บางคนอาจรู้จักชื่อของ ‘กอฟ’ – ภรณ์ทิพย์ มั่นคง ในฐานะนักโทษคดีมาตรา 112 หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จากการแสดงละครเรื่อง เจ้าสาวหมาป่า เมื่อปี 2558 บางคนอาจจะรู้จักเธอในฐานะ ‘เด็กปีศาจ’ นักเขียนเจ้าของผลงาน มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ หนังสือความยาวกว่าแปดร้อยหน้าที่ตีแผ่ความอยุติธรรมของระบบเรือนจำไทย หรือบางคนอาจรู้จักเธอในฐานะนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักกิจกรรมทางสังคม และเจ้าของช่องยูทูบ Hello, I’m from Prison ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับนักโทษลี้ภัยทางการเมือง 

แต่ไม่ว่าคุณจะได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของเธอในบทบาทใดหรือช่วงเวลาไหน สิ่งหนึ่งที่ดูเหมือนจะเป็น ‘เครื่องหมายการค้า’ ของภรณ์ทิพย์คือความสามารถในฐานะนักเล่าเรื่อง ไม่ว่าจะผ่านบทละคร ผ่านตัวหนังสือ ผ่านคลิปวิดีโอ เธอดูจะเป็นคนที่หยิบยกเรื่องราวต่างๆ มาเล่าได้อย่างมีชั้นเชิง เข้มข้น และละเอียดยิบ

แม้ปัจจุบัน ชื่อของ ภรณ์ทิพย์ มั่นคง อาจดูเหินห่างจากเวทีชุมนุมการเมืองของคนรุ่นใหม่ไปแล้ว แต่ในความเป็นจริง นับตั้งแต่วันที่กอฟเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นครั้งแรกสมัยมัธยมปลาย ผ่านเรื่องราวมากมายตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐประหาร เหตุการณ์การสลายชุมนุมเสื้อแดง การเมืองยุค คสช. จนถึงช่วงเวลากว่าสองปีที่เสียไปในเรือนจำ เธอเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยมาโดยตลอด และไม่เคยหยุดต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ในแบบของตัวเองเลย

บ่ายวันหนึ่ง เรานัดกอฟผ่านแอพพลิเคชัน Zoom เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อครั้งเธอยังแอบไปร่วมชุมนุมกับพันธมิตรแทบทุกวันหลังเลิกเรียน การลงพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จนถึงวันที่เธอถูกดำเนินคดีเจ้าสาวหมาป่า ออกผลงานหนังสือเล่มแรก เรื่อยมาจนถึงชีวิตปัจจุบันในต่างแดน พร้อมด้วยมุมมองเรื่องชีวิต ความรัก และภาพร่างของอนาคตที่ยังมาไม่ถึง 

 

เล่าเรื่องชีวิตในวัยเด็กให้ฟังหน่อย คุณเกิดและโตมาในครอบครัวแบบไหน 

เราเป็นคนพิษณุโลก ครอบครัวกอฟเป็นครอบครัวชาวนา พ่อแม่เป็นเกษตรกร ความเท่คือแม่เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนกอฟเกิด พ่อเราเป็นพวกคล้ายๆ สารวัตรกำนัน แล้วเขามีประชุมหมู่บ้าน พ่อก็ไปทะเลาะกับครูที่โรงเรียนว่า สอนหนังสือแบบนี้แล้วเด็กจะมีปัญญาไปทำงานได้ไง เขาก็เถียงกลับมาว่า พูดทำไม ถ้ามีลูกก็ต้องมาเรียนที่นี่อยู่ดี พ่อเลยตั้งปฏิญาณว่าจะไม่ให้ลูกเรียนโรงเรียนในหมู่บ้านเด็ดขาด พอโตมาเรากับน้องสาวเลยต้องไปสอบเข้าโรงเรียนในเมือง เรียนโรงเรียนเอกชนที่ดีที่สุดในจังหวัด ณ ตอนนั้น 

พอจบ ป.6 เราย้ายมาอยู่กับน้าที่กรุงเทพฯ มันเป็นความเชื่อของแม่เราเองว่าการย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ คือสิ่งที่แสดงว่าเรากำลังไปอยู่ในจุดที่ดีกว่าเดิม แต่ความจริงก็คือ สิ่งที่เราได้เรียนในชั้น ม.1 ที่กรุงเทพฯ เราเรียนไปแล้วตั้งแต่อยู่ ป.5 ทีนี้มันก็เลยมีความรู้สึกเหมือนเดินถอยหลัง กลายเป็นเบื่อ แต่มันก็ช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้เราแทน เพราะเวลาว่างเราก็อ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร บทความวิเคราะห์การเมือง ศิลปะ มีอะไรให้อ่าน เราอ่านหมดเลย เพราะไม่มีอะไรทำ

แล้วมาสนใจเรื่องการเมืองได้ยังไง 

ช่วง ม.4 เราไปค่ายสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เป็นค่ายประวัติศาสตร์ที่ภูหินร่องกล้า ที่ค่ายเขาเล่าเรื่องการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มีกิจกรรมล้อมวงคุยกับคนที่ผ่านเหตุการณ์ช่วง 6 ตุลา มันเปิดโลกเรามาก เพราะสิ่งที่รับรู้มามันไม่เหมือนที่เขียนไว้ในหนังสือเรียนเลย แล้วในค่ายมันมีกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ ช่วยสอนให้เรารู้จักฟัง รู้จักพูด รู้จักจัดการความคิดให้เป็นระบบด้วย เราก็คิดว่าดีจังเลย อยากไปอีก 

เราไปคุยกับเพื่อน ตอนแรกอยากสมัครไปค่ายของโรงเรียนอื่น แต่ไปๆ มาๆ ก็ตัดสินใจจัดกันเอง เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการทำค่ายกระโปรงบานขาสั้น ซึ่งเราไม่ได้ทำเรื่อยเปื่อยนะ มีเปิดรับสมัคร มีการสอบสัมภาษณ์ เก็บเงินผู้เข้าร่วม เราก็ไปขอคำปรึกษาเรื่องวิธีการระดมทุนจากลุงของเรา ซึ่งแนะนำให้เราไปที่มูลนิธิชื่อ ‘สายธารเพื่อประชาธิปไตย’ เพื่อขอเงินทุนสนับสนุน เราเลยได้เรียนรู้วิธีการเขียนโครงการ ออกแบบกิจกรรม เชื่อมโยงว่ามันเกี่ยวกับประชาธิปไตยยังไง ก็ได้เงินมาจำนวนหนึ่ง แต่ก็ไม่พอหรอก เรากับเพื่อนต้องแยกย้ายกันไปทำงานพิเศษ 

ส่วนเรื่องการออกแบบกิจกรรมที่ค่าย เราก็ติดต่อกับพวกพี่ๆ นิสิตจาก สนนท. ความเป็น สนนท. มันมุ่งเน้นเรื่องการเมืองอยู่แล้ว เหมือนเป็นองค์กรที่ฝึกฝนบุคลากรให้เติบโตในเส้นทางการเมือง เราก็เรียนรู้จากเขา หลังจากนั้นพวกพี่ๆ ก็ชวนไปร่วมทำกิจกรรมกับเขาตลอด 

