เสียงก่นด่าของคนกรุงเทพฯ จะดังขึ้นทุกครั้งเมื่อฤดูฝุ่นกลับมาเยือน หลายคนก็จะชี้ความผิดไปถึงพฤติกรรมต่างๆ นานาที่ก่อให้เกิดมลพิษ เช่น ‘การเผา’ ของเกษตรกรตามพื้นที่ชนบทต่างๆ ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน การใช้รถใช้ถนน ตลอดจนภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
คงต้องบอกกันอย่างตรงไปตรงมาว่า อาจจะจริงอยู่ที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจก่อให้เกิด ‘มลพิษทางอากาศ’ แต่ในทางกลับกัน ถามว่าชีวิตของมนุษย์สามารถยุติกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ คำตอบก็ชัดเจนอยู่ว่า ‘แทบจะเป็นไปไม่ได้’ เพราะมนุษย์ยังต้องพึ่งพากิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อให้ชีวิตยังคงดำรงอยู่ได้
ดังนั้นคำถามที่สำคัญคือ เราจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อ โดยที่สิ่งแวดล้อมยังคงดี อากาศมีคุณภาพ และท้องฟ้าแจ่มใสได้อยู่หรือไม่ The Momentum มีโอกาสได้พูดคุยกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อย่าง วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ ที่วันนี้หันมาจับพลัดจับผลูในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ ที่มองว่าเรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ และ ‘สันติภาพ’ เป็นเรื่องเดียวกัน
ในมุมมองของเขามองว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกฝ่ายจะหยุดชี้นิ้วโทษกันเสียที และใช้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะพาไปสู่เป้าหมายทางด้านสันติภาพ ที่ทำให้ทุกฝ่ายเห็นมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป
จุดเริ่มต้นที่ทำให้อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หันมาสนใจเรื่องมลพิษทางอากาศและก่อตั้งสภาลมหายใจกรุงเทพฯ
เหตุที่ผมสนใจเรื่องนี้ เป็นเพราะผมรู้สึกว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมจะเป็นนโยบายสาธารณะที่ใช้ได้นานที่สุด เรียนรู้ไม่รู้จบ มีฐานวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์ให้อ้างอิง และมีผลกระทบต่อสังคมเสมอ โดยในอดีตที่ผ่านมาวิทยาศาสตร์มักจะ ‘ถูกกลบ’ ความสำคัญลงด้วยความไม่รู้และหลายคนมองว่าปัญหาปากท้องสำคัญกว่า
หากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไม่มีคำว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ เสียด้วยซ้ำ โดยในแผนแรกมีชื่อว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่มีคำว่า ‘สังคม’ จนพอมาถึงแผนที่ 3 จึงได้เริ่มใส่คำว่า ‘สังคม’ เข้าไป หลังจากนั้นประเทศของเราก็ถูกเศรษฐกิจครอบมาโดยตลอด จนกระทั่งไม่คิดจะเติมอะไรอีกแล้ว แต่เราเห็นพ้องว่า แผนพัฒนาประเทศของไทยควรจะชื่อว่า ‘แผนพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ’ ซึ่งเป็นโครงใหญ่ของประเทศ เมื่อใส่คำว่า ‘สิ่งแวดล้อม’ ลงไป จะทำให้ความสำคัญถูกแบ่งกระจายเป็นอย่างละ 33% และจะค่อยๆ เขย่าคนในสังคมให้รู้ว่า เราพึ่งพาสิ่งแวดล้อมมากกว่าเรื่องอื่นๆ
