“ทำไมคริสเตียโน โรนัลโด หรือนักกีฬาคนอื่นเขาตีลังกาตอนแสดงความดีใจกันได้ ทำไมเราแสดงความดีใจบ้างถึงทำไม่ได้ ทำไมถึงกลายเป็นประเด็น” จิมมี่-พิฆเนศ สุขหยิก นักกีฬาคิกบ็อกซิงทีมชาติไทย ผู้คว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันซีเกมส์ 2023
หลายคนจดจำเธอในท่วงท่าลีลาการ Slow-mo Turn ฉลองชัยชนะที่กลายเป็นคลิปไวรัลไปทั่วประเทศ จนภายหลังจิมมี่เกือบถูกตัดสิทธิการแข่งขัน และได้รับจดหมายเตือนจากสหพันธ์กีฬาคิกบ็อกซิงแห่งเอเชีย ที่แม้แต่ตัวเธอก็เต็มไปด้วยคำถามว่า ทำไม ทำไม และทำไม
The Momentum ชวน จิมมี่-พิฆเนศ พูดคุยถึงชีวิตหลังสังเวียน เส้นทางการต่อสู้กว่าจะเป็นจิมมี่ผู้เฉิดฉายและพร้อม Slow-mo Turn ในทุกจังหวะของชีวิต ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการเรียนโรงเรียนกีฬา การแข่งขันที่แข่งเท่าไรก็ไม่มีวันชนะ จนกล่าวโทษตัวตนของตัวเองว่า “หรือเพราะเป็นตุ๊ด เป็น LGBTQIA+ ถึงชกมวยเท่าไรก็ไม่ชนะ” จนไปสู่คำถามที่เธอบอกกับเราว่า “หนูเป็นตุ๊ดที่ไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึงขนาดนี้”
เป็นนักกีฬาคิกบ็อกซิง จบจากโรงเรียนกีฬาประจำจังหวัด คุณรู้ตัวตอนไหนว่ามีความสนใจด้านกีฬา
ไม่ได้ชอบเลย คือเราไม่ได้ชอบกีฬาเลย เอาจริงๆ กลัวด้วยซ้ำ แม่เป็นคนส่งไปเรียน ณ ตอนนั้น คิดแค่ว่าโรงเรียนกีฬาอยู่ไกลบ้านมากที่สุด คงเปิดโอกาสให้เราได้เห็นอะไรใหม่ๆ เห็นโลกมากขึ้น และหากได้เป็นตัวแทนแข่งขันก็ได้เที่ยวด้วย
อีกอย่างเราอยากจะช่วยแบ่งเบาภาระของทางบ้าน ประหยัดเงิน แม้ว่าจะไม่ชอบก็ต้องทำไป เรียนไป ต้องทำให้ได้ ด้วยเงื่อนไขพวกนี้เลยเป็นแรงฮึดให้เรา เพราะเมื่อก่อนครอบครัวมีข้อจำกัดทางการเงินที่จะส่งเสียเรา จึงตัดสินใจเรียนโรงเรียนประจำเพราะค่าเทอมถูก มีอาหารกินฟรีสามมื้อ มีโอกาสเป็นนักกีฬา ได้เงินระหว่างเรียนด้วยเลยเลือกไปทางนี้
ประกอบกับคุณแม่อยากให้ไปเรียน เขาคงคิดว่าเป็นช่องทางหนึ่ง เพราะหากเป็นนักกีฬาไปแข่งขันและได้เหรียญรางวัลกลับมา ก็จะได้รับค่าตอบแทน เงินตรงนี้เราก็นำมาส่งตัวเองเรียน ใช้เป็นเงินเก็บ และส่งกลับให้ที่บ้าน
แม้ว่าเราไม่ชอบ แต่สิ่งเหล่านี้กลับเปิดทางให้เราสามารถทำอะไรที่เราอยากทำได้หลายอย่าง
ตอนแรกที่ตัดสินใจเลือกเรียนกีฬาคาราเต้ ไม่กลัวเจ็บตัวหรือ
กลัวมาก แบบกลัวมากๆ แต่ความกลัวมันหายไป เพราะเรารู้ว่าตัวเองมาเพื่อครอบครัว ตอนแรกกลัวมากเลยนะ ไม่อยากจะเล่น จะไม่เอาแล้ว เป็นการตัดสินใจหน้างานเลยด้วยซ้ำ เราไม่อยากเป็นนักกีฬาต่อสู้ ตอนแรกเตรียมตัวไปเป็นนักกีฬาวอลเลย์บอล เพราะเป็นกีฬาของเราๆ อยู่แล้ว แต่วอลเลย์บอลโดนปิด ไม่มีการเรียนการสอนในโรงเรียนกีฬาจังหวัดนครศรีธรรมราช
ตอนแรกเลยลองไปวิ่ง พอวิ่งเราไม่ได้เป็นที่หนึ่งจึงรู้สึกว่าไม่รอดแน่นอน ขนาดระดับตำบล ระดับอำเภอยังไม่แชมป์เลย ก็เลยลองเล่นกีฬาอื่น
แน่นอนว่าการเรียนโรงเรียนกีฬา นักเรียนส่วนใหญ่มักเป็นเพศชาย สังคมตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง?
