“สวัสดิการข้าราชการตำรวจดีเกินไปจริงไหม ผมมองว่าไม่ใช่ ปัญหาเกิดจากระบบอุปถัมภ์ เป็นปัญหาที่มาจากรูปแบบของการบริหาร การประเมินบุคลากร เพื่อเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ที่ทำให้เกิดปัญหา คือคนที่เขาตั้งใจทำงานก็จะเกิดความรู้สึกว่า กูจะขยันไปทำไม เพราะคนที่มีเส้นมีสาย เป็นเด็กของนาย ก็จะได้รับการแต่งตั้งอยู่ดี แล้วเราจะทำดีไปเพื่ออะไร ระบบมันไปดับฝันเส้นทางอาชีพของตำรวจดีๆ ในระบบอย่างน่าเสียดาย”
มุมมองของ พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ต่อปัญหาหลากหลายที่ฝังลึกในวงการตำรวจไทย ทั้งระบบอุปถัมภ์ การยัดเงิน การทำงานแบบเช้าชามเย็นชาม การใช้กำลังกับประชาชน ฯลฯ แม้กระทั่งจากจุดเริ่มต้นนับแต่การโกงข้อสอบเข้ารับราชการตำรวจ
Close-Up สัปดาห์นี้ พ.ต.ต.ชวลิตแจกแจงถึงปัญหาในเชิงโครงสร้างของวงการตำรวจไทยที่เอื้อให้เกิดการโกงกินและความลุแก่อำนาจในเครื่องแบบสีกากี ด้วยความเชื่อที่ว่า ผู้นำที่ดีและระบบที่ตรวจสอบได้ จะแก้ไขปัญหาและสร้างความหวังใหม่ ทั้งกอบกู้ ‘เกียรติตำรวจของไทย’ ได้ในอนาคตข้างหน้า
ปัญหาเรื่องของเส้นสาย การยัดเงินให้กับผู้คุมสอบเข้ารับราชการตำรวจ คุณมองว่าปัญหาส่วนนี้เกิดจากอะไร ทำไมปัจจุบันคนจำนวนไม่น้อยจึงพยายามดิ้นรนเป็นอย่างมาก ถึงขนาดยอมทำทุกวิถีทางเพื่อเข้ามาเป็นตำรวจ
ผมว่ามันมีอยู่สองแรงจูงใจ คือแรงจูงใจที่ไม่เป็นปัญหาและแรงจูงใจที่เป็นปัญหา
ความต้องการเป็นตำรวจเพราะอยากช่วยเหลือผู้อื่น อยากเป็นผู้เสียสละ อยากเป็นฮีโร่ อยากเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายกับคนที่กระทำผิดในสังคม ในส่วนนี้คือแรงจูงใจที่ไม่เป็นปัญหา เป็นการอยากเข้ามาในระบบเพราะอุดมการณ์ เพราะความฝันส่วนตัวของเขา
แต่ในส่วนที่มีปัญหาคือการอยากเป็นเจ้าคนนายคน อยากเลื่อนชนชั้นทางสังคม อยากมีอำนาจพิเศษกว่าคนอื่น สามารถมอบประโยชน์หรือลงโทษคนอื่นได้ อีกทั้งยังเป็นประกันความเสี่ยงของชีวิตด้วยรูปแบบการงานที่มั่นคง มีแนวโน้มที่จะออกจากงานต่ำ ที่สำคัญคือได้รับสวัสดิการมากกว่าคนทั่วไป
มันเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาโดยตลอด การที่บ้านเมืองเรามีชนชั้นที่เหนือกว่า สามารถกดขี่ผู้อื่น สามารถใช้อำนาจมาให้คุณให้โทษคนอื่นได้แบบนี้ จึงทำให้หลายคนมองว่าเป็นช่องทางที่จะสามารถเอาตัวรอดจากสังคมนี้ได้ นี่เรายังไม่ต้องพูดเลยว่าจิตใจเนื้อแท้เขาเป็นคนดีหรือไม่ดี เป็นคนเห็นแก่ตัวหรือไม่ เพราะในสภาพสังคมแบบนี้ มันบีบบังคับให้พวกเขาต้องดิ้นรนเข้ามาในระบบเอง ซึ่งมันผิดเพี้ยนไปมาก จนถึงขนาดที่ปัจจุบันมันกลายเป็นวิถีของระบบราชการ
