เป็นเวลาเกือบ 2 ปี ที่ ‘อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร’ หรือ ‘เล็ก Greasy Café’ ศิลปินอินดี้สไตล์โฟล์กร็อก-บริตป็อป ชื่อดัง แห่งค่าย Smallroom ห่างหายไปจากวงการดนตรีและสื่อต่างๆ หลังจากปล่อยซิงเกิล วันทรงจำ ออกมาเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ระยะเวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ที่ทั่วโลกและประเทศไทยประสบกับวิกฤตโควิด-19 อันส่งผลต่อความเป็นอยู่ของผู้คนถ้วนหน้า รวมถึงอาชีพศิลปินและนักดนตรี ที่รับผลกระทบต่อการล็อกดาวน์ของรัฐหนักหน่วงอย่างไม่อาจปฏิเสธ และท่ามกลางบรรยากาศคุกรุ่นด้วยความโกรธเกรี้ยว ความตึงเครียด ความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐ และอำนาจที่ ‘กดทับ’ ประชาชนอย่างหนักหน่วง ทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้ออกมาเรียกร้องถึง ‘อิสรภาพ’ เพื่อนำไปสู่ความเท่าเทียมและเป็นธรรมของคนในสังคม

เขาก็คือคนหนึ่งที่ร่วมรู้สึกถึงสิ่งเหล่านั้น อันกลายเป็นตัวขับเคลื่อนไปสู่ผลงานซิงเกิลลำดับที่ 2 จากอัลบั้มชุดที่ 5 ในชื่อเพลง อิสรภาพ…ไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา อันนำไปสู่บทสนทนาระหว่าง เล็ก Greasy Café และ The Momentum ถึงที่มาของเพลงเพลงนี้ มุมมองที่เขามีต่อความเป็นไปในบ้านเมือง รวมถึงบทบาทของศิลปินยุคนี้ต่อแรงกดดันจากสังคมที่มีการเรียกร้องให้ต้อง ‘คอลเอาต์’

คุณเป็นอย่างไรบ้างกับช่วงเวลา 2 ปีของโควิด-19

เราว่าโควิดแทบจะมีผลกระทบต่อทุกอาชีพเลยนะ… (หยุดคิด) อย่างตัวเราที่ประกอบอาชีพเป็นนักดนตรีก็ไม่สามารถออกไปทัวร์เล่นคอนเสิร์ตได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นั่นหมายความว่ารายได้หลักของเราจากการทำงานตรงส่วนนั้นก็หายตามไปด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เราพยายามใช้ช่วงเวลานั้น เอาพลังงานลบรอบตัวทั้งหลายมาสร้างเป็นงานอัลบั้มชุดที่ 5 ทำทุกอย่างจนเสร็จสิ้นครบกระบวนความ และมีเวลาหลือพอสำหรับการนั่งคัดว่าเพลงไหนเหมาะจะอยู่ในลิสต์อัลบั้มบ้าง

หรือช่วงเวลาที่พักจากการทำงานเพลง เรายังมีความคิดทำบางโปรเจ็กต์ นึกไว้ในใจแต่ยังไม่ได้เริ่ม เช่น ทำเทียนหอม เราบังเอิญได้รุ่นน้องที่รู้จักกันมาชวนทำ ซึ่งตอนแรกก็ไม่ได้คิดไว้ว่าอยากทําเป็นโปรเจ็กต์มาก่อน แต่ในที่สุดก็เกิดเป็นโปรเจ็กต์ระยะเวลาสั้นๆ ซึ่งก็ได้ผลตอบรับค่อนข้างน่าพอใจอยู่ จุดนี้ต้องขอขอบคุณแรงสนับสนุนของทุกคนมาก (ยิ้ม)

แล้วเพื่อนๆ นักดนตรีคนอื่นๆ หรือที่ Smallroom เป็นอย่างไรกันบ้าง

เอาเข้าจริงเราแทบไม่ค่อยได้เจอกับใครเลยนะ เพื่อนนักดนตรีคนอื่นๆ เองก็เช่นกัน เราว่าช่วงเวลานั้นหลักๆ เลยคือการพยายามรวบรวมจิตใจและประคองความรู้สึกตัวเอง กับสถานการณ์และความเป็นจริงที่เจอตรงหน้า แล้วเฝ้ารอเวลาร้ายๆ ให้ผ่านพ้นไป ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่อาชีพนักดนตรี แต่เราว่าอาชีพอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบเองก็น่าจะมีความรู้สึกคล้ายกันหมด

