วันที่เรานัดคุยกับ ‘ปกป้อง’ – ชานันท์ ยอดหงษ์ เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญปล่อยคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ที่บอกว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์รับรองสมรสเฉพาะชาย-หญิงไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 1448
เป็นกฎหมายที่ระบุให้เฉพาะคู่ชาย-หญิงสมรสกันได้ ไม่ได้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพผู้มีความหลากหลายทางเพศ
กับคนที่นับตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ+ และชินชากับการโดนเลือกปฏิบัติมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน บอกตรงๆ ว่าเราไม่ได้เซอร์ไพรส์กับคำตัดสินนี้สักเท่าไร ไม่ต่างจากทุกครั้งที่โดนเลือกปฏิบัติ ความรู้สึกที่ผุดขึ้นมาคือความละเหี่ยใจ เฝ้าสงสัยว่าเมื่อไรเราจะได้มีชีวิต ‘ปกติ’ อย่างที่ควรจะมีในประเทศนี้สักที
กับคนที่นับตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ+ และเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อความหลากหลายทางเพศอยู่เสมอ ชานันท์บอกเราว่า “หงุดหงิดมาก โกรธมาก” (อย่างที่ควรจะเป็น) เมื่อเราสนทนากันถึงคำวินิจฉัยฉบับนี้
หลายคนรู้จักชานันท์ในหลายบทบาท ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักเขียนหนังสือดังอย่าง “นายใน” สมัยรัชกาลที่ ๖ พิธีกรรายการหมายเหตุประเพทไทย คอลัมนิสต์ที่แวะเวียนไปเขียนให้สื่อหลายสำนัก ใช้ปากกาและฝีปากเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยและความเท่าเทียม
ล่าสุด ชานันท์เพิ่งเริ่มบทบาทใหม่ในฐานะสมาชิกพรรคเพื่อไทย ผลักดันนโยบายที่ฟาดระบบโครงสร้างซึ่งเอื้อให้คนหลายกลุ่มอัตลักษณ์ยังเข้าไม่ถึงสิทธิสวัสดิการอย่างเสมอภาค (เขาเรียกว่า ‘การเมืองเชิงอัตลักษณ์’) โดยเริ่มจาก 2 นโยบายหลักที่ทำให้เราตาลุกวาวอย่างสวัสดิการผ้าอนามัยฟรีจากภาษีประชาชน และหัวข้อหลักในการสนทนาของเราวันนี้-การผลักดันสมรสเท่าเทียม
แดดของบ่ายวันที่เรานัดคุยกันนั้นแผดเผาไม่ต่างจากไฟแค้นกะเทยในร่มเงาของตึกพรรคเพื่อไทย เราชวนชานันท์จับเข่าคุย มองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมของ LGBTQ+ ไทย และทิศทางใหม่ๆ ที่เขาอยากนำมาสู่สังคม
หลังจากที่เคยขับเคลื่อนเรื่องความเท่าเทียมและประชาธิปไตยผ่านงานเขียนและการสอน จุดไหนทำให้คุณอยากเปลี่ยนแพลตฟอร์มในการเคลื่อนไหวมาเป็นสมาชิกพรรคการเมือง
เราทำงานเขียน ผ่านการสอนมานาน ก็สงสัยว่าอาวุธอันนี้มันจะทรงพลังได้มากแค่ไหน ในเมื่อเราก็สอนทุกปีจนนักศึกษามีลูกมีเต้ากันแล้ว บทความก็เขียนออกมาเรื่อยๆ แต่สังคมก็ยังไม่เปลี่ยนจากเมื่อสองสามปีก่อน โอเค แพลตฟอร์มนี้ใช้ได้ แต่เราคิดว่าถ้าผลักดันในแพลตฟอร์มอื่นๆ ด้วย ก็น่าจะดีกว่าเขียนหรือสอนอย่างเดียว
โชคดีที่ปี 2563 เป็นช่วงเวลาของการต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนน จากที่ไม่เคยมีม็อบ LGBTQ มาก่อน ก็มีม็อบตุ้งติ้ง มีประชาชนเข้าร่วมเยอะ มีประเด็นที่แหลมคม ทรงพลัง และไม่ได้พูดถึงการเมืองภาครัฐอย่างเดียว แต่พูดถึงเรื่องการเมืองเชิงอัตลักษณ์ เช่น เรื่องสิทธิของ Sex worker ผู้หญิง LGBTQ คนเริ่มรับรู้เรื่องความหลากหลายเหล่านี้ เราก็ไปเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวด้วย