ได้เอาสิ่งที่เรียนรู้จากค่ายไปปรับใช้กับชีวิตจริงบ้างหรือเปล่า

ช่วง ม.5 เราลองสมัครชิงตำแหน่งประธานนักเรียน ซึ่งสุดท้ายก็ชนะ เพราะคู่แข่งเราเป็นคนที่ครูชอบ แต่เราประเมินไว้ว่านักเรียนส่วนใหญ่เกเร แปลว่าคนที่เกเรจะต้องชอบเรา ตอนนั้นมีประสบการณ์เรื่องการเมืองมาบ้าง เลยโฆษณาตัวเองไปว่า ถ้าเราเป็นคณะกรรมการนักเรียน เราจะทำงานเพื่อนักเรียน จะไม่เป็นข้ารับใช้ของครูฝ่ายปกครอง ครูประมาณครึ่งโรงเรียนเกลียดเรามากตอนนั้น (หัวเราะ) 

“ตอนนั้นกระแสความรักหรือไม่รักมันไม่ได้แรงไง เลยไม่เป็นปัญหา แต่มันทำให้เราย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง และเริ่มถามตัวเองว่า เรามีปัญหาทางจิตหรือเปล่าวะ ทำไมเราไม่รักในหลวงเหมือนคนอื่นเขา”

 

มีเหตุการณ์อะไรพีคๆ สมัยเป็นประธานนักเรียนบ้างไหม

มันมีประเด็นเรื่องการใส่เสื้อเหลือง แต่เราไม่รู้เลยว่ามันมีประเด็นเรื่องกษัตริย์มาเกี่ยวข้อง ตอนนั้นมีการรณรงค์ใส่เสื้อตราสัญลักษณ์กัน และราคาแพงมาก เราก็กังวลว่านักเรียนที่ฐานะทางบ้านยากจนมันจะทำยังไง ก็เลยเสนอว่าควรเป็นเสื้อเหลืองที่เป็นเหลืองอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีตราสัญลักษณ์ แต่ทางโรงเรียนก็แย้งว่ามันดูไม่เรียบร้อย สุดท้ายเราอยากเปิดพื้นที่ให้คนที่ไม่มีเงินซื้อได้มีทางเลือก ไม่ให้เขารู้สึกว่าโดนทิ้ง เราเลยบอกไปว่า งั้นไม่ใส่ เพื่อนเลยถามว่า “อ้าว งั้นไม่รักในหลวงเหรอ” เราก็ตอบไปแบบไม่ได้คิดอะไรมากว่า “ไม่รัก” เป็นความรู้สึกแบบนั้นจริงๆ เพราะเขาไม่เคยให้อะไรเราเลย เราชื่นชมเขา แต่เราไม่ได้รักเขา 

ตอนนั้นกระแสความรักหรือไม่รักมันไม่ได้แรงไง เลยไม่เป็นปัญหา แต่มันทำให้เราย้อนกลับมาพิจารณาตัวเอง และเริ่มถามตัวเองว่า เรามีปัญหาทางจิตหรือเปล่าวะ ทำไมเราไม่รักในหลวงเหมือนคนอื่นเขา ก็รู้สึกกดดัน มีทั้งงานค่าย งานโรงเรียน ไปม็อบอีก พอเจอเรื่องนี้อีกก็เครียด เราก็ร้องไห้ไปปรึกษาลุง เขาก็แนะนำหนังสือให้เราอ่าน เป็นหนังสือของอาจารย์ยิ้ม (สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) กับของอาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้เราเริ่มอ่านประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาหนักขึ้น 

สมัยนี้คงเรียกว่า ‘การอ่านเบิกเนตร’ ซึ่งมันก็น่าจะผลักดันให้กอฟเริ่มไปร่วมการชุมนุมทางการเมือง ถ้าอย่างนั้นพลวัตของม็อบพันธมิตรในตอนนั้นเป็นอย่างไร ทำไมถึงไปร่วมกับเขาได้  

พันธมิตรจริงๆ มันมีสองยุค ปี 2548 ช่วงนั้นมันเป็นม็อบพันธมิตรจริงๆ แบบเปิดกว้างเลย ทุกกลุ่มมาชุมนุมรวมตัวกัน เราก็ไปเคลื่อนไหวกับ สนนท. ไปขึ้นเวทีปราศรัย ต่อต้านนโยบายของทักษิณเรื่องการเอามหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ม็อบยุคแรกในตอนนั้นก็มีแบ่งเป็นคร่าวๆ แล้วสองสายคือ สายปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มีแนวคิดสำคัญต้องล้มนายทุนให้ได้ก่อน ซึ่งนายทุนตอนนั้นคือทักษิณ กับอีกสายนึงที่เกลียดทักษิณจริงๆ ยังไม่มีเรื่องสถาบันกษัตริย์มาเกี่ยวข้อง เราอยู่ในกลุ่มแรก ม็อบนี้คือที่ๆ เราเรียนรู้สิ่งต่างๆ อย่างแท้จริง เราไม่ได้เรียนรู้จากม็อบเสื้อแดง

แต่กลายเป็นว่า เหตุการณ์การรับมาตรา 7 ของพันธมิตรในตอนนั้นคือการแตกร้าวของรากฐานเครือข่ายภาคประชาสังคมที่เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในไทย ส่วนที่อยากจะล้มนายทุนเพื่อปฏิรูปสถาบันก็ถอนตัว เกิดเป็นพันธมิตรยุคที่สองเป็น กปปส. อะไรก็ว่าไป ต่อมาพอมีม็อบเสื้อแดง กลุ่มเราคือกลุ่มอยากล้มนายทุนก่อนเพื่อการปฏิรูป ก็ลังเลอยู่ว่าจะเข้ากับพวกเสื้อแดงได้ไหม เพราะเราก็กระดากที่จะไปร่วมกับคนที่อยู่ฝั่งตรงข้าม จะกลับไปหาเสื้อเหลืองก็ไม่ได้ แม้แต่ใน สนนท. เองก็แตกกัน หลายส่วนก็เลยพักการทำม็อบไป แต่ตอนนั้นเราไม่ค่อยเข้าใจ เลยขอกลับบ้านไปหาแม่ก่อน (หัวเราะ) 

แล้วกลับเข้าสู่แวดวงการเคลื่อนไหวอีกครั้งเพราะอะไร 

รัฐประหารปี 49 เราก็งงมาก เพราะตอนที่เรียกร้องกับพันธมิตร จำได้เลยว่าเราไม่ได้จะเอารัฐประหาร สิ่งที่เราต้องการคือการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ เออ เพราะฉะนั้น พวก สนนท. ก็เลยโทรตามตัวกัน เรารีบไปกรุงเทพเลย ไปประท้วง ไปขึ้นปราศรัย ซึ่งรอบนี้ไม่ใช่เรื่องมหาวิทยาลัยนอกระบบแล้ว แต่มันยิ่งใหญ่กว่านั้น มันคือการต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านรัฐธรรมนูญที่ร่างกันขึ้นมา 

