เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมเป็นคอลัมนิสต์เขียนเรื่องการเมืองให้กับสื่อสำนักหนึ่งประมาณสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และโจทย์ในวันนั้นที่คิดออก ก็คือการย้อนกลับไปมองภาพของทักษิณ ชินวัตรผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 21 ปีวันก่อตั้งพรรคไทยรักไทย คือเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2541

ในเวลาเดียวกัน ผมนึกขึ้นได้ว่ามีหนังสือชื่อ ตาดูดาว เท้าติดดิน หนังสือปกโทนสีเขียว จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชนในห้วงเวลาก่อนที่ทักษิณจะเป็นนายกฯ ในห้วงเวลาที่ทักษิณยังใสๆเป็นหนังสือที่ผมเคยหยิบจากชั้นหนังสือของพ่อมาอ่านอยู่หลายรอบ เมื่อสัก 20 ปีที่แล้ว

20 ปีผ่านไป ผมนึกไม่ออกว่าจะไปหาหนังสือ ตาดูดาว เท้าติดดิน มาเขียนประกอบคอลัมน์ตัวเองได้จากที่ไหน เพราะไม่พบว่ามีร่องรอยของพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มนี้ในรูปแบบไฟล์ pdf ให้อ่านฟรีในอินเทอร์เน็ตอีกเลย แน่นอนว่าผมต้องใช้เวลาช่วงบ่ายที่ห้องสมุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อนั่งค้นคว้าเรื่องของทักษิณในทางการเมือง ก่อนจะพบว่าบ่ายวันนั้น ผมอ่าน ตาดูดาว เท้าติดดิน ในห้องสมุดจบทั้งเล่มอีกรอบด้วยความเพลิดเพลิน  

ตาดูดาว เท้าติดดิน เป็นหนังสือชีวประวัติของ ทักษิณ ชินวัตร ที่เขาเล่าชีวิตตัวเองตั้งแต่ยังเป็นเด็ก สิ่งที่เรียนรู้จากโรงเรียนเตรียมทหาร โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ไปจนถึงการล้มลุกคลุกคลานในวงการธุรกิจ และการเริ่มต้นเข้าสู่สนามการเมือง 

ทักษิณถอดภาพตัวเองในช่วง 40 ปีแรกของชีวิตอย่างหมดเปลือก เล่าทั้งเบื้องลึกว่าเพราะเหตุใด เขาถึงล้มเหลวกับธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจคอนโดมิเนียม ไปจนถึงการหักกับกลุ่มซีพีอย่างไร ในครั้งที่มีการประมูลสัมปทานโทรศัพท์บ้านในยุคนั้น และทำไมคนชื่อทักษิณถึงไม่ได้ล่มหัวจมท้ายกับพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งที่เคยเป็นสปอนเซอร์ให้กับพรรคการเมืองนี้มาโดยตลอด… 

ตลอดเวลากว่าสองทศวรรษที่หนังสือเล่มนี้เผยแพร่ และการพิมพ์ซ้ำนับครั้งไม่ถ้วน ผมไม่เคยรู้ว่าวัลยาผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือใคร กระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับข้อมูลมาว่าวัลยากำลังทำโปรเจ็กต์ใหม่ ว่าด้วยการพิมพ์หนังสือเล่มนี้อีกครั้ง จึงเป็นโอกาสที่จะได้สนทนากับบุคคลผู้บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญช่วงหนึ่งของนักการเมืองชื่อ ทักษิณ ชินวัตร และเป็นโอกาสที่จะได้รู้จักตัวตนส่วนหนึ่งของวัลยาหรือ  ‘จุ๊ก’ — ลัดดาวัลย์ รัตนดิลกชัย ผู้มีประสบการณ์การทำงานสื่อ ทั้งนิตยสาร หนังสือ เพลง และภาพยนตร์มาเป็นเวลากว่าสามสิบปี และแน่นอนว่า มุมมองพินิจของเธอที่มีต่อทักษิณจากการที่ได้ร่วมงานอย่างใกล้ชิดในระยะหนึ่งที่ผ่านมา ในฐานะผู้เคยสวมบทของ ทักษิณ ชินวัตร ผ่านตัวหนังสือ 

คุณไปเกี่ยวข้องกับโปรเจ็กต์ ตาดูดาว เท้าติดดิน ได้อย่างไร

ต้องย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เราเริ่มทำงานที่นิตยสารแพรวตั้งแต่เรียนจบวารสารฯ ธรรมศาสตร์ และเริ่มเขียนชีวประวัติให้คนคนแรกลงในแพรวคือ คุณพจน์ สารสิน คนถัดมาคือ คุณเกษม จาติกวณิช ด้วยวิธีเขียนแบบเดียวกัน คือเป็นงานลักษณะ Fictional หรือการเขียนกึ่งนิยาย เขียนเป็นภาพ มีไดอะล็อกชัดเจน และคนถัดมาอีกคนก็คือ คุณหญิงชัชนี จาติกวณิช เพราะเราชอบและสนใจบุคคลที่เปลี่ยนแปลงสังคมหรือประวัติศาสตร์ 

ยกตัวอย่าง คุณพจน์ สารสิน เขาอยู่ในตระกูลที่เรียกว่าเป็นเคนเนดีเมืองไทยเพราะตระกูลสารสินอยู่ในวงการเมืองมาอย่างยาวนาน ขณะที่คุณเกษมก็เป็นผู้ก่อตั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็จะมีสตอรีว่าประเทศไทยก่อนจะเริ่มมีไฟฟ้าใช้นั้นเป็นอย่างไร และคุณเกษมก็เป็นคนแรกๆ ที่เป็นคนไฟเขียวเรื่องรถไฟฟ้าบีทีเอส เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงคนหนึ่ง ในวันที่เราไปพบคุณเกษม ก็มีโอกาสได้เจอคุณหญิงชัชนี ท่านเป็นผู้หญิงที่สมาร์ตมาก และคุณหญิงชัชนีก็เป็นผู้บริหารหญิงคนแรกของบริษัทล็อกซ์เลย์

