ความสำเร็จในการสร้างอุตสาหกรรมบันเทิงทั้ง K-Pop ในเกาหลีใต้และ J-Pop ในญี่ปุ่น คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า การผลักดันจากภาครัฐเป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ต่อการสร้างอุตสาหกรรม T-Pop ที่แข็งแรงในประเทศไทย
The Momentum ชวน ครูธัญ-ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และอดีตนักออกแบบท่าเต้น มาพูดคุยถึงมุมมองต่อการพัฒนาและสนับสนุน T-Pop ให้ขึ้นมาเป็นอุตสาหกรรมแนวหน้าของประเทศ และมุมมองต่อการแก้ปัญหาประเด็นทางสังคมต่างๆ ในอุตสาหกรรมบันเทิง
คุณรู้จัก T-Pop มากน้อยแค่ไหน มีวงที่ชอบเป็นพิเศษไหม
วง 2002 ราตรี (หัวเราะ) เรามีโอกาสติดตามนักร้องรุ่นใหม่บ้าง แต่ด้วยวัยและอายุก็ไม่ค่อยได้มีเวลาติดตามในช่วงที่ทำงาน โดยส่วนตัวเราไม่ได้ฟังแค่เกิร์ลกรุ๊ปหรือบอยแบนด์ แต่ฟังศิลปินเดี่ยว ศิลปินคู่ด้วย เช่น นิวจิ๋ว เพราะความจริงเราชอบศิลปินดิวาส์ของไทยมาก
ประสบการณ์ของคุณในฐานะนักออกแบบท่าเต้นให้แวดวง T-Pop เป็นอย่างไรบ้าง
ในด้านประสบการณ์ วงการ T-Pop ในประเทศไทยทำให้เราเรียนรู้ชีวิต แต่ในแง่ของการทำงานก็มีความฉุกละหุก หมายถึงศิลปินไทยที่ก้าวเข้ามาสู่วงการหลายคนก็ไม่ได้เรียนรู้การเต้นมาก่อน พอเข้ามาอยู่ในกระบวนการธุรกิจ เขาจะมีเวลาเตรียมตัวสั้นเพื่อผลักดันผลงาน ซึ่งก็สร้างปัญหาให้กับเรา แต่ก็มีศิลปินบางคนที่มีทักษะการเต้นเก่ง อย่างเช่น 2002 ราตรี
มันมี 2 ชั้น คือศิลปินที่ขายเทป ขายซีดี ได้เยอะจะเป็นศิลปินที่ไม่ได้มีภาพลักษณ์เป็นผู้นำในวงการ T-Pop แต่ลักษณะคนที่เป็นผู้นำวงการยอดขายจะไม่ได้ดีเท่า ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าเทียบระหว่างยอดขายของ มาช่า กับนิตยา บุญสูงเนิน คือมาช่า ได้รับความนิยมมากกว่าในแง่ของแฟชั่นหรือวงการบันเทิง แต่ในแง่ยอดขาย นิตยา บุญสูงเนิน ขายได้มากกว่า
เรามองว่าวงการ T-Pop คือภาพลักษณ์บางอย่างที่ตอบสนองคนไทย แต่ว่ามีม่านบางๆ กั้นอยู่ว่า เราจะทำอย่างไรให้ความสำเร็จกับตัวเลขสัมพันธ์กัน แน่นอนว่ามีการผูกขาดบางอย่าง ไม่ได้เปิดกว้าง แต่เราไม่ได้หมายความว่างานที่ผ่านมามันไม่ดี แต่เพราะโครงสร้างที่ทำให้ศิลปินไม่สามารถติบโตและสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ การที่คนคนหนึ่งจะมีแพลตฟอร์มหรือสื่อ ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าถึงจุดนั้นได้ เพราะฉะนั้น แพลตฟอร์มไม่ได้เปิดกว้าง อำนาจการสร้างสรรค์ทั้งหมดจึงไหลไปอยู่ที่คนมีแพลตฟอร์ม ส่งผลให้งานความคิดสร้างสรรค์ในไทยไม่ได้เปิดกว้างจริงๆ