ตอนยุคทักษิณ เราขึ้นเวทีต่อต้าน พรบ. หลายฉบับมาก แต่ปรากฏว่าพอเป็นยุคของสนธิบัง (พลเอก สนธิ บุญรัตกลิน หัวหน้าผู้ก่อการรัฐประหารปี 2549) ดันเดินหน้าใช้ พรบ. ฉบับเดียวกัน เราออกมาต่อต้านเรื่องเดิม แต่มันสู้ยากกว่าเดิมเยอะมาก เพราะอย่างน้อยยุคนั้นมันมีกลไกทางการเมืองรองรับอยู่ พอเป็นรัฐบาลเผด็จการแล้วมันต่อรองอะไรไม่ได้เลย สรุปว่ากฎหมายทุกอย่างที่เราต่อสู้แทบตายในยุคทักษิณ ก็ถูกนำมาใช้หลังจากมีการรัฐประหารอยู่ดี มันก็เจ็บปวดนะ เหมือนถูกใช้เป็นเครื่องมือในการไล่ศัตรูทางการเมืองออกไปเท่านั้น 

พอเรียนมัธยมจบแล้ว กอฟไปทำอะไรต่อ 

ตอนแรกสอบตรงได้ศิลปากร คือสนใจด้านการเมืองก็จริง แต่เหมือนเราจะมีชีวิตสองด้านมาตลอด เราเป็นคนที่สร้างชื่อเสียงด้านศิลปะระดับประเทศให้กับโรงเรียน เราเอากระดานไปดึงเปอร์ฯ ในม็อบ มันเป็นชีวิตสองด้านที่แยกออกจากกันไม่ได้ ต้องเป็นแบบนี้ควบคู่กันไป แต่ปรากฏว่าวันมอบตัว เราไปเห็นระบบการเรียนการสอนของเขาแล้วเกิดไม่ชอบ คิดว่าถ้ามันซึมลึกไปมากกว่านี้อาจจะกลายเป็นเกลียดในสิ่งที่เรารัก เลยแตะเบรก เก็บมุมที่สวยงามของการทำงานศิลปะเอาไว้หล่อเลี้ยงจิตใจเราดีกว่า 

สุดท้ายตัดสินใจไปเรียนรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง รีบเรียน รีบจบ มีเวลาว่างก็ใช้เวลาไปกับการทำกิจกรรมทางการเมือง ทักษะที่เราทำได้ดีคือศิลปะ การวาดรูป เลยช่วยทำโปสเตอร์แสดงละครในม็อบ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่มากในสมัยนั้น ทีนี้มันเลยถูกผนวกเข้าไปเป็นการต่อสู้เชิงวัฒนธรรม ต่อมามีพี่คนหนึ่งเสนอว่าให้ตั้งกลุ่มละครเพื่อมาแสดงละครเยียวยาผ่อนคลายจิตใจคนในม็อบ เราก็สนใจ แต่ผ่านมาเกือบๆ สองปี โปรเจกต์ก็ไม่เป็นรูปร่างสักที เราเลยไปหากิจกรรมอื่นทำก่อน 

“เราก็ทำงานศิลปะคู่กันกับงานด้านสิทธิมนุษยชนมาตลอด มันแยกจากกันไม่ได้ แต่เอาจริงกิจกรรมนี้เหมือนเป็นกึ่งฉากหน้า เพราะสิ่งที่เราตั้งใจทำจริงๆ คือเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองและกฎหมายแก่คนในพื้นที่ เวลาเห็นพัฒนาการในชุมชนเราก็ภูมิใจ แต่ก็รู้ว่ามันไม่ใช่บ้านเรา เราจะอยู่ตรงจุดนั้นตลอดไปไม่ได้ ต้องปล่อยให้คนในชุมชนรักษาตัวเอง สุดท้ายพอมีเรื่องเสื้อแดงโดนล้อมปราบ เราก็กลับกรุงเทพฯ” 

ซึ่งกิจกรรมนั้นคือ

การลงพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ พี่ๆ ที่ สนนท. บอกว่า เราต้องไปทำงาน ไปติดต่อกับพวกองค์กรตามมหาวิทยาลัย เราเคยไปแถบนั้นมาแล้วครั้งนึงสมัยทำค่ายกระโปรงบานขาสั้นแล้วรู้สึกชอบที่นั่นมาก มันสวยมาก ผู้คนก็น่ารัก แต่รอบนี้เป็นการเปิดโลกมาก เพราะไปในนามของ สนนท. ที่ตอนนี้ทุกคนเกลียดเพราะเรื่องการเรียกร้องให้ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี (สนนท. เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ประกาศรับมาตรา 7) โดนด่าเยอะมาก ก็ต้องลำบากเจรจากันอยู่พักนึง 

สรุปเราก็เขียนโครงการขึ้นมา เป็นการใช้ศิลปะเยียวยาเด็กที่พ่อแม่ถูกฆ่าตาย ก็เอาศิลปะไปช่วยเขา เราเคยเจอเด็กวาดรูปประตู ก็ถามเขาว่ามันคือประตูอะไร น้องเล่าว่า วันนั้นทหารมาเคาะประตูเสียงดังมาก เป็นเสียงที่ผมจำได้ติดหู เราฟังแล้วแบบ เฮ้ย เด็กอายุแค่ห้าหกขวบ ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้ ค่ายศิลปะที่ทำอยู่ในพื้นที่สีแดง เราเจอมาเยอะมาก โดนทหารมาล้อม โดนเอากระสุนจริงมาขู่อีก เรานี่โดนส่งไปเจรจากับทหารตลอด บางทีก็คิดว่า ทำไมต้องเอากูไปเป็นฝ่ายเผชิญหน้ากับทหารติดอาวุธตลอดเลยวะ (หัวเราะ) แต่ส่วนใหญ่เราก็หลบอยู่หลังพี่ๆ ผู้หญิงคนอื่นนะ เพราะเรากลัว

เราก็ทำงานศิลปะคู่กันกับงานด้านสิทธิมนุษยชนมาตลอด มันแยกจากกันไม่ได้ แต่เอาจริงกิจกรรมนี้เหมือนเป็นกึ่งฉากหน้า เพราะสิ่งที่เราตั้งใจทำจริงๆ คือเข้าไปให้ความรู้ความเข้าใจด้านการเมืองและกฎหมายแก่คนในพื้นที่ เวลาเห็นพัฒนาการในชุมชนเราก็ภูมิใจ แต่ก็รู้ว่ามันไม่ใช่บ้านเรา เราจะอยู่ตรงจุดนั้นตลอดไปไม่ได้ ต้องปล่อยให้คนในชุมชนรักษาตัวเอง สุดท้ายพอมีเรื่องเสื้อแดงโดนล้อมปราบ เราก็กลับกรุงเทพฯ 

แล้วมาทำละครได้ยังไง 

เราพอมีความรู้เรื่องการละครมาบ้างตั้งแต่สมัยมัธยม พอเข้ามหาลัยก็ไปเป็นอาสาสมัคร เรียนรู้อยู่กับคณะมะขามป้อมอยู่คอร์สนึง ซึ่งก็ไม่ประสบความสำเร็จสำหรับเราเพราะไม่ชอบระบบของเขาเท่าไหร่ จนมีเรื่องสลายการชุมนุมถึงค่อยมาเริ่มรวมกลุ่มกันแบบจริงจัง 