ข้อนี้ต้องจินตนาการนะคะว่า นั่นคือหลายสิบปีที่แล้ว ไม่ได้มีอินเทอร์เน็ตให้หาข้อมูล การเขียนหนังสือชีวประวัติเหล่านี้ให้เป็น Fictional ก็ต้องใช้เวลาค้นคว้า ค้นหาบริบททางสังคม ที่เกี่ยวข้องและแวดล้อมกับคนเหล่านี้ และต้องอาศัยการสัมภาษณ์คนจำนวนมากประกอบกัน

จนกระทั่งเราไปเป็นบรรณาธิการให้กับ Life & Family เจ้านายคือคุณอภิญญา เวชยชัย ซึ่งเป็นภรรยาของคุณภูมิธรรม (ภูมิธรรม เวชยชัย หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย) ตอนนั้นยังไม่ได้เริ่มตั้งพรรคไทยรักไทย มีเพียงการคุยกันในวงเล็กๆ ว่า คุณทักษิณ ชินวัตร อยากตั้งพรรคการเมือง แต่ก็ยังไม่มีชื่อพรรค เจ้านายเราก็เลยแนะนำเราให้กับคุณภูมิธรรมและคุณทักษิณ ว่าเราเคยเขียนหนังสือแนวนี้มา เราเลยได้มีโอกาสพบกันทั้งคุณภูมิธรรมและคุณทักษิณ

ตอนนั้นมีการวางแผนเรื่องหนังสือ ตาดูดาวฯ ไว้อย่างไรบ้าง

สิ่งที่คุณทักษิณอยากถ่ายทอดก็คือ ทำไมคุณทักษิณถึงอยากเข้ามาเล่นการเมือง วันที่คุยกัน เราก็ทำรีเสิร์ชระดับหนึ่ง ว่าสื่อสนใจอะไรในตัวคุณทักษิณบ้าง หรือมีคำถามอะไรเกี่ยวกับคุณทักษิณบ้าง

หลังจากนั้น ก็ตกลงคุยกันอย่างมืออาชีพ อันดับแรกที่ตกลงกันก็คือ เราไม่รับจ้างทำ และข้อตกลงอื่นๆ คือเราต้องมีอิสระ ต้องถือว่าเราเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ 

ถ้าพูดตรงๆ คือตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าคุณทักษิณตั้งพรรคไทยรักไทยแล้วจะเวิร์ก ไม่มีใครคิดว่าคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร จะได้เป็นนายกฯ นะ 

ครั้งแรกที่คุณเจอกับคุณทักษิณ คุณรู้สึกอย่างไร

เดิมทีเราชอบคุณทักษิณอยู่แล้วนะ เราอ่านประวัติเขาแล้วก็ชอบตรงที่เขาเป็นคนหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงธุรกิจประเทศไทย เปลี่ยนแปลงให้สังคมไปสู่ยุคโทรคมนาคม วิธีบริหารจัดการก็สมัยใหม่ เรารู้จักเขาผ่านตรงนี้ก่อน

พอไปเจอตัว ก็บอกเขาไปตรงๆ แหละว่า ในการทำงานเรื่องนี้ เราต้องการอิสระต้องการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เอง และจะไม่รับเขียนหนังสืออวยใคร เพราะเราไม่ได้ทำหนังสืองานศพ มันเป็นหนังสือที่ทุกคนยังมีชีวิตอยู่ นึกออกใช่ไหมจุดบางๆ นี้สำคัญมาก แล้วหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ใช่หนังสือ Propaganda หากเงื่อนไขเหล่านี้ เขารับได้ เราก็รับทำ คุณทักษิณก็บอกเลยว่าเห็นด้วย สั่งเลยว่าถ้าวัลยาอยากได้ข้อมูลอะไร ขอให้เข้าถึงข้อมูลได้หมด ประเด็นนี้เราเขียนไว้ในคำนำการพิมพ์รวมเล่มด้วย

หลังจากนั้น เราก็เปลี่ยนวิธีทำงานจากที่เคยเขียนหนังสือแนวชีวประวัติบุคคล คือจากที่ทำบริบทสังคมผ่าน Documentary หรือว่าข้อมูลต่างๆ ปรากฏว่ามีสองเรื่องเกิดขึ้น คือ

หนึ่ง เราโตขึ้นแล้ว เราอยากให้หนังสือของเรามีจิตวิญญาณมากกว่านั้น แล้วตัวละครที่ชื่อทักษิณ ควรจะเป็นตัวที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของสังคม

สอง ถ้าเราอยากให้คนมี Empathy มีความเข้าใจเขา เราในฐานะคนเขียนต้องเข้าใจเขาเองก่อน น้ำเสียงอะไรต่างๆ ต้องคิดเหมือนเราเป็นเขา คิดเหมือนเราสวมบทเขาอยู่

ทั้งหมดนี้ ทำให้ระหว่างเขียนหนังสือเล่มนี้ เราต้องสัมภาษณ์คนรอบตัวเขาให้ครบทุกคน แล้วเวลาคุณทักษิณเล่า เขาก็เล่าเท่าที่จำได้ บางทีเวลาเขาน้อย บางครั้งเราก็ต้องนั่งรถไปกับเขาด้วย นั่งรถไปเพื่อสัมภาษณ์นี่แหละ

จำได้ว่าตอนนั้นเราท้อง ยังขำกันเลยว่า มีผู้หญิงท้องนั่งไปกับทักษิณอยู่ในรถในการให้สัมภาษณ์ นึกออกใช่ไหม (หัวเราะแต่เราชอบคุณทักษิณเพราะเขาเปิดกว้าง เขารับเงื่อนไขสามข้อของเรา และเขาโอเพ่นมาก เปิดอกพูดทุกเรื่อง 

ทีนี้ในการทำงาน เราต้องศึกษาบริบทรอบๆ เยอะมาก เพราะตัวเขาอยู่ในช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน พอจะเขียนเรื่องครอบครัวของเขา ก็ต้องสัมภาษณ์ภรรยา คือคุณหญิงพจมาน หรือตอนคุณทักษิณไปเรียนเตรียมทหาร เราก็ไปสัมภาษณ์เพื่อนร่วมรุ่นเขา แล้วก็ไปสัมภาษณ์ทางโรงเรียนเตรียมทหารด้วยว่ามีการเรียนการสอนอย่างไร 