ตัวอย่างเช่น ต้องยอมรับว่าคนทำงานออกแบบท่าเต้นสนุกนะ ทุกคนก็น่ารัก แต่เวลาทำงานพวกเราจะรู้ว่ามีบางเส้นที่เราทำไม่ได้ อย่างท่าลอดขาของ 2002 ราตรี ที่ไปออกงานครั้งแรกในเชิงวัฒนธรรม ก็จะโดนสื่อถามเป็นคอลัมน์เลย ท่าจบที่เจนนิเฟอร์ลอดขาออกมา โดนด่าเลย แต่เราก็ไม่เปลี่ยนนะ (หัวเราะ) อีกตัวอย่างคือตอนที่เราทำงานกับแมทธิว ดีน ที่เป็นพิธีกรมิสแกรนด์ เราก็จะมีท่าแบบโชว์บั้นเด้านิดหนึ่ง หรือมีพาร์ตเอานิ้วชี้บั้นท้าย เราก็จะถูกห้าม แต่เราก็ไม่เปลี่ยนอยู่ดี หรือพี่คริสติน่า อากีล่าร์ เป็นดีวาส์แดนซ์ในประเทศไทย แต่ถ้าเกิดพี่ติ๊นาไปเปิดขาแหกขาแบบมาดอนน่า ก็จะเกิดคำถามว่าพี่ติ๊นาทำตัวไม่เหมาะสมหรือไม่ มันจะมีมิติความเป็นไทยบางอย่างที่ทำให้วงการไทยไปไม่ถึง
แล้วในปัจจุบันค่ายต่างๆ เปิดช่องให้เรื่องนี้มากแค่ไหน
คือเขาก็ไม่ได้ปิด แต่เวลางานเสร็จเขาก็จะแอบมากระซิบหน่อย (หัวเราะ) แต่เราคิดว่ามันเป็นเรื่องเท่นะ คือเวลาที่เราเห็นครูสอนเต้นซ้อม ศิลปินหญิงไทยจะลำบาก เพราะศิลปินเมืองนอกแสดงออกได้เต็มที่ อย่างบียอนเซ่ เวลาเต้นจะมีอิสระมากจนคนมองว่านั่นคือความแข็งแรง เราไม่รู้คนอื่นคิดอย่างไรกับบียอนเซ่ แต่ในฐานะที่เราเป็นกะเทย เรามองว่าสุดฤทธิ์ แต่ลองคิดว่าถ้าเป็นนักร้องไทยมาสะบัดรุนแรงแบบศิลปินต่างชาติ จะถูกมองว่าไม่ได้นะ เยอะไป มันไม่งาม
นอกจากอุปสรรคจากการออกแบบท่าเต้น มีอุปสรรคอย่างอื่นไหมที่คุณคิดว่าเป็นปัญหาต่อการพัฒนาวงการ T-Pop
เราคิดว่าปัญหามันเป็นองค์รวม มีศิลปินหลายคนที่เรารู้สึกว่าฟังเพลงแล้วเสียงร้องคล้ายกัน เพราะเวลาที่เราไปคุยกับเขาส่วนตัว แต่ละคนก็มีเสียง มีสไตล์ของตัวเอง แต่เวลาที่ออกเป็นเพลงไทย เราจะแยกไม่ค่อยออก ซึ่งเราคิดว่าสำคัญ อย่างบียอนเซ่, มารายห์ แครี หรือเลดี้กาก้า ทุกคนจำเสียงได้ เพราะเสียงแต่ละคนมีความเป็นเอกลักษณ์ และความเป็นเอกลักษณ์นั้นถูกคงไว้ในงาน แต่ของไทยจะมีบางอย่างที่ทำให้รู้สึกใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือหากเป็นต่างประเทศเราจะพูดชื่อนักร้องก่อน แต่พอเป็นประเทศไทยเราจะถามว่าค่ายไหน มันจะมีความเป็นค่ายมาก่อน ที่ทำให้คนนึกออกว่า เป็นงานของค่ายนั้นค่ายนี้ เราคิดว่ามันต้องไปไกลกว่านี้ คนฟังควรพูดว่าศิลปินคนนี้นำเสนองานอะไร เสียงเป็นอย่างไร งานโดดเด่นจากอะไร มากกว่าจะมองว่าศิลปินคนนี้ถูกโอบอุ้มด้วยค่ายอะไร
อะไรที่ทำให้ศิลปินไทยไปไม่ถึงแบบศิลปินเกาหลีหรือญี่ปุ่น