อิสรภาพ…ไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ซิงเกิลล่าสุดของคุณ มีแรงบันดาลใจมาจากอะไร

อย่างแรกเลย เพลงนี้เกิดขึ้นเพราะเราต้องการจัดการกับความรู้สึกลบของตัวเองในช่วงเวลาดังกล่าว เราเลยตัดสินใจเอาพลังงานลบ เอาความสิ้นหวังเหล่านั้นมาทบทวน แล้วถามกลับมายังตัวเองว่าต้นสายปลายเหตุมันมาจากอะไร เมื่อรู้แล้วเราจะมีวิธีจัดการกับมันอย่างไร ซึ่งมันก็มีวิธีระบายออก คือเอาไปทำเป็นเพลงในแบบของเรา และแต่งเพลงเพลงนี้ขึ้นมาเพื่อปลอบประโลมไม่ให้ชีวิตเราจมอยู่กับความสิ้นหวัง

สอง คือเพลงนี้เปรียบเสมือนแรงสั่นกระเพื่อมในหัวใจ จากสิ่งที่เราได้เห็นและได้เจอบนโลกแห่งความเป็นจริง แต่เราจะนำมาเล่าในแบบไหน ทีนี้ถ้าถามว่ากลิ่นอายหรือสไตล์ของเพลงเป็นแบบไหน แน่ล่ะว่ามันต้องไม่ควรเป็นเพลงที่มีจังหวะคึกคักเต้นรำ เสียใจนั่งคุดคู้ หรือนอนย้วยกอดตัวเองอยู่บนเตียง ฉะนั้นเพลงนี้ควรต้องสามารถฉุดแขนเราขึ้นมาในขณะที่เรารู้สึกแย่หรือรู้สึกหดหู่ได้ จังหวะที่ออกมามาในเพลงเลยคล้ายการย่ำเท้าไปข้างหน้า (ตีมือประกอบเป็นจังหวะ) เพื่อมูฟออนออกจากสถานการณ์แย่ๆ ตรงนั้น

ส่วนถ้าจะบอกว่าเพลงมีเนื้อหาแบบไหนหรือสื่อถึงอะไร ต้องเรียกว่าเป็นเพลงสไตล์ไหน เราไม่อยากจำกัดความ ว่ามันคือเพลงร็อก โฟล์ก หรือป็อป เราแค่อยากให้อิสรภาพแก่คนฟังในการตีความมากกว่า หากเปรียบแล้วก็คงเหมือนภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่งที่ผู้กำกับฯ ไม่อยากบอกตอนจบกับคนดูก่อนเข้าโรง เพราะเขาอยากให้พื้นที่แก่ผู้ชมได้ตัดสินใจตีความกันเอาเอง ซึ่งเพลงนี้เองก็เช่นกัน มันไม่ได้ทำหน้าที่เหมือน ‘พี่เล็กมาสอนน้อง’ แล้วว่ะ แต่เราแค่เอาความในใจมาเล่าให้ฟัง โดยปราศจากการตีความจากเรา

ฟีดแบ็กเป็นอย่างไรบ้างหลังปล่อยเพลงนี้ไปแล้วหนึ่งสัปดาห์

ต้องบอกว่าคนค่อยๆ ฟัง ค่อยๆ ดูกัน ส่วนหนึ่งอาจเพราะเป็นเพลงที่ต้องใช้เวลาตีความ การให้เวลาพิจารณาทำความเข้าใจเลยเป็นปัจจัยหลัก ทีนี้เรื่องของผลตอบรับเลยเหมือนการค่อยๆ ขยับเท้าไปทีละก้าว ไม่ใช่ว่าออกไปแล้วคาดหวังฟีดแบ็กว่าต้องว้าว! ต้องสุดยอด เพลงนี้คงไม่ใช่อะไรทำนองนั้น