หนูก็แอ๊บแมนสุดฤทธิ์เพราะกลัว (หัวเราะ) แบบชายแท้ครับผม ตอนที่เข้าไปปีแรกๆ เรากลัวมาก ก่อนที่จะโทรไปบอกแม่ว่าเราเป็นตุ๊ด เพราะเราอยู่โรงเรียนประจำไง ในรุ่นตอนนั้นมีเราเป็นตุ๊ดอยู่คนเดียว ทั้งโรงเรียนมีจิมมี่เป็นตุ๊ดคนเดียว ก็กลัวโดนแกล้ง กลัวไม่ได้รับการยอมรับ ก็คิดว่าจะต้องทำตัวอย่างไร หรือหากเจอผู้ชายหล่อ ไปแอบชอบเขาจะทำอย่างไรดี (ขำ) ก็เป็นอารมณ์ประมาณนี้ หลายอารมณ์มาก
สุดท้ายแล้วสิ่งที่เรากลัวในตอนนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเลย ตอนเราแอ๊บแมนทุกคนมาแกล้ง มีคนมาถามตรงๆ นะว่า “มึงเป็นหรือเปล่าเนี่ย” เราก็ตอบไปว่า “เป็นอะไร ไม่ได้เป็น ไม่เชื่อมึงมาต่อยกับกูไหม จะได้รู้ว่าใครเป็นตุ๊ด” ตอนนั้นเพื่อนมาแกล้งเราก็ต้องปกป้องตัวเองไป อารมณ์แบบก็มาดิ อุ้ยทำไมฟังดูรุนแรงจัง แต่มันเป็นแบบนี้จริงๆ
คือเรามีจริตมาตั้งแต่เด็กๆ ทั้งการเดิน เวลาเดินผ่านหน้ากระจกทุกคนรู้ว่าเราเป็นอย่างไรมาตั้งแต่แรก สุดท้ายเราก็เปิดตัวว่าเป็นตุ๊ด กล้าเป็นตัวเอง และสิ่งที่ตามมา คือเรารู้สึกว่าทุกคนรักเรามากกว่าตอนที่เรายังไม่ยอมรับตัวเองเสียอีก
ตอนนี้ชอบสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ไหม?