ความเป็นไทยที่กักขังความเป็นเพศ อย่างเราสอนเต้น เด็กฝรั่งกับเด็กไทยต่างกันมากเรื่องการเคลื่อนไหวสะโพก เราจะสอนให้ขยับขวา-ซ้าย หน้า-หลัง เป็นการฝึก เด็กฝรั่งจะเคลื่อนไหวได้อย่างไม่เคอะเขิน แต่คนไทยนี่สะโพกออกข้างได้ แต่พอหน้า-หลัง เขินไปหมด ทำไม่ได้ มันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ร่างกายของเราไม่เป็นอิสระ ประกอบกับความรู้สึกความเป็นไทยที่มักจะบอกว่าการเต้นเป็นเรื่องของกะเทยที่ไม่แมน เพราะฉะนั้น ศิลปินบอยแบนด์ในไทยจะมีจำกัด เพราะเขามองว่าผู้ชายต้องเป็นร็อค เราจึงเสียตลาดให้กับเกาหลี
ประเด็นที่สอง คือที่เมืองนอกไม่ได้เรียนเต้นปีสองปีแล้วออกเทป การเรียนเต้นใช้เวลาเป็น 10 ปี และการเข้าไปเรียนเต้นไม่ใช่แค่การเข้าไปจำแล้วได้เลย แต่คือการเข้าไปทำท่านั้นซ้ำๆ จนทำได้ดี แต่เมืองไทยจะใช้วิธีลัด ลองสังเกต ลิซ่า (วง Black Pink) ดูก็รู้เลยว่าเขามีพื้นฐานแน่น ฉะนั้น การเตรียมตัวและความเข้าใจพื้นฐานต้องปลูกฝังแต่เด็ก ซึ่งต้องกลับไปถามว่ารั้วโรงเรียนเรามีการเปิดโอกาสสอนพื้นฐานที่มีคุณภาพไหม ซึ่งครูไทยหลายคนที่ไม่ได้เรียนแต่มาสอนก็มีเยอะ เราคิดว่าการเป็นครูควรมีมาตรฐานระดับหนึ่ง ไม่อย่างนั้นจะเป็นการส่งต่อแบบผิดๆ
ส่วนหนึ่งเป็นวิธีคิดของค่ายที่ไม่ได้คิดจะทำในระยะยาวและทำอะไรเพื่อขายในระดับโลกขนาดนั้นด้วยหรือไม่
เป็นไปได้ แต่เราคิดว่าหลักการของค่ายเพลงประเทศไทยเกิดมาจากกลุ่มของบริษัทที่ทำโฆษณาเป็นหลัก เพราะฉะนั้น กลุ่มบริษัทโฆษณาจะมีลักษณะคิดแพ็กเกจ คิดหีบห่อ คิดภาพรวมที่สื่อสารสู่สังคม ตัวเนื้อหาของดนตรีจึงถูกทำให้เป็นเรื่องรอง ไม่เหมือนศิลปินที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยจิตวิญญาณ มันก็กลับมาตรงที่เราบอกว่า คนจะนึกถึงค่ายก่อนศิลปิน
สมัยก่อนจะมีการสกรีนเทสต์ เพื่อคัดว่าหากเสียงผ่านก็จะให้ลองถ่ายว่าขึ้นกล้องไหม น่าสนใจไหม เป็นเหมือนการสกรีนเทสต์ทั้งนักร้องนักแสดง เราเห็นการแบ่งของศิลปิน คนไหนเน้นเสียงก็จะเสียงดีเลยไป ไม่ได้เน้นภาพลักษณ์มากนัก แต่ก็จะไม่ได้อยู่ในระดับท็อปของประเทศ แต่คนที่มีเสียงด้วย ภาพลักษณ์ด้วย ก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง
แต่ทั้งนี้ เราว่ามันก็เป็นวิธีคิดแบบหนึ่งและก็เป็นปัญหาด้วย เพราะบางทีเราก็สูญเสียคนที่เก่งหรือมีศักยภาพไป เราอาจจะผิดก็ได้ เพราะถ้าเราเลือกคนที่อยากเลือก เขาอาจจะขายไม่ได้ก็ได้ แต่มันก็แลกกัน เรามองว่าการกดไลก์ของคนในเพจต่างๆ ก็สะท้อนบางอย่างของคนในสังคมว่า ยังให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ มันปฏิเสธไม่ได้ ถ้าถามว่าเรามองให้สิ่งนี้เป็นปัญหาไหม เราคิดว่าอยู่ที่ว่าโลกเราจะเดินทางไปอย่างไรมากกว่า เราฟังแค่เพลงหรือเราฟังด้วย ดูภาพด้วย เพราะฉะนั้น งานป็อปคัลเจอร์จึงเป็นงานเสียง ภาพ และวัฒนธรรมที่ต้องประกอบกัน