พรรคเพื่อไทยเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้เหมือนกัน ก็เลยชวนกันมาทำ แต่ก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้วที่พรรคการเมืองจะต้องรับฟังเสียงของประชาชน และเรียนรู้ว่าตอนนี้ในการเคลื่อนไหวของประชาชนกำลังเรียกร้องสิทธิหรือทวงสิทธิอะไร
พอได้มาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ชีวิตของคุณเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง
เราก็จะงงๆ เพราะก่อนหน้านี้เราทำงานเป็นฟรีแลนซ์มาสิบปี เป็นนักเขียน นักวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเจอกับอาจารย์มหาลัยและตัวหนังสือ พอมาเจอคนจำนวนมากเราก็เอ๋อแดก คนที่ไร้ระเบียบอย่างเราต้องมาเจอหน่วยงานที่เป็นสถาบัน มันมีการจัดหน้าที่ บทบาท เราที่ไม่ค่อยรู้กลไกเหล่านี้ก็ต้องเรียนรู้กันไป
แต่สิ่งหนึ่งที่เราตื่นเต้นและชอบมาก คือแต่ก่อนเราเขียน พูดวิพากษ์วิจารณ์ (การเมือง) ในเชิงรื้อสร้างแต่ไม่ได้ประกอบสร้างใหม่ เหมือนแว้ดๆๆ ฉอดๆๆ ด่าๆๆ เสนอข้อโต้แย้งไป แต่ไม่เคยเสนอว่าจะต้องแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร แต่พอมาอยู่ในพรรค เราได้เรียนรู้ว่าจะแก้ไขปัญหาได้ต้องเริ่มจากการทำนโยบาย นั่นแปลว่าคุณจะต้องโอบอุ้มหรือครอบคลุมความต้องการหรือสิทธิประโยชน์ของประชาชนจำนวนมากให้ได้
ยกตัวอย่างเรื่องแรงงาน คุณอาจเคยวิพากษ์เพื่อชนชั้นแรงงาน กรรมาชีพ แต่ทันทีที่เป็นนโยบายของพรรค คุณก็อย่าลืมว่านายทุน เจ้าของโรงงาน นายจ้าง ก็เป็นประชาชนเหมือนกัน เขาจะต้องสูญเสียอะไรหรือเรากำลังจะไปสร้างความยากลำบากอะไรให้เขาด้วย เพราะฉะนั้นเราก็ต้องโอบอุ้มทั้งแรงงาน ลูกจ้าง และนายจ้างนายทุนด้วย ไม่ใช่เอะอะอะไรก็ว่านายทุนเลว ทุนนิยมสามานย์
เพราะฉะนั้น เราจะออกแบบวางแผนอย่างไรเพื่อที่จะบาลานซ์ความพึงพอใจและสิทธิประโยชน์ของหลายฝ่ายให้เขาพึงพอใจให้ได้มากที่สุด ทำให้เดือดร้อนน้อยที่สุด มันเป็นความท้าทายที่ทำให้เรารู้สึกเปิดโลก ตาสว่าง จากที่เราแว้ดๆๆ อย่างเดียว กลายเป็นว่าฉันจะต้องทำนโยบายอย่างไรบ้าง จากที่ไป deconstruct เราจะ reconstruct ปัญหาโครงสร้างสังคมนั้นอย่างไร ทำให้ได้คิดเยอะขึ้น
นโยบายแรกๆ ของคุณคือการผลักดันเรื่องสวัสดิการผ้าอนามัยและสมรสเท่าเทียม ซึ่งอย่างหลังถือเป็นประเด็นที่ไม่ได้ใหม่ แต่ไม่สำเร็จสักที การเข้ามาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยตรงนี้ก็เพื่อผลักดันเสียงของคนในคอมมูนิตี้ให้ดังขึ้นด้วยใช่ไหม
ใช่ เราอยากทำมากๆ แต่สำหรับเรา การที่มีเพศสภาพหรือเพศวิถีใดที่เข้าไปในพื้นที่นั้นไม่ได้หมายความว่าเขาหรือเธอจะเป็นตัวแทนของชุมชนนั้นทั้งหมด ส.ส. LGBTQ ก็ไม่ได้หมายความเขาจะเป็นตัวแทนของชุมชน LGBTQ ทั้งประเทศ ชุมชนเองมันก็มีความหลากหลาย และเขาเองก็ไม่สามารถพูดได้หมดทั้งทุกกลุ่มในชุมชนนั้น