คุณใช้เวลานานไหมกับการแต่งเพลงนี้ขึ้นมา

เวลาในการแต่งเพลงใช้เวลาแค่ไม่กี่วัน แต่ความรู้สึกก่อนที่จะลงมือแต่งมันชัดเจน และเหมือนรอการระเบิดอยู่ในหัวในใจเรามาสักระยะนึงแล้ว

แล้วผลงานอัลบั้มชุดที่ 5 จะออกมาให้ฟังเต็มๆ เมื่อไร

เร็วสุดน่าจะราวๆปีหน้าตามที่ตั้งใจไว้ สำหรับตัวอัลบั้ม 5 เอง องค์รวมอาจจะย้อนกลับไปมีกลิ่นอายเรื่องราวหลากหลายคล้ายอัลบั้มชุดที่ 1 (สิ่งเหล่านี้ พ.ศ. 2551) ซึ่งพูดถึงหลายๆ ประเด็นเอาไว้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการพูดถึงเรื่องราวในชีวิต รวมถึงเรื่องราวที่กระทบกระเทือนจิตใจตลอดช่วงที่ผ่านมาเสียมากกว่า

ย้อนกลับไปในช่วงที่คุณบอกว่ามีเหตุการณ์บางอย่างที่ส่งผลกระทบถึงจิตใจจนต้องลงมือเขียนเพลง อะไรคือเหตุการณ์ที่ว่านั้น

สิ่งที่กระทบต่อจิตใจจนลงมือตัดสินใจเขียนเพลงเพลงนี้ขึ้นมา มันเกิดขึ้นจากเรื่องจริงในสังคม ทั้งจากการที่มนุษย์กระทำต่อมนุษย์ด้วยกัน ไปจนถึงการบริหารจัดการบ้านเมืองอันล้มเหลว รวมทั้งหลายสิ่งที่เกิดขึ้นมากมายเต็มไปหมด และเราเชื่อว่าหากเราลองเปิดหัวใจรับฟังเปิดตาดู คุณน่าจะเข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น

ทำไมคุณถึงเลือก ‘คงเดช จาตุรนต์รัศมี’ มาเป็นผู้กำกับฯ และเขียนบท MV เพลง อิสรภาพ…ไม่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และทีม PE_PLE มาออกแบบงานภาพในรูปแบบแอนิเมชั่น

ก่อนอื่นสำหรับพี่คงเดช เราเชื่อว่าพี่เขาเป็นหนึ่งในผู้กำกับฯที่พูดถึงประเด็นสังคม การเมืองในงานตัวเองค่อนข้างเสมอต้นเสมอปลาย เราเลยรู้สึกว่าอยากให้คนที่พูดและรู้สึกถึงประเด็นดังกล่าวอยู่บ่อยครั้ง แล้วพร้อมจะสะท้อนกลับออกมาเป็นผลงานที่ดีมาเป็นคนเขียนบท MV ให้ เราเชื่อว่ามีผู้กำกับฯ มากมายในประเทศไทยที่สามารถทำหน้าที่ตรงนี้ได้เหมือนกัน เพียงแต่เราอาจจะไม่ได้รู้จักเขาดีพอ เพราะอย่างพี่คงเดชเราก็เคยร่วมงานกับเขามาก่อนแล้วจากภาพยนตร์เรื่อง แต่เพียงผู้เดียว (2554) ซึ่งถ้าใครยังไม่เคยดูก็ไปลองหาดูกันนะ (หัวเราะ) ฉะนั้นจึงไม่เป็นการยากอะไรสักเท่าไรในการชักชวน สำหรับตัวพี่คงเดชเองก็เหมือนจะสนุกเช่นกันที่จะได้มาร่วมทำโปรเจ็กต์นี้ด้วยกัน เพราะแค่ไม่กี่วันเองนะหลังเราส่งเพลงให้พี่คงเดชฟัง ก็ได้ฟีดแบ็กกลับมาเป็นไอเดียที่เกิดขึ้นใน MV ซึ่งพี่คงเดชออกตัวก่อนแล้วว่าอาจจะอยู่ดูแลได้ไม่ครบจนจบขั้นตอน ด้วยมีธุระส่วนตัวบางอย่างที่ต้องทําที่ต่างประเทศ