กลายเป็นความรักไปแล้ว มันเปลี่ยนเป็นความรักในช่วงประมาณเริ่มเรียนม.4 เราเปลี่ยนความคิดตัวเองจากที่เมื่อก่อนตอนเรียนชั้น ม.1-3 เราไม่เคยชนะใครเลย แพ้มาตลอด แพ้ แพ้ แพ้ แพ้ แพ้ ได้เหรียญรางวัลครั้งแรกก็เกือบเข้าปีที่ 2 หากเทียบกับเพื่อนคนอื่น คือเขาแข่งกันแมตซ์สอง แมตซ์สาม ก็ได้เหรียญทองกันแล้ว
ตอนนั้นคิดว่าหรือเพราะเราเป็นตุ๊ด เป็น LGBTQIA+ ทำไมถึงไม่ชนะใครเลย ทำไมแข่งขันแล้วก็แพ้อีก ตอนได้เหรียญรางวัลแรกมา ก็ได้เป็นเหรียญทีม ทั้งๆ ที่เราเป็นนักกีฬาประเภทเดี่ยว ซึ่งตอนแข่งขันในประเภทต่อสู้เดี่ยว เช่น ท่ารำเดี่ยว เราแพ้หมดเลย เราไม่ได้เหรียญกลับมา ไม่มีเหรียญติดมือมาเลย
จุดเปลี่ยนหรือความคิดจากที่ไม่ชอบกีฬาสู่ความรักของคุณคืออะไร
เหมือนกับว่าความรู้สึกเรามันดิ่งจนไม่มีที่ไปต่อแล้ว เป็นความรู้สึกที่คิดลบกับตัวเองมากไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว เช่น พยายามหาจุดด้อยของตัวเองและนำมาเป็นข้ออ้างให้กับตัวเอง ประกอบกับตอนนั้นเป็นช่วงเก็บตัว เราได้โคชมาช่วยไว้ด้วย เขาพูดกับเราว่า
“ผมเชื่อใจในตัวคุณนะ คุณสามารถเป็นนักกีฬาทีมชาติ เป็นนักกีฬาที่ดีได้ เพราะผมเห็นอะไรสักอย่างในคุณ”
เราไม่รู้ว่าเขาเห็นอะไร (ขำ) เขาก็บอกว่า เดี๋ยวปีหน้าจะทำให้เราได้เหรียญทอง และติดทีมชาติให้ได้ เราเลยกลับมาปรับความคิดใหม่ จากที่โทษตัวเองว่าเป็นนั่น เป็นนู่น เป็นนี่ ก็เปลี่ยนมามองว่า การคิดแบบนี้ไม่ได้อะไรเลย และหันมาคุยกับตัวเองว่า ตอนนั้นฉันแพ้เพราะอะไร ทำไมเราไม่หาเหตุผลจากตรงนี้ล่ะ ทำไมไม่หาทางแก้ เท่านั้นแหละมันเปลี่ยนจากจุดที่ดิ่งมากๆ ออกมา เราเลยเห็นว่าที่ผ่านมามีใครเชื่อใจเราบ้าง เช่น พ่อ แม่ และครู แต่ทำไมจิมมี่ถึงไม่เชื่อใจตัวเอง
ก็คิดใหม่ว่าเพราะอะไรฉันถึงแพ้ ฉันต้องทำอย่างไรฉันถึงจะชนะได้ เขาก็คนเราก็คน ทำไมฉันถึงมองเรื่องเพศหรือเป็นเพราะฉันเป็นตุ๊ดหรือเปล่า เป็น LGBTQIA+ หรือเปล่า ก็มาปรับแนวคิดใหม่ว่า อีนี่ก็เป็นคน ฉันก็เป็นคน สองมือ สองเท้าเท่ากัน และมาคิดในรูปแบบการเล่น จะเล่นอย่างไรให้ได้แชมป์ ให้ชนะ จะหาวิธีการเล่นที่มันดีขึ้นได้อย่างไร พอปีต่อมาก็เริ่มมั่นใจในตัวเองมากขึ้น เพราะรู้ว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ความคิดต่างหากที่สำคัญ คือสิ่งที่ทำร้ายเรา
กว่าจะผ่านมาได้ยากไหม
