ไทยก็ยอมตามใจไม่ดึงดื้อ เพราะไทยถือเขมรผองเหมือนน้องพี่
คิดตกลงปลงกันได้ด้วยไมตรี ถึงคราวนี้ใจเขมรแลเห็นกัน
หากไทยจำล้ำเลิกบ้างอ้างขอบเขต เมืองเขมรทั้งประเทศของใครนั่น?
ใครเล่าตั้งวงศ์กษัตริย์ปัจจุบัน องค์ด้วงนั้นคือใครที่ไหนมา?
เชื่อเหลือเกินว่า หากพูดถึงความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา สองประเทศเพื่อนบ้านแห่งเอเชียอาคเนย์ที่มีอายุ 75 ปี หลายคนคงนึกถึงบทประพันธ์สุดคลาสสิกของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งเกิดข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชาในปี 1962 ที่เกิดเรื่องราวใหญ่โต จนมีการนำเรื่องขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice: ICJ)
เกือบ 8 ทศวรรษตั้งแต่เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 1950 จนถึงปัจจุบัน หากนับเป็นช่วงอายุของมนุษย์ ไทยและกัมพูชาคงมีความสนิทชิดเชื้อและเข้าอกเข้าใจกันอย่างดี แต่ในความเป็นจริง ร่องรอยความสัมพันธ์กลับเต็มไปด้วยรอยร้าว ทั้งในทางประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม วัฒนธรรม และการแย่งชิงอัตลักษณ์ของชาติ
ไม่ใช่แค่สงครามน้ำลายบนโลกอินเทอร์เน็ตของสองชาติ จนเกิดคำศัพท์ฮอตฮิตอย่าง ‘โจรสยาม’ และ ‘เคลมโบเดีย’ ที่ต่างฝ่ายต่างปะทะคารม ไม่ยอมลดราวาศอกในการถกเถียง บางครั้งเหตุการณ์ลุกลามเลวร้ายนำไปสู่ความรุนแรงในชีวิตจริง ดังกรณีเหตุจลาจลเผาสถานทูตไทยประจำกรุงพนมเปญในปี 2003 จากปมข่าวปลอม หรือการปะทะบริเวณชายแดนระหว่างทหารไทยกับกัมพูชาจากข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหารในปี 2011
‘รู้เขารู้เรา’ ในบทความนี้ อาจไม่ได้เป็นกลยุทธ์ที่ใช้ด่าทอเพื่อเอาชนะอีกฝ่ายด้วยความสะใจ แต่คือการเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะการทำความเข้าใจวิธีคิดและประวัติศาสตร์ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างถ่องแท้ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ถูกหลงลืมในหลายบทสนทนา
The Momentum พูดคุยกับ ยิ่งยศ บุญจันทร์ อาจารย์ประจำภาคประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในภาพรวมของความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาตลอด 75 ปี โดยมองภาพความขัดแย้งจากมุมมองของกัมพูชา ทั้งวิธีคิด กระแสชาตินิยม ความเข้าใจของคนในชาติ และประวัติศาสตร์ที่ถูกลืม
ไทย-กัมพูชา: มิตรภาพบนเงื่อนไขความขัดแย้ง
‘มิตรภาพบนเงื่อนไขความขัดแย้ง’
คือลักษณะความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาตลอดทั้ง 75 ปีในมุมของยิ่งยศ กล่าวคือ ในช่วงแรกทั้งสองประเทศเริ่มต้นผูกสัมพันธ์อย่างฉันมิตร ต่างฝ่ายต่างให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น ในปี 1953 สมเด็จนโรดมสีหนุ (Norodom Sihanouk) กษัตริย์แห่งกัมพูชา เคยรับความช่วยเหลืออาวุธปืนล่าสัตว์จากรัฐบาลไทย ใช้ฝึกทหารเพื่อปกป้องความมั่นคงของชาติ หลังพนมเปญมีข้อตกลงกับสหประชาชาติ (United Nations: UN) ว่า จะไม่รับความช่วยเหลือทางการทหารจากประเทศอื่น ขณะที่กัมพูชาเคยจัดส่งข้าวเจ้า 100 กระสอบ, ปลากรอบ 400 แผง และเงินช่วยเหลือ 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุเพลิงไหม้ในกรุงเทพฯ ปี 1958