ส่วนด้านงานภาพเราตั้งใจอยากได้ทีมแอนิเมชัน PE_PLE มาทำแต่แรก ซึ่งต้องบอกตามตรงว่าเราโคตรไม่มั่นใจเลยว่าเขาจะยอมมาทำงานตรงนี้ให้เราไหม แต่พอพี่คงเดชส่งไม้ต่อกับให้ทีมทีมนี้ พวกเขาก็สามารถลงมือตีโจทย์แตกจนเกินจากภาพที่เราคาดคิดไปเยอะเหลือเกิน รวมๆ แล้วเราดีใจ ดีใจมากๆ ที่ทีมสามารถช่วยกันทำให้โปรเจ็กต์นี้สมบูรณ์และสามารถสื่อออกมาได้ตามความตั้งใจ

เนื้อหาในเพลงนี้สะท้อนถึง ‘อิสรภาพ’ นิยามของคำนี้สำหรับคุณหมายถึงอะไร

สำหรับเรา คำว่า ‘อิสรภาพ’ ควรเกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็แล้วแต่ควรมีสิทธิ์เลือกในสิ่งที่ตนอยากเป็น และควรมีอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อสิ่งที่เขารู้สึก โดยปราศจากซึ่งการถูกทำร้ายหรือมีใครอยู่เหนือกว่าอำนาจกฏหมายนั้น ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูดลอยๆ สวยหรูว่าไม่มีใครสามารถอยู่เหนือกฎหมายได้ แต่ขณะเดียวกันก็มีคนบางกลุ่มนั่งหัวเราะขย่มชอบใจอยู่บนนั้น และอีกข้อซึ่งสำคัญอย่างมากคือ การเคารพความแตกต่างให้ได้เมื่อเราใช้ชีวิตในสังคมเดียวกัน

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คุณมักจะถ่ายทอดบทเพลงที่สะท้อนถึงความเข้าใจและยอมรับในความไม่แน่นอนของชีวิต เช่น เรื่องธรรมดา ความบังเอิญ หรือ เงาของฝน ฯลฯ แต่ทำไมครั้งนี้ถึงเลือกใช้คำว่า ‘ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ’ เป็นแกนหลัก

เอาเข้าจริงเพลงแต่ละเพลงในทุกอัลบั้มที่ผ่านมา มันเหมือนเป็นการอัพเดตข้อมูลชีวิตว่าช่วงนี้เราเจอกับอะไรมา แล้วเรารู้สึกกับอะไรอยู่ ก่อนปลายทางจะกลั่นกรองถ่ายทอดออกมาเป็นเพลงตามสำนึกคิดแบบซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา

อย่างสิ่งที่เราพูดออกมาในเพลงล่าสุด ก็เป็นการเล่าถึงคำถามในหัวใจว่าสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน ผู้คนต่างออกมาเรียกร้องต่อบางสิ่งที่ถูกขโมยไป ซึ่งมันก็เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ถูกใครคนใดปิดหูปิดตาเอาไว้ จะบังเอิญหรือไม่บังเอิญก็ตามแต่ รวมถึงสะท้อนการแก้ไขปัญหาที่ขาดความเข้าใจ และความเพิกเฉยต่อปัญหาโดยไม่ได้บอกอะไรกลับมาแก่ประชาชนเลย เช่นที่เคยมีคนบางคนบอกว่าจะมีวัคซีนเต็มแขนให้กับประชาชนทุกคน เมื่อลองมองความเป็นจริง เขาสามารถทำได้ตามที่พูดหรือเปล่า ถ้าคำพูดนั้นเข้าข่ายเฟกนิวส์แล้วทำไมเราถึงไม่มีสิทธิ ไม่มีอิสรภาพที่จะวิจารณ์คำพูดนั้นกลับไปได้บ้างล่ะ

คุณเชื่อไหมกับคำกล่าวที่ว่า ‘ดนตรีเปรียบเสมือนอาวุธ’ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงและชี้นำความคิดในสังคมได้

เราว่ามันขึ้นอยู่กับความรู้สึกของคนที่ฟัง พอฟังแล้วเขาจะปล่อยให้เพลงนั้นมีอิทธิพลต่อชีวิตมากน้อยแค่ไหน