ร้องไห้ก็แล้ว โทษตัวเองก็แล้ว มันดิ่งสุดๆ ร้องไห้จนร้องไม่ออก เราร้องไห้จนข้างในมันเจ็บเลย เพราะเราเป็นคนที่แพ้แล้วไม่ร้องไห้มาตั้งแต่เด็กๆ กระทั่งตอนนี้ ไม่เคยร้องไห้เลย บางครั้งเราก็คิดนะ เพราะเวลาเพื่อนแพ้ปุ๊บ เขาจะร้องไห้ มีโคช มีเพื่อนมาช่วยกันปลอบ เราก็อยากร้องไห้บ้าง อยากให้คนอื่นมาปลอบใจบ้าง ก็คิดว่าทำไมเราไม่ร้องไห้ บางครั้งการร้องไห้มันเป็นสิ่งที่ดีนะ ได้ปลดปล่อยความเสียใจที่อยู่ข้างใน แต่มันไม่ยอมออกมาเสียที
ทำอย่างไรน้ำตาก็ไม่ออก หาคำตอบไม่ได้เลย แต่เรารู้ว่ามันเสียใจมากๆ เคยมีครั้งหนึ่งโคชพูดว่า “เขาร้องไห้เพราะคาดหวังมาก” เราก็กลับมาคิดนะ หรือกูไม่คาดหวังอะไรเลยหรือเปล่าถึงไม่ร้องไห้ แต่มันไม่ใช่ เราคาดหวังในทุกการแข่งขัน อยากได้แชมป์ แต่พอแพ้ เราไม่ได้ร้องไห้เหมือนคนอื่น ไม่ได้แปลว่าไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ได้แปลว่าไม่ได้คาดหวังกับสิ่งที่ตัวเองทำ
คิดว่าเป็นความเจ็บปวดรูปแบบหนึ่ง
เจ็บมากด้วย เจ็บแบบเจ็บจี๊ด
ชีวิตประจำวันของนักกีฬาคิกบ็อกซิงทีมชาติไทย มีอะไรบ้าง ซ้อมโหดไหม
ถ้าเป็นการซ้อมรายสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งมีการพักในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ทุกๆ 7 โมงเช้า จิมมี่จะตื่นมาซ้อมกีฬาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยแบ่งออกเป็น 2 โปรแกรม คือ 1. วันวิ่ง และ 2. วันเวทเทรนนิ่ง ส่วนช่วงบ่ายจะเป็นการซ้อมเกี่ยวกับเทคนิคล้วนๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการแข่งขัน เทคนิคการทำคะแนน ส่วนตอนเย็นจะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงในการฝึกซ้อม และมีการพักระหว่างวัน ซึ่งเราก็เต้น TikTok บ้าง (หัวเราะ) ส่วนใหญ่ใช้เวลาไปกับการพักผ่อน มันเหนื่อยมากๆ พวกเราต้องการการพักฟื้นเพื่อกลับมาซ้อมใหม่ในตอนเย็น
นอกจากการซ้อมมวย หรือออกกำลังกายทุกวัน คุณมีงานอดิเรกอย่างอื่นอีกไหม
ฟังเพลง เต้นอะไรแบบนี้ค่ะ (หัวเราะ) เราเป็นคนชอบเต้นมากๆ แต่ยังไม่ถึงกับคัฟเวอร์ เป็นการเต้นแบบจอยๆ ตามแอปพลิเคชัน TikTok มากกว่า แต่ถ้ามีโอกาสก็อยากจะลองแข่งเต้นดูบ้าง มีแผนเข้าคอร์สเรียนเต้น แต่ยังไม่มีเวลา ไม่มีโอกาสได้เต้น
ปกติคุณต้องวิ่งวันละกี่กิโลเมตร
เกือบ 20 กิโลเมตรได้เลย เพราะโปรแกรมที่จิมมี่เคยวิ่งหนักสุดๆ คือระยะทาง 800 เมตร วิ่ง 16 เที่ยว ตอนฟังโปรแกรมครั้งแรก ก็โอ้มายก็อด แม่เจ้าโว้ยเลย ตอนนั้นเราคิดว่ามันต้องวิ่งบ้าอะไรขนาดนั้น จนถามโคชว่าทำไมวิ่งเยอะจัง วิ่งขนาดนี้ใครจะวิ่งได้ เลยถามเขาไปว่า “ใครสามารถวิ่งได้ อาจารย์ช่วยเอามาวิ่งโชว์ให้หนูดูหน่อย จะได้มีกำลังใจ” เพราะตอนนั้นเราวิ่งไม่ถึง ร่างกายยังไม่พร้อม มันหนักมากๆ เพราะไม่เคยวิ่งเยอะขนาดนี้มาก่อน และต้องจับเวลาให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดอีกด้วย