ทว่าด้วยบริบทระหว่างประเทศในขณะนั้นอย่าง ‘สงครามเย็น’ ที่มีการแข่งขันทางอุดมการณ์ระหว่างสหรัฐอเมริกา ผู้นำโลกเสรี กับสหภาพโซเวียต ผู้นำโลกคอมมิวนิสต์ ทำให้ความสัมพันธ์ฉันมิตรเป็นอันต้องชะงักกลางคัน หลังไทยและกัมพูชาดำเนินนโยบายแตกต่างกัน โดยฝ่ายไทยเลือกข้างกลุ่มโลกเสรีที่มีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ ขณะที่ฝั่งกัมพูชาวางตัวเป็นกลาง (Non Aligned Movement: NAM) ไม่อยู่ฝ่ายใดทั้งโลกเสรีและคอมมิวนิสต์ โดยสีหนุเชื่อว่า กัมพูชาต้องทำเช่นนี้ เพราะเป็นประเทศเล็กและอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของอินโดจีน
อย่างไรก็ตามทางการไทยเห็นว่า ไม่มีประเทศไหนในโลกที่เป็นกลางได้จริง เพราะแม้กัมพูชาจะรับความช่วยเหลือจากทั้งสองฝั่ง แต่ก็มีท่าทีโน้มเอียงไปหาฝั่งสังคมนิยมมากกว่า ขณะที่ในมุมของทางการไทย กัมพูชาเป็นด่านหน้าสุดท้ายป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนและไทย ทำให้รัฐบาลขณะนั้นจึงสนับสนุนกลุ่มเขมรอิสระ ซึ่งเคยเป็นขบวนการเรียกร้องเอกราชที่สกัดกั้นลัทธิดังกล่าว โดยจาก CIA หลักฐานพบว่า ไทยมีส่วนร่วมกับแผนการกรุงเทพฯ ร่วมกับสำนักข่าวกรองกลางสหรัฐฯ และเวียดนามใต้ เพื่อล้มล้างรัฐบาลของสีหนุ
ภาพความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชาถูกฉายให้เห็นในเหตุการณ์ถึงแก่อสัญกรรมของ จอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ผู้นำสหรัฐฯ, โง ดินห์ เดียม (Ngo Dinh Diem) ผู้นำรัฐบาลเวียดนามใต้ และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้นำรัฐบาลไทย ที่เสียชีวิตในเวลาใกล้เคียงกัน ปรากฏว่า สมเด็จสีหนุประกาศแสดงความยินดีอย่างเป็นทางการต่อการจากไปของบุคคลทั้งสามว่า ผู้นำทั้งสามคนกำลังประชุมกันในนรก โดยพระองค์สั่งให้จัดงานมหรสพ พร้อมทั้งเชิญชวนประชาชนให้ออกมาเฉลิมฉลองที่จัตุรัสกลางเมืองเพื่อชมการแสดงดนตรียามค่ำคืน และอนุญาตให้ข้าราชการลางานได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นความเกลียดชังอย่างรุนแรง
แม้ในปัจจุบันสงครามเย็นสิ้นสุด รัฐทั้งสองฝ่ายพยายามประนีประนอมกัน แต่อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ก็ยังมองว่า ความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชายังซ่อนอยู่ใต้พรม เพราะนอกเหนือจากประเด็นด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม สองประเทศยังเป็นคู่แข่งด้านเศรษฐกิจอย่างการส่งออกข้าว ทำให้ไทยและกัมพูชาต้องแย่งชิงตลาดกันเองในหลายครั้ง