หรือพอเข้าสู่โหมดที่คุณทักษิณเริ่มทำธุรกิจ เราก็สัมภาษณ์ทุกขั้นตอน เพราะต้องเข้าใจว่าธุรกิจที่เขาทำมันสมัยใหม่มากในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต เราจะอ่านแค่ข่าวก็ไม่ได้ แต่ต้องรู้ว่าธุรกิจของเขามีขั้นตอนดำเนินงานอย่างไร เพื่อที่จะตามความคิดของคุณทักษิณให้ทัน ต้องหาข้อมูลเยอะมาก หรือหากจะพูดเรื่องโทรคมนาคมในอนาคตจะเป็นแบบนี้ๆๆ ไปหาซื้อหนังสือในเอเชียบุ๊กส์ก็ไม่มี เราก็ต้องขอสัมภาษณ์ผู้บริหารในชินคอร์ป เพราะคนเหล่านี้เป็นคีย์แมนสำคัญทางธุรกิจ

ทั้งหมดในการที่จะเขียนหนังสือเล่มนี้ เลยนำไปสู่การสัมภาษณ์ที่เป็นมหากาพย์ เราสัมภาษณ์คนไปประมาณ 60 คน ซึ่งในตอนนั้นก็ท้องอยู่นะคะ แต่ความรวดเร็วคือเวลาเรายกหูหาเลขาฯ คุณทักษิณปุ๊บ เขาก็จะส่งข้อมูลให้ทันที ไม่เข้าใจอะไรตรงจุดไหนก็โทรไปได้ มันเลยนำไปสู่ความเข้าใจตัวละคร และเรื่องรอบตัวของตัวละคร นี่เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนอ่านรู้สึกสนุกกับหนังสือเล่มนี้

ตอนนั้น เท่าที่จำได้ ยังไม่มีประวัติของคุณทักษิณอย่างเป็นทางการ อาจจะมีเล่ม อัศวินคลื่นลูกที่สาม ที่ สรกล อดุลยานนท์ เขียน แต่ก็เป็นเนื้อหาเชิงธุรกิจ

ใช่ เล่มนั้นเป็นเชิง How-To แต่เล่มนี้เป็นไปในเชิงชีวประวัติ ในคำนำสำนักพิมพ์เล่มที่มติชนจัดพิมพ์ เขาเขียนไว้ดี เขาบอกว่ามันเขียนยากนะ ไม่ให้เป็นด้านลบหรือด้านบวกมากเกินไป อย่างที่บอกว่าเราเข้าใจเขามาก และก็ต้องบาลานซ์น้ำเสียงให้ดีด้วย 

อย่างเรื่องคุณทักษิณเจอคุณหญิงพจมานครั้งแรก คิดดูว่าคุณทักษิณรักภรรยาของเขาขนาดไหน เขาจำได้แม้กระทั่งวันแรกที่เจอกัน คุณหญิงพจมานแต่งตัวแบบไหน ใส่กระโปรงสีอะไร มีความรับผิดชอบ มีความเป็นผู้นำอย่างไร

พอไปสัมภาษณ์คุณหญิงพจมาน คุณหญิงก็เล่าว่า วันแรกที่เจอกัน คุณหญิงขับรถให้เขานั่ง คุณทักษิณถามว่าเรียนมหาวิทยาลัยอยู่หรือ มันเลยนำไปสู่เนื้อหาที่ว่า อ๋อตอนที่นั่งอยู่ในรถพวกเขาคุยอะไรกันบ้าง เห็นภาพไหม อันนี้เป็นตัวอย่างว่าทำไมต้องเก็บข้อมูลของคนอื่นๆ ด้วย หรือในบริบทของโรงเรียนเตรียมทหาร สมญานามต่างๆ ของคุณทักษิณคืออะไรบ้าง เขาเป็นคนอย่างไร นี่ก็มาจากที่เพื่อนเขาเล่าให้ฟังทั้งนั้น

คุณใช้เวลานานขนาดไหน ในการเก็บข้อมูล จนเขียนเสร็จและเผยแพร่ออกมา

ประมาณ 4 เดือนในการเก็บข้อมูล เสร็จแล้วก็ทยอยเขียน เราเริ่มจากเขียนเป็นตอนๆ ลงในมติชนสุดสัปดาห์ เพราะทางมติชนเขาสนใจ เขาก็ถามมา เราก็เหมือนนักเขียนทั่วไป ก็มีรายได้จากการเขียนเรื่องนี้ส่งให้เขาเป็นตอนๆ

แล้วฟีดแบ็กตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง

ดี บรรณาธิการ (เสถียร จันทิมาธร) บอกว่าชอบ แล้วก็มีจดหมายเข้ามา เขาก็ส่งจดหมายมาให้เราดูว่ามีคนชอบนะ สนุก มีตอนที่เราคลอดลูก ไม่ได้ลงไปตอนหนึ่ง คนอ่านก็เขียนจดหมายมาทวงถาม

ตอนนั้นตั้งใจว่าจะปล่อยทีละตอนก่อน หรือพิมพ์เป็นพ็อกเก็ตบุ๊คเลย

ค่อยๆ ปล่อยค่ะ ทยอยปล่อย แล้วก็รวมเล่ม พอรวมเล่มไปหนังสือก็ขายดี เราคิดว่าขายดีเพราะ หนึ่ง ชีวิตของคุณทักษิณน่าสนใจ สอง วิธีที่เขาถ่ายทอดชีวิต เขาเปิดเผย เขาเล่าหมด ไม่ใช่แค่ด้านความสำเร็จของเขา สาม การเขียนที่ทำทำให้ตัวละครจริงๆ มีชีวิตขึ้นจริงๆ 

ตอนนั้นก็มีนักการเมืองบางคนมาทาบทามเราให้เขียน แต่ที่ต่างกันก็คือ คนอื่นเขาจะเล่าแต่เรื่องในอดีต ว่าลำบากอย่างไร อาจจะเล่าแต่ด้านดีของตัวเอง แต่สิ่งที่คุณทักษิณไม่เหมือนคนอื่นก็คือ เขาจะเล่าถึงมุมมองปัจจุบันของเขาที่มีต่ออดีตด้วย และเล่าว่าอนาคตเขาคิดอะไร เราถึงเรียกเองแบบเนิร์ดๆ หน่อยว่า เขาคิดลึกและคิดกว้างในเวลาเดียวกัน 