และเมื่อผมเข้าไปอยู่ในกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ผมจับเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ก่อนเรื่องมลพิษ (Pollution) ส่วนใหญ่ที่เข้าใจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับ ‘น้ำ’ เพราะน้ำมีแรงโน้มถ่วงพาไป แต่กับ ‘อากาศ’ มันไม่ใช่ เพราะอากาศข้ามพรมแดน เราก็ต้องทำความเข้าใจมันมากขึ้น เพราะมีคนในภูมิภาคได้รับผลกระทบกว่า 360 ล้านคน ผมเห็นว่าเรื่องนี้นำมาสู่การเจรจาโดยสันติภาพ (Peaceful Negotiation) ได้
ต้องบอกก่อนว่า เดิมที ‘สภาลมหายใจ’ เกิดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ก่อน และวัฒนธรรมนี้ค่อยๆ กระจายไปยังจังหวัดในภาคเหนือได้สำเร็จ และเขาก็มาชวนกรุงเทพฯ เพราะเห็นว่า กรุงเทพฯ อยู่ใกล้ศูนย์อำนาจมาก เขาก็เลยชวนผมไปร่วมในวันที่เขาจะก่อตั้งสภาลมหายใจเชียงใหม่ โดยที่ผมก็ไม่รู้ว่าเขาจะทำงานต่อกันอย่างไร หากจะตั้งสภาลมหายใจกรุงเทพฯ ก็ต้องมีคนทำหน้าที่เป็นประธาน ต่อมาก็มีคนเสนอชื่อผม ผมก็ตกใจ เพราะตอนนั้นผมยังดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่เขาบอกว่าไม่ได้ติดใจอะไร ขอให้มานำ โดย ดร.เจน ชาญณรงค์ บอกว่ากับผมว่า “ถ้าพี่เป็นประธาน ผมจะเข้ามาช่วย” สุดท้ายก็เขาเข้ามาเป็นรองประธาน สภาฯ ก็เลยเกิดขึ้น
พอเรามีเวลาก็ไปศึกษาของต่างประเทศว่า มีสภาลมหายใจหรือไม่ ก็พบว่า มี เช่น สภาลมหายใจลอนดอน สภาลมหายใจปารีส และอื่นๆ อีก เขาก็ฟอร์มตัวขึ้นมาในลักษณะนี้ เพียงแต่ว่าเมื่อเขาฟอร์มตัวถึงระดับหนึ่ง เกิดความรู้ที่ทัดเทียมกันในสังคม ข้าราชการเองก็เข้ามาอยู่ในสภาฯ ด้วย แต่วันนี้สภาลมหายใจกรุงเทพฯ เรายังไม่ได้เชื้อเชิญราชการเข้ามา เพราะเราคิดว่าประชาชนยังมีปัญหาเรื่องความเชื่อใจกับข้าราชการอยู่
เหตุใดสิ่งแวดล้อมและสันติภาพถึงมีความเกี่ยวข้องกัน
เมื่อก่อนสิ่งแวดล้อมไม่เคยเข้าใกล้กับคำว่า ‘Peace’ เลย ถ้าหากเปลี่ยนมุมมอง โดยใช้วิทยาศาสตร์อธิบายว่า กรุงเทพฯ เป็นทั้งผู้รับมลพิษปลายลมในเดือนมกราคม และเป็นต้นลมในเดือนกุมภาพันธ์ กรุงเทพฯ จะไม่กล้าชี้นิ้วใส่ใคร
เมื่อก่อนเรามองว่า ฝุ่นควันจากยานพาหนะ การขนส่ง และโรงงาน หมุนอยู่ในกรุงเทพฯ เฉยๆ แต่ข้อเท็จจริงคือ ทิศทางลมระดับภูมิภาคมีการเคลื่อนไหวตลอด จะสังเกตได้ว่า เหตุใดถึงมีสารละอองลอยอินทรีย์อยู่ใจกลางประเทศเมียนมา ทั้งๆ พื้นที่ดังกล่าวไม่มีนิคมอุตสาหกรรมอะไรทั้งสิ้น