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมมองว่ามันเกี่ยวข้อง คือปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะงานอื่นๆ รายได้น้อย ถูกเลิกจ้างได้ง่าย สวัสดิการก็ไม่ดีเท่าราชการ
ย้อนกลับมาเรื่องการรับเข้าสมัครตำรวจ ในปัจจุบันผมมองว่าแนวโน้มของเด็กรุ่นใหม่ค่อนข้างดีขึ้นนะ เขาเริ่มเข้าใจแล้วว่าการแก้ปัญหาภาพใหญ่คืออะไร แต่ที่น่าเป็นห่วงคือญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ในวัฒนธรรมแบบนี้เสียมากกว่า แนวคิดที่อยากให้ลูกหลานโตมาเป็นเจ้าคนนายคน มีอาชีพการงานที่มั่นคง เขาจึงพาลูกหลานไปฝากกับนายตำรวจใหญ่ พอสอบเข้าได้ก็ฝากกับผู้ใหญ่ในสายงาน ให้เอ็นดู ให้อุปถัมภ์ค้ำชูกันต่อไป ซึ่งมันก็ส่งผลต่อคนในระบบที่เดิมทีก็ทำงานเพื่อสังคม หวังเอาผลงานที่ทำเพื่อประชาชนสร้างความก้าวหน้าทางอาชีพ ต้องมาต่อสู้กับเด็กของข้าราชการผู้ใหญ่เหล่านี้ ก็กลายเป็นทำให้วงจรเช่นนี้ลุกลามมากขึ้นไปอีก
คราวนี้จะพูดถึงวิธีการแก้ไข ผมแบ่งเป็นสองประเด็นคือ อำนาจนิยมและปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งวิธีการแก้แน่นอนว่ามันคือเรื่องระดับโครงสร้างของประเทศเลย ไม่ใช่แค่โครงสร้างของตำรวจ คือเราต้องพูดกันถึงความสัมพันธ์ของอำนาจ รัฐบาล ผู้บังคับบัญชาระดับสูงในองค์กร ที่สามารถให้คุณให้โทษลูกน้อง ให้มีระบบเข้ามาแทรกแซงตรวจสอบได้ ส่วนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ก็ต้องแก้ที่นโยบายของภาครัฐ เงินสวัสดิการที่ไม่เท่ากับภาครัฐ จะทำอย่างไรให้สูงเท่ากันได้
ส่วนในการสอบรับราชการตำรวจ หลายคนอาจมองวิธีแก้ปัญหาเส้นสายด้วยการใช้ระบบสอบข้อเขียน 100% ไปเลย ไม่ต้องใช้ดุลพินิจของคน เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ตรงไปตรงมา เช่นเดียวกับปัญหาการแต่งตั้งโยกย้าย เลื่อนตำแหน่งของตำรวจ หลายคนก็หันไปมองวิธีแก้ปัญหาที่ไม่ต้องใช้ดุลพินิจของคนเลย เช่น ใช้ระบบอาวุโสหรือการสอบข้อเขียน
แต่ผมมองว่าการใช้ระบบที่ไม่ใช้ดุลพินิจการประเมินของคนเลย อย่างการสอบข้อเขียนหรือการใช้ระบบอาวุโส กลับไม่เป็นผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานเพื่อประชาชน ไม่มีองค์กรที่ประสบความสำเร็จที่ไหนในโลกที่ใช้แต่ระบบสอบข้อเขียนและระบบอาวุโสเท่านั้นในการรับสมัครและประเมินพนักงาน เนื่องจากคุณสมบัติสำคัญ เช่น ทัศนคติ ความรับผิดชอบ ความเสียสละ ความใฝ่รู้ ความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นผู้นำ การทำงานร่วมกับผู้อื่น เหล่านี้ไม่สามารถวัดได้ด้วยข้อสอบ แต่วัดได้จากการใช้ดุลพินิจของคนที่มีทักษะและได้รับความเชื่อใจในการทำหน้าที่ประเมิน ซึ่งคนประเมินก็ควรจะเป็นคนในองค์กรเอง เลือกคนที่เหมาะสมมาเป็นลูกน้องหรือเพื่อนร่วมงาน เพราะเข้าใจลักษณะงานมากกว่าคนนอก นอกจากนี้ ลูกน้องก็ควรที่จะประเมินการทำงานของหัวหน้าได้เช่นกัน