กับเพลงบางเพลงอาจจะมีพลังงานบางอย่างสอดแทรกไว้อยู่ สมมติว่าเราเปรียบเพลงนั้นเป็นอาวุธ แต่สุดท้ายอาวุธที่ว่ามันไม่ได้ถูกนำไปต่อยอดใช้อะไรเลย มันก็คงจะไม่มีความหมายอะไร เพราะสุดท้ายทั้งหมดทั้งมวลมันขึ้นอยู่กับว่าเราจะให้ค่าต่อเพลงนั้นอย่างไร บางคนอาจจะไม่รู้สึกอะไรเลย เทียบกับอีกคนหนึ่งที่อาจได้อะไรกลับไปมากมายหลังจากฟังเพลงเพลงเดียวกันเพลงนั้น

แต่สำหรับเพลงของเรา เราว่ามันไม่ใช่อาวุธเพื่อจะนำไปทิ่มแทงทำร้ายใคร มันเป็นเพียงสิ่งที่เราอยากปลอบประโลมใจหรือตะโกนบอกกับตัวเราเองมากกว่าว่า ควรต้องรู้สึกแบบไหนกับเหตุการณ์ตรงหน้า

บ่อยครั้งที่เรามักเห็นคุณลุกขึ้นมาคอลเอาต์ในโซเชียลมีเดียถึงสถานการณ์บ้านเมืองหรือความไม่ชอบธรรมต่างๆในสังคม ทำไมคุณถึงตัดสินใจทำเช่นนั้น

เราตัดสินใจออกมาพูดเพราะไม่อาจทนกับความอยุติธรรมตรงหน้า และความอยุติธรรมนั้นไม่อาจกดทับหัวใจเราให้นิ่งเฉยดูดายต่อไปได้อีกต่อไป

มันน่าเศร้าจริงๆ นะ เราอยากพูดออกมาไม่ใช่ในฐานะศิลปิน แต่พูดออกมาในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ซึ่งคำพูดของเราไม่ได้ไปทำร้ายใครหรือทำให้ใครบาดเจ็บ เราพูดเพราะมันเป็นอิสรภาพทางความคิดของเรา

ในโลกแห่งความเป็นจริงตรงหน้าต่างก็มีคนเยอะแยะมากมายที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการบ้านเมือง อย่างคนรู้จักใกล้ตัวเราก็มีทั้งพ่อ แม่ คนในครอบครัวที่เสียชีวิตเพราะได้รับวัคซีนล่าช้า

กับการที่ผู้คนในสังคมต่างเรียกร้องให้นักดนตรีหรือศิลปินต้อง ‘คอลเอาต์’ หรือออกมาเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องความถูกต้องและอิสรภาพ คุณคิดว่าเป็นความกดดันไหม

สำหรับตัวเรา เราคิดว่าขึ้นอยู่กับที่ใครจะมอง

ทุกคนควรเคารพอิสรภาพซึ่งกันและกัน คุณสามารถเลือกได้ว่าจะพูดหรือไม่พูด เพียงแต่ว่าคุณสามารถเพิกเฉยกับเรื่องแบบนี้ที่อยู่ตรงหน้าให้เกิดขึ้นต่อไปได้เรื่อยๆ หรือเปล่า

ยกตัวอย่างที่ค่อนข้างชัดเจนเลยกับเหตุการณ์ที่มีประชาชนล้มตายอยู่ข้างถนน แต่กลับถูกคนบางกลุ่มบอกว่า อ๋อ มันคือเฟกนิวส์ มันคือการจัดฉาก สบายใจได้ แล้วหันกลับมากินส้มตำ มานั่งดื่มสบายใจเฉิบกันต่อ… แบบนี้หรือ ถามตัวคุณเองว่ายอมทนให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะที่เราสามารถออกมาพูดเรื่องนี้ได้ตามความถนัด ตามความเหมาะสมทางใดทางหนึ่ง เช่น เราถนัดแต่งเพลงก็ลุกขึ้นมาแต่งเพลง อะไรก็ตาม แต่ย่อมดีกว่ายอมทนนิ่งเฉยให้เขาย่ำยีไปตลอด

ดูเหมือนในระยะหลัง นักดนตรีและศิลปินเพลงหลายคนต่างลุกขึ้นมาแต่งเพลงเพื่อสะท้อนปัญหาและเรียกร้องความชอบธรรมให้กับสังคม คุณคิดอย่างไร

