สัปดาห์ที่ผ่านมา รูปโฉมโดดเด่นสะดุดตาของสัตว์และยานพาหนะต่างๆ บน ‘เสาไฟ’ ในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลของหลายจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นช้าง ปลาบึก พญานาค เครื่องบิน เรือพาย กามเทพ ฯลฯ กำลังตกเป็นข่าวฉาวไปทั่วประเทศ โดยหน่วยงานต้นสังกัดอ้างว่าเป็นการแสดงอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นเท่านั้น ทว่า ความหรูหราเกินความจำเป็นและตัวเลขงบประมาณที่สูงเกินจริง ก่อให้เกิดกระแสไม่พอใจเป็นวงกว้าง ประชาชนพากันลงความเห็นว่าเป็นการสร้างระบบสาธารณูปโภคที่มีเป้าหมาย ‘ใช้งบ’ มากกว่า ‘ใช้งาน’

ในอีกทางหนึ่ง เสาไฟเหล่านั้นยังแสดงเห็นว่าเรายังคงยึดติดกับการใช้งานเสาไฟในรูปแบบเดียว และไม่คำนึงถึงผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน

เสาไฟในหลายประเทศไม่ใช่แค่ระบบสาธารณูปโภคที่ให้แสงสว่างเพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว ในยุโรป เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน หรือเนเธอร์แลนด์ ได้ปรับให้เสาไฟเป็นจุดชาร์จไฟรถยนต์พลังงานไฟฟ้า แม้แต่สิงคโปร์เองก็มีแผนจะเปลี่ยนเสาไฟทั่วประเทศให้เป็นเสาไฟอัจฉริยะ สามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณการจราจร รวมถึงกล้องวงจรปิดเพื่อสอดส่องความปลอดภัย (หลายคนได้ยินแล้วอาจจะไม่ค่อยถูกใจนัก)

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราไม่ได้ชวนมองเรื่องการใช้งานของเสาไฟ แต่อยากชวนมองเรื่องผลกระทบจากการติดตั้งเสาไฟที่ไร้การวางแผนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่มีการวางแผนเพื่อใช้งานจริง ไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ อย่างรอบด้าน เช่น มลพิษทางแสง ที่ส่งผลกับคุณภาพชีวิตของคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม

การศึกษาจำนวนมากยืนยันว่า แสงประดิษฐ์ (artificial light) จากไฟต่างๆ เช่น ไฟถนน ป้ายโฆษณา หรือท้องฟ้าเรืองแสง (skyglow) ที่แผ่ขยายจากเมืองนั้นมีความสว่างกว่าคืนพระจันทร์เต็มดวง จนถูกเรียกรวมกันว่าเป็นมลพิษทางแสง (light pollution) ซึ่งมลพิษทางแสงนั้นมีผลต่อการนอนหลับของมนุษย์ ทั้งยังมีผลกับชีวิตของสัตว์กลางคืน เช่น เต่าทะเล หรือสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอื่นๆ เพราะสัตว์เหล่านี้ต้องอาศัยความมืดเพื่อหลบหนีการเป็นเหยื่อของศัตรูนักล่า 

นอกจากนี้ มลพิษทางแสงยังส่งผลให้พืชบางชนิดที่อาศัยแสงตามฤดูกาลต้องตายเร็วขึ้นเมื่ออยู่ใกล้ถนน ดังที่เคยตกเป็นข่าวในบ้านเราเมื่อช่วงสองสามปีที่ผ่านมาว่า แสงไฟจากถนนทำให้ข้าวไม่ออกรวง จนกระทั่งมีชาวบ้านบางพื้นที่ถึงกับต้องเอากระสอบไปปิดคลุมไฟเพื่อลดแสง (และมีนักวิทยาศาสตร์ออกมาแนะนำให้ชาวนาเลือกพันธุ์ข้าวที่ไม่ไวต่อช่วงแสงมาปลูกในพื้นที่แทน) 