ข้อมูลจากดาวเทียมยังทำให้เห็นอีกว่า ลมหายใจของพี่น้องชาวอีสานกับคนหายใจของคนกรุงเทพฯ คือ ‘ลมหายใจเดียวกัน’ โดยในเดือนมกราคมจะเป็นควันที่มาจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือพัดพาดผ่านประเทศเวียดนาม ประเทศลาว ส่งมาเรื่อยๆ ในประเทศไทยผ่านภาคอีสาน จังหวัดลพบุรี ก่อนจะเข้ามาในกรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม ในกรุงเทพฯ เราเองก็ผลิตมลพิษตลอด 365 วันเช่นเดียวกัน พอลมเปลี่ยนทิศในเดือนกุมภาพันธ์ ลมจะพัดส่งทุกอย่างจากอ่าวไทยและดันขึ้นทางทิศเหนือ ไปสะสมไว้ในภาคเหนือ ทำให้คนเหนือได้รับผลกระทบโดยถ้วนหน้า ทั้งๆ ที่พวกเขายังไม่ได้เผาป่าด้วยซ้ำ เรื่องนี้เป็นวิทยาศาสตร์มาก แต่ให้อธิบายก็ใช่ว่าจะง่ายที่ทำให้คนเข้าใจ
หรือกลับมามองเรื่องเผาป่าภายในประเทศไทย จุด ‘Burnt Scar’ คือหลักฐานที่แท้จริงว่า ไฟป่าทำลายพื้นที่ไปเท่าไร ข้อมูลจากดาวเทียมย้อนหลัง 20 ปี บอกเป็นอย่างเดียวกันหมดว่า ไฟป่าเกิดในเขตที่กฎหมายไทยเรียกว่าป่า แต่สภาพจริงอาจจะเป็นป่าหรือไม่ก็ได้
ดังนั้นคำว่าป่า จึงไม่ใช่แค่พื้นที่ของกรมป่าไม้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชรวมกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงที่ดินที่ยังไม่ออกโฉนดและอาจจะอยู่ในที่ของหน่วยรัฐอื่นๆ ด้วย หากเรายังไม่เข้าใจเรื่องพวกนี้ เราจะแก้ไขปัญหาใหญ่ได้อย่างไร
ถามว่าสิ่งแวดล้อมนำมาสู่ ‘Peace’ ได้อย่างไร ต้องบอกว่าเรื่องมลพิษทางอากาศเป็นประเด็นที่คนข้ามรุ่นพูดคุยกันได้ เพราะเขาจะต้องอยู่กับมันอีกยาวนาน และพวกเขาสะสมมาก่อนคนรุ่น Gen X มาก
นอกจากนั้นแล้ว สิ่งแวดล้อมยังเป็นประเด็นที่เอาไว้ต่อรองกับกลุ่มทุน เพราะกลุ่มทุนมีส่วนสำคัญกับประเด็นนี้เช่นเดียวกัน
เช้าวันที่ 4 เมษายน 2568 ผมรู้สึกดีใจมากที่กระทรวงพาณิชย์ นำแถลงโดยท่านปลัดฯ ว่า จะเอาความเห็นที่ผมได้พูดไว้ว่า เราจะต้องใช้จังหวะนี้ที่ประเทศสหรัฐฯ จะขึ้นภาษีนำเข้ากับประเทศไทย โดยไทยจะหยุดการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเพื่อนบ้าน โดยไม่ต้องใช้กฎหมายภาษีใดๆ ทั้งสิ้นในการเปลี่ยนแหล่งนำเข้า
ผมคิดว่า ข้อมูลและความรู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายได้ อาจจะไม่ถึงขนาดเป็นการสั่งการให้เปลี่ยน แต่ข้อมูลมันสามารถโน้มน้าวได้ ทำให้กลุ่มทุนรู้สึกว่า มันควรจะเปลี่ยน
หนทางที่จะจูงใจให้กลุ่มทุนหันมาใส่ใจเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมควรมีหน้าตาอย่างไร