สังคมราษฎร์นิยม: ยุคแห่งความขัดแย้ง ชาตินิยม และเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจ
แม้หลายคนมักคุ้นกับเหตุการณ์ร่วมสมัยอย่างการเผาสถานทูตและกิจการของคนไทยในกัมพูชาเมื่อปี 2003 หรือข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหารที่กินระยะเวลายาวนาน แต่ยิ่งยศกลับมองว่า หากมองภาพรวมทางการเมืองของกัมพูชาทั้ง 5 ยุค โดยแบ่งตามช่วงเวลาการปกครองและรัฐบาล ได้แก่
1. ยุคสังคมราษฎร์นิยม (Sangkum Reastr Niyum) ระหว่างปี 1955-1970
2. ยุคสาธารณรัฐเขมรหรือสมัยลอน นอล (Khmer Republic or Lon Nol’s period) ระหว่างปี 1970-1975
3. ยุคกัมพูชาประชาธิปไตยหรือสมัยพอล พต (Democratic Kampuchea or Pol Pot’s period) ระหว่างปี 1975-1979
4. ยุคสาธารณรัฐประชาชนกัมพูชาและรัฐกัมพูชา (People’s Republic of Kampuchea and State of Cambodia) ระหว่างปี 1979-1993
5. ยุคราชอาณาจักรกัมพูชา (The Royal Government of Cambodia) ระหว่างปี 1993-ปัจจุบัน
ความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศตึงเครียดมากที่สุดในยุคสังคมราษฎร์นิยม หรือยุคของสมเด็จสีหนุที่กินระยะเวลายาวนานถึง 15 ปี โดยครั้งหนึ่ง สุรพงษ์ ชัยนาม อดีตเอกอัครราชทูตหลายประเทศ เคยนิยามไว้ว่า เป็นช่วงเวลาที่ไทย-กัมพูชามีความสัมพันธ์ตกต่ำและเลวร้ายมากที่สุด เพราะเต็มไปด้วยการใส่ร้ายป้ายสี การใช้กำลังทหารบริเวณชายแดน และความรุนแรง
สาเหตุที่ยุคสังคมราษฎร์นิยมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง นอกจากนโยบายที่สวนทางระหว่างไทยกับกัมพูชาจากบริบทสงครามเย็น สีหนุยังต้องเผชิญความไม่มั่นคงจากทางการเมืองภายใน หลังเกิดแนวคิดล้มสถาบันกษัตริย์ของพรรคประชาธิปไตยกัมพูชาในปี 1952 ซึ่งมีข้อเสนอให้สีหนุย้ายไปต่างประเทศ และเปลี่ยนแปลงให้กัมพูชาปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบประธานาธิบดี ทำให้พระองค์หวั่นภัยทางการเมือง และขึ้นมามีอำนาจในฐานะผู้นำประเทศ ด้วยการรวบอำนาจพรรคการเมืองต่างๆ ให้อยู่ภายใต้พรรคการเมืองเดียวคือพรรคสังคมราษฎร์นิยม
อย่างไรก็ตามภายในกลุ่มก้อนของสีหนุเต็มไปด้วยความขัดแย้ง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการรับสินบนที่พระองค์แก้ไขไม่ได้ ทำให้ถูกตั้งคำถามในฐานะผู้นำประเทศ โดยอาจารย์ประวัติศาสตร์มองว่า ในเวลานั้น วาทกรรมไทยในฐานะ ‘ผู้ร้าย’ และ ‘ศัตรู’ ในมุมมองของกัมพูชา ได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เพราะสีหนุไม่มีทางเลือก ต้องทรงนำปัญหาดังกล่าวมาสร้างความรู้สึกชาตินิยม เพื่อประนีประนอมกับความขัดแย้งทางการเมือง เบี่ยงเบนความสนใจคนในชาติต่อผลงานบริหารประเทศ รวมถึงเป็นการตอบโต้ไทยที่ดำเนินนโยบายต่างประเทศคุกคาม