คุณมองพัฒนาการของวงการ T-Pop จากยุคก่อนถึงตอนนี้อย่างไร
เราคิดว่าตอนสมัยก่อนก็ดีในระดับหนึ่ง ตอนนั้นเรามีไชน่าดอลล์ ที่ดังทั้งในไต้หวันกับไทย ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่หว่าหวา (ไพลิน รัตนแสงเสถียร) เป็นคนไต้หวัน ส่วนเบลล์ (สุภัชญา ลัทธิโสภณกุล) เป็นคนไทย เราเคยไปไต้หวันกับไชน่าดอลล์ด้วย คนกรี๊ดมาก ประสบความสำเร็จมาก หรืออย่าง ทาทายัง ก็ไปดังถึงญี่ปุ่น เรามองว่าประเทศไทยกำลังจะเติบโต แต่ว่าก็หยุดหายไป เหมือนธุรกิจอยู่ไม่ได้ หนึ่งคือการละเมิดลิขสิทธิ์ สื่อเปลี่ยนไป การสานต่อตรงนั้นจึงหยุด แต่เรามองว่าเกาหลีใต้ก็ใช้วิธีแบบเรา คือใช้ศิลปินจากหลายชาติมารวมเป็นเกิร์ลกรุ๊ปหรือบอยแบนด์ ทำให้คนทั้งเอเชียสนใจ เป็นวิธีเดียวกับไชน่าดอลล์ มันคือเรื่องที่ประเทศไทยเหมือนจะไปถึงแต่ไปไม่ถึง แต่มาล่มเพราะการละเมิดลิขสิทธิ์ การเปลี่ยนแปลงของแพลตฟอร์ม ในขณะที่ต่างชาติเขาปรับได้
คนไทยอาจยังละเมิดลิขสิทธิ์อยู่ ยังไม่มีการดาวน์โหลดถูกต้อง อีกเรื่องคือ ประเทศไทยเปลี่ยนเร็วไม่พอ วัฒนธรรมก็ช็อก ประกอบกับตัวเองแบกรับต้นทุนทั้งหมด แต่ต้องทำเพราะคุณต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจหมดเลย อย่างเมืองนอก บริตนี สเปียร์ หรือมารายห์ แครี ก็ทำอัลบั้มแรกๆ เอง ลงทุนทำเอ็มวีเพลงเอง และงานชิ้นนั้นเป็นงานของศิลปิน ค่ายไม่ได้ลงทุน แต่ประเทศไทยค่ายเอาทุกอย่างมาเป็นต้นทุนหมด มันก็หล่อหลอมให้ศิลปินไทยคิดว่าพอเข้าค่ายแล้วค่ายทำให้หมด พอค่ายทำหมดศิลปินเราก็ไม่เข้มแข็ง และไปต่อยาก
จากปัญหาเหล่านี้ T-Pop จะไปสู่ระดับสากลได้ไหม
เราคิดว่าทำได้ เราสามารถสกรีนเทสต์เด็กทั่วเอเชียที่จะบ่มเพาะเขาในเรื่องของความสามารถได้ เราคิดว่าซอฟต์พาวเวอร์ คือการที่ทำให้คนเข้ามาเอนจอยกับวัฒนธรรมของเรา ทั้งหนังและดนตรี ไม่ใช่การยัดเยียดความเป็นไทยไปสู่โลก เพราะคนจะไม่เข้าใจ คนต้องการความสนุก ถ้าเรามีดนตรี มีเนื้อหา มีศิลปินที่มีคุณภาพอยู่ในงาน เป็นเครือข่ายของวัฒนธรรมของหลายประเทศเข้ามาอยู่ด้วยกัน มันจะสำเร็จได้ เราคิดว่าในประเทศไทยมีหลายคนที่มีสายตาแหลมคมที่มองได้ว่าคนไหนจะดังหรือไม่ดัง