ดังนั้นตัวแปรสำคัญคือความเชื่อใจ ซึ่งเกิดจากระบบการตรวจสอบที่โปร่งใส สามารถติดตามปัญหาย้อนหลังได้ เป็นการตรวจสอบโดยประชาชน ไม่ใช่หน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบแต่ไม่มีประสิทธิภาพหรือมีปัญหาทุจริตเสียเอง
แล้วประชาชนจะตรวจสอบอย่างไร คำตอบอยู่ที่การจัดโครงสร้างองค์กร การกระจายอำนาจ ให้สายบังคับบัญชาสั้น ผู้บังคับบัญชาสูงสุดมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ระบบการเมืองที่ประชาชนมีอำนาจเปลี่ยนนักการเมืองได้ง่าย ระบบกฎหมายที่เอื้อให้หลักฐานในการทุจริต ติดสินบน ปรากฏขึ้นได้ง่าย นี่คือการเปลี่ยนบริบท ให้ผู้ประเมินคนเข้ามาเป็นตำรวจ หรือประเมินลูกน้องในการเลื่อนตำแหน่ง ใช้ดุลพินิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาเส้นสาย การฝาก การติดสินบน ให้เป็นผลดีต่อประชาชนมากที่สุด
คุณมองว่าสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์ที่ตำรวจได้รับค่อนข้างมากเกินความจำเป็น หรือยังขาดส่วนไหนอีก
เวลาผมมองเรื่องสวัสดิการ เรื่องสิทธิประโยชน์ ผมจะมองไปยังประเทศที่เขาเจริญแล้วเป็นต้นแบบ ซึ่งในประเทศเหล่านั้น ผมกลับพบว่ารัฐสวัสดิการของประชาชนทั่วไปกับข้าราชการเท่ากัน และหากนำอัตราส่วนของสวัสดิการกับค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานไปเทียบกับราชการไทย บ้านเราเองทุกวันนี้ที่มองว่าข้าราชการมั่นคง อยู่สบาย แท้จริงแล้วยังถือว่าน้อยอยู่มาก ไม่ค่อยพอในการดำรงชีพเท่าไร แต่นั่นก็ยังมากกว่าประชาชนที่หาเช้ากินค่ำด้วยซ้ำ
ดังนั้นผมเลยไม่ได้มองว่ามีรัฐสวัสดิการไหนที่ใครได้มากเป็นพิเศษในปัจจุบัน แต่ทุกคนต้องได้เพิ่มมากกว่านี้ และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างเท่าเทียมและถ้วนหน้า ให้มันมากพอจนสามารถจะใช้ชีวิตได้
แต่มันก็มีประเด็นที่ว่า ถ้าข้าราชการมีรัฐสวัสดิการเท่าประชาชน แล้วจะมีแรงจูงใจอะไรให้คนอยากเป็นข้าราชการ ผมก็อยากชวนคนคิดตามนะว่า ประเทศที่รัฐสวัสดิการดีและเท่าเทียมกัน เขาก็ไม่ขาดแคลนคนในระบบราชการ เขาแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ซึ่งคำตอบมันง่ายมากคือ การแข่งขันแรงจูงใจในเชิงค่าตอบแทน เงินเดือนที่ต้องแข่งกับเอกชน หรืออุดมการณ์ของงานนั้นๆ เช่น การอยากช่วยเหลือประชาชนของตำรวจ
คือถ้าพูดถึงสวัสดิการ มันก็ครอบคลุมตั้งแต่เกิดยันตายที่มีอยู่แล้ว แต่มันควรเพิ่มจำนวนขึ้นไป อย่างสิทธิค่ารักษาพยาบาลก็ยังมีบางตัวที่เบิกไม่ได้ หรืออย่างบำนาญในทุกวันนี้มันสอดคล้องกับวิถีชีวิตหรือเปล่า ยังต้องอาศัยลูกหลานมาช่วยเลี้ยงหรือเปล่า ก็ต้องดูในส่วนนี้ด้วย