“จะเห็นได้ว่าในช่วงเวลานั้น พระองค์ทรงเลือก ‘หยิบ’ เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และเหตุการณ์ร่วมสมัยมาเล่าอย่าง ‘ตั้งใจ’ ผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งการเสด็จพระราชดำเนินเพื่อพบปะและปราศรัยกับราษฎรโดยตรง การควบคุมสื่อมวลชนให้นำเสนอภาพของไทยตามพระราชประสงค์ การสอดแทรกภาพของไทยผ่านแบบเรียนประวัติศาสตร์ รวมถึงการอาศัยมหรสพการแสดงเป็นสื่อถึงประชาชน
“การปลูกฝังความคิดของสีหนุเกิดขึ้นผ่านพระราชดำรัสและพระราชนิพนธ์ ซึ่งต่อมากลายเป็นหนังสือแบบเรียน โดยมีการหยิบยกประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยอาณานิคมว่า ในอดีตพระนครเคยรุ่งเรือง แต่ไทยเป็นชนชาติมาทีหลัง กลับมาบ่อนทำลาย ทำบ้านแตกสาแหรกขาด และไม่เคยปล่อยให้กัมพูชาปกครองตนเองได้เลย
“แบบเรียนของสีหนุยังมีเรื่องร่วมสมัย โดยกระทรวงการศึกษาที่อยู่ภายใต้การดูแลของพระองค์อธิบายว่า แม้เป็นเรื่องปัจจุบันร่วมสมัย แต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกัมพูชา สมควรได้รับการบันทึกลงในแบบเรียน ซึ่งก็คือเรื่องของปราสาทเขาพระวิหาร โดยปูประเด็นว่า ไทยยกกำลังไปเมื่อไร ทำไมที่ตรงนี้จึงเป็นของกัมพูชา การเคลื่อนไหว หรือการตัดสินใจศาลโลกเป็นอย่างไร ไทยทำอะไรเป็นเท็จบ้าง
“อันที่จริง แบบเรียนดังกล่าวยังดำเนินมาถึงปัจจุบัน แต่ไม่ได้ให้ภาพว่าไทยเป็นผู้ร้ายชัดเจน หากแต่ให้ข้อเท็จจริงว่า เหตุการณ์เกิดขึ้นตอนไหน มีรายละเอียดอย่างไร แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ยังคงปรากฏภาพไทยเป็นฝ่ายรุกรานกัมพูชามาเสมอ ตั้งแต่อดีตสมัยพระนครจนถึงปราสาทเขาพระวิหาร
“นอกจากนี้ ยังมีวรรณกรรมที่ให้ภาพอะไรบางอย่าง เช่น พระบาทพญายาต ของโข๊ย ฬูด (Kuy Lauth) สมาชิกสมาคมนักนิพนธ์เขมร ตีพิมพ์เมื่อปี 1966 ที่นำเสนอภาพของไทย ในฐานะผู้รุกรานกัมพูชา แต่เพราะความสามัคคีของประชาชน ทำให้ขับไล่กองทัพไทยออกไปได้
“นอกจากนี้ในบทนำมีคำสำคัญว่า ผู้เขียนเขียนเรื่องนี้ขึ้นตอนที่ประเทศกำลังเผชิญกับการรุกรานของไทยที่เขตบันทายมีชัย โดยมีนายทหาร 2 นายเสียชีวิตจากการสู้รบ” อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์กัมพูชาอธิบาย
ผลจากการปลุกระดมทางความคิดของสีหนุที่เห็นผลได้รวดเร็วคือ เหตุการณ์เดินขบวนแสดงสัญญะต่อต้านมากกว่า 5 หมื่นชีวิตในเดือนมีนาคม 1958 หลังสีหนุกล่าวว่า ไทยและอังกฤษกล่าวดูถูกกัมพูชา แม้ข้อเท็จจริงหนังสือพิมพ์ไทยกล่าวด่าทอเพียงพระองค์เท่านั้น
ยิ่งยศชี้ว่า ประเด็นที่น่าสนใจจากการชุมนุมครั้งนั้น สะท้อนให้เห็นถึงภาพลักษณ์ของไทยในสายตาชาวเขมรว่า เป็นผู้รุกรานและบ่อนทำลายความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งยังขยายผลประท้วงลุกลามในเรื่องอื่น เช่น กรณีพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร การแทรกแซงการดำเนินนโยบายเป็นกลางและไม่เข้าร่วมกับฝ่ายใด และการสนับสนุนขบวนการเขมรอิสระให้ก่อความไม่สงบภายในประเทศ
“ขอให้คนทรยศที่ขายตัวต่อคนต่างชาติจงฉิบหาย”