เราไปร่วมกับกลุ่มประกายไฟที่มีมาอยู่ก่อนแล้ว มันเกิดมาจากความคาดหวังด้วยแหละ เราอ่านเรื่องเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรม แล้วเราคาดหวังว่าม็อบเสื้อแดงมันต้องมีคณะละครสักคณะออกมาทำตัวแหลมๆ บ้างสิวะ เหมือนสมัย 6 ตุลา 2519 มันมีพวกละครแขวนคอ มีงิ้วอะไรแบบนี้ แต่มันก็ไม่มี (หัวเราะ) จนเขาสลายการชุมนุมก็ยังไม่มีใครออกมา เราเลยคิดว่า งั้นทำเองก็ได้ 

ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยว่า เจ้าสาวหมาป่า เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร 

คร่าวๆ เลยนะ เป็นแนวจักรๆ วงศ์ๆ มีบัณฑิตสี่คน หลังจากร่ำเรียนวิชามาก็ออกมาหาเส้นทางของตัวเอง บัณฑิตคนหนึ่งเดินทางมาถึงดินแดนที่มีเผ่าหมาป่า เป็นกลุ่มคนที่มีพฤติกรรมคล้ายหมาป่าอาศัยอยู่ในป่า บัณฑิตคนนี้ใช้วิธีการแต่งงานกับลูกสาวของหัวหน้าเผ่าในการปราบให้เชื่อง สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจากเผ่าหมาป่า จนมาวันหนึ่งเจ้าสาวหายตัวไป หายไปจากเรื่องเลย แบบไม่มีใครสังเกตด้วยซ้ำว่าเจ้าสาวหายไป (หัวเราะ) เพราะมารู้ความจริงว่าการที่เขามาแต่งงานกับมันไม่ใช่เพราะความรัก แต่เพราะรางวัลของการปราบเผ่าหมาป่าได้สำเร็จคือการได้รับการสถาปนาเป็นพระราชาในอีกดินแดนหนึ่ง 

พอเจ้าสาวไม่อยู่ พระราชาก็สั่งฆ่าเผ่าหมาป่าหมดเลย ต่อมาเพื่อนบัณฑิตอีกคนปรากฏตัวขึ้นเพื่อรับตำแหน่งเป็นปุโรหิต ไปๆ มาๆ ปุโรหิตกลายเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลัง กุมอำนาจไว้ในมือ พอพระราชาเริ่มป่วยและแก่ ปุโรหิตก็ปลอมลายเซ็นแล้วเอาพระราชาไปขังไว้ เป็นแค่หุ่นเชิดที่ปุโรหิตให้เพื่อหาประโยชน์เข้าตัว ส่วนเพื่อนบัณฑิตที่เหลืออีกสองคน คนนึงไปเป็นเศรษฐี คอยให้เงินกับพวกที่ออกมาต่อต้านปุโรหิต ส่วนอีกคนไปเป็นนักดนตรี หนีเข้าป่าไปแต่งเพลงเพื่อการต่อสู้ของเผ่าหมาป่า (หัวเราะ) แล้วไปๆ มาๆ ก็หายไปอีก (หัวเราะ) ต่อมาประชาชนออกมาเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนกฎหมาย ฝั่งปุโรหิตก็ไม่โอเค เกิดเป็นเรื่องต่างๆ ตามมามากมาย 

เรื่องดำเนินไปช่วงหนึ่งถึงยุคที่คนอยากทำตัวเป็นฮีโร่ เด็กๆ ก็ออกมาทำตัวเป็นฮีโร่ คนแก่ก็เริ่มผลักไสให้เด็กเลือกข้าง แล้วก็มีช่วงที่สะท้อนเรื่องของความหิวแสงสปอตไลต์และความอยากเป็นฮีโร่ ซึ่งถ้ามันยังมีการแสดงกันอยู่เนี่ย จะเป็นเรื่องที่สะท้อนถึงสถานการณ์สังคมเราในขบวนการประชาธิปไตยตอนนี้ได้ดีเลยนะ เห็นไหม ฉันมองขาด (หัวเราะ) เราก็แตะประเด็นนี้ด้วยว่า การที่เราเป็นฮีโร่มันไม่ได้แปลว่าความชั่วร้ายของพระราชากับปุโรหิตจะหายไป ก็ดำเนินไปเรื่อยแล้วก็จบตรงที่บัณฑิตที่เป็นนักดนตรีกลับออกมาจากป่า (หัวเราะ) 

“สิ่งแรกที่นักกิจกรรมทางการเมืองต้องรู้และต้องตัดสินใจเลยคือ ถ้ามาทำตรงนี้เรามีโอกาสติดคุกนะ มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จริง แต่ไม่ว่าอะไรมันก็เป็นคดีได้ เราอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา เราอาจจะโดนเรียกไปค่ายทหารเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องเตรียมตัวตลอด ถ้าไม่ตายก็โดนอุ้มหาย ไม่โดนอุ้มหายก็ติดคุก ไม่ติดคุกก็ลี้ภัย มันมีแค่นี้”

ตอนสถานการณ์เริ่มเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ เคยคิดไหมว่าตัวเองจะโดนคดี 

จริงๆ เรื่องนี้ เราตระหนักได้มาตั้งแต่ตอน ม.ปลายแล้ว ช่วงปี 49 เราก็ไปบุกรัฐสภากัน ทำเรื่องเสี่ยงๆ กัน สิ่งแรกที่นักกิจกรรมทางการเมืองต้องรู้และต้องตัดสินใจเลยคือ ถ้ามาทำตรงนี้เรามีโอกาสติดคุกนะ มันอาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็จริง แต่ไม่ว่าอะไรมันก็เป็นคดีได้ เราอยู่ในความเสี่ยงตลอดเวลา เราอาจจะโดนเรียกไปค่ายทหารเมื่อไหร่ก็ได้ ต้องเตรียมตัวตลอด ถ้าไม่ตายก็โดนอุ้มหาย ไม่โดนอุ้มหายก็ติดคุก ไม่ติดคุกก็ลี้ภัย มันมีแค่นี้  

เพราะฉะนั้น ถามว่ารู้ไหม รู้ตลอด รู้เสมอ มันแล้วแต่ว่าจะเกิดกับเราช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง 

รู้สึกอย่างไรที่ทั้งหมดทั้งมวลที่ทำมา ปรากฏว่าสิ่งที่ทำให้เราติดคุกดันเป็นอะไรที่มันไม่น่าจะโดนเลยด้วยซ้ำ 

เออ (หัวเราะ) ถึงแม้มันเป็นละคร มันก็เป็นละครเรื่องที่ไม่น่าจะโดนด้วยซ้ำ (หัวเราะ) เราเคยเล่นเรื่องที่มันเหี้ยกว่านี้ บทแบบน่าโดนคดีกว่านี้ดันไม่โดน มาโดนจับในเรื่องที่เราไม่ค่อยภูมิใจเท่าไหร่ เรื่องนี้ฉากไม่สวย บทไม่เป๊ะ ไม่ค่อยมีความสมบูรณ์แบบ มันห่วย แต่ตอนเล่นเรื่องอื่นที่มันเข้มข้นกว่านี้ดันไม่โดน 

