สนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีร้อนระอุเป็นจังหวัดแรกๆ เมื่อ พลตำรวจโท คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดคนเดิมตัดสินใจลาออกแบบฉับพลัน ส่งให้ต้องจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ภายใน 60 วัน และจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
ความพิเศษก็คือจังหวัดปทุมธานีเป็นหนึ่งจังหวัดที่ ‘พรรคก้าวไกล’ หมายมั่นไว้ว่าจะต้องได้ตำแหน่งนายก อบจ.ให้ได้ และจำเป็นต้องส่งคนลง แต่กลับกลายเป็นเกมพลิก เมื่อพลตำรวจโทคำรณวิทย์ตัดสินใจ ‘อยู่ต่อ’ และทำให้ลูกชายอย่าง ร้อยตำรวจเอก ตรีลุพธ์ ธูปกระจ่าง ผู้ที่พรรคก้าวไกลเตรียมส่งลงสนามต้องหลีกทางให้ ‘พ่อ’ ลงสมัครนายก อบจ.อีกสมัยไปโดยปริยาย
นั่นทำให้สนามการแข่งขันพลิกกลับมาเป็น พลตำรวจโทคำรณวิทย์ เป็นผู้สมัครนายก อบจ.ตัวหลัก ขณะที่คู่แข่งก็มีความพิเศษ เมื่อ ชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายก อบจ.หลายสมัย ผู้มากบารมีในพื้นที่ท้องถิ่น ตัดสินใจคืนสนามอีกคำรบภายใต้หมวกใบใหม่ของพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ชาญไม่เคยมีความสัมพันธ์ใดๆ กับพรรคเพื่อไทยมาก่อน และแทบจะเป็นคู่แข่งด้วยซ้ำ เมื่อครั้งตระกูล ‘หาญสวัสดิ์’ ยังคงทรงพลัง และอยู่กับพรรคไทยรักไทย
กล่าวสำหรับพรรคเพื่อไทย นี่ย่อมเป็นความท้าทายอย่างมาก การเลือกตั้งใหญ่เมื่อปี 2566 พรรคเพื่อไทยแทบจะ ‘สูญพันธุ์’ จาก 7 เขตเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยได้ ส.ส. ไปเพียง 1 เขต นอกนั้นปทุมธานีเป็น ‘สีส้ม’ ทั้งหมด
ครั้งนี้ จึงเป็นโจทย์ของพรรคเพื่อไทยในการ ‘ทวงคืน’ พื้นที่ ถึงขนาด ทักษิณ ชินวัตร และพานทองแท้ ชินวัตร ต้องช่วยลงพื้นที่หาเสียง ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสของชาญในการทวงคืนตำแหน่งอีกครั้ง หลังจากว่างเว้นจากเก้าอี้นายก อบจ.มานานหลายปี
The Momentum ชวน ‘ชาญ’ หรือ ‘ลุงชาญใจดี’ เปิดบ้านที่ตำบลป่างิ้ว มาตั้งคำถามว่า ในวันที่ร้างสนามมานาน เขายังเหลือพลังอะไรในการต่อกรกับพลตำรวจโทคำรณวิทย์ ตัวเขาเป็นตัวแทนของบรรดา ‘บ้านใหญ่’ ปทุมธานีหรือไม่ และท้ายที่สุด หากชาญได้รับเลือกตั้ง เขาจะทำอะไรให้ปทุมธานี จังหวัดปริมณฑลแห่งนี้เปลี่ยนไปได้บ้าง