อะไรที่ทำให้คุณยังคงซ้อมและก้าวต่อไปข้างหน้าเรื่อยๆ ถึงแม้จะเหนื่อยแบบนี้
น่าจะเป็นพลังการปลุกใจ การให้กำลังใจจากโคชค่ะ เขาจะพูดประมาณว่า มีการวิจัยมาแล้ว คนอื่นก็ทำได้ พอบอกแบบนี้ปุ๊บ เราก็เอาวะ ลองดูสิ ก็แค่วิ่งเอง คือปกติเราสู้ทุกอย่างอยู่แล้ว เราอยากได้แชมป์ใช่ไหม ก็จะบอกโคชว่า “จะให้หนูวิ่งกี่กิโลเมตรบอกมาได้เลย จะให้หนูต่อยอีกกี่พันหมัดโคชบอกมาได้เลย”
ก็กลายเป็นการพูดสนุกสนานกับโคชไป มันเลยส่งผลให้บรรยากาศในการซ้อมสนุกสนานไปด้วย จนลืมโฟกัสว่าจะต้องวิ่งเท่าไร การที่มีโคชอยู่ช่วยทำให้เราไม่คิดลบกับโปรแกรม ทำให้มีสมาธิเหมือนเราชนะตัวเองไปแล้วในวันนี้ค่ะ
คิดว่าทำไมคุณถึงได้รับจดหมายเตือนจากสหพันธ์กีฬาคิกบ็อกซิงแห่งเอเชีย จากการ Slow-mo Turn
คิดว่าสิ่งที่จิมมี่ทำไม่ถูกใจใครบางคนแค่นั้น เพราะในกีฬาไม่มีในกฎห้าม Slo-mo Turn คือถ้ามีในกฎ เราไม่ทำอยู่แล้ว การจะเป็นนักกีฬาเราต้องรู้กฎกติกาว่า ต้องปฏิบัติและสามารถปฏิบัติอย่างไรได้บ้าง อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ และต้องรู้กติกาการเล่นทำคะแนน ซึ่งสิ่งนี้เรารู้อยู่แล้ว ดังนั้น คิดว่าอาจเป็นความไม่พอใจของใครบางคนที่เขาไม่ชอบ
คิดว่าการ Slow-mo Turn เพื่อฉลองชัยชนะในกีฬาคิกบ็อกซิง เป็นการสั่นคลอนความเป็นชายในกีฬาแมนๆ ด้วยหรือเปล่า
หนูไม่รู้ว่าความคิดคนอื่นเป็นอย่างไร คิดว่าน่าจะมีส่วน เพราะถ้าเขาชอบ เขาคงไม่กระทำกับเราแบบนั้น ซึ่งไม่ผิดที่จะไม่ชอบ อาจมีเหตุผลมุมมองในภาพลักษณ์หรือเปล่า
แต่อย่างที่บอก ไม่ได้มีกฎระเบียบชัดเจน ถ้ามันทำให้ภาพลักษณ์กีฬาไม่ดีจริง คุณก็เขียนกฎให้มันชัดเจนสิ แต่ถ้าคุณเขียนมันออกมาจริง ก็แสดงว่าคุณไม่เป็นกลาง คุณไม่ได้ดูกีฬาเป็นกลาง เป็นองค์กรที่กลางกับทุกคน แต่คุณเลือกปฏิบัติต่างหาก
หลังจากได้รับจดหมายเตือนยังจะ Slow-mo Turn อยู่หรือเปล่า
ทำค่ะ เราเข้าใจว่าการแข่งขันกีฬามีแพ้กับชนะ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะเราเคารพทุกคน การที่กระทำหรือแสดงถึงความดีใจในวันนั้น คือการเคารพกันอย่างหนึ่งของนักกีฬาแต่เราแค่ทำมันแตกต่างจากคนอื่น เขาเลยไม่ชอบ
ทำไมคริสเตียโน โรนัลโด หรือนักกีฬาคนอื่นเขาตีลังกาตอนแสดงความดีใจกันได้ ทำไมเราถึงทำไม่ได้ เลยเต็มไปด้วยคำถามว่าทำไม ทำไม ทำไม