มลพิษทางแสงยังส่งผลกระทบกับนกอพยพ ทำให้พวกมันหลงทิศ เพราะนกจำนวนมากเดินทางในเวลากลางคืนโดยใช้แสงจันทร์นำทาง แต่มนุษย์เมืองอย่างเรากลับเคยชินแสงสว่างจ้าเต็มท้องถนน แม้กระทั่งในบ้านเรือน หากเราสังเกตจะเห็นได้ว่าข่าวนกอพยพที่บินผ่านสีลมในฤดูหนาวค่อยๆ ลดน้อยลง จนแทบไม่ปรากฏให้เห็นอีกเลยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ทุกครั้งที่มีโครงการสร้างเมือง ขยายเมือง เรามักนึกถึงเพียงการขยายความเจริญเข้าสู่พื้นที่หนึ่งๆ โดยคำนึงถึงเรื่องการพัฒนาทางกายภาพเป็นหลัก เรามักลืมนึกถึงสิ่งแวดล้อม ชุมชน หรือสิ่งมีชีวิตที่จะได้รับผลกระทบ ยกตัวอย่างโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และผู้คน แม้จะมีข้อบังคับให้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการ แต่เราก็เห็นอยู่บ่อยครั้งว่า การศึกษาเหล่านี้ให้ความสำคัญกับมนุษย์ ชุมชน และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากน้อยเพียงใด

ไม่ต้องพูดถึงสาธารณูปโภคขนาดเล็กอย่างเสาไฟ ว่ารัฐนั้นได้คาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่ เราจึงได้เห็นสาธารณูปโภคที่บางครั้งกลับมี ‘น้อยเกินควร’ หรือไม่ก็ ‘มากเกินจำเป็น’ 

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ความเห็นว่า การติดตั้งเสาไฟบนท้องถนนแต่ละสายนั้นมีความแตกต่างกัน เช่น ถนนเล็กในซอยหรือทางเท้าควรติดตั้งเสาไฟเพียงด้านเดียว ถนนขนาดปานกลางให้ติดตั้งสองฝั่งสลับกัน ถนนที่มีความกว้าง 8 เมตรขึ้นไปสามารถติดเสาไฟได้ทั้งสองฝั่งโดยไม่ต้องสลับ หรือใช้เป็นเสาไฟติดตั้งตรงกลางระหว่างสองเลน และให้มีหลอดไฟให้แสงสว่างสองฝั่งแทน อีกทั้งระยะห่างของเสาไฟแต่ละต้นจะขึ้นอยู่กับความสว่างของหลอดไฟ

ทิศทางของแสงจากเสาไฟมีส่วนช่วยลดมลพิษทางแสง และยังลดการใช้พลังงานไปในตัว เพราะเสาไฟที่ให้แสงกระจายขึ้นด้านบนหรือด้านข้างนั้นเป็นการสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ แต่การออกแบบทิศทางให้ไฟสาดลงบนถนนหรือทางเท้าในจุดที่ใช้งาน จะช่วยลดการกระจายตัวของแสงที่อาจจะรบกวนพืช สัตว์ หรือบ้านเรือนในบริเวณใกล้เคียง ทั้งยังช่วยให้การส่องสว่างมีประสิทธิภาพ และลดมลพิษทางแสงได้ไปในตัว

อย่างไรก็ตาม เสาไฟอื้อฉาวที่ถูกตกแต่งด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งกำลังตกเป็นข่าวในขณะนี้ ไม่ได้คำนึงถึงระยะห่างหรือการออกแบบของทิศทางแสงเลย

สุกิจ พลับจ่าง ผู้ก่อตั้งกลุ่ม ‘ลำพู บางกระสอบ’ เพื่อรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องหิ่งห้อยในบางกระเจ้า เล่าว่า แสงไฟจากถนนและอาคารต่างๆ อันเป็นผลจากการขยายเมืองและการตั้งโรงงานรอบบางกระเจ้า ทำให้ความมืดถูกแทนที่ด้วยแสงสว่างเกินความจำเป็น ส่งผลให้ประชากรหิ่งห้อยลดลงจนน่าเป็นห่วง