ก่อนหน้าที่จะโดนจับมีสัญญาณอะไรบ่งบอก หรือโดนเจ้าหน้าที่สะกดรอยตามอะไรแบบนี้ไหม 

ประเด็นคือ ละครเรื่องเจ้าสาวหมาป่ามันไม่ใช่ผลงานของประกายไฟการละคร อันนี้มันคือผลงานการสร้างของหลายภาคีรวมกันเป็นการเฉพาะกิจ มีเรากับเพื่อนอีกสองสามคนจากประกายไฟมาช่วยกัน ที่เหลือเป็นทีมอื่นๆ ที่ไม่รู้จักมาก่อน ซึ่งก็แปลว่าทุกอย่างมันไม่ได้อยู่ในการควบคุมของเรา เราอาจจะกำกับหรือเขียนบท แต่การตัดสินใจมันไม่ได้เด็ดขาดที่ตัวเรา 

ตอนที่แสดงละครเสร็จใหม่ๆ ก็ไม่มีหมายจับหรืออะไรเลย มีแต่พวกหมอตุลย์ (ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี) ไปแจ้งความบ้าบอคอแตกไว้เฉยๆ เราก็เลยรู้ว่าคณะของตัวเองโดนหมายหัว แต่ไม่รู้ว่าใครโดน เพราะตอนออกข่าวมันคือคำเรียก ‘คณะละคร’ แถมเราไม่เคยนำเดี่ยวออกสื่อเลยไม่คิดว่าภัยจะมาถึงตัว เวลาทำอะไรก็จะสื่อสารในนามของทีมเท่านั้น จึงคิดไปว่ามันคือทั้งทีมแหละที่มีความเสี่ยง คนคลั่งก็ปล่อยมันไป พอถัดมาสักปีนึงมีรัฐประหารปี 2557 เราก็รู้มาว่ามีการเรียกสมาชิกของกลุ่มประกายไฟไปค่ายทหาร ไปกันหมดเลยยกเว้นเรา ตกหล่นไปได้ยังไง เราก็เลยชิล ไม่น่าจะมีกูหรอก เขาเอาคนอื่นในกลุ่มไปแล้ว แต่ก็มีพี่ส่งข่าวมาว่า ที่เขาเรียกพวกกูไปเพราะเขาจะจับมึง เราก็ตกใจ เราเหรอ (หัวเราะ) 

แล้วแบงค์ (‘หมอลำแบงค์’ – ปฏิวัติ สาหร่ายแย้ม) ล่ะ

แบงค์ไม่ใช่ประกายไฟ แบงค์มาจากขอนแก่น มาร่วมงานนี้งานแรกก็โดนเลย ซวยมาก ประเด็นคือแบงค์รับบทเด่นด้วย (บทปุโรหิต) บทของแบงค์นี่ทหารเกลียดที่สุดแล้ว 

พยายามจะทำอะไรกับเรื่องนี้ไหม มีการติดต่อกับที่บ้านบ้างหรือเปล่า 

ตอนนั้นเราคิดว่าเขาอาจจะแค่สืบข้อมูลเฉยๆ เพราะหมายจับจริงๆ ก็ยังไม่ออก รู้สึกว่ามันน่าจะเป็นเรื่องที่เรารับมือได้ แรกๆ ก็พากันไปซ่อนตัว บางส่วนก็หนีไปทางเส้นทางธรรมชาติ ก็ซ่อนกันจนรู้สึกว่ามันไม่ได้แล้วว่ะ มีพี่ที่รู้จักกันพยายามจะพาหนีด้วยซ้ำ แต่เขาจะช่วยแค่เราคนเดียว สุดท้ายเลยบอกเขาว่าไม่เป็นไร เราเป็นห่วงเพื่อน เลยคิดว่าจะหาทางไปทำงานที่ต่างประเทศ เก็บเงินมาช่วยเหลือเพื่อน ถึงตอนนั้นก็ยังไม่ได้คิดอะไรมาก เพราะสมัครทุนจนได้ทุนไปทำงานที่ออสเตรเลียแล้ว แต่สุดท้ายเราก็ไปไม่รอด บินไม่ได้เพราะโดนจับก่อน 

ส่วนพ่อแม่เราก็ไม่ได้เล่าอะไรให้เขาฟังมาก แค่บอกเขาว่ากำลังจะไปทำงานที่ออสเตรเลีย ช่วงนั้นติดต่อกันน้อย แต่ก็ทำให้เขารู้สึกว่าทุกอย่างยังปกติ

เล่าเหตุการณ์วันที่ถูกจับให้ฟังหน่อย 

วันที่โดนจับเราอยู่สนามบินที่หาดใหญ่ กำลังจะนั่งเครื่องบินไปมาเลเซียเพื่อต่อเครื่องไปออสเตรเลีย ปกติหมายจับจะมีสองแบบ แบบธรรมดาคือเฉพาะพื้นที่ กับแบบที่ออนไลน์ทั่วประเทศ มันจะขึ้นแบล็คลิสต์ในระบบ แบบที่เราโดน ตอนนั้นตำรวจ ตม. กักตัวไม่ให้เราออก เขาก็ถามคำถามเช็กว่ากระทำความผิดไหน มาตราไหน แล้วก็ให้เรารอตำรวจ สน.ชนะสงครามมารับ พอเจ้าของคดีมารับเขาก็พามากรุงเทพฯ เลย ไม่ได้มากับรถผู้ต้องขังนะ มาแบบไฮโซคือบินมา (หัวเราะ) นั่งเครื่องของแอร์เอเชีย พอไปถึงที่ สน. ‘ทนายแอน’ – ภาวินี ชุมสาย จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็มารออยู่แล้ว บอกเราว่าไม่ต้องพูดอะไร ตำรวจเลยคาดคั้นอะไรไม่ได้อีก

วันนั้นเราก็ร้องไห้นะ แต่ก็ดีที่โดนจับแบบนี้ ได้อยู่ห้องแอร์ เจ้าหน้าที่ก็สุภาพเพราะเป็นตำรวจ ตม. จะกินอะไรก็ได้ ให้คนมาอยู่เป็นเพื่อนได้ เราก็กินข้าวมันไก่ 

ทำไมเสี่ยงเดินทางทางเครื่องบิน ไม่ออกทางเส้นทางธรรมชาติ

เพราะ 1. การไปออสเตรเลียเราต้องมีตราประทับอย่างเป็นทางการว่าเราออกจากประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย 2. เราไม่รู้จักใครที่จะทำตราประทับนี้ให้เราได้ 3. ถ้าเราออกทางเส้นทางธรรมชาติแล้วพลาดโดนจับมันจะไม่สวย มันจะทุลักทุเล 

ตอนจะเดินทางเราก็เลือกนะ แต่เราไม่ได้เลือกที่ความปลอดภัย เลือกที่ภาพลักษณ์ (หัวเราะ) แล้วก็พวกเงื่อนไขต่างๆ ของสถานที่ คือถ้าต้องโดนจับจริงๆ ก็อยากโดนจับในที่ดีๆ หน่อย เพราะถ้าเป็นเส้นทางธรรมชาติ เราอาจจะโดนหิ้วไปไหนก็ได้ไม่มีใครรู้ อย่างน้อยในสนามบินมันมีคนเยอะ มีคนรู้เห็น เป็นสถานที่เปิดเผย