ขณะเดียวกัน คนที่เป็น ส.ส. อาจจะมีประสบการณ์จากชีวิตของเขาเอง ส.ส. กะเทยอาจตระหนักได้ถึงการถูกกดทับกดขี่ เขาก็สามารถพูดได้ดีกว่า ส.ส. ที่เป็น Straight มีทฤษฎีหนึ่งคือ Standpoint Theory ที่บอกว่าชนชั้นของกลุ่มบุคคลผู้ถูกกดขี่จะมีอำนาจในการตรวจสอบโครงสร้างสังคมที่มากดขี่นั้นได้ดีกว่าผู้กดขี่เอง ลูกจ้างกรรมกรก็จะมองเห็นถึงปัญหาการถูกกดขี่ได้ดีกว่านายจ้าง เพราะฉะนั้นเขาจะมีสิทธิที่มาตรวจสอบความรู้ อำนาจ ตรวจสอบวาทกรรมได้ดีกว่าเพราะเขามาจากพื้นที่ของการกดขี่โดยตรง
แต่อย่างไรก็ตาม ส.ส. ทุกคน ตัวแทนประชาชนทุกคนควรจะตระหนักถึงปัญหา ประสบการณ์ชีวิตของประชาชนจำนวนมากให้ได้ อันนี้คือการบ้านที่ ส.ส. ต้องทำ ส.ส. กะเทยก็ไม่ได้หมายความว่าคุณจะทำแต่เรื่องกะเทยอย่างเดียว คุณก็ต้องทำเรื่องอื่นให้ได้ด้วย มันจะโชคดีตรงที่เพราะคุณเป็นกะเทย คุณจึงสามารถเข้าใจปัญหาของกะเทยได้ดีกว่า
ก่อนหน้านี้ในไทยเคยมีการขับเคลื่อนเรื่องสมรสเท่าเทียมมาก่อนหรือเปล่า
การขับเคลื่อนของไทยจะมาในรูปแบบที่พิเศษ โดยปกติแล้วการขับเคลื่อนไม่ได้เกิดจากมวลชนจำนวนมาก แต่จะเกิดจากกลุ่มนักปฏิวัติ นักเคลื่อนไหวกลุ่มเล็กๆ หลายประเทศเป็นเช่นนั้น อย่างที่อเมริกา กว่าจะยกเลิก Sodomy law (กฎหมายที่บัญญัติว่าการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างคนเพศเดียวกันเป็นความผิดทางอาญา) ต้องมีเหตุการณ์ประท้วง Stonewall Riot ก่อนในปี 1969 ซึ่งเป็นหมุดหมายของขบวนการเคลื่อนไหวของ LGBTQ ครั้งใหญ่จนสามารถแก้กฎหมายได้ แต่ในประเทศไทย Sodomy Law มีตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แล้วยกเลิกไปในปี 2499 โดยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม
ในต่างประเทศทุกอย่างมาจากการจลาจล การต่อสู้ภาคประชาชน แต่ประเทศไทยไม่เคยมีอะไรในรูปแบบนั้น ส่วนมากก็จะเป็นกลุ่มคนที่ไปถวายฎีกา ต่อสู้ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ โดย NGOs หรือองค์กรนักเคลื่อนไหวเอกชน เป็นการต่อสู้ที่คนจำนวนมากอาจไม่รู้ จนกระทั่งมันสำเร็จ เช่น การแก้ไขข้อความในใบ สด.43 เรื่องการเกณฑ์ทหาร ที่ยกเลิกคำว่าจิตวิปริตถาวร แล้วใช้คำว่าเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด
แต่สมรสเท่าเทียมที่กำลังเคลื่อนไหวกันอยู่ ครั้งนี้มันมาในรูปแบบของมวลชนจำนวนมากในการต่อสู้ ซึ่งไม่เคยมีใหญ่ขนาดนี้มาก่อน อันนี้น่าจะเป็นครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์ไทยเลยด้วยซ้ำ ที่มวลชนจะลงถนนมาพูดประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเพศสภาพและเพศวิถีโดยตรง
คิดว่าอะไรทำให้กระแสเรื่องสมรสเท่าเทียมจุดติดในตอนนี้
ประชาชนโตขึ้น ความคิดความอ่านเยอะขึ้น และหลังรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา รูปแบบองค์กร หน่วยงาน สถาบันที่สัมพันธ์กับรัฐและความมั่นคงนั้นล้มเหลวมาก ในเรื่องการจัดการบริหารและความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้น คนก็ทนไม่ได้ คือมันมีหลายอย่างที่แย่และเละตุ้มเป๊ะมากๆ คนก็เติบโต มีเพดานความคิดที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่หน่วยงานที่ประชาชนเสียภาษีไม่ได้โตตาม
ในช่วงตั้งแต่เลือกตั้งปี 2562 เป็นต้นมา รูปแบบของคำว่านักการเมืองดีขึ้น ประชาชนเริ่มตระหนักได้แล้วว่า ภัยของประเทศที่ต้องหวาดกลัวมากที่สุดไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นรัฐราชการที่มันตรวจสอบไม่ได้ แล้วใช้อำนาจแทนประชาชนหรือกดทับประชาชนอยู่