หลายเรื่องในเล่ม ตาดูดาวฯ ก็เหมือนคุณทักษิณได้ทบทวนความผิดพลาดของตัวเอง เช่น การประมูลโทรศัพท์แข่งกับซีพี ความล้มเหลวที่ทำคอนโดมีเนียม หรือโครงกรบัสซาวนด์ 

ใช่ แต่มีบางครั้งแกอาจจะเล่าข้ามบ้าง เพราะเรื่องมันเยอะ แต่เรารู้เพราะเราทำข้อมูล ก็กลับไปถามเพิ่มเติม หรือได้ข้อมูลจากคนอื่นมา อย่างในกลุ่มชินคอร์ปก็จะเล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนเป็นอย่างไร บางเรื่องก็ไม่ได้ใส่เข้าไปในเนื้อหา แต่นี่เพิ่งใส่ในคำนำเล่มที่กำลังพิมพ์ใหม่ เล่าถึงวิธีที่เขาทำเอไอเอสอะไรอย่างนี้ จริงๆ แล้วคุณทักษิณเป็นคนทันสมัยมากเลยนะ

แล้วชื่อหนังสือ ตาดูดาว เท้าติดดิน มีที่มาอย่างไร

พอเราเขียนเสร็จ ตอนนั้นยังไม่ได้ชื่อ ปกติเราจะตั้งชื่อหนังสือทุกเล่มเอง อย่างเช่นเล่มของคุณหญิง ชัชนี จาติกวณิช คือดังสายลมที่พัดผ่าน เป็นแบบวรรณกรรม ส่วนเล่มของคุณทักษิณ เนื่องจากคาแรกเตอร์ของเขาเป็นคนมีวิสัยทัศน์และมองไปข้างหน้า แต่เขาก็มาจากบ้านนอก เป็นคนต้องสู้ชีวิตเยอะ 

เรารู้สึกว่าต้องมีอะไรร่วมระหว่างสองจุดนี้ แล้วบังเอิญว่าไปเห็นบทกวีของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขาเขียนเกี่ยวกับกวี เขียนยาวเลย มีวรรคหนึ่งเขียนว่า ตามองดาว เท้าติดดิน  เราเจอคุณเนาวรัตน์ก็บอกว่า ขอเอาคำนี้ไปใช้ แล้วเราก็เอาวลีนั้นมาปรับใช้ว่า ตาดูดาว เท้าติดดิน เราส่งไปให้คุณทักษิณดูว่านี่คือชื่อหนังสือ เขาก็บอกว่า ผมชอบมากเลย 

หากมองย้อนกลับไป หนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นหนังสือแนวชีวประวัติที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในเวลานั้นไหม

ถึงตอนนี้ เราคิดว่ายังไม่มีหนังสือชีวประวัติเล่มไหนที่เอาชนะเล่มนั้น เป็นหนังสือชีวประวัติที่ขายดีที่สุดจนทุกวันนี้ วันนี้กำลังจะพิมพ์ครั้งที่ 29 ออกมาแล้ว ซึ่งจุดนี้เราคิดว่าเป็นไปตามสิ่งที่วัตถุประสงค์หนังสืออยากให้เป็น ตั้งแต่แรกเริ่ม ตัดเรื่องความดังของคุณทักษิณออกก่อนได้ เพราะวันนั้น คุณทักษิณเองก็ยังไม่ได้เป็นนายกฯ จากที่เราวิเคราะห์เอง คิดว่าที่หนังสือเล่มนี้ประสบความสำเร็จก็เพราะ

หนึ่ง มีความแปลกใหม่ของการเล่าชีวประวัติ ปกติชีวประวัติจะเป็นเพียงแค่การเรียบเรียงข้อมูล

สอง เนื้อหา ได้เปิดเผยสิ่งที่เขาล้มเหลวจริงๆ สิ่งที่เขามีข้อขัดแย้งกับคนอื่น เช่น การประมูลกับกลุ่มซีพี เพราะคนส่วนใหญ่จะเซฟ จะกลัวเรื่องทำนองนี้ มติชนเคยเขียนไว้ที่คำนำสำนักพิมพ์ว่า บางคนก็เล่าเชิงบวกเกินไป เล่าแต่เรื่องดีของตัวเอง และไม่กล้าพูดถึง conflict เพื่อเซฟตัวเอง แต่หนังว่าสือเล่มนี้เปิดเผยจริงๆ ทั้งความล้มเหลว ทั้งความไม่ชอบใจต่างๆ

สาม คิดว่าน่าจะเป็นเพราะคุณทักษิณเองเป็นบุคคลที่ไม่ธรรมดา เป็นบุคคลที่น่าสนใจจริงๆ ไม่ใช่เรื่องดังไม่ดังอย่างเดียวนะ บางคนอาจจะดังแต่ไม่น่าสนใจ แต่คนคนนี้ ความคิดเขาน่าสนใจ ก็เลยทำให้หนังสือประสบความสำเร็จ

ภาพ: AFP

แล้วชีวิตของผู้เขียนอย่าง ‘วัลยา’ เปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง ตอนนั้น จำได้ว่าคนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้เลยว่า ‘วัลยา’ ตัวจริงคือใคร

อืมคือเราก็เป็นบรรณาธิการอาชีพมาตลอดการทำงาน ส่วนใหญ่ในรุ่นของเรา ก็ไม่ได้ต้องโพรโมตผลงานของตัวเอง ส่วนตัวเราค่อนข้าง Low Profile ไม่ได้เป็นจุดเด่นหรือจุดสนใจของสังคม ซึ่งพอหนังสือเล่มนี้เขียนเสร็จปั๊บ ผลตอบรับก็ดี หลังจากนั้นไม่นานเราก็ไปทำงานที่บริษัท อิมเมจ พับลิชชิง จำกัด ทางอิมเมจมีนิตยสาร IMAGE อยู่แล้ว แต่อยากเปิดเซ็กชันพ็อกเกตบุ๊ค เราก็ไปมีส่วนในการก่อตั้งสำนักพิมพ์อิมเมจ ซึ่งก็กลายเป็น Bliss Publishing ในเครือแกรมมี่ในเวลาต่อมา