ก็คงจะเป็นเพราะสิ่งเหล่านี้ที่มันเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ ‘สะกิด’ หัวใจ แต่มัน ‘กระทืบ’ ถึงหัวใจของพวกเขา จนทำให้ต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่าง

เราไม่สามารถพูดได้เต็มปากหรอกว่าแต่ละคนลุกขึ้นมาแต่งเพลงเพราะต้องการอะไร สุดท้ายแล้วเรายังยืนยันคำเดิมว่าขึ้นอยู่กับคนฟังว่าเขาจะตีความเพลงเพลงนั้นไปทิศทางไหน เพราะอย่าง อิสรภาพ…ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ ก็เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อปลอบประโลมจิตใจตัวเราเอง ไม่ให้ทรุดไปมากกว่านี้

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 คุณโพสต์เรื่องราวผ่านเพจเฟซบุ๊กว่ามีโอกาสได้ออกไปถ่ายภาพผู้ชุมนุมบริเวณใกล้ท้องสนามหลวง (ม็อบ 7 สิงหาคม) การได้ลงพื้นที่ไปเห็นบรรยากาศด้วยตัวเอง คุณรู้สึกอย่างไรบ้างกับสิ่งที่เห็นตรงหน้า

วันนั้นหลังจากไปที่วิภาวดีเสร็จ เราตัดสินใจว่าอยากไปดูตู้คอนเทนเนอร์ที่มีป้ายไวนิลประโยค (คนดี) แขวนอยู่ ซึ่งตอนแรกคาดว่าจุดชุมนุมจะเกิดขึ้นตรงนั้น

พอไปถึงตรงนั้นสักพักก็คิดว่าไม่มีอะไรแล้วเลยตัดสินใจเก็บของกลับบ้าน ขณะที่กําลังจะเตรียมตัวกลับ แฟนเราก็สังเกตเห็นอะไรบางอย่างที่มีป้ายไวนิล (คนดี) แขวนปิดอยู่ แฟนเราเลยบอกเธอลองเดินไปดูสิ แล้วสิ่งที่เราเห็นคือประโยคสั้นๆ ว่า ‘We Are All Human’ (เราต่างเป็นมนุษย์) ดูธรรมดาสามัญมาก แต่กลับแฝงไปด้วยความจริงที่ยิ่งใหญ่เสียเหลือเกิน เป็นข้อความที่ถูกปิดทับภายใต้ป้ายผ้าใบผืนใหญ่และคำพรรณนามากมาย

เราเคยพูดมาก่อนนะ ว่าคนบางคนอาจจะเชื่อในเรื่องของการเวียนว่ายตายเกิด แล้วทำไมในเมื่อเราได้เกิดมาเป็นคนในชาตินี้แล้ว เราไม่หยิบหัวใจความเป็นมนุษย์ติดมาด้วย หรือคุณมีแค่ร่างกายเท่านั้นที่เป็นมนุษย์ ข้อความตรงนั้นมันสะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าผม คุณ หรือใครก็ตาม เราต่างเป็นมนุษย์ด้วยกันทั้งนั้น

นอกจากเป็นนักดนตรี คุณก็เป็นช่างภาพด้วย หากเปรียบประเทศไทยในตอนนี้เป็นภาพหนึ่งภาพ ภาพนั้นจะเป็นแบบไหน

เราเคยคิดว่าประเทศไทยเป็นภาพสีดำทึบหนึ่งภาพซึ่งไม่สามารถมองเห็นแสงสว่างลอดผ่านเข้ามาได้เลย จนกระทั่งวันนี้เราเริ่มเห็นแสงสว่างนั้นอีกครั้ง ทั้งจากการกระทำหลายๆ อย่างที่เริ่มมีคนพูด มีคนลงมือทํา หลังจากเคยถูกใครบางคนเอาความมืดปิดบังไว้มานาน