ในม็อบสมรสเท่าเทียมเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา คุณได้ขึ้นเวทีในฐานะตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยไปพูดเรื่องนี้ด้วย มีประโยคหนึ่งที่บอกว่า “ประเทศไทยเป็นสวรรค์ของ LGBT แต่เป็นแค่ครึ่งเดียว” อยากให้ขยายความประโยคนี้ให้ฟังหน่อย
ประโยคนี้เกิดขึ้นในปี 1980 ยุคสงครามเย็น หนังสือการท่องเที่ยวเกย์ Spartacus อยากโปรโมตประเทศไทยให้คนต่างชาติเข้ามาเที่ยว จึงมีประโยคว่า “ประเทศไทยเป็นสรวงสรรค์ของ LGBTQ” เพราะประเทศนี้ไม่มี Sodomy law ประเทศนี้มี Night life มีซ่อง มีธรรมชาติที่สวยงาม มีวัฒนธรรมที่ Exotic แตกต่าง
แต่ในฐานะกฎหมายที่จะมาสร้างมาตรฐานรองรับความสัมพันธ์ระหว่างคนรักเพศเดียวกันมันกลับไม่มี สรวงสวรรค์เป็นของนักท่องเที่ยว แต่ไม่ใช่ประชาชนที่อยู่ตรงนี้ คือมันไม่มีอะไรมารองรับพวกเขา
เราไม่มี Sodomy law ก็ดีไปแล้วครึ่งหนึ่ง แต่อีกครึ่งหนึ่งจะดีถ้ามีสมรสเท่าเทียม นี่คือสิ่งที่เราอยากจะสื่อ
แล้วประโยคที่บอกว่า “การสมรสเท่าเทียมไม่ใช่แค่เรื่องของ LGBTQ แต่เป็นเรื่องของชายและหญิงด้วย” หมายความว่าอย่างไร
เราคิดว่ากฎหมายมันคือมาตรฐานร่วมกันของประชาชน ความรักความสัมพันธ์เป็นเรื่องส่วนตัว แต่รัฐขยายอำนาจในการใช้กฎหมายครอบความสัมพันธ์ส่วนบุคคลของเรา ประชาชนมีความหลากหลาย มีหลายเพศสภาพ เพศวิถี รัฐเองก็ควรจะครอบคลุมให้มันครบทุกรูปแบบความสัมพันธ์ ทุกรูปแบบของเพศวิถี เพศสภาพด้วย ไม่ใช่ผูกขาดและกระจุกอยู่กับรักต่างเพศเท่านั้น และปล่อยให้ความรักรูปแบบอื่นหรือเพศวิถีอื่นเป็นสิ่งที่รัฐมองไม่เห็น สิ่งเหล่านี้สัมพันธ์กับเรื่องสิทธิ เรื่องรัฐสวัสดิการที่คุณได้ กลายเป็นว่ามันก็เป็นการผลักในคู่รักต่างเพศ ชายและหญิงเป็นอภิสิทธิ์ชน แล้วผลักให้เพศวิถีอื่นๆ กลายเป็นพลเมืองชั้นสองไป
แล้วความจริงการมีสมรสเท่าเทียมก็ไม่ได้สร้างผลกระทบให้ชายหญิงรักต่างเพศเลย
เรามองว่ามันคือความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ผู้ชายผู้หญิงไม่ได้เสียอะไรไปเลยด้วยซ้ำ แต่มันเป็นสิ่งที่รัฐพยายามคิดแทนประชาชน ด้วยความที่เขาเชื่อว่าการสมรสมันคือการสืบพันธุ์ การดำรงเผ่าพันธุ์ให้เกิดลูก ผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้นที่รัฐจะคุ้มครองเพราะมันทำให้เกิดลูก แต่คู่สมรสทุกคู่ก็ไม่ได้เอากันเพื่อสืบพันธุ์มีลูกอยู่แล้ว เราไม่ใช่สัตว์ที่จะต้องสืบพันธุ์ตามฤดูกาล ก็แปลว่าคู่สมรสก็ไม่ได้จะต้องดำรงเผ่าพันธุ์อย่างเดียวเท่านั้น มีบางคู่ที่ตัดสินใจที่จะไม่มีลูกก็มี เราเลยคิดว่านี่คือปัญหาของการนิยามการสมรสที่ไปผูกกับเรื่องการเจริญพันธุ์เท่านั้น ซึ่งจริงๆ ไม่ควรเป็นอย่างนั้นเลย
มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เรื่องสมรสเท่าเทียมไม่สำเร็จสักที
มีหลายปัจจัยมาก การเริ่มมีแนวความคิดเรื่องสมรสเท่าเทียมเพิ่งมีมาในช่วงห้าปีนี้เอง ก่อนหน้านี้มันเป็นเรื่องของ Same-sex marriage หรือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งมาในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แล้วถูกระงับไป เพราะตอนนั้นกระแสสังคมไม่เอาเลย แม้กระทั่งกลุ่ม LGBTQ ด้วยกันก็ปฏิเสธ บอกว่าสังคมจะมีปัญหา สังคมยังไม่พร้อม
