ล่วงเข้าเดือนสิงหาคม 2564 ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า แผนการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลที่จะหา 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ‘เป็นไปไม่ได้’ อย่างแน่นอน (ยังไม่ต้องพูดถึงเป้าที่จะ ‘ฉีดให้ครบ’ 50% ของประชากร เพราะ ‘ของ’ ต้องมาเสียก่อน จึงจะฉีดได้) โดยสาเหตุหลักก็คือ ‘วัคซีนหลัก’ ที่ไทยอยากพึ่งพา นั่นคือ แอสตราเซเนกา จะส่งได้ไม่ครบ 61 ล้านโดสภายในสิ้นปีนี้ เนื่องจากสัญญาไม่ได้ระบุ และบริษัทเองก็ประกาศว่าจะส่งให้ไทยเพียงเดือนละ 5-6 ล้านโดส หรือหนึ่งในสามของกำลังการผลิตเท่านั้น
ตารางการส่งมอบวัคซีนในจดหมายที่บริษัทแอสตราเซเนกาส่งถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2564 เปิดเผยให้คนไทยเห็นเป็นครั้งแรกว่า ข้อตกลงจองซื้อวัคซีน 26 ล้านโดสของไทย สองฝ่ายลงนามในสัญญา (ใช้คำว่า ‘concluded’ แปลว่า ทำสัญญาเรียบร้อย) ในเดือนมกราคม 2564 ส่วนข้อตกลงที่ไทยจะซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส (รวมเป็น 61 ล้านโดส) เพิ่งมาลงนามเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 เพียงหนึ่งเดือนก่อน ‘วันเริ่มปูพรมฉีดวัคซีน’ 7 มิถุนายน 2564 (จากตาราง ชัดเจนด้วยว่าไทยตกลงทำสัญญาช้ากว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ทั้งหมด)
ในจดหมายของบริษัทไม่ระบุ ‘วันสิ้นสุดสัญญา’ (ผู้เขียนเดาว่า มกราคม 2565 และ พฤษภาคม 2565 ตามลำดับ เพราะสัญญาทั่วไปมีอายุ 1 ปี) แต่เราก็สามารถอนุมานได้อยู่ดีว่า ในเมื่อพันธะของบริษัทที่จะส่ง 26 ล้านโดส เริ่มนับหนึ่งเดือนมกราคม จากนั้นอีก 35 ล้านโดส เพิ่งมาเริ่มนับหนึ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ก็แสดงว่า ที่รัฐบาลโม้ตลอดมาตั้งแต่ต้นปีว่า เป้าหมายของรัฐบาลที่จะ ‘ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564’ นั้น เป็นเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้น้อยมากตั้งแต่แรก และอันที่จริง รัฐบาลก็รู้อยู่แก่ใจว่าเป้านี้แทบเป็นไปไม่ได้เลย เมื่อคำนึงว่าสัญญาที่ไทยทำกับแอสตราเซเนกานั้น ‘หลวมโพรก’ ขนาดไหน
ถึงแม้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบางคนยังท่องวลี ’61 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564’ กล่อมประชาชนอยู่ ข้อเท็จจริงจาก ‘แผนการจัดหาและส่งมอบวัคซีนโควิด-19’ ฉบับล่าสุด เสนอเข้าที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ก็ให้ภาพที่ชัดเจนว่า กรมควบคุมโรคเองคาดว่าจะมีวัคซีนถึงสิ้นปี 2564 เพียง 84.2 ล้านโดส โดยจำนวนนี้รวมวัคซีนบริจาครวม 4 ล้านโดสจาก สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ และใช้สมมติฐานว่าบริษัทแอสตราเซเนกาจะส่งได้ 6 ล้านโดส ระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม 2564 ทั้งที่ยอดส่งวัคซีนรายเดือนของบริษัทไม่เคยแตะตัวเลขนี้ได้เลย (ดูภาพประกอบ ล้อมกรอบสีแดงเพิ่มเติมโดยผู้เขียน)
