในแง่หนึ่งก็ยังเป็นการใช้เทคโนโลยีในเชิงตั้งรับ

“เด็กทุกวันนี้ยุ่งขิงกับสมาร์ตโฟน แท็บเล็ต และใช้เทคโนโลยีรูปแบบต่างๆ อยู่ตลอดเวลา แต่ยังมีไม่มากที่ใช้มันในการสร้างสรรค์” โรซานน์ อีมาดิ หัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์ของ code.org องค์กรไม่แสวงหากำไรจากซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา กล่าว “การสร้างสรรค์ที่ว่าอาจเป็นเรื่องง่ายๆ เช่น เด็กเขียนโปรแกรมทำเขาวงกตไว้เล่นกับเพื่อนหรือสั่งการหุ่นยนต์ให้เดินหน้าเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา การได้เห็นอย่างเชื่อมโยงว่าโค้ดที่เขาเขียนกลายเป็นจริงได้นั้นจะกลายเป็นประกายความคิดให้เขาสร้างสรรค์ต่อไป”

มูลนิธิ Raspberry Pi เป็นเรี่ยวแรงสำคัญที่ช่วยวางแผนบทเรียนและพัฒนาสื่อการสอนต่างๆ ให้กับโรงเรียนในอังกฤษ โดยเฉพาะระดับประถมฯ ด้วยการคิดโครงงานเสริมการเรียนการสอน อย่างเช่นการติดตั้งกล้องกับที่ให้อาหารนกและให้เด็กๆ ฝึกเขียนโปรแกรมเพื่อโพสต์ภาพนกขณะบินลงมากินอาหารบนแพล็ตฟอร์มออนไลน์โดยตรง

ไคล์ฟ บีลย้ำเสมอว่า กระบวนการคิดในทางคอมพิวเตอร์หรือ CT คือกระบวนการแก้โจทย์ปัญหาแบบหนึ่ง ที่จะช่วยเพิ่มทักษะการคิดและความมั่นใจในการรับมือกับปัญหาปลายเปิดที่ซับซ้อน ทั้งสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อช่วยแก้โจทย์ปัญหาในวิชาการสาขาอื่นๆ ด้วย เขาให้ภาพถึงการบูรณาการการเขียนโค้ดเข้ากับเนื้อหาวิชาอื่นๆ ว่า “เด็กๆ อาจเขียนโปรแกรมเพื่อส่งกล้องขึ้นไปในชั้นบรรยากาศระดับต่ำ ให้มันบันทึกภาพสำหรับโครงงานทางวิทยาศาสตร์ อาจใช้คำนวณผลในวิชาคณิตศาสตร์ ใช้ทำงานศิลปะ เขียนโปรแกรมในวิชาดนตรี หรือกระทั่งวิชาพละ”

ในสหรัฐอเมริกา จากการสำรวจของ Gallup พบว่า โรงเรียนเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่สอนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ (Computer Science) ในแบบที่ให้เด็กรู้จักการเขียนโปรแกรม อย่างไรก็ตาม ด้วยบรรยากาศการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่เข้มแข็งของสหรัฐฯ ตลอดสิบปีที่ผ่านมา มีองค์กรมากมายที่เข้ามาเสริมการเรียนรู้ด้านนี้ให้กับเด็กๆ นับตั้งแต่กลุ่ม Lifelong Kindergarten ปีกด้านการศึกษามูลฐานของ MIT Media Lab ผู้พัฒนา Scratch โปรแกรมเรียนการเขียนโค้ดสำหรับเด็กๆ องค์กรไม่แสวงหากำไรชื่อ code.org ที่ทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงเรียนมาตั้งแต่ปี 2013 และได้รับทุนสนับสนุนจากบรรดายักษ์ใหญ่ในซิลิคอนแวลลีย์ นอกจากนี้ยังมีสตาร์ตอัปในนิวยอร์กซิตี้ชื่อ Codecademy ซึ่งโปรแกรมสอนโค้ดดิ้งของพวกเขาใช้กันแพร่หลายในชั้นเรียนเสริมในโรงเรียนหลายหมื่นแห่งในสหรัฐฯ เป็นที่พึ่งของครูในสหราชอาณาจักร ในเอสโตเนีย และโรงเรียนกว่า 30 แห่งในกรุงบัวโนสไอเรสของอาร์เจนตินา

Scratch ถือเป็นผู้บุกเบิกโปรแกรมสอนการเขียนโปรแกรมแบบ block programming มีลักษณะเหมือนการต่อจิกซอว์หรือเลโกบล็อค โดยบล็อคแต่ละชิ้นมีสีสันที่แตกต่างกัน ซึ่งหมายความถึงรูปแบบการเขียนหรือโครงสร้างของโปรแกรมที่แตกต่างกัน ทำให้ไม่ต้องสนใจกับไวยากรณ์อันซับซ้อนของภาษาโปรแกรมต่างๆ แต่เน้นไปที่การพัฒนาตรรกะและทักษะในการแก้ปัญหาของผู้เรียน เช่น บล็อคสีฟ้าเป็นคำสั่งเรื่อง Motion บล็อคสีม่วงเป็น Look สีชมพูเป็น Sound ในแต่ละบล็อคยังมีคำกำกับที่ตั้งค่าได้แตกต่างกันไปเช่น play sound … for … ถ้าเด็กต้องการให้คาแรกเตอร์ที่กำลังเขียนโค้ดเดินไปข้างหน้า 5 ก้าวแล้วร้องเสียงนกนาน 5 วินาที เด็กก็ต้องนำบล็อคสีฟ้าที่เขียนและตั้งค่าว่า move forward 5 steps มาวางแล้วนำบล็อคสีชมพูมาต่อโดยเลือกและตั้งค่าว่า play sound bird for 5 seconds เป็นต้น จนเมื่อเด็กเคยชินกับโครงสร้างของการเขียนโค้ดและเข้าใจวิธีการแก้ปัญหา ก็จะทำให้สามารถเปลี่ยนไปเขียนโค้ดด้วยภาษาอื่นๆ ได้โดยง่าย การสอนการเขียนโค้ดของ code.org ก็ใช้หลัก block programming นี้เช่นกัน และไม่ได้ใช้สำหรับสอนเด็กๆ เท่านั้น ยังถูกนำไปใช้สอนในระดับมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์

ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา Scratch เพิ่งฉลองครบรอบ 10 ขวบไปหมาดๆ และตลอดสิบปีที่ผ่านมา ชุมชนออนไลน์ของชาว Scratch มีสมาชิกกว่า 18 ล้านรายจากทุกภาคพื้นทวีป มีโครงงานฝีมือเขียนโค้ดของสมาชิกอายุระหว่าง 8-16 ปีแชร์อยู่บนแพล็ตฟอร์มมากว่า 22 ล้านโครงงาน และมีโครงงานใหม่ๆ แชร์เข้ามาราว 30,000 โครงงานต่อวัน นอกจากโปรแกรมสำหรับเด็กโตแล้ว ยังมี ScratchJr เวอร์ชันสำหรับเด็กอายุ 5-7 ปีด้วย

ในการพบปะระหว่างยักษ์ใหญ่วงการไอทีจากซิลิคอนแวลลีย์กับประธานาธิบดีโดนัลด์ทรัมป์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทิม คุก ซีอีโอของแอปเปิล บอกทรัมป์แบบเสียงดังฟังชัดว่า “โรงเรียนรัฐทุกโรงเรียนควรมีการเรียนการสอนโค้ดดิ้ง”

ฮาดิ ปาร์โตวี ผู้ก่อตั้ง code.org เห็นด้วยกับเรื่องนี้สุดทาง ถึงขั้นกล่าวว่า ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีเช่นทุกวันนี้ เราควรให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เทียบเท่ากับการอ่านการเขียนและคณิตศาสตร์ “การเข้ารหัส (Encryption) ควรเป็นเรื่องพื้นฐานที่เด็กๆ ต้องเรียน เหมือนเรื่องการสังเคราะห์แสง”

เราไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องกับพวกเขาไปเสียทั้งหมด เพราะถึงที่สุด code.org ก็รับเงินสนับสนุนจากซิลิคอนแวลลีย์ และทิม คุก ก็อาจพูดเช่นนั้นด้วยความขัดอกขัดใจกับประสิทธิภาพความคิดสร้างสรรค์ของแรงงานไอทีในสหรัฐอเมริกา

แต่เมื่อถอยกลับมามอง เราย่อมพบว่าสูตรอาหารที่เราเรียนรู้และทำกับข้าวกันอยู่ก้นครัว ก็ถือเป็นอัลกอริธึมอย่างหนึ่ง ขณะเดียวกัน คงถึงเวลาแล้วจริงๆ ที่เราจะมองเทคโนโลยีด้วยสายตาเชิงรุก ไม่เพียงแต่ ‘ใช้งาน’ เทคโนโลยี แต่รู้จักใช้เทคโนโลยีให้ทำงานและสร้างสรรค์สิ่งที่เราต้องการ – ใครจะรู้ กระบวนการคิดเช่นนี้อาจเป็นหัวใจสำคัญของการรับมือกับโลกที่จะเต็มไปด้วย AI ในอนาคตอันใกล้

FACT BOX:

  • Raspberry Pi เป็นบอร์ดคอมพิวเตอร์จิ๋วขนาดเท่าบัตรเครดิต (หรือ CPU อย่างที่เราเรียกกันสมัยก่อน) สร้างขึ้นมาด้วยเป้าหมายให้เด็กๆ ที่มีทุนทรัพย์ต่ำได้เรียนรู้การเขียนโปรแกรมและไม่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มียี่ห้อในท้องตลาด โดยตัวที่พื้นฐานที่สุดคือ Pi Zero ราคาเพียง 4.80 ปอนด์ (250 บาท)
  • Scratch เป็นแอปพลิเคชันเรียนการเขียนโค้ดด้วยระบบ block programming ที่เหมาะแก่การใช้งานในโรงเรียน เพราะเปิดกว้างแก่จินตนาการความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน ไม่ผูกกับแนวคิดเชิงการตลาดที่ชอบใช้คาแรกเตอร์จากเกมยอดฮิตหรือล่อใจให้เรียนเป็นเลเวลเหมือนเล่นเกม สามารถดาวน์โหลดมาใช้ได้ฟรี ส่วนแอปพลิเคชันสอนโค้ดดิ้งสำหรับเด็กฟากฝั่งตลาดได้แก่ Hopscotch, Tynker, Daisy The Dinosaur, Lightbot และ Cargo-Bot เป็นต้น
Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,