เปรียบเหมือนการเอากระดาษสีดำทึบมาเจาะรูเล็กๆ แล้วเห็นแสงสว่างลอดผ่านเข้ามา จากแต่เดิมที่เอากระดาษใบนั้นมาทาบตรงหน้าให้ตายก็แทบไม่เห็นภาพหรือแสงอะไร แต่ในเวลานี้มันไม่ใช่อะไรแบบนั้นอีกต่อไปแล้ว ถึงแม้เรายังไม่แน่ใจว่าการออกมาพูดอะไรบางอย่างจะถูกจำกัดตั้งคำถามว่าเป็นเสรีภาพแล้วหรือเปล่า แต่เรามองว่าอย่างน้อยก็ควรเป็นสิ่งที่คนคนหนึ่งสามารถพูดออกมาได้ สมมติว่าคุณบอกว่าไม่ชอบงานเรา เราจำเป็นต้องให้คนไปทำร้ายคุณหรือใช้กำลังบังคับให้คุณมาชอบเราหรือ เป็นไปไม่ได้เลย

คุณว่าจริงไหมที่ประเทศนี้กำลังขับเคลื่อนไปด้วยความรุนแรง ความเศร้า และความเกลียดชัง

คงจะเพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาหลายสิ่งตรงหน้ามันเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เหมือนสุภาษิตน้ำลดตอผุด โดยเฉพาะกับเรื่องวัคซีนที่มันทำให้เราเห็นอะไรบางอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน เหมือนน้ำสีดำที่อดีตเคยท่วมตอไว้ แต่ตอนนี้มันลดและตอเริ่มโผล่ให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

และหลังจากผ่านช่วงเวลาอันเลวร้ายนี้ไป เราเชื่อว่าสิ่งที่กำลังจะดำเนินต่อไป คนจะฉลาด รู้ทัน มองเห็นความเท่าเทียม ให้เกียรติซึ่งกันและกัน ตรงนี้เราอยากจะบอกถึงคนที่กำลังเศร้าอยู่สั้นๆ ว่าอย่าสิ้นหวัง ถึงใครจะทำให้หมดหวังแค่ไหนก็ตาม วันข้างหน้าย่อมต้องดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แน่ เพียงแต่ว่าจะต้องใจเย็นกับการเฝ้ารอคอย

ทราบมาว่าคุณเคยรับเชิญจากมหาวิทยาลัยบางแห่งให้ไปแนะแนววิชาดนตรีแก่นักศึกษา ก็คงพอจะได้คลุกคลีกับทั้งคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มาบ้าง คุณคิดว่ารอยร้าวที่เกิดขึ้นในสังคมของคนระหว่างวัยเกิดจากอะไร

เราทุกคนต่างเติบโตมาในช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งแต่ละช่วงเวลานั้นเราล้วนมีความเชื่อหรือการมองเห็นบางอย่างเป็นของ gen ตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น แนวเพลง สไตล์การทำวงดนตรี อะไรก็ว่าไป

 แต่ใจความสำคัญหลักที่หลายคนอยากให้เกิดขึ้นในสังคม คือการยอมรับความแตกต่าง เมื่อคุณอยู่ในสังคมเดียวกัน ก็ควรเปิดหัวใจ เปิดกะโหลก หลายๆ ครั้งเรามักจะเห็นปัญหาถกเถียงกันระหว่าง gen ว่าคุณเป็นเด็ก คุณย่อมไม่มีสิทธิ์สอนผู้ใหญ่ ทำไมล่ะ ผู้ใหญ่อาจจะรู้โคตรน้อยกว่าเขาก็ได้ อย่าเอาเพียงแค่ตัวเลขอายุมาตัดสินว่ารู้มากกว่า ฉลาดปราดเปรื่องกว่าใคร ฉะนั้นหากเราจะอยู่ร่วมบรรทัดฐานสังคมเดียวกัน ไม่ว่าจะอย่างไร ไม่สมควรถึงขั้นทำร้ายอนาคตคนอื่น โดยเฉพาะคนรุ่นถัดไปที่หลายฝ่ายนิยามพวกเขาว่า ‘คนรุ่นใหม่’ จุดนี้เราว่าคนรุ่นเก่าน่าจะทราบดีนะ เพราะเขาต่างก็ต้องเคยเป็นคนรุ่นใหม่กันมาก่อนทั้งนั้น