ผมว่ามันมีด้วยกันอยู่ 2 เครื่องมือ ซึ่งเราสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศสิงคโปร์ สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในภูมิภาคที่ออกกฎหมายภายในว่า อย่าให้รัฐจับได้ว่า มีกลุ่มทุนของสิงคโปร์ทำให้เกิดการสร้างมลพิษทางอากาศแล้วไหลเข้ามาในประเทศ ถ้าเข้ามาเมื่อไรรัฐจะดำเนินคดีทันที” ผมในฐานะที่เป็นกรรมาธิการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาด มาตรานี้เราใส่เข้าไปแล้ว แต่นั่นไม่ใช่เงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ทำให้มลพิษทางอากาศของสิงคโปร์ลดลงไป
แต่ ‘งานทางการตลาด’ ต่างหากที่เป็นแรงกดดันสำคัญจากภาคประชาชน โดยผู้ซื้อสินค้าจะถามผู้ขายทุกครั้งที่เคานต์เตอร์ว่า สินค้าที่พวกเขาจะบริโภคมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาหรือไม่ ซึ่งคนขายก็จะตอบเท่าที่รู้ จึงก่อให้เกิดแคมเปญทางการตลาด ‘We Breathe What We Buy’ และ ‘We Breathe What We Eat’ ปัจจัยนี้ต่างหากที่ทำให้ทุนถูกผู้บริโภคตรวจสอบ และทำให้ผู้ผลิตหรือผู้จัดจำหน่ายเปลี่ยนแหล่งรับซื้อ
ดังนั้นเวลามีปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่าแก้ด้วยการเมืองเท่านั้น ต้องมีศิลปะ ถ้าสื่อสารแล้วรู้สึกว่าระบบรัฐไม่มีเรี่ยวแรงพอที่จะดึงหรือบีบกลุ่มทุนเพราะพึ่งพาเขาอยู่มาก รัฐลองชวนประชาชนบีบสิ ในปีนี้เราจึงเห็นการที่กระทรวงอุตสาหกรรมกล้าปิดโรงน้ำตาลเป็นครั้งแรก เราเห็นเลยว่า รัฐเรียนรู้ที่จะยืมนิ้วประชาชนมาช่วยกันบี้ เพราะสื่อทุกสื่อรีบประโคมข่าวให้เลยเรื่องนี้ ประชาชนรู้สะใจมาก ต่อมาเถ้าแก่โรงน้ำตาลบอกว่า จะรีบเปลี่ยนแปลง
อีกปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้มลพิษในประเทศมีสูง อย่างการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ในเวลาต่อมา รัฐบาลต้องออกไปเจรจาร่วมกันภายใต้ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (Clear Sky Strategy) ในฐานะประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ มีมุมมองต่อเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
หลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องไปนับหนึ่งจากตัวนี้ เพราะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐ แต่ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะก้าวไปได้ไกลเท่าไร เพราะไม่มีรัฐใดพร้อมที่จะเป็นจำเลยในเวทีนานาชาติ ได้แต่เพียงแค่มาร่วมเพื่อจะบอกว่า ฉันรู้อะไร เธอรู้อะไร แต่อย่างน้อยก็มีโครงสร้างพื้นฐานบางอย่างที่ทำให้ได้พูดคุยกัน
จึงเป็นที่มาที่ผมเสนอว่า เราควรจะมีสภาลมหายใจอาเซียน หรือพื้นที่ท้องถิ่นต่างๆ เพื่อนำข้อมูลมาเสนอกัน เรื่องนี้ไม่ควรจะมีใครชี้นิ้วใส่ใคร เพราะมลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่โดนด้วยกันทั้งหมด