ปัญหาคลาสสิกอีกข้อของข้าราชการไทยคือ การทำงานเช้าชามเย็นชาม เพราะอยู่ในระบบที่มั่นคงแล้ว เหมือนไม่ต้องดิ้นรนอะไรนัก คุณมองปัญหานี้อย่างไรบ้าง
เช้าชามเย็นชามมันมาจากปัญหาที่สวัสดิการข้าราชการตำรวจอาจจะดีเกินไปจริงไหม ส่วนตัวผมมองว่าไม่ใช่ ปัญหานี้เกิดจากระบอบอุปถัมภ์ เป็นปัญหามาจากรูปแบบของการบริหาร การประเมินบุคลากร เพื่อเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่ง ที่ทำให้เกิดปัญหาคือ คนที่เขาตั้งใจทำงานก็จะเกิดความรู้สึกว่า กูจะขยันไปทำไม เพราะคนที่มีเส้นมีสาย เป็นเด็กของนาย ก็จะได้รับการแต่งตั้งอยู่ดี แล้วเราจะทำดีไปเพื่ออะไร ระบบมันไปดับฝันเส้นทางอาชีพของตำรวจดีๆ ในระบบอย่างน่าเสียดาย
มันคงจะดีกว่านี้ถ้ามีการปฏิรูป ทำให้คนในองค์กรเกิดการแข่งขัน ให้ผลงานเป็นตัวแปรในความก้าวหน้าทางอาชีพ
แวดวงตำรวจสีเทาเขามีวิธีการหาเงินพิเศษกันอย่างไร จากช่องทางไหนบ้าง
จริงๆ แล้วคนที่มีอำนาจหน้าที่กว่าใครบางคนจะสามารถหาผลประโยชน์จากอีกคนได้อยู่เสมอ อย่างตำรวจก็มีการใช้อำนาจหน้าที่ในการหาผลประโยชน์ ตั้งแต่การรับผู้สมัครเข้าเป็นตำรวจ การทำสำนวนคดี การแต่งตั้งโยกย้าย การจัดซื้อจัดจ้างเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่หาผลประโยชน์ แต่มันก็จะต่างกันแค่ว่ารูปแบบไหนทำง่ายหรือยาก รูปแบบไหนทำได้มากหรือน้อย
ถ้าอันไหนตรวจสอบได้ยาก คนข้างนอกไม่รู้เห็น ไม่มีหลักฐานหลงเหลือ ก็จะตรวจสอบได้ยาก เช่น การจับคนที่ทำผิดกฎหมาย แต่เลือกที่จะไม่จับแล้วรับสินบนมาแทน ซึ่งอันนี้ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของวิธีที่ง่าย ตำรวจยังไม่ทันได้ทำอะไรเลย เพียงแค่ใช้อำนาจหน้าที่ของตนที่มีอยู่ก็หาเงินได้แล้ว
คุณมองว่าระบบราชการต้องสร้างระบบที่น่าเชื่อถือได้ แต่อย่าไปฝากความเชื่อใจกับคนในระบบมากเกินไป
มันต้องควบคู่กัน ผมมองว่ามันต้องทำให้เราเชื่อใจคนทำงาน เช่นเจ้าหน้าที่สืบสวนคนนี้ เราจะเชื่อใจให้เขาทำหน้าที่ได้อย่างไร ซึ่งสิ่งที่ควรทำคือการสร้างระบบ การสร้างบริบท ที่สามารถตรวจสอบได้ ไม่ให้เขากล้าที่จะทำผิด
ส่วนตัวผมก็ยังเชื่อว่ามีตำรวจน้ำดีอยู่ในองค์กรอยู่อีกมาก ผมอยากให้ระบบแบบนี้สนับสนุนพวกเขา ผมอยากให้ระบบอุปถัมภ์อยู่ไม่ได้และตายไปจากวงการตำรวจไทย
รังสิมันต์ โรม เคยให้ความเห็นเรื่องช่องทางหาเงินสีเทาของตำรวจว่า คือการ ‘ถอนทุน’ หลังจากที่เขายอมจ่ายเงินจำนวนหนึ่งเพื่อเข้ามาอยู่ในระบบนี้ คุณคิดเห็นอย่างไร
แบบนี้คือวิธีการมองแบบธุรกิจ การหาเงินขึ้นมาสู่ตำแหน่งที่ดีกว่า มันเป็นการตัดสินใจว่าลงทุนกับสิ่งนี้แล้ว ด้วยความคิดที่ว่า ในตำแหน่งใหม่ เขาจะหาเงินได้มากกว่าเงินที่ลงทุนไป อันนี้มันเป็นความคิดตั้งต้นก่อนเข้ามาสู่ตำแหน่งนี้