 แล้วทำไมเราถึงอยู่ในสังคมที่แตกต่างและยอมรับซึ่งกันและกันไม่ได้ ตรงนี้เราอยากรู้มากๆ เหมือนกัน ว่าทำไมเขาถึงหวงแหนความคิด ความเชื่อ จนไม่ยอมปล่อยคนที่เขาเรียกว่าอีกฝ่ายมีโอกาสได้พูด ได้แสดงความคิดเห็นออกมาบ้าง มันจะเป็นจะตายขนาดนั้นเลยหรือ อย่างถ้าคุณเชียร์ทีมแมนยูฯ แต่เขาดันเชียร์ลิเวอร์พูล ก็ไม่เห็นเป็นไรนี่ ยังอยู่ด้วยกันได้ ยังคุยเรื่องฟุตบอลร่วมกันได้

คุณมีความเชื่อไหมว่า คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้จะสามารถเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม

 อืม… เราว่าถ้าเขาได้รับโอกาสในอิสรภาพนั้นทั้งคำพูด การกระทำ ตามที่มุ่งมั่นตั้งใจไว้ มันคงเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นไม่น้อยที่จะได้เห็นภาพวันนั้น ส่วนจะดีกว่าเดิมหรือเปล่า อันนี้คงต้องรอการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นให้ได้ก่อน 

เหลืออีกไม่กี่เดือนก็จะเข้าสู่ปี 2565 คุณอยากเห็นประเทศไทยก้าวต่อไปในทิศทางใด

ปีหน้าเราเชื่อว่าไม่ว่าใครก็ตามย่อมอยากให้ประเทศเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารเพื่อสร้างเรื่องดีๆ ให้แก่บ้านเมืองสักที โดยปราศจากความหวั่นไหว ความลุ่มหลงในอำนาจบางอย่างที่กดพวกเขาให้ทำเรื่องดีๆ ให้กับบ้านเมืองไม่ได้ และอยากให้ถึงเวลาที่ทุกคนสามารถก้าวเท้าออกจากบ้านไปประกอบอาชีพตัวเองได้อย่างสบายใจเสียที

 

ภาพ: เพจเฟซบุ๊ก Greasy Café, Byron Oliveir (Thanuth Sawangjeang), camelcut

Fact Box

  • อภิชัย ตระกูลเผด็จไกร หรือ ‘เล็ก Greasy Café’ เป็นนักดนตรีและศิลปินนักแต่งเพลงสังกัดค่าย Smallroom ตั้งแต่ปี 2542 ปัจจุบันมีผลงานรวมทั้งหมด 4 อัลบั้ม ได้แก่ 1. สิ่งเหล่านี้ (พ.ศ. 2551) 2. ทิศทาง (พ.ศ. 2552) 3. The Journey without Maps (พ.ศ. 2555) และ 4. Technicolor (พ.ศ. 2560) และมีบทเพลงเป็นที่รู้จักมากมายในหมู่นักฟัง อาทิ ฝืน, สิ่งเหล่านี้, ประโยคบอกเล่า, ร่องน้ำตา, สุดสายตา ฯลฯ
  • เล็ก Greasy Café เคยได้รับรางวัลต่างๆ ด้านดนตรี เช่น รางวัลศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม จากเวทีคมชัดลึก อวอร์ด ครั้งที่ 6 (พ.ศ. 2551) จากอัลบั้ม สิ่งเหล่านี้ และล่าสุดกับรางวัลศิลปินชายเดี่ยวยอดเยี่ยม สีสันอวอร์ด ครั้งที่ 28 (พ.ศ. 2560) จากอัลบั้ม Technicolor
  • นอกจากจะมีชื่อเสียงในฐานะนักดนตรีแล้ว เล็ก Greasy Café ยังเป็นที่รู้จักมาก่อนในฐานะช่างภาพ ทั้งงานถ่ายภาพส่วนตัว งานโฆษณา และงานถ่ายภาพเบื้องหลังภาพยนตร์ไทยชื่อดังอย่าง จันดารา รวมถึงเคยเป็นนักแสดงภาพยนตร์ เรื่อง แต่เพียงผู้เดียว ของผู้กำกับฯ คงเดช จาตุรันต์รัศมี ซึ่งฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลภาพยนตร์เวนิส ประเทศอิตาลี เมื่อปี .. 2554
Tags: , , , ,