“เจ้าฟ้านโรดมสีหนุเป็นผู้นำแห่งชาติของเรา”
“เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชาโดยชอบธรรม”
“คนเขมรมอบโชคชะตาของประเทศไว้ในพระหัตถ์ของเจ้าฟ้านโรดมสีหนุ บิดาแห่งเอกราช”
คือประโยคในป้ายประท้วงที่แสดงให้เห็นว่า การชุมนุมเพื่อต้านไทยสอดคล้องกับการสนับสนุนให้สีหนุอยู่ในอำนาจต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมตั้งแต่สมาชิกสภาสูง ตำรวจ ทหาร ยุวชนราชสังคมนิยมเขมร นักเรียน คณะผู้แทน และประชาชนจากเขตกันดาล กำปงจาม กำปงสปือ กำปอด สวายเรียง ฯลฯ ถือว่าพระองค์ประสบความสำเร็จในการสร้างความหมาย และถ่ายทอดความคิดที่มีต่อไทยอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกันหากมองจากมุมไทย ประเด็นความเกลียดชังกัมพูชาก็ได้กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองสร้างความชอบธรรมของจอมพลสฤษดิ์อยู่ในอำนาจ โดยเอกสารของ CIA ปรากฏหลักฐานว่า จอมพลสฤษดิ์คิดว่า ข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหารเกิดขึ้นถูกเวลา เพราะทำให้สามารถอาศัยจังหวะปฏิวัติ พลเอก ถนอม กิตติขจร และเบี่ยงเบนความสนใจประชาชน โดยมีการปลุกปั่นวาทกรรมผ่านวิทยุกระจายเสียงว่า สักวันปราสาทเขาพระวิหารจะกลับมาเป็นของไทย หรือมุกตลกที่แสดงความเกลียดชังว่า ‘สีที่น่าเกลียดที่สุด คือ สีหนุ’
จากยุค ‘สังคมราษฎร์’ สู่ ‘สังคม 5.0’
เข้าใจความขัดแย้งไทย-กัมพูชาจากมุมมองของเพื่อนบ้าน
จะเห็นได้ว่า สีหนุปลุกระดมกระแสชาตินิยมด้วยวาทกรรมของเจ้าอาณานิคม แสดงว่า กระแสชาตินิยมกัมพูชามีอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว
ใช่ กระแสชาตินิยมที่สีหนุใช้มีรากเหง้าจากเจ้าอาณานิคมอย่างฝรั่งเศส เช่น ในวงวิชาการมีการศึกษาวรรณกรรมคำสอน มีเรื่องที่ชื่อว่า คำสอนของตามาส ว่าด้วยเรื่องของตามาสที่อยู่ในภาวะบ้านแตกสาแหรกขาด เพราะไทยและเวียดนามทำสงครามรุกราน แต่ไทยจะเป็นศัตรูหลักของคำสอน
ถึงแม้กัมพูชาจะตกเป็นอาณานิคม แต่ฝรั่งเศสเชิดชูวัฒนธรรมกัมพูชา เขามองว่า ข้าพเจ้าคือคนผิวขาว เข้ามาในเอเชียตะวันเฉียงใต้เพื่อพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมเป็น ‘ผู้หักร้างถางพง’ นำเอาความเจริญในอดีตมาสู่สายตาชาวโลก
ความคิดตรงนี้สะท้อนจากการจัดงาน Paris Colonial Exhibition ที่ฝรั่งเศสจำลองปราสาทนครวัดไปจัดแสดง หรือการที่ฝรั่งเศสให้การสนับสนุนทางด้านวัฒนธรรม อย่างการตั้งสถาบันพุทธศาสนบัณฑิตเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมความรู้ทั้งหลายทั้งนิทานและตำนาน ครอบคลุมส่วนของลาวด้วย
การที่ฝรั่งเศสมองตนเองเป็นเหมือนฮีโร่ เข้ามาหยุดการแทรกแซงและการครองดินแดนของ 2 ฝ่าย ช่วยรื้อฟื้นวัฒนธรรมและรักษากัมพูชาให้อยู่ต่อไป สีหนุสามารถนำเรื่องพวกนี้มาเล่าต่อ และเสริมเนื้อหาเหตุการณ์ร่วมสมัย ซึ่งย้ำแล้วย้ำอีกว่า ไทยไม่เคยเลิกนิสัยแบบนี้เลย มันเป็นนิสัยของพวกละโมบ ขี้โกง ฉ้อฉล เชื่อไม่ได้ โดยเปรียบเปรยว่า ไทยกระทำกับกัมพูชาไม่ต่างจากฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ทำกับยิว