ต่อมาในปี 2555 ก็มีกลุ่ม NGO คู่รักชายรักชายมาจดทะเบียนสมรสกันแล้วไม่ผ่านก็เลยยื่นฟ้อง ตอนนั้นรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็รับเรื่อง ทำร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ขึ้น ถึงแม้จะมีสิทธิที่ไม่เท่าเทียม (กับชายหญิงรักต่างเพศ) แต่คนก็อดทนยอมรับได้ เพราะทั่วโลกตอนนั้นยังไม่มีใครพูดถึงเรื่องสมรสเท่าเทียม ทุกคนขับเคลื่อนเรื่อง พ.ร.บ.คู่ชีวิต กันหมด แล้วปรากฏว่ามีรัฐประหารปี 2557 ภาคประชาชนก็ถอด ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย เพราะถือว่าเป็นรัฐบาลที่ไม่ได้เห็นคุณค่าของสิทธิมนุษยชนแต่แรกอยู่แล้ว หลังจากนั้นจึงมีการผลักดันเรื่องสมรสเท่าเทียมมาจากภาคประชาชน
อย่างไรก็ตาม มีคนบางกลุ่มที่พยายามสนับสนุน พ.ร.บ.คู่ชีวิต อยู่ รัฐก็มีแนวโน้มอย่างนั้น อย่างการที่วิษณุ เครืองามบอกว่าให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็พอแล้ว มันจะวุ่นวาย ถามกระทรวงหลายกระทรวงก็ไม่เห็นด้วย จะไปเอาคำว่าชายกับชาย หญิงกับหญิงไปใส่ (ในทะเบียนสมรส) ได้ยังไง แต่ไม่ได้มองว่าความจริงที่เขาแหกปากเรียกร้องกันปาวๆ คือบุคคลกับบุคคล ไม่ใช่ชายกับชาย หญิงกับหญิง แค่นี้ก็รู้แล้วว่าไม่ได้คิดจะอ่านจะสนใจภาคประชาชน นี่คือปัญหา
ถ้าสมมติว่าวันหนึ่งรัฐให้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ผ่าน คุณจะยอมรับมันได้ไหม
ถ้ามันผ่านรัฐสภา ผ่านนิติบัญญัติ ตัวแทนภาคประชาชนที่เข้าไปเป็น ส.ส. ลงเสียงข้างมาก เราก็ยอมรับอย่างปฏิเสธไม่ได้อยู่แล้ว แต่เราคิดว่าถ้าเกิดขึ้นจริง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะทำให้การแก้ไขสมรสเท่าเทียมทำได้ยากลำบากมากขึ้น
ยากลำบากอย่างไร
เดี๋ยวเขาก็จะอ้างว่า มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต แล้ว จะได้แก้มาตรา 1448 ทำไมอีก แค่นี้คุณไม่พอใจอีกเหรอ เหมือนที่วิษณุ เครืองาม บอกว่า ได้ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ก็เพียงพอแล้ว มันเป็นตรรกะชุดเดียวกัน
อย่างทั่วโลกที่มี พ.ร.บ.คู่ชีวิต มาก่อนหน้านี้แล้วหลายสิบปี เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายสมรส เขาก็ยังเก็บรักษา พ.ร.บ.คู่ชีวิต เอาไว้ให้เลือก เพราะบางคนก็ไม่ต้องการจะสมรสแต่อยากเป็นคู่ชีวิตกัน กฎหมายสมรสในหลายประเทศยุโรปสัมพันธ์กับศาสนาคริสต์ บางคนที่เขาเป็น non-religious (คนไร้ศาสนา) เขาก็ไม่อยากจะเข้าโบสถ์หรือผ่านพิธีกรรมทางศาสนา เขาพอใจกับการที่จะเป็น พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นคู่ชีวิตมากกว่าคู่สมรส มันเป็นทางเลือก
คำว่าคู่ชีวิตไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็น LGBTQ เท่านั้น ชายหญิงเองก็สามารถเป็นคู่ชีวิตได้ หลายประเทศอย่างเช่นฝรั่งเศส สิทธิของคู่ชีวิตก็เกือบจะเท่าๆ กับคู่สมรสด้วย แต่ประเทศไทย พ.ร.บ. ที่ร่างออกมามันไม่ได้เท่ากันเลยกับคู่สมรส นี่คือสิ่งที่แตกต่าง
เอาเข้าจริงๆ เราก็ไม่ได้ต้องการให้สร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่