สุดท้ายคือโดนโทษเต็มห้าปี และรับสารภาพจึงลดให้เหลือสองปี คิดว่าสองปีนี้เปลี่ยนเราไปในทิศทางไหนบ้าง

ไม่เปลี่ยน เป็นเราคนเดิมที่แยบยล อาจจะแยบยลขึ้นเท่านั้น แต่ความจริงสิ่งนี้ไม่ว่าจะเป็นในคุกหรือนอกคุกก็จะเกิดขึ้นเสมอกับทุกคนที่เติบโตนะ คิดว่ามันอาจจะไม่เกี่ยวกับคุกก็ได้ เพราะคนที่โตขึ้นทุกปีก็จะมีความคิดที่แยบยลและรอบคอบขึ้นเสมอ 

แต่ที่คุกทำแล้วมีผลจริงๆ เลยคือ การรอให้ได้ สมัยก่อนกอฟเป็นคนไม่รอ ไม่ชอบการรอ รอแล้วจะตายจะโมโห แต่คุกสอนให้เรารู้จักรอ ไม่ใช่แค่รอให้คนมาเยี่ยม แต่รอให้คนตื่นตัว ด้วยความที่เราอยู่กับคนที่มาจากคนละโลกกับเรา เขาแทบจะไม่เคยอ่านหนังสือแบบที่เราอ่านเลยด้วยซ้ำ การจะคุยกับเขาในแต่ละครั้งมันทำให้เรารอได้ ค่อยๆ คุย ค่อยๆ ทำงาน รอวันหนึ่งให้เขาขยับขึ้นเรื่อยๆ เราก็เริ่มมีความสุขกับการเฝ้าดูมากขึ้น

“การติดคุกนี่ดีตรงที่มันคัดคนที่เข้ามาในชีวิต คนที่รักเราก็รักเราเหมือนเดิม คนที่เราไม่เคยรู้จักเลยก็กลายมาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญมากในชีวิตหลังออกจากคุก คนที่เราเคยสู้ตายถวายหัวเพื่อเขาก็รู้แล้วว่าเราไม่ต้องเสียสละเพื่อเขาอีกต่อไป”

หลังจากที่ออกมา คนรอบข้างปฏิบัติกับเราต่างไปจากเดิมไหม

จริงๆ แล้วการติดคุกนี่ดีตรงที่มันคัดคนที่เข้ามาในชีวิต คนที่รักเราก็รักเราเหมือนเดิม คนที่เราไม่เคยรู้จักเลยก็กลายมาเป็นคนที่มีบทบาทสำคัญมากในชีวิตหลังออกจากคุก คนที่เราเคยสู้ตายถวายหัวเพื่อเขาก็รู้แล้วว่าเราไม่ต้องเสียสละเพื่อเขาอีกต่อไป เรียกว่าเปลี่ยนตั้งแต่ออกจากคุกได้หรือเปล่าไม่รู้นะ เพราะความจริงมันน่าจะเปลี่ยนตั้งแต่เราต้องเข้าไปอยู่ในคุกแล้ว 

แต่พวกสังคมที่ไกลออกไปคือสังคมของแฟนคลับ สังคมของคนที่รู้จักเราจากข่าวก็จะเปลี่ยนไปในแง่ของความเป็นส่วนตัวที่น้อยลง บางทีเจอกันบนรถเมล์รถไฟฟ้า ก็มีคนก็มอง มีคนมาทัก มันทำให้เรารู้สึกตกใจนิดๆ ไม่ค่อยโอเคเท่าไหร่ แต่เขาก็มาทักเราด้วยความชื่นชมนะ มีคนที่เข้ามาชื่นชมและมีคนที่มาแสดงความเวทนาสงสาร หรือมีทั้งคนที่มาใช้เราเป็นเครื่องมือในการทำให้เขารู้สึกดีกับตัวเองก็มี มันกลายเป็นว่าเราเป็นมาสคอตของอะไรบางอย่าง

ในฐานะอดีตนักโทษคดีการเมืองร้ายแรง เรารับมือกับความคาดหวังของสังคมอย่างไร

ช่วงหนึ่งเราต้องไปเดินสายพูด เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยชอบ เราเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ต้องการจะฟังความทุกข์ยากของเราในคุก อยากรู้ว่ามาตรา 112 มันทำลายชีวิตของเรายังไง คนอาจจะคาดหวังว่าเราต้องเป็นผู้หญิงที่บอบบาง ต้องอยู่อย่างยากลำบาก แล้วก็มาสงสารเรา แต่กอฟกลับไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเหยื่อขนาดนั้น ไม่อยากให้เขามาโศกเศร้าแทนเราที่ต้องติดคุก เพราะการต้องมาอยู่ในประเทศเหี้ยๆ แบบนี้มันน่าเศร้ามากกว่าอีก 

ช่วงที่โดนจับใหม่ๆ มีพี่นักกิจกรรมที่เป็นทนายถามเราว่า กอฟอยากสู้คดีไหม เพราะเขาอยากให้เราเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรื่องศิลปะกับ ม.112 แต่สิ่งที่เราต้องการจริงๆ คือการได้ออกจากคุกให้เร็วที่สุดมากกว่า เพราะถ้าสู้คดีมันจะกินเวลานานมาก ใจเราไม่ได้อยากเป็นสัญลักษณ์ห่าเหวอะไรแล้วด้วย ดูอย่างพี่ดา (ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล หรือ ดา ตอร์ปิโด อดีตแนวร่วมคนเสื้อแดงและนักโทษคดี ม.112) สิ เป็นสัญลักษณ์บ้าอะไร ติดไปห้าหกปียังไม่ได้ออกเลย บ้าหรือเปล่า กอฟเจอพี่ดาในคุกแล้วรู้เลยว่าไม่ควรสู้คดี เพราะสู้ไป นานวันเข้าคนก็ลืม มันมีคนใหม่โดนจับทุกวัน ไม่มีใครจะมาดูแลหรือสนใจเราไปตลอด เหมือนวงการบันเทิง

ทั้งหมดทั้งมวลที่ผ่านมา ที่บ้านสนับสนุนเรามากน้อยแค่ไหน 

ตอนไปม็อบทักษิณนี่ทะเลาะกับที่บ้านหนักมากนะ เขาก็ไม่เข้าใจว่าเราไปม็อบทำไม เราก็แทบจะไม่อธิบายเรื่องการเมืองหรืออุดมการณ์ให้เขาฟังเลย แต่พอโดนจับก็เป็นแม่นี่แหละ (หัวเราะ) เพื่อนเรามาช่วยคุยกับแม่จนเขาเข้าใจเรามากขึ้นโดยที่เราแทบไม่ต้องพูดอะไรเลย ประเด็นอาจจะอยู่ที่ว่า เราไม่พยายามสื่อสารกับเขาเองด้วยหรือเปล่า ส่วนพ่อเขาก็บอกว่ายังไงก็ต้องอยู่ข้างลูกนะ ถ้าโลกนี้ไม่มีใครอยู่ข้างลูก เราต้องอยู่ข้างลูกนะ 