เขาเล่าว่า เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา อบต.ได้ติดตั้งไฟส่องสว่างให้กับทางจักรยานในพื้นที่บางกระสอบ เพื่อให้คนสัญจรได้อย่างปลอดภัยในยามค่ำคืน ทางจักรยานจะเป็นแผ่นปูนยกสูงจากพื้นรอบรับน้ำขึ้นน้ำลง มีความกว้างประมาณ 1.5 เมตร เข้าไปตามชุมชนและริมน้ำ แต่การติดตั้งเสาไฟกลับมีความถี่เกินความจำเป็น จนกระทั่งทางจักรยานเหล่านี้สว่างจ้ากว่าถนนหลักเสียอีก หิ่งห้อยที่เคยอยู่รอบๆ ต้นลำพูต้องหนีมาอยู่เพียงแค่ฝั่งเดียวของต้นลำพู เพื่อใช้ลำต้นบังแสงไฟ แต่ผ่านไปไม่นาน ชาวบ้านก็ไม่ต้องกังวลกับแสงไฟที่มากเกินความจำเป็นอีกแล้ว บรรยากาศกลับมามืดเหมือนเดิม เพราะสายไฟถูกขโมย!

สุกิจเชื่อว่ามลพิษทางแสงมีผลต่อจำนวนประชากรหิ่งห้อยอย่างแน่นอน แต่เขาไม่แน่ใจว่าผลกระทบนั้นมีมากน้อยเพียงใด เมื่อเทียบสัดส่วนกับการขยายเมืองที่เปลี่ยนพื้นที่สีเขียวในบางกระเจ้าให้เป็นบ้านเรือน ร้านกาแฟ โรงแรม หรือสวนเกษตรแนวใหม่ที่ปลูกภายใต้โดมพลาสติก 

ข้อสงสัยของสุกิจนั้นมีผลการทดลองยืนยันจาก ดร.อัญชนา ท่านเจริญ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้เคยทำการทดลองผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยภายใต้งานศึกษาวิจัยชื่อ ‘ผลกระทบของแสงต่อพฤติกรรมการผสมพันธุ์ของหิ่งห้อยชนิด Luciola aquatilis’ เมื่อปี 2553

ผลวิจัยดังกล่าวพบว่า หิ่งห้อยที่จับคู่ผสมพันธุ์ในห้องมืดสนิท สามารถจับคู่ผสมพันธุ์ได้สำเร็จภายในเวลา 30 นาที แต่ถ้าในสภาพที่มีแสงสว่างมากขึ้น กลับพบว่าพฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีของหิ่งห้อยก่อนผสมพันธุ์จะนานขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในระดับความเข้มแสง 0.3 ลักซ์นั้น พบว่าหิ่งห้อยต้องใช้เวลาถึง 5-7 ชั่วโมงกว่าจะผสมพันธุ์ได้สำเร็จ สรุปได้ว่า ด้วยความเข้มของแสงเพียงน้อยนิด ก็ทำให้ชีวิตของหิ่งห้อยเปลี่ยนไป 

ลองนึกดูว่า แสงจากหลอดไฟที่เราใช้กันปัจจุบันมีความเข้มถึง 320-500 ลักซ์ จะส่งผลกระทบกับประชากรหิ่งห้อยเพียงใด?

 

อ้างอิง

http://civilnu55.blogspot.com/p/blog-page_46.html

https://www.darksky.org/light-pollution/

https://edition.cnn.com/2020/02/03/world/fireflies-extinction-risk-scn/index.html

https://www.matichon.co.th/bullet-news-today/news_2460646

https://nltimes.nl/2018/10/26/netherlands-getting-darker-turning-point-light-pollution

https://www.ryt9.com/s/prg/975531

https://www.springnews.co.th/news/810651

https://www.straitstimes.com/tech/smart-lamp-posts-to-transmit-data

Tags: , ,