แก้ง่ายกว่าเยอะ แล้วบางหน่วยงานที่ทำกฎหมายคู่สมรส เขาไม่มีคำว่าคู่ชีวิตมาก่อน เพราะฉะนั้นก็ต้องไปแก้กับหน่วยงานอื่นอีกมากมาย มันสร้างความวุ่นวายกว่าเดิม เผลอๆ ก็ตกหล่นและจะไม่ได้รับสิทธิ เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ใช้กฎหมายนั้นก็อาจจะละเลยหรืออะไรก็ได้ อันนี้เป็นปัญหามากๆ
วันนี้ที่เราคุยกัน มีแถลงการณ์จากศาลรัฐธรรมนูญตัวเต็มออกมาพอดี ตอนอ่านแถลงการณ์คุณรู้สึกอย่างไร
หงุดหงิดมาก โกรธมาก เพราะหนึ่ง มันเป็นการขยายขอบเขตหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ โอเคเขามีหน้าที่วินิจฉัยว่ามันขัดกับรัฐธรรมนูญยังไงบ้าง อันนี้เข้าใจได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญที่อื่นเขาก็จะนิยามว่ามันขัดหรือไม่ขัด ถ้าขัดหรือไม่ขัดจะให้ทำอะไร จบ แต่ศาลรัฐธรรมนูญไทยกลับไปวินิจฉัย ขยายความ ตีความว่าเพศสภาพ เพศวิถีคืออะไร อะไรคือถูกธรรมชาติ ผิดธรรมชาติ อะไรคือสมควร มีคุณค่ามากน้อยแค่ไหน นิยามแม้กระทั่งว่าผู้หญิงมีคุณค่าน้อยกว่าผู้ชาย เป็นเพศที่อ่อนแอกว่าเพศชายโดยธรรมชาติ
เรามองว่ามันเกินขอบเขต และสะท้อนถึงทัศนคติและเพดานความคิดของตุลาการอย่างชัดเจนเลยว่าหนึ่ง Sexist สอง Homophobic โลกทางวิชาการและการเคลื่อนไหวมันไปไกล แต่กลายเป็นว่าคนที่กุมอำนาจในการตีความทางด้านกฎหมายกลับเป็นคนกลุ่มที่ไม่ได้อัพเดต ไม่พัฒนาองค์ความรู้ในด้านสังคมศาสตร์และนิติศาสตร์ด้วยซ้ำ เพราะเดี๋ยวนี้มันก็มีทฤษฎี Queer กับกฎหมาย ทั่วโลกมีความพยายามที่จะสร้างการคุ้มครองความเสมอภาคทางด้านสิทธิของมนุษย์ และการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เริ่มตระหนักถึงบุคคลที่ถูกผลักออกไปเป็น ‘คนชายขอบ’ คนที่ถูกทำให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง กฎหมายพยายามจะขยายไปคุ้มครองและโอบอุ้ม ทำให้เขาได้รับสิทธิเทียบเท่าเสมอกันกับบุคคลอื่นๆ แต่กลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไทยกลับวินิจฉัยเช่นนี้
คำว่าธรรมชาติเป็นทัศนคติที่สร้าง Objective มากๆ ว่าสิ่งไหนคือความจริงแท้แน่นอน เปลี่ยนแปลงไม่ได้ กลายเป็นข้อเท็จจริง แต่อันที่จริงแล้วความหมายของคำว่าธรรมชาติคือชุดความรู้อย่างหนึ่งในการอธิบาย ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้และไม่ได้เป็นความจริงแท้แน่นอน แต่ในแถลงการณ์กลับอธิบายประหนึ่งว่ามันเป็นข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ มันจะต้องเป็นเช่นนั้น แล้วนิยามความผิดธรรมชาติด้วย มันยิ่งเลวร้ายเข้าไปใหญ่
แม้กระทั่งการสร้างครอบครัวในความหมายของศาลก็เป็นทฤษฎีสังคมศาสตร์แบบเก่ามากๆ มันมีชุดอธิบายที่ขยายไปมากกว่านี้และยอมรับความหลากหลายมากขึ้นแล้วในยุคปัจจุบัน มนุษย์ไม่ใช่สัตว์ที่จะสืบพันธุ์ตามฤดูกาล ครอบครัวหลายครอบครัวก็ไม่ได้แต่งงานกันเพื่อสืบพันธุ์หรือดำรงเผ่าพันธุ์อย่างเดียว เรามีเพศสัมพันธ์กันเพื่อเหตุผลอื่นด้วย เพราะฉะนั้นการตีความแบบนี้มันจึงเป็นการตีความที่แคบมาก เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่ประเทศไทยเราจะมีตุลาการที่มีความคิด ความอ่าน เพดานความคิดเช่นนี้ ซึ่งมันจะส่งผลเสียต่อประชาชนจำนวนมากเนื่องจากเขามีอำนาจในการตีความหมายทางกฎหมาย