ผู้เขียนเรียกแผนการจัดหาและส่งมอบวัคซีนฉบับนี้ว่า ‘ฉบับยกธงขาว’ เพราะเป็นแผนการจัดหาที่ภาครัฐ ‘รับสภาพ’ ว่าไทยจะฉีดวัคซีนได้ไม่ถึง 100 ล้านโดส แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ที่จะพยายามจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมมาชดเชยแอสตราเซเนกาในส่วนที่ขาดประมาณ 20-25 ล้านโดสต่อเดือน เมื่อเทียบกับเป้าเดิม แถมยังคาดการณ์การส่งมอบวัคซีนจากแอสตราเซเนกาค่อนข้างสูง คือ 6 ล้านโดสต่อเดือน ระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2564 ทั้งที่บริษัทส่งจริงในเดือนกรกฎาคม 2564 ได้เพียง 3.95 ล้านโดสเท่านั้น (ไม่นับวัคซีนบริจาค 1.05 ล้านโดสจากญี่ปุ่น ซึ่งก็ไม่ควรนับ เพราะเราเสียเงินซื้อวัคซีนจากบริษัท)
ปัญหาวัคซีนขาดแคลนจะปะทุเป็นวิกฤตใหญ่ตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ต่อเนื่องถึงสิ้นเดือนตุลาคม เพราะเป็นสองเดือนที่ต้องฉีดแอสตราเซเนกาเป็นเข็มที่สองให้กับคนไทยกว่า 7.6 ล้านคน ที่ได้แอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรกในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคม โดยจากสถิติของกรมควบคุมโรค มีคนไทยทั้งประเทศราว 3.4 ล้านคน ที่ได้รับแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรกในเดือนมิถุนายน 2564 มีกำหนดการฉีดเข็มสองตลอดเดือนกันยายน (12 สัปดาห์หลังเข็มแรก) และมีอีกประมาณ 4.2 ล้านคน ที่ได้รับแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรกในเดือนกรกฎาคม 2564 มีกำหนดการฉีดเข็มสองในเดือนตุลาคม
ยังไม่นับคนที่ได้วัคซีนสูตร ‘ฉีดวัคซีนไขว้’ ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา โดยระหว่างวันที่ 15-31 กรกฎาคม 2564 มีผู้ที่ได้วัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มแรก รวม 1.2 ล้านคน (ในจำนวนนี้หลายคนถูกเปลี่ยนยี่ห้อของเข็มแรก จากแอสตราเซเนกามาเป็นซิโนแวค แต่กระทรวงสาธารณสุขไม่แจ้งตัวเลขที่ชัดเจน) ทั้งหมดนี้ตาม ‘สูตรไขว้’ ต้องได้รับแอสตราเซเนกาเป็นเข็มสอง หลังจากที่ฉีดเข็มแรกไปแล้ว 3-4 สัปดาห์
ถ้าเราอนุมานว่า กรมควบคุมโรคจะฉีดซิโนแวคเป็นเข็มแรก ในอัตราเท่ากับที่ฉีดช่วง 15-31 กรกฎาคม นั่นคือเฉลี่ยวันละ 1.2 ล้าน ÷ 15 = 80,496 โดส แปลว่าตลอดทั้งเดือนสิงหาคมและกันยายน จะฉีดซิโนแวคได้ราว 2.5 ล้านโดสต่อเดือน
ถ้าหากว่าทุกคนที่ได้วัคซีนซิโนแวคเป็นเข็มแรกในเดือนสิงหาคมและกันยายน จะได้รับแอสตราเซเนกาเป็นเข็มสองตาม ‘สูตรไขว้’ จริงๆ ก็แปลว่าต้องฉีดเข็มสองภายในเดือนกันยายนและตุลาคมตามลำดับ (ตามกำหนด 3-4 สัปดาห์ หลังซิโนแวคเข็มแรก)