อยากให้เล่าชีวิตส่วนตัวว่า ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ เป็นใคร
ลุงเป็นลูกชาวนาหาเช้ากินค่ำมีความลำบากในชีวิต เดินขอข้าวสารเอามาหุงเพื่อเลี้ยงพี่น้องและแม่ เพราะพ่อจากไปตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เราประกอบอาชีพทำนา และเป็นศิษย์หลวงปู่ฟ้อน วัดป่างิ้ว เป็นเด็กวัดมาตั้งแต่เด็ก
เมื่อน้าของเราได้เป็นกำนัน เราจึงไปคลุกคลีกับเขา อาสาไปช่วยงานสารพัดเท่าที่จะทำได้ ด้วยความที่น้าเป็นผู้นำ แต่ใจเราไม่ได้ชอบ มันไม่ใช่ชีวิตที่เราจะไปอยู่ระดับนั้นได้ เพราะในสมัยก่อนไม่ว่าจะลำบากหรือไม่ลำบาก ประชาชนก็จะมาหากำนันและผู้ใหญ่บ้าน เราเป็นคนชอบทำนาหรือทำงาน เพื่อให้คนในครอบครัวมีความสุข เพราะฉะนั้นเวลาเราทำอะไรเราจะคิด ตอนเป็นนักเรียนก็เป็นผู้นำประจำห้อง พอโตเป็นผู้ใหญ่ก็ไปเป็นประธานชมรมที่อำเภอ เลยเริ่มพาตัวเองไปอยู่กับสิ่งที่เป็นส่วนรวม
มาวันหนึ่งกำนันเสียชีวิต เพื่อนที่เที่ยวกินอยู่ด้วยกันเขาก็มองหาคนลงสมัครผู้ใหญ่บ้าน ตอนนั้นเราก็หนีอย่างเดียว เพื่อไม่ให้เขามาดึงเราเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่ภายหลังอาจารย์ตึ๋ง ซึ่งตอนนี้เป็นสมาชิกสภาอยู่วัดป่างิ้ว เขาก็บอกให้เราสมัครผู้ใหญ่บ้าน ตอนนั้นเราปฏิเสธเพราะเราไม่เก่ง และไม่มีประสบการณ์ พอถึงเวลาจริงๆ ไม่มีใครสมัคร เราก็ตกลง แต่ต้องสัญญากันว่า ถ้าเราได้เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต้องส่งต่อให้เราเป็นกำนันต่อไป
พอเราเป็นกำนันเราได้ 10 ปี เพื่อนในกลุ่มก็บอกให้ลุงชาญไปเล่นสนาม ส.จ.ดีกว่า เราก็เลยออกมา เพราะจุดที่เคยอยู่เราคุ้นเคยแล้ว พอเป็น ส.จ.ได้ 4 ปี เราก็เข้าไปแข่งขันลงนายก อบจ. ซึ่งเมื่อก่อนเขาใช้สภาเลือกตั้งนายก อบจ. เราก็สู้เขาไม่ได้หรอก รอบแรกเราได้ไป 6 เสียง รอบที่สองเราได้ 12 เสียง รอบที่สามเราก็แพ้ เราก็คิดแต่ว่า ถ้าวันหนึ่งประชาชนเลือกได้ ลุงชาญจะลงแข่งแน่นะ พอหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเลือกนายก อบจ. ได้โดยตรง เราก็ลง แล้วก็เป็นบุญวาสนาที่ลงเลือกตั้งแล้วชนะ