ถ้าเราจะทำให้ที T-Pop โด่งดังก็จำเป็นที่จะต้องขายภาพลักษณ์ และทำให้คนอยากมามีส่วนร่วม พอคนอยากมีส่วนร่วม คุณก็จะขายอะไรได้เยอะขึ้นมาก เพราะคนมาเอนจอยกับวัฒนธรรมเราแล้ว แต่ปัญหาตอนนี้คือรัฐบาลไปเข้าใจว่า การขายของ คือขายเม็ดมะม่วงหิมพานต์ คือขายกันตรงๆ เลย มันไม่ใช่ (หัวเราะ) เราต้องมีลิซ่าที่สร้างความบันเทิงก่อน แล้วพอลิซ่าถือกินเม็ดมะม่วงนั่นแหละคนถึงจะซื้อ
จากประเด็นเรื่องเยาวชน ปัจจุบัน T-Pop เดบิวต์เด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะเยอะมาก คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
ส่วนตัวเราคิดว่าอยากให้อายุเกิน 18 ปี ก่อนเพราะว่า หนึ่ง การเป็นศิลปินคือการทุ่มเทและทำงานหนักมาก การเดบิวต์ก่อนอายุ 18 ปี ก็เป็นทางเลือกอีกทาง แต่ที่สุดแล้วมันอาจจะเป็นการใช้แรงงานเด็ก แต่ถ้าสุดท้ายแล้วตัวเขายอม พ่อแม่เขายอม ก็ไปทำอะไรไม่ได้ เราคิดเรื่องการเป็นดาราเป็นเชิงแรงงานทั้งหมดไม่ได้ เพราะมันเป็นโอกาสที่ไม่ได้เกิดกับทุกคน และถ้าเกิดทุกคนแฮปปี้ เขาก็จะโอเค แต่ที่สุดแล้วเราก็ไม่เห็นด้วยกับการใช้แรงงานนะ
เรื่องของรายได้ คนในวงการบันเทิงทำงานหนักมาก หลายกองทำงานเกิน 8 ชั่วโมง คุณมองปัญหานี้อย่างไร
ปัญหานี้ต้องแก้ที่โครงสร้าง เรามองว่าปัญหาเกิดเพราะเงินมันน้อย พอเงินน้อยจึงต้องเร่งให้ถ่ายให้จบภายใน 1 วันหรือ 1 คิว ถ้าไม่จบห้ามต่ออีกวันนะ เพราะฉะนั้น มันจึงนานกว่า 8 ชั่วโมง ส่วนหนึ่งสื่อถูกผูกขาดมันจึงมีอำนาจต่อรองในการกดราคาของคนสร้างสรรค์หรือเปล่า มันก็ไปเป็นทอดๆ ถ้าเกิดแพลตฟอร์ม สื่อ เปิดกว้าง ก็จะมีคู่แข่งเยอะ การกดราคาก็จะไม่เกิด ตอนนี้พอมีการกดราคา คนที่ซวยสุดก็กลายเป็นคนที่ทำงานตัวเล็กๆ ทั้งหมด ส่วนตัวศิลปินก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นอิสระหรือเซ็นสัญญากับค่าย ถ้าเซ็นสัญญากับค่ายค่ายก็รวย หรือคุณไม่ค่อยรวยนักหรอกแต่ได้งาน แต่ถ้าเป็นศิลปิอิสระก็อาจจะรวยแต่ไม่มีงาน
ความจริงเรื่องความร่ำรวยก็ไม่ค่อยเกิดขึ้นกับวงการบันเทิงไทย เหมือนเมืองนอกที่ได้ค่าตอบแทนตั้งแต่งานเก่าๆ แต่เมืองไทยเซ็นสัญญา แสดงแล้วก็จบ มาฉายซ้ำก็ไม่ได้เงิน เราต้องมาคิดว่า ก้อนเค้กตรงนี้เป็นธรรมรึเปล่า ต้องแก้ความเป็นธรรมของโครงสร้างทั้งหมด เรามีกฎหมายควบคุมอย่างไรก็ตาม มันจะถูกปฏิเสธในการใช้ เพราะว่าที่สุดก็จะเกิดกรณี ‘หยวนๆ’ กัน เช่น ถ้าเธอจะฟ้องฉัน ฉันก็ไม่ใช้งานเธอ มันยังมีลักษณะแบบนี้อยู่ ลองคิดดู ถ้าคุณเป็นดารา แล้วคุณไม่ยอมให้สิทธิในการแสดงกับค่าย คิดว่าจะได้งานไหม เราก็จะเห็นข่าวดาราตกอับ เขาไม่ได้ตกอับเพราะตัวเขานะ แต่เขาตกอับเพราะโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม
นโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของพรรคก้าวไกลจะมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาตรงนี้ได้อย่างไรบ้าง และจะช่วยพัฒนาวงการ T-Pop อย่างไร
ตอนนี้ถ้าพูดถึงนโยบายของพรรค จะเป็นเรื่องของการร่างกฎหมายเกี่ยวกับภาพยนตร์ ซึ่งของเดิมเป็นลักษณะควบคุม มีพระกับสีกาก็จะแบน เรื่องอ่อนไหวก็จะแบน ซึ่งมันไม่เปิดโลกทัศน์ กฎหมายเราจะไม่ไปควบคุมแต่จะเข้าไปส่งเสริม และก็พูดถึงในเรื่องของการแบ่งเงินจากตัวหนังมาทำกองทุนให้กับผู้สร้างหนังรายใหม่ อันนี้ก็จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะมาเปิดโอกาสให้คนหน้าใหม่เข้าสู่วงการ เพื่อที่จะนำเสนอความคิดสู่สังคม และเราจะเปลี่ยนการใช้จ่ายงบประมาณ 5 พันล้านของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมันค่อนข้างยาก เพราะมีหลายฝ่ายได้ประโยชน์
เราตั้งเป้าไว้ว่าเราจะผลักดันเรื่องภาพยนตร์ ในเรื่องของ CEA (Creative Economy Agency) ซึ่งอยู่ใต้สำนักนายกฯ อันนี้ก็จะเป็นเอเจนซี่ผลิตสินค้า เราต้องกลับมามองว่าเราจะขายแบบไหน เราสามารถทำให้มันเป็นตัวผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ได้ไหม ส่วนเรื่องดนตรี ตอนนี้ยังอาจจะยังไม่ได้เป็นนโยบาย แต่เรากำลังสร้างเครือข่ายวัฒนธรรมอยู่ มันสามารถเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย เรามีคนเก่งๆที่สามารถสกรีนเทสต์เด็กได้ อย่างลิซ่าก็เคยมารายการ LG entertainer ซึ่งเราทำ เราก็จะเห็นว่าการคัดเด็กมีวิธีอย่างไร หรือกระทรวงการต่างประเทศพูดคุยเปิดช่องทางในการฉายหนังไทย การนำนักแสดงมาร่วมมือกัน การเรียนภาษา ซึ่งคิดว่าเราสามารถทำได้
คุณคิดว่าเราจะสามารถผนวกวงการ T-Pop ให้เชื่อมโยงกับมิติของกระทรวงวัฒนธรรมที่ไม่ใช่แค่วงการบันเทิงได้ไหม
เราคิดว่าใจความสำคัญคือทำอย่างไรให้คนเข้ามาสนุกกับเราได้ก่อน คือ จังหวะ ซาวนด์ ดนตรี ทุกอย่างต้องสากล เราอาจต้องละทิ้งความเป็นไทยลงบ้าง เพื่อก้าวไปสู่สากลจริงๆ ดูว่าทั่วโลกกำลังนิยมะไร แน่นอนว่าเอกลักษณ์ของบ้านเราอย่างเพลงสามช่า เพลงลูกทุ่งของเราก็ดี ก็ต้องคิดว่าจะผสมผสานอย่างไรให้มันไปได้ อย่างเพลงแน่นอก (3-2-1 feat.ใบเตย อาร์สยาม) การร้องเป็นลูกทุ่ง ดนตรีเป็นแดนซ์ คนไทยก็ชอบ เราก็ขยายไปอีกได้ ให้เป็นแดนซ์ที่มีความสากล อาจจะกลายเป็นนักร้องลูกทุ่งในเพลงฮิปฮอปก็ได้ มีหลายสิ่งที่เราทำได้ ศิลปะไม่มีอะไรผิดหรือถูก แต่ต้องพร้อมที่จะทดลองได้ในหลายๆ รูปแบบ และเราต้องไม่กลัวในการทดลอง
มีเยาวชนจำนวนมากสนใจในอุตสาหกรรมนี้ แต่ก็มีน้อยคนจะประสบความสำเร็จ ภาครัฐจะช่วยผลักดันเยาวชนในวงการนี้ให้ไปถึงฝั่งฝันได้อย่างไรบ้าง