บ้านเราเขาปล่อยให้ไปเผชิญโลกเอง แต่ถ้าเจ็บช้ำอะไรกลับมามันจะมีพื้นที่ให้เรากลับไปเสมอ พ่อแม่เลี้ยงเราแบบลูกไก่ ให้ไปเผชิญโลกเอง ไม่มีใครเหลือเราก็อยู่ได้ แต่ตอนนี้เขายังอยู่ เขาก็พยายามเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เรา เขาไม่เคยถามเราเลย เขารอให้เราเล่าเอง ให้เราไปตัดสินใจเอง 

จากในหนังสือ มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ ตัวละครที่หลายคนประทับใจที่สุดคนหนึ่งน่าจะเป็น ‘คนรัก’ ของกอฟ ที่คอยมาเยี่ยมมาดูแลตลอดตั้งแต่วันแรก แล้วตอนนี้ความสัมพันธ์เป็นอย่างไรบ้าง 

เลิกกันไปแล้ว (เงียบคิด) เขาไม่ซื่อสัตย์ เป็นเรื่องโหดร้ายมาก ในหนังสือจะเห็นว่าผู้ชายคนนี้โคตรดีเลย แล้วมันทำให้ความรู้สึกเราเหมือนอยู่บนตึกสูงมาก แต่หลังจากที่ออกจากคุกมาได้ประมาณสัปดาห์นึงก็ค้นพบว่า ระหว่างที่เราอยู่ในคุกเขามีคนอื่นมาตลอด จนผู้หญิงอีกคนมาแสดงตัวกับเรา มันเหมือนเราตกจากที่สูง กระแทกพื้นอย่างแรงจนหลังหัก จากนั้นเราก็ไม่ใช่คนเดิมอีกต่อไป สิ่งที่เปลี่ยนเราไม่ใช่คุก แต่เป็นความไม่ซื่อสัตย์ของผู้ชายที่เราไว้ใจมากๆ ตอนที่เราอยู่ในคุก

เล่าก่อนว่าความรักในแบบของเราคือ เราตกลงกับเขาไว้ตั้งแต่วันแรกที่ขอคบกันแล้วว่า เราไม่ได้ต้องการความซื่อสัตย์แบบคนอื่นที่ซื่อสัตย์ เราต้องการความซื่อสัตย์แบบที่ไว้ใจกันได้ เราไม่ได้ต้องการความซื่อสัตย์แบบที่ต้องมีเราคนเดียวไปตลอดชีวิต เพราะเราเชื่อว่าคนๆ นึงสามารถรักคนได้อีกหลายๆ คน แต่การจะมีความสัมพันธ์แบบนั้น เราต้องซื่อสัตย์กับตัวเองและอีกคนนึงมากๆ ก่อน เราต้องการความเชื่อใจในลักษณะของการเป็นเพื่อนตายที่ไว้ใจกันได้ในทุกๆ เรื่อง หลายคนก็ถามนะว่าจะรับได้จริงๆ หรอ ถ้าหากแฟนมีอีกคน เราบอกว่าเราไม่รู้ เพราะว่าเขาไม่ได้ให้โอกาสเราได้รู้ คือเราเป็นคนจับได้เองทุกครั้งว่าเขามีคนอื่น 

เขาอยู่ในวงการเดียวกันใช่ไหม แล้วเราจัดการกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นยังไง  

ใช่ สิ่งที่ทำในครั้งแรกที่เราจับได้คือเราเด็ดขาด เพราะเชื่อว่าความรู้สึกของเรามันมีมูลค่า ทุกครั้งที่เจอหลักฐานอะไรที่เขาซุกซ่อนไว้ เราเรียกเก็บเงินหมดเลย หลักฐานชิ้นนี้ห้าพัน หลักฐานเรื่องนี้สามพัน เราเก็บทุกเม็ด เพราะเขาอยากจะมีชื่อเสียง อยากจะเป็นนักการเมือง อยากเป็นคนที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่เขาต้องเรียนรู้บทเรียนแรกก็คือ ถ้าคุณมีเรื่องกับผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซุกซ่อน เจ้าชู้ ทำร้ายร่างกายหรืออะไรก็แล้วแต่ มันจะกลับมาทำลายคุณ มันจะทำให้คุณสูญเสียกว่าที่มี 

มันเปลี่ยนเราไปในทิศทางไหน 

เราเริ่มเป็นคนขี้ระแวงเขา ทั้งที่ไม่เคยระแวงมาก่อน แม้แต่ตอนอยู่ในคุกยังไม่เคยระแวงเลย เราเริ่มทำตัวปัญญาอ่อน พึ่งพาตัวเองไม่ได้เพื่อให้เขามาดูแลเราตลอดเวลา เขาจะได้ไม่มีเวลาไปหาคนอื่น ในความเป็นผู้หญิงตอนนั้น เราพยายามจะเล่นเกมเพื่อยื้อเขากลับมาทั้งที่เราไม่ได้รักเขาตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ตอนที่จับได้ครั้งแรกตอนที่เราออกจากคุกแล้ว เราตระหนักได้ว่าไม่ได้มองเขาในฐานะคนรักแล้ว (เงียบคิด) แต่มองเขาในฐานะสิ่งของ เราก็แค่เล่นเกมที่จะเอาชนะผู้หญิงอีกคน เพื่อให้ได้เขามาเป็นรางวัลเท่านั้น เราทำตัวอ่อนแอเพื่อรั้งเขาไว้เท่านั้นเอง 

เมื่อคิดได้แบบนั้น สิ่งต่อไปที่ต้องหาก็คือ เขายังรักเราอยู่ไหม ความจริงมันจะปลดปล่อยเรา เราจึงต้องสืบสวน เลยจ้างนักสืบเพื่อสืบให้รู้ความจริง ปั่นหัวเขาบ้าง เล่นเกมต่างๆ ทำทุกวิถีทางให้รู้เลยว่าเขายังรักเราอยู่ไหม ซึ่งมันก็ปรากฏออกมาว่าเขาไม่ได้รักทั้งเราและผู้หญิงคนนั้น แต่เขาแค่อ่อนแอและเห็นแก่ตัวเกินไป พยายามจะรั้งเราไว้ทุกทาง อยากจะเก็บทุกคนไว้ให้ชีวิตตัวเองได้กำไรมากที่สุด 

ตอนนี้กอฟย้ายมาอยู่ต่างประเทศแล้ว สรุปจากกันด้วยดีหรือเปล่า 

เขาไม่อยากบอกเลิกเราก่อน อาจจะเป็นด้วยเรื่องของพื้นที่ทางสังคม เพราะเขาอยากดูเป็นพระเอกต่อหน้าคน เขาไม่อยากเป็นคนที่ลงมือทำร้ายเรา หลังจากนั้นเราต้องทำใจมากๆ เลย ก็ให้เขาเลือกว่าจะเอามิตรภาพหรือผู้หญิงคนนั้น ไม่ได้ให้เลือกเพราะอยากเอาชนะ คือเราจะไม่กลับเป็นแฟนกับเขาแน่ๆ แต่ถ้าเขาอยากมีเราในชีวิตต่อไป เขาต้องเลิกกับผู้หญิงคนนั้น เพราะผู้หญิงคนนั้นคือสัญลักษณ์ของการหักหลัง แน่นอนว่าเขาเลือกที่จะไม่เลือก เป็นทางออกที่เห็นแก่ตัว เราก็เลยตัดสินใจให้ โดยการเลือกตัวเองแบบที่ไม่มีเขา พอทำใจได้ เราก็ประกาศหน้าเฟซบุ๊กนะว่าเราเลิกกันไม่ดีเพราะเขาไม่ซื่อสัตย์ 