พอประกาศผลว่าชนะ เขาก็ตีลังกา แต่ทำไมเราทำบ้างถึงกลายเป็นประเด็น ทั้งที่การประกาศผลมันเสร็จเรียบร้อยแล้ว หนูแค่ดีใจในรูปแบบของผู้หญิง แต่เราเป็นผู้ชาย สุดท้ายมันเต็มไปด้วยคำถาม แต่คำถามก็ได้คำตอบอยู่แล้วว่าเพราะอะไร
ทุกการแข่งขันล้วนมีผู้ชนะและผู้แพ้ คุณจัดการความรู้สึกพวกนี้อย่างไร เพราะไม่ใช่ทุกครั้งที่จะสมหวัง
เมื่อก่อนเวลาแพ้เราจะเสียใจมากๆ จนร้องไห้ไม่ออก เพราะคาดหวังเยอะเกินไป ว่าจะได้รางวัลแบบไหน แต่เราลืมมองกลับไปว่า กีฬามีอยู่แค่สองอย่าง คือแพ้และชนะ ถ้าวันนี้คุณไม่แพ้ คุณคือผู้ชนะ นี่คือธรรมชาติของกีฬา
แต่ทุกคนดันไปยึดติดในสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติของกีฬา ทุกคนกลับมองแบบเราในตอนนั้น คิดว่าจะต้องชนะเพียงอย่างเดียว แต่ไม่มีใครที่จะชนะเสมอไป ทุกคนต้องมีวันที่แพ้ และที่ชนะ ต้องมีบางวันที่แย่และวันที่ดี สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่เราเจอมาก่อน จนมันเปลี่ยนมุมมองแนวคิดเราว่า วันนี้แพ้เพราะอะไร เรียนรู้อะไรจากการแพ้ในรอบนั้น เพราะการแข่งขันกีฬาไม่ได้มีแค่แมตซ์เดียว พอจบแมตซ์นี้ การแข่งขันครั้งเมื่อกี้ก็กลายเป็นอดีตไปแล้ว กลายเป็นการแข่งขันที่เคยแข่งเท่านั้น ยังมีรายการอื่นๆ รอเราอยู่อีกมาก
เรามองว่ามาเล่นกีฬาให้มีความสุขดีกว่า เราพัฒนาตัวเองให้ดีที่สุดในทัวร์นาเมนต์ต่อไปดีกว่า แพ้ก็ให้รู้ว่าแพ้เพราะอะไร ชนะไม่ใช่เพราะเราเก่งกว่าคนอื่น วันนี้เขาอาจจะผิดพลาดมากกว่าก็ได้ เราเลยเป็นคนที่ชนะ เราอาจจะเตรียมตัวมาดีกว่ามันแค่นั้นเองค่ะ
กีฬามีธรรมชาติอยู่แค่สองอย่าง แต่ทุกคนกลับคาดหวังว่า ฉันจะต้องได้ดั่งใจ ได้แชมป์ จุดนั้นเรามองว่าจะทำร้ายตัวเองมากกว่า เอาความคาดหวังตรงนั้นมาทำร้ายตัวเอง ก็เลยเปลี่ยนความคิดใหม่ ตอนนี้เวลาเล่นกีฬาก็คิดแค่ว่า แมตซ์นี้ฉันซ้อมมาจะได้เล่นกับคนนี้ จะโชว์ทักษะอะไรบ้าง แพ้ชนะเรามาวัดกันว่า ทักษะของฉันจะล้มคุณได้หรือเปล่า
มันเลยกลายเป็นว่า เราเล่นสนุกมากขึ้น พอเราสนุกมากขึ้นอะไรก็ตามที่เราทำด้วยความสุขจะออกมาดีเสมอ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ
ตอนขึ้นชกบนสังเวียนเหนื่อยไหม
เหนื่อยมาก 2 นาทียาวนานเหมือน 10 ปี ไม่จบไม่สิ้นสักที กระโดดแล้วกระโดดอีก ต่อยแล้วต่อยอีก 30 วินาทีบนสังเวียนยาวนานเหมือน 10 ปีแสง จนคิดว่าอะไรจะยาวนานขนาดนี้
ส่วนตอนพักคือทำไมมันเร็วจัง ฉันต้องขึ้นต่อยในยกต่อไปแล้วหรือ ความรู้สึกเป็นแบบนี้เลยจริงๆ 1 นาที เหมือนพักแค่ 10 วินาที ส่วนตอนต่อย ต่อย 2 นาที ยาวนานเหมือน 10 ปีแสง