ที่ชนะน่าจะเป็นเพราะความเป็นกันเอง ลุงชาญเป็นคนง่ายๆ เราโตมากับชาวนา ก็จะรู้ปัญหาชาวบ้าน เราพัฒนาปทุมธานีด้วยสโลแกน ‘เราจะพลิกโฉมเมืองปทุม’ แล้วก็ทำได้จริง เปลี่ยนแปลงอะไรที่ไม่เป็นรูปธรรมให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะเรื่องภูมิทัศน์ เรื่องดูแลถนนหนทาง คนก็เริ่มจะติดใจเรามากขึ้น
สมัยลุงขออะไรก็ให้ ไม่ว่าจะเป็นมัสยิด วัด หรือโรงเรียน ลุงก็ให้หมด ไม่ได้คิดว่าน่าทำหรือไม่ เรามองว่าเรื่องที่ขอเป็นเรื่องที่ประชาชนเดือดร้อน เขาอยากได้การพัฒนา
เป็นที่มาของฉายา ‘ลุงชาญใจดี’ หรือไม่
คำว่า ‘ลุงชาญใจดี’ ต้องบอกเลยว่าเรามาอยู่ตรงนี้ เราทำการศึกษาให้กับเด็กๆ เวลาเราไปเยี่ยมโรงเรียน ถ้าเขาขออาคารเรียน วงโยธวาทิต หรือดนตรีไทย จะต้องได้แน่นอน ไม่เคยที่ไปแล้วโรงเรียนจะผิดหวัง และเวลาเราออกไปตามงาน เราก็ซื้อลูกโป่งแจกเด็กๆ มีเท่าไรซื้อให้หมด เด็กก็ติดใจจะเรียกเราว่า ‘ลุงชาญใจดี’ ฉายานี้จึงได้มาจากเด็ก 100%
ทำไมถึงเลือกลงทุนการศึกษาเพื่อเด็ก
สมัยเด็กๆ ต้องเดินจากบ้านที่เราอยู่มาโรงเรียน 3 กิโลเมตร มาเช้า เย็นกลับ บางทีก็มาไม่ถึงโรงเรียน เพราะลื่นตกบ่อน้ำหรือเจอฝนตกเลยมาโรงเรียนไม่ได้
เวลาจะกินข้าว เราก็ไม่มีเงินจะกิน บางทีก็ต้องขึ้นไปที่วัดหาข้าวก้นบาตรกิน สมัยก่อนเวลาเรียนก็ไม่มีอุปกรณ์การเรียนการสอน เสื้อผ้าก็ชุดเดียวจากวันจันทร์-วันศุกร์ คอดำแล้วดำอีก สมัยก่อนรองเท้าก็ไม่มี เพราะฉะนั้นเวลาเรามาเป็นผู้บริหารเรานึกถึงชีวิตที่เคยลำบากมามาก
แล้วฉายา ‘ตัวดำทำจริง’ มาจากไหน
ก็ลุงชาญผิวขาวที่ไหนเล่า (หัวเราะ) ลุงชาญทำงานตลอดไม่เคยหยุดเลย ฉายานี้ก็มาจากเด็กๆ ทั้งนั้นแหละ ที่เรียกว่า ‘ตัวดำทำจริง’ มันเป็นเอกลักษณ์ของตัวลุงชาญ ลุงชาญชอบใส่เสื้อลายดอก คนที่จะใส่ต้องทำใจนะ (หัวเราะ) มันเป็นเอกลักษณ์ของเรา เวลาเราเดินไปไหนก็เหมือนเราแหวกไปเลย เขาจะแต่งเป็นสีขาว สีดำ สีแดง แต่เราเป็นลายดอก
‘ลุงชาญใจดี’ เคยดุบ้างไหม
ไม่เคย แต่ถ้าลูกๆ เราจะดุ ลุงชาญไม่เคยหน้าคว่ำหรือหน้างอ ไม่เคยประชดประชันกับใคร และไม่เคยมีเรื่องกับใคร ถ้ามีก็แค่กับลูกแต่ไม่เคยตีเขานะ ดุเฉยๆ จะไปไหนมาไหนก็อย่ากลับดึก พ่อแม่เป็นห่วงก็เป็นเรื่องปกติ
การทำงานของลุงชาญ คือ 1. ความใกล้ชิด 2. เป็นกันเอง 3. ไม่ถือตัว 4. บริการประชาชน คือเราจะเป็นแบบนี้ เรียกได้ว่าเป็น ‘เคล็ดลับความสำเร็จ’ ของเรา