ทีนี้ ถามว่าหนังสือเล่มนี้ส่งผลกระทบอะไรกับวัลยาไหม อย่างแรกคือทำให้เราไม่สามารถเขียนใครได้อีกเลย (หัวเราะ) เพราะหลังจากเล่มนั้น มีแต่คนติดต่อมาเยอะมาก ทั้งแวดวงการเมือง แวดวงธุรกิจ ประมาณ 40 คนได้ เขาหาตัวเราเจอด้วยนะ เราก็ไปเจอสักคนสองคน แต่เราก็ไม่ได้สนใจ แต่ก็มีสองสามคนที่ติดต่อมาแล้วเราอยากทำ อยากเขียน แต่ว่าเวลาไม่ลงตัว

แต่ระหว่างทางที่เล่ามานี่ ก็มีคนที่เราสนใจอยากเขียนและรู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำอยู่สามคน คนแรกเลยคือ คุณเกษม จาติกวณิช คุณหญิงชัชนีภริยาของท่านบอกว่าให้ช่วยเขียนภาคต่อของคุณเกษม เรามารู้ทีหลังว่าคุณเกษมป่วยมาก ท่านก็คงอยากให้บันทึกช่วงสุดท้าย แต่ว่าเราทำไม่ทัน เพราะงานเยอะมาก

คนที่สองคือ คุณหญิงนิรมล สุริยสัตย์ เป็นผู้บริหารหญิงคนแรกของโตชิบา ประเทศไทย มีโอกาสได้เจอท่านในการทำบทความหนึ่งเกี่ยวกับทิศทางประเทศไทย เป็นช่วงที่พรรคไทยรักไทยเพิ่งเริ่มต้น ทางพรรคให้เราช่วยสัมภาษณ์ระดับผู้บริหารบางคนแล้วเรียบเรียงเป็นบทความ ตอนั้นเราก็ได้เจอคุณหญิงนิรมลประมาณครึ่งชั่วโมง ก็เขียนบทความชิ้นนั้นจนเสร็จ 

หลังจากนั้นผ่านไปหลายปี ตอนที่อยู่แกรมมี่แล้ว คุณหญิงนิรมลให้คนมาตามเพราะคุณหญิงกำลังจะเสียชีวิต ท่านเป็นมะเร็ง ท่านก็บอกว่า วัลยา เธอเข้าใจในสิ่งที่ฉันพูดมากที่สุด เขียนชีวิตฉันให้หน่อย จะได้ฝากเอาไว้เป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลัง 

จะเห็นได้ว่าคนอายุประมาณนี้ เขาจะคิดแบบนี้หมดเพื่อเป็นประโยชน์แก่คนรุ่นหลังแล้วตอนนั้นคุณหญิงส่งไดอารี่ส่วนตัวมาให้เราที่บ้านเป็นลัง เราก็เริ่ม

อ่าน เริ่มย่อย แต่ที่สุดก็ไม่ทัน คุณหญิงเสียไปเสียก่อน 

อีกคนหนึ่งคือ คุณชัยยุทธ กรรณสูต ผู้ก่อตั้งอิตาเลียนไทย อันนี้เราอยากทำเอง เพราะแกเป็นคนแรกที่สร้างบริษัทก่อสร้างในประเทศไทย ชีวิตมันส์สุดติ่ง แกเรียนหมอมา คุณแม่เป็นเจ้าของที่ดินเยอะมาก สมัยก่อนคุณแม่ก็มีคนใช้สองคน ลงเรือที่คลองแสนแสบ พายเรือไปเรื่อยๆ แล้วก็บุกเข้าไปดูพื้นที่ว่างเพื่อซื้อที่ดินเก็บไว้ แกบอก นี่แม่ผมเป็นอย่างนี้ แล้วคุณชัยยุทธเป็นคนที่อยู่ทันช่วงสงครามโลก แกก็เรียนหมอไม่จบ เพราะมาช่วยทำธุรกิจอสังหาฯ นี่แหละ จากนั้นก็มาทำธุรกิจก่อสร้าง เราชอบมาก เราเรียกแกคุณหมอนะ เราก็ถามว่าแล้วตอนนี้คุณหมอชัยยุทธทำอะไร แกก็บอกว่าทำไร่องุ่น ไปคุยกันที่ไร่องุ่นผมเนอะ แกก็จองตั๋วให้เราเลย

วันที่ไปถึงสนามบินแกเห็นตั๋วของเรา แกก็เดือด โทรไปดุเลขาฯ ก่อนว่า ต้องให้วัลยานั่งชั้นธุรกิจเท่าผม แล้วก็ขึ้นเครื่องบินไปถึงไร่องุ่นของแก แกก็ใส่หมวกฟาง อยู่ในโรงอาหารปัดแมลงวัน พอตำส้มตำเสร็จ แกก็หันไปบอกแม่ครัวว่า อายเขาไหม แมลงวันเยอะ (หัวเราะ)

ที่เล่ามานี่เพื่อให้เห็นคาแรกเตอร์ คือเราเป็นคนชอบคาแรกเตอร์คน จะทำงานกับใคร จะเขียนเรื่องใคร ต้องดูคาแรกเตอร์เขาก่อน ว่าเราจะรับบทเขาได้ไหม มันต้องมีบางอย่างที่ใกล้เคียงกัน แต่สุดท้าย เขียนไปแล้วสามตอน คุณหมอชัยยุทธบอกว่า เขินว่ะ เก็บไว้ก่อน เราก็ไม่ว่าอะไร จากนั้นเราก็เลยไม่ได้เขียนชีวประวัติใครอีกเลย มีสามคนนี้แหละที่เรารู้สึกเสียดาย รู้สึกผิดที่ทำไม่เสร็จ 

คุณต้องเข้าใจก่อนว่าจะเขียนอะไรอย่างนี้ได้ เราต้องใกล้ชิดเขามากนะ เขาต้องพูดหมด และต้องมีความไว้ใจว่าเราจะเก็บความลับได้ อะไรควรเขียน อะไรไม่ควร ต้องเชื่อในวิจารณญาณของเรา เพราะบางอย่างเราจะบอกว่าอันนี้ไม่ควรเขียน แม้เจ้าตัวจะเปิดเผยเองก็ตาม