ถ้าให้คุณเปรียบเทียบคู่ชกบนเวทีเป็นสิ่งที่เราต้องก้าวผ่านบนสังเวียน แล้วคู่ชกในชีวิตจริงของคุณคือใคร
ตัวเองค่ะ เราคิดว่าโจทย์ที่ยากที่สุดคือตัวเองนี่แหละ ชนะตัวเองทั้งในเรื่องของกีฬาว่าเราจะดึงศักยภาพที่ซ้อมมาได้มากน้อยแค่ไหน เพราะคนแรกที่ต้องต่อสู้คือตัวเอง เราจะจัดการเอาชนะความตื่นเต้นได้อย่างไร เอาชนะความกลัวที่จะแข่งขันกับคนอื่นได้อย่างไร เพราะก่อนที่จะแข่งขันเราจะตัวสั่นมาก ตื่นเต้นมาก แบบวันนี้เจอแชมป์ต้องทำอย่างไร
พอเป็นแบบนี้มันเหมือนกับว่าประสิทธิภาพของเรา ศักยภาพของเราจาก 100% ลดลงมาเหลือ 80% แต่ถ้าเราชนะตัวเองได้จะเป็นการขึ้นชกแบบฟรีสไตล์ออกไปชกแบบมีความสุข เล่นให้มันสนุก โชว์ในสิ่งที่เรามี ไม่ต้องสนใจเลยว่า อีนั่นเป็นใคร ได้แชมป์อะไร ไม่ว่าเป็นใครก็ตามจะต่อยให้หมดเลย ฉันจะเล่นสนุกของฉันแบบนี้ พอเราชนะตัวเองได้ ศักยภาพจะออกมาดีที่สุด แล้ววันที่ผลประกาศออกมาก็จะแฮปปี้ เพราะเราทำเต็มที่ทุกอย่างแล้ว
คู่แข่งที่อันตรายที่สุด ที่น่ากลัวที่สุด คือตัวเราเอง สำหรับจิมมี่นะคะ
คุณคิดจะอยู่ในอาชีพนักกีฬาไปอีกนานไหม
เดือนกันยายนปีนี้เราจะอายุ 24 ปี ตอนแรกวางแผนไว้ไม่เกินอายุ 30 ปี เพราะอาชีพนักกีฬาไม่ได้อยู่กับเราตลอด ตอนนี้คิดว่าไม่น่าเกินอายุ 30 ปี แต่ต้องบอกก่อนว่า เส้นทางการเป็นนักกีฬาของเราตอนนี้มันสุดมากๆ เกินฝันของตัวเองไปแล้ว จริงๆ ไม่ใช่ความฝันของเราด้วยซ้ำ เป็นเหมือนความฝันของคุณแม่ และเราไม่คิดด้วยซ้ำว่าจะได้เป็นนักกีฬาทีมชาติ มันเกินไปเยอะจริงๆ
วันนี้เราไปถึงระดับโลก ระดับ 10 ของโลก ได้เป็นแชมป์เอเชีย ได้เหรียญรางวัล มีคนรู้จักในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทย มันเกินกว่าที่คาดหวังตอนเด็กเยอะมาก เพราะเราเป็นตุ๊ดที่ไม่คิดว่าตัวเองจะมาถึงขนาดนี้ ในด้านกีฬามันมาไกลมากๆ เลย
อยากลองทำอะไรใหม่ๆ หาประสบการณ์ใหม่ๆ ในชีวิต เพราะคิดว่า เกิดมาครั้งหนึ่งเราอยากจะทำอะไรที่มันหลากหลาย ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ
สิ่งที่สนใจอยากจะทำหลังจากนี้
ท่องเที่ยว เราชอบเที่ยว น่าจะเป็นการนำประสบการณ์ความสนุกต่างๆ มาส่งต่อให้กับคนอื่น เรามีหลายอย่างที่อยากทำมาก แต่ยังไม่ได้ทำ แต่เรากลับทำสิ่งที่ไม่ชอบจนมันประสบผลสำเร็จไปหมดแล้ว ก็ต้องขอบคุณสิ่งที่ไม่ชอบในวันนั้น มันกลายเป็นใบเบิกทางที่จะนำพาสิ่งที่เราชอบเข้ามาหา ต้องขอบคุณกีฬาที่ทำให้เรามีโอกาสมานั่งคุยกันในวันนี้ มีคนรู้จักมากขึ้น จากสิ่งที่เราไม่ชอบตอนเด็กๆ
เห็นว่าช่วงก่อนมีถ่ายละคร ชอบการเป็นนักแสดงไหม