อีกสโลแกนของเราคือ ‘คนปทุมไม่ทิ้งกัน’ เพราะเราไม่เคยทิ้งประชาชนเลย จะยามทุกข์สุขต้องเห็นลุงชาญก่อนคนอื่น ลุงชาญจะเป็นคนถึงลูกถึงคน มันเหมือนเป็นอะไรที่ฝังใจเราว่า ถ้าเขาเกิดอะไรขึ้น เราต้องไป ลุงชาญไปคนเดียว ขับรถไปคนเดียว ไม่ว่ารถเกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็นเพลิงไหม้ น้ำท่วม หรืออะไรก็แล้วแต่ ลุงชาญอยู่เฉยไม่ได้หรอก
ที่ผลการเลือกตั้ง อบจ.ครั้งก่อน ไม่ชนะเพราะอะไร
ก็อาจจะเพราะประชาชนอยากลองเปลี่ยนเป็น ‘รถใหม่ป้ายแดง’ ลุงชาญเป็นมา 3 สมัย เขาก็อาจจะเปลี่ยนรถเป็นป้ายแดง เพื่อไปดูว่านโยบายนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไหม แต่ลุงก็ไม่ได้ตกใจ เราก็ทำงานตามปกติ หาเสียงตามปกติ วิถีชีวิตของคนทำงานเราก็ทำไป ถึงแม้ว่าจะแพ้ครั้งที่แล้วก็ไม่ได้ตกใจอะไร คะแนนลุงก็มากกว่าเดิม
พอเราไม่ได้เป็นนายก อบจ. เราก็ทำธุรกิจส่วนตัว ทำธุรกิจรับเหมา ช่วยลูกดูแลเรื่องต้นไม้ ทำสวน ทำนา เป็นผู้รับเหมากับลูกๆ ตามวิถีชีวิตที่เราเคยทำ
ทำไมถึงอยากกลับมาทำงานในฐานะ ‘นายก อบจ.’ อีกครั้ง
มาจากเสียงเรียกร้องของประชาชนที่อยากให้ลุงชาญกลับมา เราไม่เคยทิ้งพื้นที่ กว่า 3 ปีครึ่ง เราก็อยู่กับประชาชนมาโดยตลอด ถึงแม้ว่าเราจะเป็นผู้แพ้ทางการเมือง แต่ใจเราไม่แพ้ เพราะเราได้ใจประชาชน ได้มา 222,211 คะแนน มากกว่าทุกครั้งที่เราชนะ ก็เลยทำให้เรามีกำลังใจ เวลาประชาชนบอกให้เราไปงานมงคล เราก็ไป งานศพเราก็ไป ถ้าไม่ไปก็ขาดอะไรไปเหมือนกัน ไม่ว่าจะ 1. ความใกล้ชิด 2. ความเป็นกันเอง 3. เราต้องให้เกียรติเจ้าภาพ นี่คือหลักของลุงชาญ เมื่อถึงเวลานัดหมายเราจะต้องแทรกเวลาให้ได้
ไม่ใช่เป็นนักการเมืองแล้วมานั่งเฝ้าออกงาน อันนี้เราได้รับเกียรติจากเจ้าภาพ ถือว่าได้รับเกียรติอย่างสูงสุด การเมืองมันต้องไปคู่กันได้ด้วย ถ้าจะรอแบบการเมืองที่ไม่ไปงานใครเลย ไม่รู้จักใครเลยถึง 4 ปี ค่อยมาเลือกตั้ง ผมว่าไม่ใช่การเมือง
เรียกตัวเองว่า ‘บ้านใหญ่’ ไหม
ไม่มีใครเรียกเราว่า ‘บ้านใหญ่’ มีแต่เรียกเราว่า ‘ลุงชาญใจดี’ เพราะว่าพวงเพ็ชร์เป็นเพียงแค่ลุงคนเดียว ไม่มีทายาทที่จะมาเล่นการเมือง ถ้าลุงจะเล่นก็เล่นเลย ถ้าลุงจะเลิกก็เลิกเลย ไม่มีทายาททางการเมือง
ทำไมเราถึงเลือกสมัครในนาม ‘พรรคเพื่อไทย’ เป็นการอาศัยบารมีอดีตนายกฯ ‘ทักษิณ’ หรือไม่