เมื่อเราไปกดดันรัฐบาลของประเทศเขาไม่ได้ ก็ต้องเป็นประชากรของเขาเองที่จะกดดันรัฐบาลท้องถิ่นนั้นๆ ได้ เพราะเป็นการกดดันภายในประเทศ จะทำให้เรามีหวังการแก้ไขปัญหาในภูมิภาคได้ดีมากขึ้น
ทั้งนี้จากข้อมูลดาวเทียมก็พบว่า ประเทศเมียนมาที่ผ่านมา 10 ปี มีการปลูกข้าวโพดจากกลุ่มทุนไทย แปลว่าจุดไฟป่าที่เกิดในประเทศเพื่อนบ้านเป็นมือเราอยู่ไม่น้อย นั่นจึงทำให้เราเข้าใจถึง ‘ความหลากหลายของสหสาขา’ (Multidisciplinary Diversity) ทั้งทุนและวัฒนธรรม
ต้องบอกก่อนว่า ชาวบ้านท้องถิ่นก็ไม่ได้ชอบ แต่ไม่เหลือทางเลือกอื่น นอกจากเป็นส่วนหนึ่งของมันผ่านการเป็นแรงงานที่ถูกจ้างงาน ผมเชื่อว่า พวกเขาก็ไม่ได้รู้ว่า ภัยของมลพิษทางอากาศได้ทำลายสุขภาพพวกเขาไปแล้วเท่าไร
เรื่องนี้เราต้องทำความเข้าใจชนิดที่ว่าละเอียดมากๆ เราจึงจะเข้าไปแก้ไขได้ถึงต้นตอได้ถูกจุด เพราะฉะนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ทำไมต้องมีสภาลมหายใจให้เยอะขึ้น เพื่อให้ลุกขึ้นมารู้ว่า ปัญหามลพิษทางอากาศขณะนี้เกิดอะไรขึ้น อยู่ใกล้มือของฉันหรือไม่ จะได้ทั้งตั้งรับได้ทันที
ผมเคยเสนอเอาไว้เรื่องหนึ่งว่า รัฐบาลกลางควรมีการจัดประชุมร่วมของ คณะกรรมการจากจังหวัดต้นลมและจังหวัดท้ายลม โดยใช้สูตร ‘1-8-3’ โดยจัดการประชุมล่วงหน้า 8 เดือน เพื่อให้จังหวัดต้นลมทั้งหมดมาร่วมมือกัน
ตัวเลข 1 คือ 1 เดือนหลังฤดูเผาของเมืองใดก็ตาม ต้องจัดประชุมร่วมกันระหว่างภาคประชาสังคมและราชการเพื่อถอดบทเรียนว่า ปีนี้มลพิษทางอากาศเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเป็นอย่างไร โดยใน 1 เดือนนั้นต้องคุยกันให้เต็มที่ และใช้เวลา 8 เดือน ระหว่างที่ฝนตก ทำงานเพื่อป้องกันฝุ่น
และเมื่อถึง 3 เดือนที่ค่าฝุ่นเริ่มกลับมา ก็ป้องกันด้วยวิธีการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากก็ดี มุ้งกันฝุ่นก็ดี เพราะเป็นสิ่งที่พอทำได้ใน 3 เดือน
พ.ร.บ.อากาศสะอาดคือ ‘คำตอบ’ ของปัญหาเรื่องนี้หรือไม่
พ.ร.บ.อากาศสะอาด เหมือน ‘เข่ง’ เมื่อก่อนเราไม่รู้เลยว่าอะไรคือแหล่งของมลพิษ อะไรคือเครื่องมือ และอะไรคือบทบังคับ ทุกวันนี้วิธีการแก้ไขปัญหาจึงเป็นการบังคับใช้ พ.ร.บ.และระเบียบต่างๆ ซึ่งมันกระจัดกระจายมาก แม้ว่ารัฐและราชการมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาก็เถอะ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่ายๆ เวลาเรายกของมาเยอะๆ โดยไม่มีกระเป๋า ไม่มีถุง ของมันก็จะหล่น จึงเป็นที่มาของ พ.ร.บ.อากาศสะอาดที่เสนอมาโดย 7 กลุ่ม ทั้งภาคประชาชน พรรคการเมือง และร่าง ครม.