“เมื่อมีกรณีที่แตกต่างก็ต้องปฏิบัติแตกต่างตามความเหมาะสม มิใช่จะร้องขอเอาความแตกต่างในรสนิยมทางเพศมารวมกับรสนิยมทางเพศของคนส่วนใหญ่ที่ชัดเจนทางเพศ” ประโยคนี้สะท้อนอะไรบ้าง
มันแปลว่าเลือกปฏิบัติ
กฎหมายและสวัสดิการเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนจะได้รับอย่างเท่าเทียมกัน การอ้างว่าก็คนต่างกันก็ต้องได้รับสิทธิต่างกันนั้นผิดตั้งแต่แรก ใช่อยู่ที่คนเราต่างกันและอาจมีการเข้าถึงโอกาสแตกต่างกัน แต่เรื่องของความเสมอภาคเรื่องสิทธิและสวัสดิการ มันต้องเสมอภาคกันโดยพื้นฐาน
หรืออย่างการบอกว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้มาจากกลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะมาแอบอ้างใช้สวัสดิการ แล้วจะหาว่านำไปสู่ความล่าช้าและไม่เป็นธรรมต่อรักต่างเพศ คือต่อให้ปัจจุบันนี้ยังไม่มีสมรสเท่าเทียมก็มีการแอบอ้างกันได้ อันนี้คือปัญหาที่คุณจะต้องไปพิสูจน์ วินิจฉัยเอง ในเมื่อเป็นรัฐสวัสดิการ สิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนควรจะเข้าถึงและได้รับมันก็ต้องเท่าเทียม ไม่ใช่ว่าบอกว่ามันจะล่าช้า ไม่เป็นธรรม ความเป็นธรรมคือทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และมันจะล่าช้าหรือไม่คือปัญหาของการบริหารจัดการ การตรวจสอบของหน่วยงานภาครัฐ ไม่ใช่ว่าการมีประชากรมาใช้สิทธิเพิ่มแล้วจะนำไปสู่ความล่าช้า ถ้าพูดอย่างนี้ก็แปลว่าคุณไม่มีศักยภาพในการจัดการ ในการกระจายทรัพยากรให้กับประชาชน ไม่สามารถรองรับประชากรที่จะมาเพิ่มขึ้นได้เพื่อต้องการสิทธินี้ ปัญหาอยู่ที่ตรงนั้น ไม่ใช่ว่ากลุ่ม LGBTQ จะมาใช้สิทธิแล้วมันจะนำไปสู่ความล่าช้า
หลังจากนี้ คุณคิดว่ากระแสสังคมจะไปในทิศทางไหนต่อในเรื่องสมรสเท่าเทียม
เราเกรงว่าคนจะทำให้ถูกคุ้นชินว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเป็นเช่นนี้ คนจะคุ้นชินกับตรรกะนี้ขององค์กรภาครัฐ เกรงว่าคนจะติดภาพว่าบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศจะเป็นเหมือนในคำแถลงการณ์ มันเป็นความคาดเดาของพวกเขาเบื้องต้น แต่มันเป็นคำวินิจฉัยของศาล มันถูกเอามาอ้างอิงได้ในกระบวนการทางกฎหมายหรือกระบวนการทางการวินิจฉัยอื่นๆ ได้ อันนี้คือปัญหาสำหรับเรา
แล้วเราก็เกรงว่ามันจะถูกใช้กลายเป็นพื้นฐานไปเรื่อยๆ เช่น ถ้าศาลรัฐธรรมนูญพูดแบบนี้ได้ มันก็ต้องเป็นข้อเท็จจริงสิ ถ้ามีคนเอาอะไรสิ่งเหล่านี้มาอ้างอิงเพื่อนำไปสู่การเลือกปฏิบัติหรือการละเมิดสิทธิต่อไปเรื่อยๆ นี่คืออันตรายที่เราหวาดกลัว
แล้วในฐานะประชาชน เราทำอะไรต่อไปได้บ้าง
การแทรกแซงทางสังคมมีอีกหลายรูปแบบ การลงนามล่ารายชื่อก็ทำได้ จะเห็นได้ว่าหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีวินิจฉัยฉบับเต็มแล้วยอดตัวเลขของผู้ลงนามก็ก้าวกระโดดหลายหมื่นคนในวันนั้น มันเป็นการตอบโต้รูปแบบหนึ่ง
สอง เรายังมีสิทธิในการเคลื่อนไหว ในการเดินขบวนท้องถนนได้ตามสิทธิของประชาชนตามประชาธิปไตย หรือการสื่อสาร การจัดแคมเปญ การออกข่าว จัดงานเสวนา ก็ทำได้ เพื่อให้เห็นว่าเราไม่ได้เป็นอย่างที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหรือคาดเดาไปล่วงหน้าโดยไม่มีหลักฐาน เราสามารถทำตัวเป็นหลักฐานเองได้ว่าข้อเท็จจริง สิ่งที่ปรากฏขึ้นบนสังคมในประเทศนี้เป็นอย่างไรบ้าง