มันจะแตกต่างกับอีกจำพวกนะ ต้องแยกดีๆ คือมันจะมีบางภาคส่วนที่ระบบบีบบังคับว่า ถ้าคุณไม่จ่าย หน้าที่การงานคุณไม่โต คุณจะสู้เพื่อนตำรวจคนอื่นที่จ่ายไม่ได้ แต่ในรูปแบบนี้คือถึงมีหรือไม่มีช่องทางก็ตาม เขาก็จะไปขวนขวาย ไปหาช่องทางเพื่อลงทุนกับสิ่งนี้เป็นพิเศษ
สืบเนื่องจากกรณีของอดีต ‘ผู้กำกับโจ้’ เรื่องการใช้อำนาจกับผู้ต้องหา เช่น การคลุมถุงดำ การทำร้ายร่างกาย ทำไมตำรวจถึงไม่ใช้วิธีสืบพยายาน สอบสวนผู้ต้องหาตามหลักสากลในปัจจุบัน
เรื่องการทรมานผู้ต้องหาเพื่อให้รับสารภาพ ต้องยอมรับว่ามันเป็นวิธีที่ใช้มาโดยตลอดตั้งแต่อดีต เช่น การตอกเล็บ บีบขมับ เพราะมันเป็นวิธีในการค้นหาความจริงได้ง่าย ไม่ต้องไปออกแรงเหนื่อยเพื่อหาหลักฐานหรือใช้วิชาการอะไรเลย
แต่ปัจจุบันมีการศึกษาเผยออกมาแล้วว่า การทรมานเพื่อเค้นความจริงจากผู้ต้องหา ส่วนใหญ่แล้วสิ่งที่ผู้ต้องหาพูดออกมาแล้วมักจะไม่เป็นความจริงเท่าไร คือเขาจะพูดอะไรก็ได้ เพื่อให้พ้นจากการทรมานในช่วงขณะนั้น ดังนั้นพูดถึงแค่วิธีในการสืบสวนด้วยการทรมานเอง ปัจจุบันมันไม่เวิร์กอยู่แล้ว
ดังนั้นเรื่องนี้มันเป็นความมักง่ายของเจ้าพนักงาน ทั้งที่ในปัจจุบันมีวิธีใหม่ๆ ในการค้นหาความจริง เช่น นิติวิทยาศาสตร์ จิตวิทยาในการสอบปากคำ มันก็ทำได้และเห็นผล แต่ก็ต้องใช้ความรู้ ใช้แรงเยอะกว่า เขาเลยใช้วิธีแบบเก่าที่ง่ายและสามารถปิดงานได้เร็ว
การทำงานของกองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชนที่ทุกวันนี้ถูกตั้งคำถามมาก โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ คุณมองเรื่องการเยียวยาโดยเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไรบ้าง
ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติงาน ซึ่งมีความผิดพลาด มีความสูญเสีย ก็ต้องมีความรับผิดชอบ ทั้งในส่วนของการรับผิดและเยียวยา ตามความคิดของผม ในส่วนของความรับผิด หากมองในฝั่งของผู้ชุมนุม หากมีใครที่ก่อเหตุรุนแรง ละเมิด หรือทำร้ายร่างกาย ตัวเขาเองก็ต้องรับผิดชอบเช่นกัน ส่วนในฝั่งตำรวจ คนที่ปฏิบัติงานตามที่เขียนไว้ในหลักสากลก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้าใครที่ทำเกินเลยไปกว่านั้นแล้วเกิดความเสียหายแก่ร่างกาย แก่บุคคล มันก็ต้องมีความรับผิดชอบเหมือนกัน ต้องเรียกร้องการลงโทษทางวินัยจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง และให้เขามีนโยบายลงมา อันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น
ในหลายๆ กรณีที่เกิดขึ้น เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถชนผู้ร่วมชุมนุม กลับกลายเป็นว่าตำรวจคนนั้นถูกลอยแพ ให้เป็นคดีฟ้องร้องกันเองระหว่างคู่กรณี