จากการปลูกฝังซ้ำๆ สิ่งที่น่าสนใจคือ ประชาชนเชื่อสีหนุ เพราะความเชื่อดังกล่าวสวมทับกับสิ่งที่คนคิดอยู่แล้ว หากย้อนไปดูนิทานพื้นบ้านเขมร จะพบร่องรอยทัศนคติต่อไทยในเชิงลบแต่เดิมว่า ไทยเป็นพวกเอาผลประโยชน์จากกัมพูชา เช่น เรื่อง พระโคพระแก้ว ตำนานพื้นบ้านที่พูดถึงภาวะที่สยามเข้ามารุกรานเขมร หรือนักตาคลังเมือง ตำนานกองทัพผีช่วยกัมพูชาต้านไทย ซึ่งเป็นรากทางความคิดของกัมพูชาอยู่แล้ว แต่พอฝรั่งเศสปลูกฝัง ซ้ำต่อด้วยสีหนุก็ยิ่งรุนแรง ความคิดนี้จึงยิ่งสวมทับกันพอดี
ถ้าวิเคราะห์เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ ผมคิดว่า มันคือความรู้สึกย้อนแย้ง ครั้งหนึ่งกัมพูชาเคยรุ่งเรือง แต่ทำไมเหตุการณ์ในช่วงอดีตจนถึงปัจจุบันจึงมีสภาพแบบนี้ มันคือการโหยหาอดีต จึงเกิดคำถามว่า ใครเป็นตัวการ คำตอบคือไทย จึงทำให้คนเขมรมีความรู้สึกลึกๆ อยู่ แต่ความรู้สึกแบบนี้จะไม่ออกมา ถ้ามันไม่ถูกกระตุ้น
มีหลายประเทศที่กัมพูชามีความขัดแย้งด้วยเช่นเวียดนาม ทำไมไทยจึงกลายเป็นเป้าโจมตีรุนแรงที่สุด
ต้องเล่าว่า ชาวเขมรเองก็มีภาพความจำที่เลวร้ายต่อเวียดนาม เอาเข้าจริงกัมพูชาถูกกระทำจากเวียดนามมากกว่าไทยด้วยซ้ำ เช่นมีนิทานพื้นบ้านที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับเวียดนามเกณฑ์ชาวเขมรไปขุดคลองวิญเต๊ ชาวเขมรต่อต้าน แต่ก็ถูกสังหาร ละถูกข่มเหงโดยเวียดนาม ซึ่งนำคนเขมรไปฝังทั้งตัวให้เหลือแต่หัวพอให้พ้นดิน ทำเป็นสามเส้าเพื่อจะต้มน้ำชาให้เจ้านายกิน นี่คือภาพความทรงจำ หรือถ้าดูในเพลงโบราณ เขาเขียนบอกเลยว่า ลูกหลานต่อไปไม่ต้องผูกสัมพันธ์กับเวียดนาม
แต่หากมองความใกล้ชิดทางวัฒนธรรม ไทยย่อมใกล้เคียงกับกัมพูชามากกว่าเวียดนาม ดังนั้น การปลุกประเด็นเกี่ยวกับไทยจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยากและจุดติดได้ไว และเบื้องหลังที่ลึกลงไปกว่านั้น ต้องย้อนกลับไปดูว่า รัฐบาลกัมพูชาในช่วงหลังได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายไหน นั่นจะเป็นคำตอบได้ว่าทำไมเวียดนามจึงไม่ใช่ตัวละครที่ถูกใช้
มีหลายคนพูดถึงจุดเปลี่ยนของกัมพูชาในยุคเขมรแดงว่า มีอิทธิพลต่อกระแสชาตินิยมในปัจจุบัน โดยเฉพาะในมิติการประกอบสร้าง ‘ความเป็นเขมร’ และ ‘อัตลักษณ์ความเป็นชาติ’ อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไรบ้างในเชิงวิชาการ
ผมเชื่อแบบนั้น หากอธิบายจากพัฒนาการความคิดคน เพราะยุคเขมรแดงคือช่วงเวลาแห่งการ Set Zero ทุกอย่างเป็นศูนย์ ผู้ที่สืบทอดศิลปวัฒธรรม นักปราชญ์ ราชบัณฑิต คนที่มีความรู้ หรือนักดนตรีหายไปหมดเลย แม้แต่สมเด็จพระสังฆราชยังโดนสังหาร หลังจากนั้นก็เจอสงครามกลางเมือง กว่าประเทศจะสงบ กว่าจะตั้งรัฐบาลก็ในปี 1993