จริงๆ เราคือ ‘กลุ่มปทุมรักไทย’ ก็มีบ้างที่ ส.ส.และพรรคมาชักชวนเราไปทำงาน เราก็โอเค ส่วนหนึ่งเราก็ยังอยู่กับกลุ่มและพี่น้องประชาชน ถ้าเลือกที่คนรักลุงชาญก็เลือกลุงชาญ ถ้าคนไหนรักพรรคก็เลือกพรรค
แต่เราก็ไม่ได้มาอาศัยบารมีอดีตนายกฯ ทักษิณ เรามาด้วยตัวเอง เมื่อก่อนนี้ไม่มีพรรคการเมืองมาช่วยเรา สโลแกนเราก็คือ ‘เลือกคนทำงาน เลือกชาญ พวงเพ็ชร์’ กับ ‘คนปทุมธานีไม่ทิ้งกัน’ เราก็ใช้สโลแกนของเราอย่างนี้มาโดยตลอด คราวนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยปทุมธานีมาช่วยเรา เราก็ให้เกียรติ
พรรคเพื่อไทยมาช่วยเรายังไงบ้าง
เขาก็ให้กำลังใจ อดีต ส.ส.เขาก็ช่วยเรา เหมือนเป็นพวกเดียวกัน ไม่ได้แตกต่าง ทุกพรรคช่วยเราหมด เหมือนเป็นคนบ้านเดียวกัน เป็นคนรู้จักกันทั้งนั้น
คิดว่าบทบาทพรรคเพื่อไทยที่มีฐานะเป็นรัฐบาล จะมาช่วยผสานแล้วขยับภาพรวมได้ไหม
อันนี้ต้องไปตอบในตอนที่เราได้เป็นนายก อบจ.แล้ว พอเรายังไม่เป็น เรายังไม่สามารถตอบได้
แล้วกับนายกฯ ทักษิณ ได้คุยอะไรกันก่อนเข้าพรรค
อดีต ส.ส.ก็พาเราเข้าไปคุย คุยกันครั้งที่เราจะไปอยู่ในพรรคเพื่อไทย แต่นายกฯ ทักษิณก็ไม่ได้อะไร คุยเป็นกันเอง ยินดีและดีใจด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย เราก็จะได้ทำงานร่วมกัน
มีคนบอกว่านี่เป็นโอกาสที่เพื่อไทยจะกลับมาได้อีกครั้งในสนามใหญ่
เรายังไม่ตอบ เนื่องจากเรายังไม่ผ่าน
การเมืองใหญ่มันเป็น ‘พรรคก้าวไกล’ ไปเสียหมด จะมีผลอะไรกับ อบจ.หรือไม่
ผมคิดว่าไม่มีผลอะไรกับ อบจ. เพราะการเมืองระดับท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติต่างกัน การเมืองระดับชาติต้องดูนโยบายภาพรวมของประเทศ แต่ถ้าท้องถิ่นเป็นนโยบาย อำนาจ และหน้าที่เท่านั้น เราจะเปิดกว้างในเรื่องที่เราไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าระดับชาติ มันกว้างใหญ่มากและสามารถใช้ ครม.เห็นชอบได้ ท้องถิ่นมันมีหน้าที่อยู่
เราไม่รู้สึกสั่นสะเทือนกับจุดยืนหรือฐานทางการเมืองของเราจะเปลี่ยนแปลงไปใช่ไหม
ผมว่าไม่แน่นอน การเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติมันจะแยกแยะกัน การเมืองท้องถิ่นเขาเลือกคน เลือกที่คนใกล้ชิด เลือกที่คนทำงาน แต่ถ้าการเมืองระดับชาติจะเลือกที่นโยบาย มันจะแยกกันตรงนี้ นโยบายใครดีกว่า นโยบายใครที่คิดว่าทำได้ แต่ท้องถิ่นเป็นแบบหนึ่ง ระดับชาติเป็นอีกแบบหนึ่ง