ประเด็นคือต้องดูว่ามันเป็นความผิดของตัวเขาหรือเป็นความผิดร่วมของผู้บังคับบัญชาที่สั่งมา คือต้องไปดูว่าเขาสั่งอย่างไร มากน้อยแค่ไหน รัดกุมอย่างไร ขอบเขตอยู่ตรงไหน ถ้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานได้รับคำสั่งอย่างหนึ่ง แต่ไปทำอีกอย่างหนึ่ง และเป็นความผิดของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ได้ป้องกันไว้ ก็ต้องรับผิดชอบด้วย แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าเหตุความรุนแรงและความสูญเสียนั้นเกิดจากเจ้าหน้าที่คนเดียว แล้วถ้าผู้บังคับบัญชาโดนไปด้วย มันก็อาจจะไม่แฟร์เท่าไร เราต้องดูตามข้อเท็จจริง
การที่คุณกำลังรวบรวมหลักฐานกรณีเด็กถูกยิงบริเวณ สน.ดินแดง คุณเห็นปัญหาอะไรตรงไหนบ้าง
ตอนนี้เรามีหลักฐานพิสูจน์ได้แล้วคือ ผู้ก่อเหตุคือกลุ่มชายฉกรรจ์ ซึ่งเป็นตำรวจหรือคนธรรมดาก็ไม่รู้ ซึ่งพอเขาก่อเหตุแล้ว ปรากฏว่าไม่มีการติดตามเพื่อจับกุมโดยตำรวจ ตัวผู้ก่อเหตุเองก็ไม่แสดงอาการเกรงกลัว และที่สำคัญคือ หลังก่อเหตุเขากลับไปอยู่หน้า สน.ดินแดง อีก ทั้งหลังจากเคลียร์พื้นที่ชุมนุมเสร็จ ก็ยังมีภาพของกลุ่มชายฉกรรจ์กลุ่มหนึ่ง ซึ่งยังไม่ขอยืนยันว่าเป็นกลุ่มคนเดียวกันกับที่ก่อเหตุ ไปอยู่ใน สน.ดินแดง ซึ่งมันเป็นสิ่งที่น่าสงสัย
มันก็อดคิดไม่ได้เหมือนกันว่า เบื้องลึกเบื้องหลังอาจมีข้าราชการในองค์กรรัฐเกี่ยวข้อง เพราะหากเราย้อนไปดูการชุมนุมทางการเมืองในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เราก็จะเห็นพฤติการของรัฐที่จัดตั้งกลุ่มคนมาปะทะกับมวลชนที่มาเรียกร้องโดยสันติวิธี ซึ่งมันก็ยังสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ และแน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่าเรื่องราวเหล่านี้ยังวนเวียนอยู่
ทำไมคุณถึงตัดสินใจลาออกจากการรับราชการตำรวจ แล้วมาทำงานการเมืองกับพรรคอนาคตใหม่ จนถึงพรรคก้าวไกลในปัจจุบัน
มันเกิดจากการตามข่าวการเมือง เราเห็นตั้งแต่ช่วงที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และ ปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้งพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา มีการประกาศวิสัยทัศน์ของพรรคในด้านต่างๆ อย่าง ‘ไทยสองเท่า’ หรือ ‘ไทยเท่าทันโลก’ ซึ่งผมรู้สึกว่ามันตรงกับแนวคิดของผม รู้สึกว่ามันใช่ รู้สึกว่าอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สังคมไปสู่เป้าหมายนั้นได้ เพราะเหล่านี้มันก็คือวิธีแก้ปัญหาในวงการตำรวจที่ผมเคยพูดไปก่อนหน้านี้ ในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ
ตอนนั้นตัวผมเองก็เป็นตำรวจที่เป็นแฟนคลับของพรรค พยายามไปร่วมงานกิจกรรมที่ทางพรรคจัด แล้วก็ได้เจอคนในพรรคที่มาแจ้งว่า มีการเปิดรับสมัครคนมาเป็น ส.ส. ของพรรค ผมได้ยินเขาพูดแบบนี้ ก็คิดเอาเองนะว่าเขามาชวนผม (หัวเราะ) ก็เลยตัดสินใจลาออกเลย
ถามว่าในใจตอนแรกผมอยากเป็น ส.ส. ขนาดนั้นเลยไหม ก็ไม่ขนาดนั้น เพียงแต่ผมอยากทำงานภายใต้แนวคิด แนวทาง การดำเนินงานของพรรคที่มองเห็นภาพประเทศไทยในอนาคตแบบเดียวกันเท่านั้น
ตอนที่ตัดสินใจนั้น คุณเชื่อว่าการทำงานร่วมกับพรรคอนาคตใหม่จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมในแบบที่คุณต้องการได้มากกว่าการเป็นตำรวจหรือ
ถ้าจะคาดหวังมันสำเร็จได้หรือไม่ มันก็เป็นเรื่องของอนาคต แต่ที่บอกได้คือ ทุกวันนี้เราสามารถทำงานได้อย่างอิสระ ทำงานได้ตามความต้องการมากกว่าเดิม ตอนที่ผมเป็นตำรวจ ก็เห็นปัญหาอะไรต่างๆ นานามาตลอด ซึ่งกว่าจะได้แก้ไข ต้องรอรูปแบบการสั่งงานจากเบื้องบนก่อน ซึ่งบางทีเขาก็ไม่ได้ฟังเรา แต่พออยู่ในพรรค รูปแบบการทำงานไม่ได้ยึดโยงจากคำสั่งใครบางคน แต่จะยึดจากนโยบายที่มอบอำนาจอยู่แล้ว ซึ่งมันช่วยให้เราทำงานและแก้ปัญหาในสังคมได้จริง ผมก็เลยไม่ลังเลที่จะลาออกมาช่วยพรรคอนาคตใหม่ทำงาน
หากวันนี้ประเทศไทยจะแก้ไขปัญหาในระบบราชการตำรวจ คุณคิดว่าควรเริ่มจากจุดไหน
ถ้าทำได้จริงในระบบมากที่สุด คือต้องเอาคนของประชาชนเข้าไปมีอำนาจก่อน
หลายคนตั้งคำถามว่าควรแก้ไขปัญหาด้วยคนดีหรือระบบที่ดีก่อน ซึ่งส่วนใหญ่มักมองว่าควรสร้างระบบที่ดีก่อน แต่คำถามคือเราจะสร้างระบบโดยใครล่ะ เราจะสร้างโดยคนที่มีอำนาจแบบทุกวันนี้หรือ ผมว่าเราต้องการคนที่เป็นเหมือนความหวัง เข้าไปมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงระบบได้ก่อน จึงจำเป็นต้องมีพรรคการเมือง มีนักการเมืองที่ประชาชนเชื่อมั่น รู้สึกมีหวัง เข้าไปมีอำนาจในรัฐ
ส่วนวิธีการแก้ปัญหาในระบบ ผมมองเรื่องการกระจายอำนาจจากประเทศต้นแบบอย่างอังกฤษหรือญี่ปุ่น ราชการที่ทำงานกับประชาชน เขาจะไม่ได้รับอำนาจจากส่วนกลางโดยตรง แต่จะเป็นการบริหารงานส่วนท้องถิ่นมากกว่า ซึ่งจะทำให้เป็นการดำเนินงานภายใต้คนของประชาชนในพื้นที่ จากนั้นเราก็เอาระบบที่ตรวจสอบได้ไปบังคับใช้อีกที ให้การทำงานดำเนินไปอย่างโปร่งใสมากยิ่งขึ้น
ทุกวันนี้ความไว้ใจและความน่าเชื่อถือของประชาชนต่อตำรวจถดถอยลงไปมาก คุณคิดเห็นอย่างไรบ้าง
ผมมองว่ามันเป็นเรื่องไม่ควรเกิดขึ้นเลย ทั้งในฐานะตำรวจเก่า หรือ ส.ส. เองก็ตาม ผมมองว่าคนทำงานให้กับประชาชน ก็ไม่ควรทำให้ถูกพวกเขาเกลียด แต่มันจะแก้ไขได้หากเราเอาปัญหาที่อยู่ใต้พรมมานานแสนนานออกมาพูดคุยกัน เอาออกมาแก้ปัญหา มาวางโครงสร้างใหม่เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก
Tags: ชวลิต เลาหอุดมพันธ์, พรรคก้าวไกล, Close-Up, ปฏิรูปตำรวจไทย, ตำรวจไทย