ขณะนี้ พ.ร.บ.อากาศสะอาดกลายเป็นเข่งขนาดใหญ่และซับซ้อนที่สุดในบรรดากฎหมายที่ผมเคยผลิตมา (หัวเราะ) จากที่มีราวๆ ไม่ถึง 100 มาตรา ตอนนี้มันเพิ่มขึ้นไปสูงถึงกว่า 200 มาตราแล้ว เพียงแต่ยังไม่ได้ใส่ตัวเลขกำกับเข้าไปเท่านั้น ผมก็ได้แต่คิดว่า คนใช้มันจะใช้เป็นหรือ (หัวเราะ) กว่าจะใช้เป็นคงนานน่าดู
ผมจึงคิดว่า พ.ร.บ.อากาศสะอาดไม่ใช่เครื่องมือสำเร็จรูป แต่มันเป็นเหมือนเข่ง เทสิ่งที่ต้องทำรวมกัน แล้วมาจัดระบบกันต่อ จึงไม่แปลกใจเลยว่า ยุโรป สหรัฐฯ หรือจีน เขาใช้เวลาถึง 8 ปีถึงได้เห็นการเปลี่ยนแปลงบนท้องฟ้า บ้านเราก็ต้องใช้เวลาประมาณนั้น ไม่มีทางลัด คุณไม่มีมันไม่ได้ แต่ถึงมีแล้ว ก็ไม่ใช่ว่าเรื่องฝุ่นจะหายไป
แนวทางที่จะบรรเทาเรื่องมลพิษทางอากาศระยะสั้นเป็นอย่างไรบ้าง
คนจะรู้สึกว่า ได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง และความรู้สึกนั้นจะทำให้เขารู้สึกว่า ‘ไม่สิ้นหวัง’ กระบวนการต่อสู้นี้เกิดขึ้นมาก่อนเราที่โลกตะวันตก จีน หรือสิงคโปร์ มันเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ แต่เราอาจจะแก้ยากกว่าเขาเล็กน้อย เพราะอำนาจรัฐของเราประสิทธิภาพไม่ค่อยดี และเพื่อนบ้านของเรายังมีความเหลื่อมล้ำมาก จะให้เขาเปลี่ยนแปลงทันทีทันใด คงจะไม่ได้
อีกทั้งจะคาดหวังให้เขาจะเปลี่ยนแปลงโดยที่เราไม่ยื่นมือไปช่วยพวกเขาก็คงจะไม่ได้เช่นกัน สภาลมหายใจกรุงเทพฯ จึงได้ร่วมกับภาคประชาสังคมระดมเงินบริจาคส่งไปช่วยให้กับเจ้าหน้าที่ดับไฟป่า คุ้มครองพวกเขาเป็นเวลา 5 เดือน ในระหว่างที่เขาทำงานเป็นตัวแทนของพวกเราเข้าไปดับไฟ
ตอนนี้สภาลมหายใจก็กำลังจะยื่นมือเข้าไปให้ถึงอีกหนึ่งกลุ่มคือ ‘คนชายขอบที่อยู่ในผืนป่า’ ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นน่าจะมีไม่เกิน 5 หมื่นคนในประเทศไทยที่เป็นคนจุดไฟ เราเชื่อว่าเกินครึ่งเป็นกลุ่มคนนั้นเป็นกลุ่มที่ถูกทอดทิ้งและไม่มีที่ยืน และการจุดไฟป่าคือการหารายได้ของเขา
เราต้องไปรู้จักพวกเขา ค่อยๆ เดินเข้าไปหาเขา พร้อมกับนักจิตวิทยา ว่าพวกเขาขาดเหลืออะไร ลองชวนให้พวกเขามาเป็นผู้เฝ้าป่าดีกว่าผู้เผาป่าจะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเป็นเช่นนั้นได้ 65% ของ Burnt scar ในประเทศไทยอาจจะหายไปเกินครึ่ง ย่อมหมายความว่า คุณภาพปอดของคนไทยก็จะดีขึ้น 30% ทันที ถ้าเราเอื้อมถึงช่วยคนเหล่านี้ได้
นอกจากนั้นก็ยังมีวัฒนธรรมที่เรายังศึกษาไม่มากพอ อย่างเช่น ที่ หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่ทำงานกับมูลนิธิกระจกเงาและมาเล่าให้ผมฟังว่า ‘วัฒนธรรมเผาออก’ คือสิ่งที่เรายังไม่ได้มีการศึกษามากพอ หลายหน่วยงานกลัวไฟป่าจะลามมาถึงพื้นที่ของตนเอง ก็เลยชิงเผาเชื้อเพลิงออกไปก่อนเลย เมื่อเผาออกไปแล้ว พื้นที่ของเราก็จะปลอดภัยแล้ว แต่ปัญหาคือไม่มีใครไปตามดับไฟ และทุกคนชิงเผาออกกันหมด ทำให้จากเดิมที่มีกองไฟเพียงกองเดียว พอทุกคนเผาออก ก็มีกองไฟเพิ่มตามมา จะหวังให้เจ้าหน้าที่ไปตามไล่ดับไฟไม่ไหวหรอก