เริ่มจากเรื่องการเต้น เราคิดว่าเรื่องเต้นในไทยจะน้อย เราอยากให้มีการเรียนบัลเลต์เรียนที่เป็นพื้นฐานก่อน เหมือนเวลาเรียนคัดลายมือ เราต้องเขียน ก.ไก่ ให้สวยก่อน ยังไม่ต้องเขียนประโยค ต้องทำพื้นฐานให้แม่นก่อน สอง เรื่องค่าตอบแทน คือคนมองว่าความบันเทิงเป็นเรื่องเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสให้แล้ว ดังนั้น เงินไม่ต้องให้ก็ได้ แต่เงินทั้งหลายต้องมีด้วย คนชอบมองว่างานบันเทิงไม่เห็นต้องทำอะไร ก็แค่ขึ้นไปเต้นๆ แต่ไม่ได้คิดว่า คนที่ขึ้นไปแสดงต้องเรียนกันมาหนักแค่ไหน พอเขาขึ้นไปเพื่อได้เงิน 800 บาท หรือร้องเพลงกลางคืนได้คืนละ 600 บาท ก็จะท้อ คนมักจะลืมว่าความสนุกที่คุณต้องการมันมีต้นทุน ดังนั้น ต้องเปลี่ยนวิธีคิด
เด็กเยาวชนไทยต้องไปหาเวทีขึ้น แล้วผู้จัดก็จะคิดแค่ว่า ฉันอุตส่าห์ให้ขึ้นแล้ว แต่เขาไม่ได้คิดว่าเด็กเหล่านั้นสร้างความบันเทิง เขามองว่าความบันเทิงไม่มีค่าอะไรเลย
เวทีแสดงออกค่อนข้างน้อย คนจะมองว่ามีแค่ร้านเหล้า โทรทัศน์ไม่กี่ช่อง หรือ คอนเสิร์ตใหญ่ไปเลย คุณมองเรื่องนี้อย่างไร
กลับไปที่เรื่องโครงสร้างเหมือนเดิม ถ้าพูดถึงเฉพาะในสื่อ ถ้าไม่มีเวทีก็แปลว่ามันทำเงินไม่ได้ ดังนั้น หมายถึงว่าคนดูอยากดูต้นฉบับ ไม่ได้อยากดูวงคัฟเวอร์ ก็ต้องกลับมาถามว่าทำไมเด็กกลุ่มนี้ไม่มีต้นฉบับของตัวเอง ซึ่งก็แปลว่าเรายังไม่ได้สร้างสรรค์ให้เด็กเข้าใจความเป็นต้นฉบับใช่ไหม การเต้นคัฟเวอร์ไม่ใช่ว่าไม่ดี มันเป็นแบบฝึกหนึ่งที่ทำให้เก่ง แต่ที่สุดแล้วการจะไปเป็นแนวหน้าได้ คุณต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง เป็นต้นฉบับ
ทุกคนก็เกิดจากการเลียนแบบทั้งนั้น ทั้งดนตรีหรือเต้น แต่วันที่คุณเติบโตถึงจุดหนึ่ง คุณเจอเสียงตัวเองหรือเปล่า ทำในแบบของตัวเองได้หรือเปล่า ที่สุดแล้ว อะไรที่ไม่เป็นต้นฉบับจะไปไม่สุด ก็กลับมาตรงวัฒนธรรมที่เราไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กมีความเป็นต้นฉบับ อย่างเสียงร้องยังเหมือนกันอยู่ คุณจะดูอะไรระหว่างศิลปินระดับโลก หรือศิลปินไทยที่เต้นตาม เพราะฉะนั้น ความเป็นต้นฉบับจึงเป็นเรื่องสำคัญ
คุณมองปัญหาแฟนคลับที่อาจจะแสดงออกในทางที่ก้าวล่วงศิลปินมากเกินไปอย่างไร