ในช่วงที่ลุงชาญไม่ได้เป็นนายก อบจ. มีเรื่องอะไรอยากแก้ไขบ้าง
อย่างที่บอก เราอยู่กับประชาชนตลอด เขาทุกข์เราทุกข์ด้วย เขาสุขเราสุขด้วย ประชาชนติดขัดอะไรเราช่วยแก้ปัญหาให้ บางทีเขาไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือ แต่เรามีก็ไปช่วยเขา ลุงชาญไม่เคยหยุดเลย จะน้ำแห้ง น้ำแล้ง หรือน้ำในคลองไม่มีก็เอาเครื่องไปดูด ไปวิดน้ำให้เขาทำนา อย่างที่บอกว่าใจมันชอบแล้ว ใจเป็นห่วงเขาเหมือนที่เราเคยลำบาก เราไม่อยากให้เขาลำบากเหมือนเราตอนเด็กๆ
เมืองปทุมธานีมีความเปลี่ยนไปจากสังคมชนบทสู่ความเป็นเมือง เรามองอย่างไร
อย่างที่เราบอกว่าปทุมธานีคล้ายๆ จะเป็น 2 เมือง ชนบทประมาณ 40% ขณะที่ 60% จะเป็นคนนอกเข้ามาอยู่ เพราะฉะนั้นการบริหารจัดการ เราต้องฟังทั้งพื้นฐานเดิมและคนมาใหม่ เพราะว่าคนที่มาใหม่จะอยู่แบบอุดมสมบูรณ์ มีความพร้อม เมื่ออยู่หมู่บ้านจัดสรร การบริโภคทุกอย่างมันครบถ้วน แต่ว่าคนท้องถิ่นเราต้องมาช่วยในสิ่งที่ขาด เรื่องชนบทเป็นปัญหาที่ถนนหนทาง การประปา การไฟฟ้า ขณะที่เรื่องการศึกษาเป็นเรื่องภาพรวมของจังหวัด
ถ้าถามลุงชาญว่าพร้อมกับความหลากหลายของคนไหม ลุงชาญพร้อม ลุงรับข้อมูลเองทั้งหมด โทรศัพท์ลุงชาญจะรับเอง ปกติจะไม่มีใครที่ปล่อยเบอร์ผู้บริหารระดับจังหวัดให้ทุกคนสามารถโทร.เข้าหาได้ แต่ลุงชาญไม่มีเลขาฯ ไม่เคยมีผู้ช่วย ถ้าเรื่องหนักเกินอำนาจหน้าที่ก็จะประสานกับหน่วยงานที่รองรับต่อไป ถ้าเป็นหน้าที่เราก็จะดำเนินการต่อไปได้เลย ปัญหาทุกอย่างต้องแก้ด้วยตัวเอง
คิดว่าเสน่ห์ของปทุมธานีมันหายไปไหมหลังจากที่ ‘ความเป็นเมือง’ มันเข้ามา
ก็ยังไม่มีอะไรเสียหายมากนะ มีประชากรมากขึ้นถือว่าเป็นเมืองที่เจริญ ถ้าเราไม่มีประชากรมากขึ้น มันก็ไม่ใช่เมืองเจริญ แล้ววัฒนธรรมเราก็ยังอยู่เหมือนเดิม วัดทุกวัดยังคงเป็นการท่องเที่ยวได้ ศาสนาทุกศาสนายังอยู่เหมือนเดิมไม่มีอะไรที่จะเสียหาย เพียงแต่ประชากรมากขึ้น ที่อยู่อาศัยเยอะขึ้น เรื่องการเกษตรน้อยลงไปเท่านั้นเอง แต่อย่าลืมว่าที่ดินยิ่งมีคนมาอยู่มากก็ยิ่งแพง