ผลกระทบอีกด้านของวัลยาก็ช่วงที่คุณทักษิณมีข่าวเยอะๆ มีคนมาขอสัมภาษณ์เรา แต่บอกว่าจะขอสัมภาษณ์เรื่องธุรกิจสำนักพิมพ์ที่เราดูแล และไม่รู้เขารู้ได้ไงว่าเราคือวัลยาตอนนั้นผ่านไปตั้งเป็น 10 ปีแล้วที่เขียน ตาดูดาวฯ แล้วเราก็ไม่ได้สนใจการเมืองเลย แต่พอมาสัมภาษณ์เราจริงๆ ก็ไม่เห็นคุยเรื่องธุรกิจ แต่มาถามเราว่า คิดว่าคุณทักษิณเปลี่ยนไปไหม เราก็บอกว่า เราจะเป็นคนไม่มีมารยาทมากเลยถ้าเราตอบคุณนะ

หลังหนังสือเสร็จสิ้น คุณจุ๊กเคยเจอคุณทักษิณอีกบ้างไหม

ไม่เคยเจอ อ้อเจอแวบเดียวตอนช่อง 7 จะมาเอา ตาดูดาวฯ ไปทำละคร คุณแดงสุรางค์ เปรมปรีดิ์ โทรมาตามเราให้ไปทำเนียบรัฐบาลด้วย เพื่อแจ้งคุณทักษิณว่าจะทำละคร ที่ต้องเรียกเรามาเพราะลิขสิทธิ์อยู่ที่เรา แต่ช่วงนั้นเราไม่ค่อยได้สนใจ อย่างมติชนจะพิมพ์หนังสือซ้ำก็พิมพ์ไป เราบอกมติชนด้วยว่าไม่ต้องส่งหนังสือที่พิมพ์ซ้ำแต่ละครั้งมาให้ที่บ้านนะ เพราะมันเยอะไปหมด เพราะตอนนั้นเราก็ทำสำนักพิมพ์ตัวเองอยู่ และปกติก็เป็นนักเขียนที่ไม่ได้คิดว่าจะต้องพิมพ์ผลงานของตัวเองมาก่อนเลย 

แล้วทำไมถึงตัดสินใจพิมพ์ ตาดูดาว เท้าติดดิน ครั้งล่าสุดนี้เอง

พอถึงยุคนี้ เรามองว่านักเขียนจัดพิมพ์ผลงานของตัวเอง ก็เป็นการบริหารทรัพย์สินทางปัญญาตามปกติ และเห็นว่ายังมีคนถามหาและอยากรู้เรื่องของ คุณทักษิณ ชินวัตร กันอยู่ในทุกวันนี้ ที่สำคัญ เราเชื่อว่าคนอ่านเปิดกว้างที่จะรับข้อมูลที่หลากหลาย

เรามองว่า ตาดูดาว เท้าติดดิน เป็นชีวประวัติของคนที่อยู่ในพื้นที่การเมือง และเนื้อหาข้างในมันเป็นการสะท้อนว่าคนที่มีบทบาททางการเมืองในวันนี้เขามาอย่างไร อะไรที่ทำให้เขาคิดแบบนี้ เราไม่เซ็นเซอร์ตัวเองไง คนอาจจะมองว่า ทักษิณ ชินวัตร เป็นเรื่องการเมืองที่ต้องระวัง แต่เราคิดว่าเขาเป็นบุคคลหนึ่งที่ควรจะศึกษาอย่างยิ่ง 

ขณะเดียวกัน เราคิดว่าอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมเห็นความหลากหลาย เห็นคนนี้แล้วลองดูสิว่าเขาคิดอะไร อย่าตัดสินคนแค่ได้ยินมาว่าเขาเป็นอะไร เป็นอย่างไร และคิดว่าคนรุ่นใหม่น่าจะได้ลองอ่าน เพราะระยะหลังคนรุ่นใหม่เขาอ่านอะไรที่เกี่ยวกับการเมืองเยอะมาก ซึ่งเป็นเรื่องดี

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันหรือโตไม่ทันยุคคุณทักษิณเป็นนายกฯ คิดว่าเขาจะได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้

ข้อแรกเลย คุณจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยผ่านคนชื่อ ทักษิณ ชินวัตร ได้เห็นสังคมไทยที่เริ่มเปลี่ยนจากระบบอุปถัมภ์และค่อยๆ เป็นเสรีนิยมมากขึ้น มีความขัดแย้งเกิดขึ้น หรือการที่ชีวิตต้องดิ้นรน หมายถึงว่าพอเสรีนิยมมา มันเกิดการเลือกว่าเราจะอยู่ในระบบหรือออกไปแข่งขันเอง อะไรพวกนี้ แล้วก็เป็นพัฒนาการที่ประเทศไทยเองก็ยังต้องดิ้นรนต่อไป ไม่น่าเชื่อเลยว่าถึงทุกวันนี้แล้ว ทุกอย่างยังเหมือนเดิม’  (เน้นเสียง) ทุกอย่างเลยนะ ไม่น่าเชื่อ วงจรนี้กลับมาใหม่อีก

อีกข้อหนึ่งคือ คุณทักษิณในแง่มนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง คิดว่าเราจะได้เห็นว่าเวลาที่คนคนหนึ่งมีปัญหาในชีวิต มีจุดเปลี่ยนชีวิต เคยเป็นไหม เช่นเรียนไปก็คิดว่าอันนี้ดีที่สุดแล้ว พอเรียนจบเบนสาย หรือว่าทำงานไปไม่เวิร์ก ต้องดิ้นรนหางานใหม่ ทำไปสักพัก อ้าว ที่ทำไปไม่ใช่อีก ซึ่งนี่มันไม่ใช่ How to survive นะ แต่เป็นการแชร์จากประสบการณ์ของเขาให้เรามองเห็นว่า มันมีหลายวิธีที่จะเดินต่อไป ชีวิตมันไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้หรอก เดี๋ยวมันจะเดินต่อไปได้