ถ้าเป็นเช่นนั้นลองเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ดูหรือไม่ เช่นว่า ถ้ามีสภาลมหายใจของแต่ละพื้นที่มารวมตัวกัน แทนที่เผาออก ก็แห่ไปจุดกองเพลิงแรกเพื่อทำการดับเลยดีกว่าหรือไม่ คุณจะได้ไม่ต้องมาเผาออกแบบนี้
ความเชื่อที่ว่าคนเหนือเผาเอาป่าเอา ‘เห็ดเผาะ’ นั้นเป็นจริงหรือไม่
ในเรื่องเผาเอาเห็ดเผาะ หนูหริ่งก็พูดขึ้นมาตรงๆ ว่าให้จัดคนเข้าไปเฝ้าไว้เลย โดยปักจีพีเอส (GPS) ไว้ในทุกชุมเห็ด และให้จำนวนหนึ่งเป็นคนเฝ้าชุมเห็ดไว้ หากใครมาเก็บก่อนคนนั้นก็ความผิด เพราะชุมเห็ดที่มาร์กจุดไว้เป็นทรัพย์สินส่วนกลางของทุกคน ซึ่งจะกลายเป็นรางวัลในเวลาต่อมาของผู้ที่มาเฝ้าชุมเห็ด หากเป็นเช่นนี้การเผาเอาเห็ดเผาะก็จะลดทันที
และถ้าเราจัดการกับเรื่องนี้ได้ สิ่งที่ได้ผลพลอยได้ ไม่ใช่แค่พื้นที่ Burnt scar ลดลง หรือประชาชนมีสุขภาพปอดที่ดีขึ้น แต่ความหลากหลายทางชีวภาพก็จะถูกรักษาไว้ได้ การเก็บรักษาป่าหรือความชุ่มชื้นของป่าก็จะเก็บไว้ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่า ทุกครั้งที่เกิดไฟไหม้ สิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ที่อยู่บริเวณพื้นดินจะปล่อยน้ำมันออกมา และน้ำมันนั้นจะเคลือบดินทำให้ดินไม่ซับน้ำ เมื่อไม่ซับน้ำ น้ำก็ท่วมข้างล่าง และหน้าดินก็จะทลาย น้ำก็จะไหลเร็วขึ้น เห็นหรือไม่ว่า เรื่องไฟป่า-น้ำท่วม จึงเชื่อมเป็นเรื่องเดียวกัน
ในฐานะประธานสภาลมหายใจกรุงเทพฯ อยากเห็นโครงสร้างของรัฐเปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของภัยฝุ่นให้ดีขึ้น
ผมอยากเห็นแผนแม่บทการเงินการคลังฉบับใหม่ เพราะปัญหาทั้งหมดนี้มาจากมนุษย์ เพราะมนุษย์จุดไฟด้วยเหตุโลภ เป็นเหตุผลทางเศรษฐกิจ เพราะฉะนั้นกลไกทางเศรษฐศาสตร์จึงสำคัญที่สุด ไม่ใช่คุกหรือคดีความ ดังนั้นแผนแม่บทการเงินการคลังที่มีภาคสิ่งแวดล้อมควรออกมา และออกโดยร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อให้ครบถ้วนในทุกประเด็น
แผนแม่บทจะต้องเข้าใจโครงสร้าง 6 ทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคคมนาคม ภาคเมือง และภาคชายแดน ถ้าแผนแม่บทการเงินการคลังพูดถึงครบทุกภาคส่วน เราอาจจะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง เพราะทุกวันนี้ทุกคนต่างคนต่างทำ ขยัน แต่ไม่เป็นพาเหรดการทำงานที่พร้อมกัน มันจึงได้แต่ความขยัน มี Input แต่อาจจะไม่ค่อยมี Output ยังไม่ต้องไปพูดถึง Outcome และ Impact
แต่ถ้ามีแผนแม่บทที่ให้ทุกหน่วยเดินสอดคล้องกัน เกื้อหนุนกัน เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ก็ใช้เวลาแก้ไขปัญหาไม่น้อยกว่า 5 ปี ถามว่าปอดเราทนรอได้อีก 5 ปีหรือไม่ ถ้าเราบอกว่าไม่ได้ ดังนั้นแล้วสิ่งที่ผมได้พูดไปก็ยิ่งต้องเร่งทำและให้ความสำคัญมากกว่าเดิม
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคเหนือเป็นพื้นที่ที่ปัญหาฝุ่นรุนแรงมากที่สุด หากมีโอกาสที่ได้สื่อสารความเดือดร้อนของ ‘คนเหนือ’ เราอยากสื่อสารกับคนกรุงเทพฯ อย่างไร