ทั้งหมดนี้หมายความว่า กรมควบคุมโรคต้องมีวัคซีนแอสตราเซเนกาในมือ เฉพาะสำหรับฉีดเข็มสอง (ให้กับคนที่ฉีดแอสตราเซเนกาหรือซิโนแวคเป็นเข็มแรก) ไม่น้อยกว่า 3.4 + 2.5 = 5.9 ล้านโดส ในเดือนกันยายน และไม่น้อยกว่า 4.2 + 2.5 = 6.7 ล้านโดสในเดือนตุลาคม
คนเหล่านี้ไม่มีทางเลือกอื่น เพราะไม่มีวัคซีนยี่ห้ออื่นให้เลือก ส่วนไฟเซอร์ กว่าจะส่งมอบล็อตแรกก็ต้องรอถึงเดือนตุลาคม (และกลุ่มเป้าหมายถ้ายังไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี) และจะให้คนที่ฉีดแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรก ไปฉีดเข็มสองเป็นซิโนแวคก็กระไรอยู่ (ส่วนถ้าจะให้คนที่ฉีดซิโนแวคเป็นเข็มแรก ฉีดซิโนแวคต่อเป็นเข็มที่สองอีก ก็ดูจะเป็นการ ‘กลับลำ’ ของนโยบายฉีดไขว้ และน่าจะทำให้คนจำนวนมากไม่พอใจอย่างยิ่ง)
นั่นหมายความว่า ลำพังการ ‘รอ’ วัคซีนจากบริษัทแอสตราเซเนกาอย่างเดียว ก็สุ่มเสี่ยงแล้วว่าจะมีวัคซีนไม่พอฉีดให้กับทุกคนที่ต้องฉีดยี่ห้อนี้เป็นเข็มสอง ยังไม่ต้องนับการฉีดเป็นเข็มแรกให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ยังไม่ได้วัคซีนใดๆ เลย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยง 7 โรค
คำถามคือ รัฐบาลไทยรับมือกับวิกฤตวัคซีนด้วยการทำอะไรบ้าง?
ตลอดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เราเห็นเพียงข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชมเครื่องดึงวัคซีนอัตโนมัติ ที่ดึงได้ขวดละ 12 โดส แทนที่จะเป็น 10 โดส ตามคำแนะนำของบริษัทผู้ผลิต ซึ่งถ้าทำได้ ก็จะเท่ากับมีวัคซีนใช้มากขึ้น 2÷10 = ร้อยละ 20 และข่าวการโปรโมตวัคซีนสูตร ‘ฉีดไขว้’ ซิโนแวค+แอสตราเซเนกา ว่ามีประสิทธิภาพและปลอดภัย
ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะทำทุกอย่าง ยกเว้นทางแก้ปัญหาที่ตรงไปตรงมาที่สุด นั่นคือเร่งจัดหาแอสตราเซเนกาเพิ่มเติมจากแหล่งอื่น และเร่งสั่งวัคซีนประสิทธิภาพสูง เช่น ชนิด mRNA เพิ่มเติมสำหรับปี 2565 และหาทางนำบางส่วนเข้ามาในปีนี้ให้ได้เร็วที่สุด
ไทยจะหาวัคซีน 25-30 ล้านโดส เพื่อชดเชยแอสตราเซเนกาได้จากไหนบ้าง ผู้เขียนคิดว่าวันนี้ประชาชนไม่อยากเห็นรัฐบาลอยู่เฉยๆ และพอถึงเวลาก็สั่งซื้อยี่ห้อซิโนแวคมาเติมส่วนที่ขาดไปเรื่อยๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะเรารู้แล้วว่าซิโนแวคไม่มีประสิทธิภาพสูงพอเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น ที่จะรับมือกับสายพันธุ์เดลตา ดังนั้นจึงไม่อาจช่วยไทยตอบโจทย์ ‘เปิดประเทศ’ ได้ ยังไม่ต้องพูดถึงประสิทธิภาพการ ‘กันตาย’ และ ‘กันติด’ โดยเฉพาะในหมู่บุคลากรด่านหน้า ที่กำลังรับมือกับวิกฤตสาธารณสุขอย่างเกินกำลังแล้ว
ณ วันนี้เรามีซิโนแวคในมือราว 20 ล้านโดสแล้ว ควรมองเป็น ‘วัคซีนสำรอง’ ที่จะสั่งก็ต่อเมื่อจวนตัวจริงๆ ไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ แล้วเท่านั้น (ข่าวดีคือ ในแผน ‘ฉบับยกธงขาว’ ก็ไม่มีการสั่งซิโนแวคมาเพิ่มอีกแล้วเช่นกัน)