ภาพ: วัลยา

ไม่คิดว่าหนังสือเล่มนี้ล้าสมัยไปแล้ว เพราะเขียนขึ้นตั้งแต่ 20 กว่าปีก่อน

เราไม่คิดอย่างนั้น อย่างคำนำที่เราเขียนในฉบับพิมพ์ครั้งใหม่น่ะว่า พออ่านใหม่กลายเป็นเราเห็นอีกแบบ เช่น บทที่ว่าด้วยการเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ทำให้เราเห็นวัฒนธรรมทหารตำรวจผ่านตรงนี้ว่ามันคืออะไร เห็นว่าเขาเป็นนักเรียนเตรียมทหารและนายร้อยตำรวจรวมเบ็ดเสร็จ 7-8 ปี สิ่งที่คุณทักษิณเล่า สะท้อนว่าวัฒนธรรมทหารคือต้องเชื่อฟังผู้บังคับบัญชาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง และเคารพโดยไม่มีเงื่อนไข เรายังไม่เคยเจอว่าคนที่ผ่านกระบวนการนี้ พูดในมุมนี้อยู่นะ น้ำเสียงที่เขาเล่าไม่ได้มีปัญหา เขาภูมิใจที่เรียนเตรียมทหาร แต่เราจะเห็นได้ว่า เวลาพวกทหารหรือตำรวจเล่าประวัติตัวเอง ก็ไม่ได้พูดมุมนี้

ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องของการจัดการความแตกต่าง ถ้าเวลาฝึกแล้วใครทำไม่ได้ก็จะถูกลงโทษ ถูกประจาน เราสามารถเห็นวัฒนธรรมทหารผ่านชีวิตเขาได้ และในทำนองเดียวกัน ในแง่ตัวคุณทักษิณ เราจะได้เข้าใจว่า เพราะเขาเห็นความคิดของทหารมาแล้ว แล้วต่อมาเขาเปลี่ยนตัวเองจากพื้นฐานการศึกษานั้นได้จากอะไร เขาไปเรียนต่อที่อเมริกา และก็เปลี่ยนเป็นลิเบอรัลได้อย่างไร

ถามว่าเนื้อหาไม่ล้าสมัยและร่วมสมัยอย่างไร นอกจากจะได้เห็นวัฒนธรรมทหาร เห็นพัฒนาการของสังคมไทยจากยุคหนึ่งไปสู่เสรีนิยม คุณทักษิณเป็นตัวแทนของความลิเบอรัลที่เข้ามาในไทย ได้ไปเห็นโลกข้างนอกยุคแรกๆ เลย ซึ่งพอย้อนกลับมาปัจจุบัน ก็จะเห็นว่าไม่มีอะไรต่างจากเดิมเท่าไรเลยนะ (หัวเราะ)

มุมมองของคุณจุ๊กต่อตัวคุณทักษิณ จาก 20 กว่าปีก่อนกับตอนนี้ แตกต่างกันไหม

ต่างกัน อาจเพราะเรามองข้อมูลชุดเดิมต่างออกไปด้วย เอาในแง่ตัวบุคคลก่อน คุณทักษิณคนที่เราเห็นเมื่อ 20 ปีก่อน สิ่งที่ตอนนั้นทำให้เราตัดสินใจทำงาน ตาดูดาวฯ ก็เพราะ 

หนึ่ง เรารู้สึกว่าเขามีความมองโลกสดใส สัมผัสได้เลย น้ำเสียงในหนังสือก็จะเป็นเสียงที่ไบรท์ ที่สดใสอย่างชัดเจน 

สอง ชอบ energy ของเขาในการพุ่งไปข้างหน้าแบบสุดตัว เขาเป็นคนมองไปข้างหน้า ดูจากชีวิตที่บันทึกไว้ใน ตาดูดาว เท้าติดดิน พอเรามาทำธุรกิจเอง เราก็เห็นชัดว่า เขาทำธุรกิจที่เป็นโลกอนาคต ซึ่งเรามีประสบการณ์ได้พบปะกับคนระดับบริหารเยอะนะ แต่นี่เป็นคาแรกเตอร์ที่เด่นมากในคุณทักษิณ และเขาเป็นคนที่มีพื้นเพที่หลากหลายอยู่ด้วย เป็นนักธุรกิจสายเทคโนโลยี เป็นผู้ประกอบการ ในขณะที่มองไปข้างหน้าและค้นหาอยู่ว่าจะทำอะไร 

กลับมายังปัจจุบัน สิ่งที่คุณทักษิณเหมือนกับเมื่อก่อน คือคุณทักษิณไม่หยุดที่จะหาคำตอบว่าสังคมไทยควรจะไปต่ออย่างไร เขาเป็นนักแก้ปัญหา เขาเห็นปัญหาและพยายามค้นหาวิธีแก้ และพยายามนำเสนอว่าควรแก้อย่างไร ดูได้จากที่เขาคิดอะไร จะเป็นสิ่งที่เขาอ่านเสมอเลย นี่คือ ‘You are what you read’ ของแท้เลย 

อย่างล่าสุด คุณทักษิณพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Generation Myth เราก็ได้อ่านแล้ว เขาก็พยายามนำเสนอให้เห็นว่าคำว่า Generation ไม่ใช่นิยามเดียวของการมองความขัดแย้งของสังคม ตอนนี้สังคมไทยมีปัญหาเรื่อง Generation Gap ใช่ไหม เราว่าเขากำลังหาว่าปัญหานี้เกิดจากอะไรแล้วจะทำอย่างไรต่อไป

แต่สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมของคุณทักษิณในมุมมองของเรา ก็คือ

หนึ่ง ความสดใสน้อยลง ความมองทุกอย่างอย่างสดใสน้อยลง อาจเพราะชีวิตเขาก็เจออะไรมาเยอะ 

สอง ความแอคทีฟของเขาเหมือนจะ slow down ไม่รู้เป็นเพราะวัยหรือเพราะตัวเขาเองไม่ได้มีบทบาทหน้าที่เหมือนเมื่อก่อน

นอกจากการพิมพ์ซ้ำ ตาดูดาวฯ ทำไมถึงไม่คิดจะเขียนภาคต่อของคุณทักษิณเพราะชีวิตหลังจากเป็นนักการเมืองเต็มตัวก็มีเรื่องราวมากมายและมีสีสันมาก