เรื่องนี้ยากสุด (หัวเราะ) เพราะมันไม่มีควันจากภาคเหนือลงมาถึงกรุงเทพฯ คนกรุงเทพฯ เลยไม่เคยสัมผัสประสบการณ์อย่างที่คนเหนือโดน แค่สมัยเดือนมกราคมที่ผ่านมา ฝุ่นหนักๆ ในกรุงเทพฯ โดนร้องกรี๊ดกันแล้ว ผมว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรจะอธิบายได้ดีไปกว่าการพาไปให้โดนด้วยตัวเอง (หัวเราะ)
เพราะฉะนั้นก็ต้องจัดให้มีการประชุมอธิบดีสัญจรของกรมที่เกี่ยวข้องที่ภาคเหนือในฤดูฝุ่น โดยบังคับให้ไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ และขาดประชุม ทางที่ดีเอาระดับผู้อำนวยการ (ผอ.) ไปด้วย ผมว่าก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงนะ (หัวเราะ)
ถามว่าแก้ปัญหาฝุ่นภาคเหนือจะแก้อย่างไร ผมว่าต้อง ‘กระจายอำนาจ’ จากส่วนกลางลงไป เพราะคนที่อยู่ตรงนั้น ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด, นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), ประชาชน หรือสภาลมหายใจในพื้นที่ ให้พวกเขาได้ใช้อำนาจนั้นด้วยกัน เพื่อให้มีข้อมูลชุดเดียวกัน และแต่ละฝ่ายจะเห็นความแตกต่างในด้านความรู้สึกและคุณภาพของอากาศทีละนิด
จริงอยู่ว่าทำทั้งหมดยังไม่ก็ยังป้องกันเรื่องฝุ่นข้ามแดนอยู่ไม่ดี แต่กระบวนการที่เกิดขึ้นทำให้เห็นแล้วว่ากระบวนท่าการทำงานมันพอมีทางอยู่ ผมคิดว่าในอีกไม่ช้า สภาลมหายใจจะไปชวนประชากรของประเทศเพื่อนบ้านที่เดินทางเข้ามารักษา มาเรียน หรือมาค้าขาย ให้เข้ามาร่วมกับสภาลมหายใจ แต่ไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องทำอะไร แค่อ่านและทำความเข้าใจข้อมูล เพราะพวกเขาเป็นคนที่เข้าใจภาษาของบ้านเกิดได้ดีกว่าคนไทยมาก และช่วยนำเอาความรู้ตรงนี้ไปเผยแพร่ต่อในช่องทางของตัวเอง และเราหวังว่ามันจะเกิดสภาลมหายใจขึ้นบ้างในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์
เรื่องนี้เราต้องไม่ชี้นิ้วใส่ใครให้เป็นจำเลย แต่ถ้าชวนมาดูข้อมูลว่า ขณะนี้เกิดอะไรขึ้น ต้องแก้ไขอย่างไร ติดปัญหาตรงไหน มันถึงจะได้เกิดเป็นองค์ความรู้ของทั้งภูมิภาคไปด้วยกัน โดยใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์กระดูกสันหลัง ใช้ปอดเป็นเดิมพัน และทำเพื่อให้คนที่รักอยู่ได้ในอนาคต
Fact Box
- วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เคยดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมืองหลากหลายตำแหน่ง เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในสมัยรัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงเคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยของ สุรเกียรติ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สมัยรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ
- วีระศักดิ์เล่าให้ฟังว่า อีกหนึ่งจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมคือ มาจากการลงเรียนรายวิชา Environmental Law สมัยที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ตนสามารถทำคะแนนสอบได้ดี ทั้งๆ ที่ไม่เคยเรียนวิชานี้มาก่อน
- วีระศักดิ์มีบทบาทสำคัญต่อการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมากที่สุดฉบับหนึ่ง