ชอบมาก ล่าสุดที่ได้ไปถ่ายละคร จริงๆ มันเป็นความฝันเราเลย พอไปลองทำมันสนุกมาก เอนจอยมาก การเข้าบทแต่ละบทเราต้องเข้าถึงอารมณ์ เข้าถึงจินตนาการของบท มันจึงเป็นความท้าทาย เป็นอีกประสบการณ์ เป็นอีกเส้นทางหนึ่งที่เหมือนหน้ามือหลังมือ
ขอมอบพื้นที่ให้โฆษณาตัวเองในด้านการแสดงค่ะ
ถ้าเป็นนางงามก็เป็นนางงามพร้อมใช้เลย สามารถเรียกตัวได้ตลอดเวลา ผู้ใหญ่ใจดีก็ติดต่องานได้เลยนะคะ (หัวเราะ)
คุณมีอะไรที่อยากแชร์ต่อคนที่ต้องแบกความฝันของคนรอบข้างไปด้วยไหม
ถ้าเป็นไปได้ ไม่มีข้อจำกัดอะไรเยอะแยะมากมาย ก็อยากให้ทุกคนทำตามหัวใจของตัวเองก่อน เพราะอย่างที่เราบอก ถ้าเราเห็นคุณค่าของตัวเอง การที่เราเลือกเดินทางตามหัวใจจะส่งผลให้เราเห็นคุณค่าของตัวเองมากที่สุด เพราะก่อนที่จิมมี่จะเห็นคุณค่าของตัวเอง เราเคยถามตัวเองเสมอว่า ฉันมาทำอะไรที่นี่วะ เราเคยผ่านจุดที่กูมาทำอะไรตรงนี้มาแล้ว มีแต่คำว่าทำไม ทำไม ทำไม
เราไม่รู้ว่าการเปลี่ยนมุมมองความคิดจะสามารถเกิดขึ้นกับทุกคนได้หรือเปล่า หรือเขาจะสามารถถีบตัวเองได้ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ หรือถีบตัวเองจากจุดดำมืดเป็นความสว่างได้ไหม ดังนั้น ก็อยากให้ทุกคนทำตามหัวใจตัวเองดีที่สุด ไม่ต้องไปแบกความหวังของใคร เพราะเรามีหน้าที่ใช้ชีวิตให้มีความสุข ชีวิตเป็นของเรา อยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าของตัวเอง และมีความสุขต่อการใช้ชีวิต ไม่ต้องไปแบกความหวังของใคร มันเหนื่อย เหนื่อยจริงๆ ขอให้ทุกคนได้ทำตามหัวใจของตัวเอง
สุดท้ายคุณคิดว่าการเป็น LGBTQIA+ ส่งผลต่ออาชีพไหม และมีอะไรอยากจะบอกต่อคนที่ติดอยู่ในวาทกรรมเหล่านี้บ้างหรือเปล่า
แค่เราเชื่อมั่นในตัวเอง มั่นใจในตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเองว่า เราก็เป็นคนคนหนึ่งที่สามารถทำในสิ่งที่อยากจะทำ โดยไม่ต้องเดือดร้อนใคร ฉันก็สามารถเป็นนักกีฬาได้ถึงแม้ว่าฉันจะเป็นตุ๊ด เป็น LGBTQIA+ ฉันก็เป็นนักกีฬาได้ เพราะฉันเป็นคนเหมือนกับคุณ ตามหลักสรีรวิทยาเราจึงมีสิทธิเป็นนักกีฬาได้ แต่แค่ให้คุณค่าของตัวเองก่อน เพราะตอนที่จิมมี่จมปลัก ยังไม่เปลี่ยนมุมมองเรามองแต่ข้อเสียของการเป็น LGBTQIA+ ไม่มองคุณค่าของตัวเอง จึงตอกย้ำตัวเอง ทั้งที่สังคมเขาก็กดทับ บูลลี่เราอยู่แล้ว
สิ่งสำคัญคือเราต้องยืนยันตัวเองให้ได้ว่า สิ่งที่เขาพูดไม่ใช่ความจริง เราต้องรู้ว่าตัวเองทำอะไรอยู่ รู้ว่าเป็นใคร อย่าไปฟังเขาเยอะ ให้คุณค่ากับตัวเองมากๆ และทุกอย่างจะง่ายขึ้น
Tags: LGBTQIA+, จิมมี่, คิกบ็อกซิง, มวย, Close-Up