แล้ว ‘ช่องทางที่เป็นไปได้’ ในการหาวัคซีนต่างๆ มาชดเชยให้ครบ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 มีอะไรบ้าง ผู้เขียนลองทำแผนผังคาดการณ์ด้านล่างขึ้นมา เพื่อนำเสนอช่องทางต่างๆ ที่เห็นว่าเป็นไปได้ (กราฟิกแผนผังโดย น้ำใส ศุภวงศ์)
แน่นอน การทำสิ่งเหล่านี้ไม่มี ‘การันตี’ ใดๆ ว่าจะสำเร็จ แต่ผู้เขียนเห็นว่า อย่างน้อยที่สุดรัฐบาลควรลอง หากลองแล้วถ้าไม่สำเร็จก็มาอธิบายชัดๆ ว่าติดปัญหาอะไร ไม่ใช่ไม่ขวนขวาย แล้วพอถึงเวลาก็สั่งซิโนแวคมา ‘ขัดตาทัพ’ ต่อไปเรื่อยๆ
สมมติฐาน (ค่อนข้างอนุรักษนิยม) ที่ผู้เขียนใช้ในการคาดการณ์
1. ในเมื่อบริษัทแอสตราเซเนกาส่งวัคซีนในเดือนกรกฎาคมได้เพียง 3.95 ล้านโดส จึงใช้สมมติฐานอนุรักษนิยมว่า ระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายน บริษัทจะส่งได้เพียงเดือนละ 4 ล้านโดสเท่านั้น ก่อนจะเพิ่มเป็น 5 ล้านโดส ระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564
2. วัคซีนไฟเซอร์ตามสัญญาสั่งซื้อ 20 ล้านโดส เริ่มส่งในเดือนตุลาคม และทยอยส่งจนครบ 20 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ตามที่บริษัทระบุ
3. ไม่มีการสั่งซิโนแวคเพิ่มเติมอีก (ตรงกับแผน ‘ฉบับยกธงขาว’ ของกรมควบคุมโรค) โดยตัวเลขซิโนแวคในแผนผังเท่ากับ 20.4 ล้านโดส รวมทั้งจำนวนที่ไทยสั่งซื้อ และจำนวนวัคซีนที่จีนบริจาค 1.5 ล้านโดส (ตัวเลขล่าสุด 10.9 ล้านโดส ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อ 6 ก.ค. คือตัวเลขที่เอามาอนุมานว่า จะฉีด 5 ล้านโดสในเดือนกรกฎาคม และอีก 5.9 ล้านโดสในเดือนสิงหาคม แต่หลังจากนั้นจะไม่มีการซื้ออีก)
ตัวเลขวัคซีนทั้งหมดที่มีในมือ (ไม่นับ ‘วัคซีนทางเลือก’ ที่ประชาชนจ่ายเงินซื้อเอง อาทิ ซิโนฟาร์ม) ตามสมมติฐานข้างต้น เท่ากับ 76.8 ล้านโดส
ความเป็นไปได้ที่จะจัดหาเพิ่มเติมราว 25 ล้านโดส มีทางไหนบ้าง ผู้เขียนคิดว่ารัฐบาลควรลอง 4 หนทางต่อไปนี้
1. ขอรับบริจาคหรือแลกวัคซีนแอสตราเซเนกาและไฟเซอร์จากประเทศอื่นมาใช้ก่อน
จนถึงวันนี้ มีประเทศไม่น้อยกว่า 15 ประเทศทั่วโลก ที่มีวัคซีนโควิด-19 ในประเทศตัวเองเหลือใช้มากพอที่จะประกาศบริจาคให้กับประเทศอื่น (บางประเทศประกาศบริจาคเป็น ‘วัคซีนการทูต’ เพื่อเพิ่มอิทธิพลของตัวเอง หรือคานอำนาจชาติมหาอำนาจอื่นด้วย)
ผู้เขียนรวบรวมตัวเลขวัคซีนบริจาคจากข่าวต่างๆ ได้ 2,745 ล้านโดส ณ ต้นเดือน สิงหาคม 2564 (ดูแผนที่ประกอบ)
ยี่ห้อหลักของวัคซีนที่บริจาคคือไฟเซอร์และแอสตราเซเนกา ส่วนจีนประเทศเดียว ประกาศว่าจะบริจาควัคซีน 2 พันล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 โดยนักวิเคราะห์คาดว่าจะเป็นซิโนแวคและซิโนฟาร์มเป็นหลัก
ประเทศเหล่านี้บริจาควัคซีนผ่านหนึ่งในสามช่องทางหลักๆ ได้แก่ 1. ผ่านโครงการ COVAX 2. บริจาคตรง และ 3. ผ่านโครงการความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น EU Civil Protection Mechanism