มีเสียงข้อเรียกร้องจากประชาชนอยากให้เรามาดำเนินการอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่จะร้องเรียนเรื่องไฟดับ ไฟเสีย ทำให้ลูกหลานเสี่ยงกับการถูกชิงทรัพย์ หรือเกิดอุบัติเหตุ ทุกเส้นทาง ไฟทางหลวงมีหมด แต่ชาวบ้านเขาบอกว่า เหมือน ‘เปรตยืนอยู่สูงแต่ไม่มีอะไรเลย’ ดำมืด เราแจ้งไปกรมทางหลวงหรือผู้รับผิดชอบก็จะบอกว่า อุปกรณ์หายหรือไม่มีงบประมาณ ผมเลยบอกว่าถ้าเป็นผู้นำ อย่าพูดเรื่องไม่มีงบประมาณ งบประมาณมันมี แต่จะทำได้ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง
คนที่เป็นผู้บริหารแล้วบอกว่าไม่มีงบประมาณ ผมว่าไม่ใช่ คำนี้ไม่ใช่คำตอบของชาวบ้าน คำตอบของชาวบ้านคือเราต้องช่วยกันแก้ อบจ. เรามีงบประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่เป็นรายจ่ายประจำ 30-40% ซึ่งนำไปพัฒนาได้ประมาณ 700-800 ล้านบาท ที่ผ่านมาเราก็ทำหมด และทำได้ดีด้วย ถูกใจประชาชน
มีเสียงเรียกร้องบอกให้ อบจ.แก้ไขปัญหาเรื่องจราจรติดขัด เราสามารถจัดการได้ไหม
มันก็เหมือนโกหกนะ รถยนต์ซื้อกันทุกวัน แต่ถนนมีเส้นเดียว ต้องยอมรับเลยว่าใครก็ทำได้ยาก แต่จะบรรเทาอย่างไรให้มันสะดวกขึ้นเท่านั้นเอง ตอนนี้ที่เป็นนโยบายของเราคือ จะประสานงานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อขยายเรือด่วนให้มายังปทุมธานี เหมือนจังหวัดนนทบุรีที่มีท่าเรือ ซึ่งจะลดภาระปัญหารถติด และธุรกิจก็จะดีด้วย เพราะถ้ารถไปจอดที่ไหน คนก็จะเยอะที่นั่นแม่ค้าก็จะขายได้ มีรายได้มากขึ้น
‘น้ำท่วมปี 54’ ลุงชาญจัดการอย่างไรบ้าง
ตอนนั้นสนุกมาก ชีวิตลุงไม่เคยเจอน้ำท่วมหนักเท่าปี 2554 ทั้งชีวิตลุงไม่เคยทิ้งพี่น้องประชาชนเลย เรานอนอยู่ตรงคลองน้ำอ้อมจนน้ำแห้งถึงกลับบ้าน กลางคืนดึกๆ ดื่นๆ ก็เอารถไปรับคนเจ็บไข้ได้ป่วย คนเจ็บคนตาย ลุงเอาหมด เคยไปรับคนจากวัดเสด็จบ้าง แฟลตปลาทองบ้าง ตอนนั้นก็ทำทุกวัน
เหตุการณ์น้ำท่วมประทับใจในชีวิตลุงมาก หุงข้าวเลี้ยง 1,000-2,000 คน เพราะคนที่ติดน้ำท่วมเขาไม่มีข้าวกิน เลยตั้งครัวทำให้เขามีความสุข ตื่นเช้ามาก็ลงเรือแล้วเอาน้ำไปแจก เอาข้าวสารอาหารแห้งไปให้ จนกว่าเขาจะหายลำบากและกังวล เราก็ไม่รู้จะทำยังไงก็ต้องช่วยกันไป เอาข้าวสุกที่สุกแล้วใส่ถุงแจก
ประทับใจมาก จากปี 2554 มาวันนี้ยังเป็นตำนานเลย ตอนนั้นลุงไม่ได้หน้าตาแบบนี้นะ ตัวดำเมี่ยมเลย เพราะตากแดดทั้งวัน กินก็ไม่ค่อยได้กิน นอนก็ไม่ค่อยได้นอน