แน่นอนว่าในช่วงเวลานั้น การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมสำคัญน้อยกว่าการวางโครงสร้างระบอบการปกครองและการแก้ไขปัญหาปากท้อง เพราะกว่าทุกอย่างจะรื้อฟื้นก็ช่วงทศวรรษ 2000 เมื่อระบบการเมืองกัมพูชาเริ่มเข้าที่ เศรษฐกิจได้รับการฟื้นฟู ความสนใจเรื่องความเป็นเขมรและอัตลักษณ์ของชาติ จึงค่อยๆ มีความสำคัญขึ้น
จากตรงนี้เองผมมองว่า มันทำให้ชาวเขมรได้มองย้อนหาตัวเอง และพบกับความรู้สึกย้อนแย้งระหว่างความรุ่งเรืองในอดีต เมื่อเทียบกับทุกวันนี้ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา มีความแตกต่างระหว่างคนจนกับคนรวยแบบสุดขั้ว
ความสังเวชใจจึงทำให้ชาวเขมรเลือกมองกลับไปที่ความรุ่งเรืองมากกว่าความจริงที่เป็นอยู่ เพื่อปกปิดปมด้อย ความรู้สึกต้อยต่ำ และความอัดอั้นขมขื่น แต่ในขณะเดียวกัน มันกลับก่อเกิดความรู้สึก ‘ชาตินิยม’ ภาคภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของตนเองในอดีต
จากการโหยหาความรุ่งเรืองในอดีต ในแง่อีกหนึ่งก็เป็นที่มาของคำถามว่า อะไรทำให้กัมพูชาตกต่ำ เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ ตัวการที่พบนั่นคือ ‘ไทย’ จากตรงนี้มันก็สวมทับกับความทรงจำที่ชาวเขมรมีต่อประเทศไทย
ในแง่หนึ่ง ‘ปรากฏการณ์เคลมโบเดีย’ คือการปิดบังซ่อนเร้น หรือปิดกั้นบาดแผลบางอย่าง มันคือความย้อนแย้งระหว่างอดีตกับปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ผมอยากให้คนไทยเข้าใจประวัติศาสตร์ว่า กัมพูชาผ่านอะไรมาบ้าง จริง ๆ กัมพูชาผ่านช่วงเวลาที่เลวร้ายมาก ทุกอย่างถูกทำลายจนหมด ซึ่งย้อนกลับไปช่วงที่เราสร้างชาติ มันเคยเกิดขึ้นกับเรามาแล้ว เราเคยเกลียดเพื่อนบ้านเหมือนกัน
แล้วความเป็นชาตินิยมของกัมพูชาในวันนี้คืออะไร แตกต่างจากในอดีตมากน้อยแค่ไหน
สำหรับผมมองว่า กระแสชาตินิยมของกัมพูชาในแง่ภาพของไทยก็ยังคงเหมือนเดิมคือเป็น ‘ผู้ร้าย’ และ ‘ศัตรู’ ที่ต้องการดินแดน ฉกฉวยผลประโยชน์ และครอบงำทางวัฒนธรรม แม้อาจมีรายละเอียดแต่งเติมตามช่วงสมัยของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเข้าไป แต่ในภาพรวมมันก็ยังคงเป็นเรื่องเดิม ซึ่งเป็นมรดกที่ตกทอดมาตั้งแต่สมัยอาณานิคม
คนเขมรมองคนไทยอย่างไร ต่างจากดราม่าในโลกอินเทอร์เน็ตมากไหม
จากประสบการณ์ที่ไปค้นคว้าข้อมูลในกัมพูชา ชาวเขมรโดยทั่วไปก็มีมุมมองต่อคนไทยอย่างมิตร พวกเขาไม่ได้แสดงความเกลียดชังหรือมีท่าทีโกรธแค้นอะไร ซึ่งนั่นเป็นกลุ่มคนเขมรที่ได้รับการศึกษาระดับสูง
แต่อย่างไรก็ตามผมเคยคุยกับคนเขมร เคยถามว่าชอบอะไรเกี่ยวกับประเทศไทย คำตอบที่เคยได้รับคือชาวเขมรชอบละครไทย พวกเขาติดตามดารา หรือนักร้องของบ้านเราตลอด ยิ่งตอน บุพเพสันนิวาส มีกระแสช่วงนั้น ทางกัมพูชามีคนทำซับไตเติลแล้วเอาลงเว็บไซต์ด้วย
นอกจากนี้พวกเขาก็ชอบสินค้าแฟชั่น เครื่องสำอางของบ้านเรา พ่อค้าแม่ขายจะมารับของจากประตูน้ำขนกลับไป หากดูห้างสรรพสินค้าของเขา คุณก็ต้องพบว่า พวกเขาใช้สินค้าของไทยทั้งนั้น