ขณะเดียวกันก็คอยตรวจสอบผลักดันพรรคการเมืองที่อ้างว่าหรือประกาศว่าจะมีส่วนร่วมในการผลักดันการสมรสเท่าเทียม แก้ไข 1448 ก็ต้องไปตรวจสอบว่าเขาปฏิบัติการไปถึงไหนแล้ว ต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเช่นนั้นออกมา หรือมีการตีตราเช่นนั้นออกมา ประชาชนก็ยังสามารถขยับเคลื่อนไหวอะไรได้เหมือนกัน
พูดง่ายๆ คือเราจะต้องร่วมกันแก้ไขความเข้าใจผิดในเรื่องความหลากหลายทางเพศ เราต้องมีสิทธิที่จะเข้าไปตรวจสอบ และให้ความรู้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ด้วยเช่นเดียวกัน นี่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องทำให้ได้
คิดว่าอีกนานไหมที่เรื่องสมรสเท่าเทียมจะสำเร็จ
อีกนานไหม ไม่รู้ แต่สองสามเดือนข้างหน้า ประเด็นนี้จะถูกนำไปเป็นมติในการประชุมสภาวาระหน้า ระหว่างนี้ อนาคตของสมรสเท่าเทียมขึ้นอยู่กับภาคประชาชนแล้วว่าจะผลักดันเรื่องนี้ได้เข้มข้นได้มากแค่ไหน จะสามารถให้ความรู้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือสังคมได้มากแค่ไหน
เราคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เร่งด่วนมากในการที่จะทำให้เขาเข้าใจว่ามันไม่ใช่อย่างที่เขามอง หรืออย่างที่สังคมหลายๆ กลุ่มอ้างไว้อย่างนั้น
ในฐานะที่ขับเคลื่อนประเด็นนี้มานาน คุณมีภาพฝันหรือธงในใจไหมว่าอยากเห็นอะไร
ธงไม่มี แต่เราคิดว่าอะไรที่เราตระหนักได้ว่ามันคือการเลือกปฏิบัติ ความไม่ถูกต้อง ความไม่เท่าเทียม ความรุนแรง เราก็ต้องทำให้มันไม่เกิดขึ้น หรือเกิดมาก็ได้ แต่คุณต้องแก้ไขมัน อาจจะไม่ใช่เรื่อง LGBTQ แต่เป็นเรื่องอื่น เรื่องชาติพันธุ์ เรื่องบางกลอย มันก็คงมีหลายๆ ธง แต่ธงสุดยอดของเราคงไม่มี เพราะปัญหามันก็มีหลากหลาย
สุดท้ายแล้ว ทำไมทุกคนต้องสนับสนุนเรื่องสมรสเท่าเทียม
เราตอบไม่ได้ แต่เรามีคำถามว่าทำไมเราถึงต้องต่อต้านสมรสเท่าเทียมมากกว่า มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่จะมีเพศวิถี เพศสภาพที่ต่างไปจากความคาดหวังทางสังคมกระแสหลัก หรืออะไรก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะต้องถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกผลักให้ไปเป็นอื่น เป็นชายขอบ เป็นพลเมืองชั้นสอง เป็นเพียงแค่เรื่องของความรักที่ไม่เหมือนกับอีกคู่หนึ่ง อีกบ้านหนึ่งแค่นั้นเอง
เราไม่เข้าใจว่าทำไมต้องพยายามขัดขวางสมรสเท่าเทียม เราไม่ต้องการความเท่าเทียมเหรอ ขณะเดียวกัน เราก็เชื่อได้เลยว่าเดี๋ยวสามเดือนข้างหน้าในการประชุมพรรค ประชุมสภา ก็ต้องมีคนบอกให้ประนีประนอมกันระหว่างสมรสเท่าเทียมกับ พ.ร.บ.คู่ชีวิต คือเราไม่เข้าใจว่าอะไรคือการประนีประนอมระหว่างการเลือกปฏิบัติกับเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐาน ฉันต้องประนีประนอมกับการเลือกปฏิบัติเหรอ มันไม่ใช่สิ่งที่ควรขจัดออกไปเหรอ เรางงกับคำถามแบบนี้มาตลอดเลย
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าทำไมถึงต้องสนับสนุนสมรสเท่าเทียม แต่ปัญหาคือทำไมเราต้องขัดขวางสมรสเท่าเทียมมากกว่า
Tags: สมรสเท่าเทียม, The Proud of Pride, LGBTQ, Close-Up, ชานันท์ ยอดหงษ์