เรื่องการเขียนเล่มที่สองนี้มีการพูดคุยกันค่ะ เริ่มจากตอนที่คุณทักษิณกลับมามีบทบาททางสังคม จัดคลับเฮาส์พูดคุยประเด็นต่างๆ ทุกสัปดาห์ ตอนเขาพูดเรื่องวัคซีน เรื่องโควิด-19 เราคิดว่าเขายังเป็นคนที่มีวิธีคิดที่มีประโยชน์กับคน เราเลยทาบทามไปว่าสนใจจะทำคอนเทนต์คุณทักษิณต่อ หลังจาก 20 กว่าปีที่ไม่ได้ติดต่ออะไรเลย จนเห็นว่าคุณทักษิณกลับมามีบทบาท ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ แล้วเอเนอร์จี้หลายอย่างยังเหมือนเดิม ทางนั้นก็กำลังคิดอยู่พอดี ก็เลยมีการคุยกันเรื่องที่จะทำเล่มสอง

ตอนคุยกันว่าจะทำภาคต่อ ก็ตั้งใจจะเน้นชีวิตที่พลิกผันของคุณทักษิณเป็นหลัก ไม่ใช่เรื่องการประชาสัมพันธ์ทางการเมือง แต่หลังจากวางคอนเซ็ปต์ว่าจะเล่าแบบเชื่อมจากชีวิตปัจจุบันสู่อดีตและเริ่มเก็บข้อมูล ก็พอดีเราป่วยและพิจารณาแล้วว่า ไม่น่าจะเก็บข้อมูลได้มากพอ จึงไม่ได้ทำงานนี้ต่อ ส่วนจะมีใครทำเล่มนี้ต่อหรือไม่นั้น ไม่ทราบเลย

ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คุณทักษิณก็ถือเป็นบุคคลทางการเมืองที่มีทั้งฝ่ายที่รักและชื่นชมมากๆ พอๆ กับที่สะสมฝ่ายตรงข้ามไว้เยอะมาก คือมีคนเกลียดเยอะมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็ว่าได้ ในมุมที่คุณเคยสัมผัสกับคุณทักษิณโดยตรง จะบอกกับคนเหล่านี้อย่างไร

หนึ่ง คือลองมองเขาอย่างหลากหลาย มองให้เห็นหลายๆ มิติ แล้วถ้ายังไม่ชอบเขาอยู่ก็ไม่เป็นไร สังคมควรจะมีความหลากหลาย ซึ่งตอนนี้ก็เป็นแบบนั้นนะ สังคมดีขึ้นมาก ไม่แบ่งฝ่ายขาวฝ่ายดำไปทั้งหมดเหมือนเมื่อก่อน ถือว่ามีความหลากหลายมากขึ้น

สอง ตัวคุณทักษิณที่เราได้สัมผัส ข้อนี้ไม่พูดถึงความคิดทางการเมือง หรือเรื่องเกี่ยวกับการเมืองนะ มีสองเรื่องที่คิดว่าเขายังเป็นแบบนั้นอยู่เท่าที่เราได้เห็น เราว่าลึกๆ เขาเป็นคนใจดี ยังไม่เห็นเขาทำอะไรใครชัดเจนเลย เรารู้สึกว่าเขาพูดจาโผงผาง แต่เราว่าการเห็นในที่สว่างดีกว่าคนไม่พูดแล้วทำลับหลัง 

หรือเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราเห็นจากเมื่อยี่สิบปีก่อน เราสัมภาษณ์แกที่บ้าน แกทำอาหารให้ทานน่ะ เสิร์ฟตลอดเวลาเลย เรื่องเหล่านี้จนปัจจุบัน คนรอบๆ ตัวคุณทักษิณก็ยังบอกว่าคุณทักษิณยังเหมือนเดิมเลย 

ขณะเดียวกัน แกก็เป็นคนโอเพ่นมาก ตอนทำ ตาดูดาวฯ เราบอกว่าเราเขียนแบบไม่อวยนะ แกก็บอกว่าเป็นไปตามนั้น รอบหลังที่ได้คุยกันตอนที่จะทำเล่มสองก็ยังเหมือนเดิมเลย คือถามได้หมดเลย ซึ่งอะไรที่เขาพลาด เขาก็จะบอกและยอมรับว่าเขาพลาด ผ่านไปยี่สิบปี คุณทักษิณยังคงเหมือนเดิม

Fact Box

  • นามปากกาวัลยามาจากหนังสือความรักของวัลยาของเสนีย์ เสาวพงศ์ลัดดาวัลย์บอกว่าวัลยาในความหมายของเธอนั้น หมายถึงความรักที่มีต่อผู้คน ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์ และความรักที่มีต่ออุดมการณ์
  • ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ทักษิณ ชินวัตร ไม่ใช่หน้าใหม่ในทางการเมือง ในแวดวงการเมืองนั้น รู้กันดีว่าทักษิณเป็นผู้สนับสนุนหลักให้กับพรรคประชาธิปัตย์ ในช่วงหลังเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม 2535 และมีเพื่อนสนิทในทางการเมืองที่ชื่อว่าสุเทพ เทือกสุบรรณ’ 
  • กระนั้นเอง ทักษิณเริ่มเข้าสู่แวดวงการเมืองครั้งแรกในปี 2537 ด้วยตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากโควตาของพรรคพลังธรรมในรัฐบาล ชวน หลีกภัย ทักษิณระบุในหนังสือ ตาดูดาว เท้าติดดิน ว่า การเลือกพลังธรรมแทนประชาธิปัตย์ทำให้เขาต้องคลาดกับพรรคประชาธิปัตย์แบบไม่มีวันหวนกลับ
  • หากสโลแกนของพรรคไทยรักไทยคือคำว่าคิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคนก็อาจกล่าวได้ว่า ตาดูดาว เท้าติดดิน ชื่อหนังสือเบสต์เซลเลอร์ในอดีต ก็กลายเป็นสโลแกนติดตัวคนชื่อทักษิณเช่นเดียวกัน
  • ปี 2547 ในยุคทองของทักษิณ มีความพยายามสร้าง ตาดูดาว เท้าติดดิน เป็นละครฟอร์มยักษ์ 7 ตอนจบโดยช่อง 7 สี โดยให้ ภัทรพล ศรีปาจารย์ รับบทเป็น ทักษิณ และ วรัทยา นิลคูหา รับบท คุณหญิงพจมาน ชินวัตร แต่เพราะเกิดความขัดแย้งทางการเมือง และการก่อร่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเสียก่อนในช่วงปลายปี 2548 ละครเรื่องนี้จึงเป็นละครที่ไม่เคยมีโอกาสออกฉาย
Tags: , , , ,