สำหรับประเด็นดราม่าบนโลกอินเทอร์เน็ต ผมมองว่า ปฏิกิริยาความขัดแย้งส่วนใหญ่อยู่โลกโซเชียลฯ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมศาสตร์ที่มีคนศึกษาและพยายามอธิบายว่า เป็นการโต้ตอบแบบทันทีทันใด คือแกว่าฉัน ฉันว่ากลับ เพราะฉันกำลังรู้สึกว่า แกกำลังปรามาส ดูถูกเรา
แต่สุดท้าย คุณต้องยอมรับก่อนว่า วัฒนธรรมบางอย่างเป็นของร่วมกัน ไม่ได้มีใครเป็นเจ้าของ ปฏิกิริยาที่ออกไปจึงดูเหมือนว่าคุณไม่ได้เข้าใจอะไรทั้ง 2 ฝ่าย เพราะโลกออนไลน์เป็นอะไรที่เร็วมาก แกว่าฉัน ฉันว่ากลับ แกแซะฉัน ฉันแซะกลับ แต่ในชีวิตจริง เราใช้ชีวิตปกติ พูดคุยกันได้ เพียงแต่บางประเด็นเขาก็อาจจะมีความรู้สึกว่า รากวัฒนธรรมตัวเองเก่าแก่นะ
แล้วถ้าย้อนกลับมามองในปัจจุบัน อาจารย์คิดว่า ไทยควรร่วมมือกับกัมพูชาด้านไหนมากขึ้น
ผมมองว่า วัฒนธรรมเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศได้ แต่มันก็ยาก เพราะต่างฝ่ายยังไม่ยอมรับว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ลื่นไหล ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เป็นการรับ-ส่งกันและกันเช่นการรำ เรามีประยุกต์ปรับใช้มาอย่างต่อเนื่อง ถ้าหารากเหง้าจริงๆ คืออินเดีย หรืออักษรไทยในทางนิรุกติศาสตร์ มันเกิดการผสมผสานกันระหว่างอักษรขอมกับมอญ
ในงานเสวนาครั้งก่อน โจรสยาม vs เคลมโบเดีย ปัญหาทะเลาะกันที่ไม่มีวันรู้จบ ผมชอบประเด็นหนึ่งที่ อาจารย์ธิบดี (ธิบดี บัวคำศรี) กล่าวถึงองค์กรระดับนานาชาติที่พยายามจัดสิ่งไหนเป็นของใคร ลักษณะแบบนี้ผมมองว่ามันส่งผลให้วัฒนธรรมเป็นของที่แชร์ร่วมกันไม่ได้
อาจารย์มองว่าสุดท้ายแล้วปัญหาความเกลียดชังเหล่านี้จะแก้ไขได้อย่างไร
ปัญหานี้จะไม่มีทางถูกแก้ ถ้าไม่มีผู้หยุดใช้เป็นเครื่องมือ ต่อให้เขียนแบบเรียนใหม่ก็ตาม มันเป็นเรื่องความรู้สึกที่มีอยู่ว่า ทุกอย่างเกิดจากไทย แต่อย่างที่ผมบอกว่า ความขัดแย้งจะไม่ปะทุขึ้น ถ้าไม่มีใครจุดประเด็น
สุดท้ายคุณต้องดูประวัติศาสตร์เพื่อนบ้านอย่างเข้าใจ และเปิดใจเข้าใจเขา แต่ไม่ใช่การไปดูถูกเหยียดหยาม ต้องมองประวัติศาสตร์อย่างเข้าใจจริงๆ ว่า แต่ละที่มีพัฒนาการความเป็นมา สิ่งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุที่มาที่ไป แล้วจริงๆ คุณไม่จำเป็นต้องตอบโต้ เพราะการตอบโต้แสดงให้เห็นว่า คุณก็ไม่ได้เข้าใจประวัติศาสตร์
Fact Box
- ยิ่งยศ บุญจันทร์ สำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
- ผลงานของยิ่งยศบางส่วน ได้แก่ ความสัมพันธ์ระหว่างกัมพูชากับไทย ระหว่าง ค.ศ. 1955-1970: ศึกษาผ่านทรรศนะสมเด็จพระอุปยุวราชนโรดมสีหนุ วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ และการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จากกรณีปราสาทเขาพระวิหาร ระหว่าง พ.ศ. 2501-2506. วารสารอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 43, 1 (มกราคม-มิถุนายน): 155-178.