เราแค่อยากให้ทุกคนรู้ว่า เราจะไม่เป็นเพื่อนกับคนที่ทำร้ายเรา 

 

ในอนาคตเรามีแผนจะทำอะไรต่อ 

ต้องจัดการชีวิตเราที่นี่ให้เสถียรก่อน ทั้งเรื่องการเงิน เอกสารต่างๆ เรื่องเรียน น่าจะอีกสักพักกว่าจะนิ่งพอที่จะทำงานศิลปะได้ ต่อไปถ้าเช่าตึกได้เราอยากจะทำห้องเป็นพื้นที่สำหรับศิลปะการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในเอเชีย แล้วจะได้มีพื้นที่สร้างงานของตัวเองสักที ได้เขียนหนังสือนานๆ ไม่ต้องยุ่งกับใคร อยากจะเขียนหนังสืออีกสักสองเล่มแล้วก็ตาย (หัวเราะ) โอเค นั่นมันก็พาร์ตหนึ่ง อีกพาร์ตหนึ่งเราอยากทำไลน์เสื้อผ้า เป็นเสื้อสำหรับการรณรงค์ที่ไม่ใช่เสื้อยืด อยากทำเสื้อผ้าที่มันเล่าเรื่องด้วยตัวมันเองโดยที่ไม่ต้องมีตัวอักษร แปลกไหม เวลาเขียนหนังสือก็มีแต่ตัวอักษร แต่พอทำเสื้อผ้า เราไม่อยากใส่ตัวอักษรลงไปเลย

มีอะไรอยากพูดถึงมาตรา 112 และสถานการณ์การเมืองตอนนี้บ้างไหม

ก็อึนๆ นะ เหมือนตอนนี้ ม.112 กลายเป็นยาครอบจักรวาล มันกลับไปเป็นเหมือนยุคที่เราโดนจับ ประเด็นคือมันอาจคล้ายกันตรงที่ว่า ช่วงก่อนหน้าที่เราจะโดนจับ สถานการณ์มันพีคมาก มันมีเสรีภาพในการพูดถึงสถาบันเยอะมาก มีกระบวนการเยอะมาก จนเราเชื่อว่านี่แหละคือจังหวะที่เราจะวิจารณ์สถาบันได้จริงๆ แบบเต็มๆ แล้วซะที ตอนนั้นก็มีประเด็นเรื่องแก้ เรื่องถกเถียงกันเหมือนตอนนี้เลย มีเรื่องยกเพดานต่างๆ จนมีการรัฐประหาร เพดานมันถูกทุบ คือรัฐบาลทุบเอาเพดานออกไปเลย แล้วสร้างเพดานของมันเองขึ้นมาใหม่ ทีนี้ก็เริ่มใช้ความรุนแรง บังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงมากขึ้นเหมือนตอนจับเรา จับคณะละคร พยายามเชือดไก่ให้ลิงดูว่า ต่อให้มึงทำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เรื่องขี้หมูขี้หมา มึงก็โดนจับเข้าคุกด้วย ม.112 ได้เหมือนกัน  

เอาจริง เหมือนย้อนเวลา เหมือนนั่งไทม์แมชีน (หัวเราะ) กลับไปเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว เราสู้ สู้แล้วดร็อป เขาก็สู้กลับแรงขึ้น เหมือนย้อนเวลาไปตอนนั้น เพียงแต่ตอนนี้เราอยู่อีกที่หนึ่งแล้ว ทำอีกบทบาทหนึ่งแล้ว 

เห็นแบบนี้แล้วมันทำให้เรารู้สึกยังไง มีความโกรธหรือสิ้นหวังไหม

ความสิ้นหวังมันถูกใช้กับคนอื่นไปนานแล้ว ตอนนี้ไม่โกรธ ไม่สิ้นหวังด้วย ถ้าเราไม่หวังก็ไม่มีคำว่าสิ้นหวัง เอาจริงๆ เราไม่ควรไปฝากความหวังไว้กับคนอื่นตั้งแต่แรก เราทำงานของเรา ทำตามเป้าหมายของเราเท่านั้นพอ รู้แค่ว่า ถ้าเราเริ่มทำอะไรสักอย่างตอนนี้ สักวันมันจะเปลี่ยน แต่ถ้าเราไม่ทำอะไร มันก็ไม่เปลี่ยน 

มันมีประโยคหนึ่งที่คนชอบพูดถึงเรื่อยๆ เป็นโควตจากในหนังสือของกอฟ ประมาณว่า ‘ต่อให้แสงหิ่งห้อยไม่ใช่แสงที่เราคาดหวัง ไม่ใช่ดวงตะวันฉายฉาน แต่มันก็เป็นแสงเดียวที่เราจะมองได้ เราจึงต้องมองมันเพื่อให้ดวงตาไม่บอดสนิท’ คนมักจะเอาไปพ่วงกับการมีความหวัง แต่สำหรับเรา เราคิดที่จะสื่อไปตามความจริงแบบตรงๆ เลยมากกว่า หัวใจสำคัญคือ ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เรามีชีวิตอยู่ต่อไปแบบตาไม่มืดบอด 

หมายความว่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราจะต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป 

ใช่ เราไม่คาดหวัง อยู่กับปัจจุบัน ชีวิตส่งอะไรมาเราต้องรับมันให้ได้ อยู่สู้ต่อไปเพื่อสักวันเราจะได้ตายอย่างกึกก้อง ได้เป็นเรื่องเล่า เหมือนตอนนี้ที่เราต้องเล่าเรื่องของเราให้ทุกคนฟังไว้ก่อน เพราะถ้าเกิดสุดท้ายไม่ชนะ จะได้มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เอาไว้หักล้างทีหลังได้ (หัวเราะ) 

สุดท้าย ผลงานหนังสือเรื่อง มันทำร้ายเราได้แค่นี้แหละ มีแผนที่จะแปลเป็นภาษาอื่นไหม

กำลังแปลอยู่ เป็นภาษาอังกฤษโดยอาจารย์ ไทเรลล์ เฮอเบอคอร์น (Tyrell Haberkorn) ตอนนี้ดราฟต์แรกเสร็จแล้ว แต่มีเรื่องที่จะต้องปรับต้องคุยกันอีกเยอะเลย ภาษามันไม่เหมือนที่เราเขียน เพราะพี่ไทเรลล์เป็นคนสุภาพเกินไป (หัวเราะ) ปกติกระบวนการแปลก็ใช้เวลาประมาณห้าปีแหละ ในอนาคตก็อาจจะแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วย 

Tags: , , , ,