พูดยากนะ เพราะมันมีเรื่องเพศมาเกี่ยวข้อง ถ้าพูดถึงศิลปินที่เป็นซูเปอร์สตาร์ชาย การมีผู้หญิงมากรี๊ดกร๊าดจะไม่ได้ถูกมองว่าไม่ดี ยกเว้นถ้าถึงขั้นจับที่สงวน ในทางกลับกัน ถ้าเป็นศิลปินหญิง คนที่ชื่นชอบส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้หญิงอีกเหมือนกัน ฉะนั้นก็จะมีลักษณะแบบเพื่อนผู้หญิงด้วยกัน แต่ประเด็นคือ คนที่เป็นสตาร์ก็มีเส้นที่ว่าแตะตัวได้แค่ไหน ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องยอมรับ เพราะเขาเป็นคนให้ความบันเทิง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาตีความสิ่งเหล่านั้นอย่างไร เขาโอเคหรือไม่ แต่ละคนก็จะมองต่างออกไป
คุณคิดว่าวงการ T-Pop และวงการบันเทิงไทยโดยรวมยังมีวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่มากแค่ไหน จะทำอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้นในวงการ
เราคิดว่ามันค่อยๆ ขยับ แต่มันเป็นวัฒนธรรมไง อย่างเช่น ผู้ชายจะประสบความสำเร็จได้ง่ายกว่า ใส่เสื้อยืดดีดกีตาร์ ร้องเพลงกลางๆ ก็ดังได้ แต่ผู้หญิงต้องลดความอ้วน ต้องเสียงดี ต้องควบคุมโน้ตสูงได้ดี ต้องโกรกผม ที่สำคัญต้องสวยด้วย เวลาถ่ายเอ็มวีก็ต้องห้ามจิบน้ำหวาน กินผักเท่านั้น เพื่อจะได้ขึ้นกล้อง และต้องเก่งด้วยนะ เก่งจนกะเทยชอบ เพราะถ้าไม่เก่งจนกะเทยชอบ ผู้หญิงก็จะไม่ชอบ จะหมั่นไส้ นี่คือความไม่เท่าเทียมทางเพศเลย
ผู้หญิงต้องทำอะไรมากมาย เพราะสุดท้ายแล้วโลกของ T-Pop คนที่เป็นตลาดคือผู้หญิง แล้วยิ่งถ้าเป็นกะเทย ต้องเก่งแค่ไหนล่ะ เพราะกะเทยด้วยกันก็กดทับกันเองเลย คุณคิดว่ากะเทยจะดูกะเทยด้วยกันหรือดูบียอนเซ่ เพราะฉะนั้น มันมีความซับซ้อนเรื่องเพศ ความไม่เท่าเทียมทางเพศก็กลับมาที่เรื่องความสำเร็จที่มาจากมวลชน ถ้ามวลชนใหญ่ยังเป็นผู้หญิงที่ยังไม่ตระหนักถึงเรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศและความหลากหลาย ผู้ชายก็จะยังเป็นผู้ชนะในวงการอยู่
อยากให้คุณลองเลือกศิลปิน 2-3 วงที่ชื่นชอบ
เราไม่ได้ชอบแบบวง แต่ชอบแบบปัจเจก เราชอบ ปนัดดา เรืองวุฒิ เพราะสิ่งที่เขาร้องทุกอย่างมันใช่หมดเลย ความสามารถเขาไประดับสากลได้ เพลง ‘ดาวกระดาษ’ เป็นแค่พาร์ทหนึ่งที่คนรู้จักเขา แต่เขาร้องทุกอย่างตั้งแต่ฮิปฮอปยันอาร์แอนด์บี หรือคนที่ร้องเพลงได้จัดจ้านอย่างอย่างครูปุ้ม (อรวรรณ เย็นพูนสุข) วง สาวสาวสาว
สุดท้ายก็จะวกกลับมาที่คำถามคือ เวลามองใคร เรามองแค่ว่าคนนั้นแจ๋วหรือไม่แจ๋ว และถ้าเขาแจ๋วจริง ไม่มีอะไรมาขวางกั้นเขาได้หรอก
มันสะท้อนว่ายังมีคนไทยอีกหลายคนที่มีความสามารถจะเฉิดฉายได้ในวงการนี้ แต่ยังไม่ถูกสนับสนุนอย่างถูกที่ใช่ไหม
ใช่ เราคิดว่ามีศิลปินอีกหลายคนที่เก่งมากๆ แต่มีอะไรหลายอย่างที่ฉุดรั้งเขาอยู่
Tags: Close-Up, T-POP, T-Pop Back on Top, ครูธัญ, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์