จำได้ว่าตอนน้ำท่วมปี 2554 คนปทุมธานีได้รับเงินชดเชยเต็มหน่วย ลุงชาญมี ‘วิธีการทำงาน’ อย่างไรในเรื่องการจัดการงบประมาณ
เราใช้ประสบการณ์ที่เราผ่านมา และใช้ความเป็นมิตรกับทุกคนทุกพรรค ทุกคนลงมาช่วยกันหมด เพราะเห็นเราทำจริงและเราไม่หนีไปไหนเลย ทั้งวันทั้งคืนจะเจอเราตลอดเวลา นั่นคือเราได้ใจประชาชนแล้ว ในช่วงที่น้ำเริ่มลดลงเราเอารถบัสไป 100 กว่าคัน วิ่งบริการประชาชน มีข้าวสารแจกพี่น้องประชาชนทุกครัวเรือน คือเราดูแลหมด
คุณฝันอยากเห็น ‘ปทุมธานี’ เป็นแบบไหน
ก็อยากให้เจริญ อยากให้รองรับได้ทุกด้าน เพราะพี่น้องประชาชนเข้ามาอยู่ปทุมธานีไวมาก วันนี้หมู่บ้านขึ้นหลายร้อยหมู่บ้าน นับเป็นจังหวัดที่เติบโตเร็ว ตอนที่ลุงชาญเป็นนายก อบจ.ใหม่ๆ พื้นที่ว่างเยอะมาก ทำไร่ทำนา แค่ระยะเวลาเพียง 10 ปีที่มานั่งในตำแหน่งนี้ หมู่บ้านเต็มหมดเลยโดยเฉพาะฝั่งธัญบุรีเกือบ 100% คลองหลวงก็ไป 60-70% แล้วลำลูกกาก็ 60-70% ตอนนี้เหลือพื้นที่ที่จะประกอบอาชีพเพื่อการเกษตรน้อยลง นี่แหละคือปัญหาที่ความเจริญมันเข้ามาเร็วและที่ดินก็แพงมาก
ถ้าผลการเลือกตั้งครั้งนี้ออกมาว่าแพ้ จะ ‘ยุติบทบาททางการเมือง’ ไหม
เหมือนเดิม จะชนะหรือแพ้ลุงชาญก็อยู่ในใจประชาชน แล้วทุกคนก็ยังอยู่ในใจลุงชาญ เราแพ้ 4 ปีที่ผ่านมา เราก็ยังเป็นที่เคารพรักของเด็กๆ และประชาชนชาวปทุมธานี ชาวบ้านก็คิดว่าลุงชาญไม่เล่นแล้ว แต่ว่าลุงชาญออกงานไว้ เพราะฉะนั้นพอถึงเวลาที่ชาวบ้านบอกว่าลุงชาญลงสมัครเถอะ เราก็เลยลง แต่ถึงอย่างไรลุงชาญก็ลง จะได้หรือไม่ได้ ลุงชาญก็ลง (ยิ้ม) ถึงแม้ว่าจะแพ้ เราก็ทำงานทางการเมืองต่อไป แล้วก็ดูแลประชาชน เพราะใจเราชอบและมีใจรัก
ถ้ากลับมาเป็นนายก อบจ. ‘อนาคตของปทุมธานี’ จะเป็นอย่างไร
ก็เดี๋ยวดูกัน ขอให้ลุงได้มาก่อน อย่างลุงจะไม่ขายฝันกับใคร นโยบาย 9 มิติ ที่ส่งให้กับประชาชนดูแล้ว เราดูต่อไปว่า ถ้าลุงได้กลับมาจริงจะทำจริงหรือไม่
Fact Box
- ชาญ พวงเพ็ชร์ เคยดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดมาแล้ว 3 สมัย ในปี 2547, 2551, 2555 และภายหลังการเกิดรัฐประหารทำให้อยู่ในอำนาจยาวนานถึง 16 ปีเต็ม
- ก่อนหน้าที่จะมาเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย เขาเคยเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทยมาก่อน