ผู้เขียนเห็นว่า ในเมื่อไทยจะได้แอสตราเซเนการาว 30 ล้านโดส ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2565 และในเมื่อเซ็นสัญญาซื้อไฟเซอร์ 20 ล้านโดสแล้ว แต่ต้องรอถึงเดือนตุลาคมกว่าวัคซีนจะมา แปลว่ารัฐบาลน่าจะเจรจาขอรับบริจาคหรือขอ ‘แลก’ วัคซีนมาใช้ก่อนกับออสเตรเลีย (ประกาศบริจาคแอสตราเซเนกา 20 ล้านโดส) สหภาพยุโรป แคนาดา และประเทศอื่นๆ โดยตั้งเป้าขอแลกและรับบริจาครวมกันเดือนละ 2 ล้านโดส ระหว่างเดือนกันยายนถึงธันวาคม 2565 น่าจะพอเป็นไปได้
2. เข้าร่วมโครงการ COVAX และสั่งซื้อวัคซีนจากโครงการทันที
ข่าวดีเล็กๆ ในเดือนกรกฎาคมก็คือ หลังจากที่ยกข้ออ้างสารพัดว่าทำไมจึงตัดสินใจไม่เข้าร่วม COVAX โครงการจัดหาวัคซีนสำหรับประเทศกำลังพัฒนา ไทยก็ ‘เปลี่ยนใจ’ มาเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว โดยตั้งเป้าจะร่วมในปี 2565 ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า ‘ช้าเกินไป’ มาก เพราะไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องรอ ไทยสามารถเข้าร่วมโครงการนี้ในฐานะ self-financing country (SFC: ประเทศที่จ่ายเงินซื้อวัคซีนเอง) และเริ่มสั่งซื้อวัคซีนจากโครงการได้ทันที
เมื่อดูจำนวนวัคซีนที่ประเทศอื่นๆ ที่เข้าโครงการแบบ SFC ได้รับในปีนี้ ระหว่าง 1 ม.ค. – 31 ก.ค. 2564 อาทิ
– มาเลเซีย 828,000 โดส จากยอดสั่งซื้อ 6.4 ล้าน (13%)
– เกาหลีใต้ 432,000 โดส จากยอดสั่งซื้อ 2.6 ล้าน (17%)
– บราซิล 8 ล้านโดส จากยอดสั่งซื้อ 42.5 ล้าน (19%)
– ชิลี 818,400 โดส จากยอดสั่งซื้อ 7 ล้าน (12%)
ประกอบกับการคาดการณ์ของโครงการว่า จะส่งมอบวัคซีนได้ราว 1.5 พันล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 การตั้งเป้าว่าไทยจะสามารถซื้อวัคซีนจากโครงการเพื่อครอบคลุมร้อยละ 10 ของประชากร หรือ 6 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ก็น่าจะเป็นไปได้ สำหรับวัคซีนในโครงการ ควรเน้นซื้อวัคซีนชนิด mRNA อาทิ ไฟเซอร์หรือโมเดิร์นนาเป็นหลัก และสั่งซื้อแอสตราเซเนกาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ การรีบเข้าร่วมโครงการ COVAX ยังจะทำให้ไทยเข้าข่ายได้รับบริจาควัคซีนจากประเทศที่มีวัคซีนเหลือใช้ได้ง่ายขึ้น เพราะประเทศผู้บริจาคส่วนใหญ่ต้องการบริจาคผ่าน COVAX
3. เร่งทำสัญญาซื้อจอห์นสันแอนด์จอห์นสันอย่างน้อย 5 ล้านโดส
กระทรวงสาธารณสุขเริ่มเจรจาซื้อวัคซีนจากบริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน จำนวน 5 ล้านโดส มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 และวัคซีนยี่ห้อนี้ก็มาขึ้นทะเบียนกับ อย. ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา ทว่าเวลาล่วงเลยไปอีกสามเดือน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกมาอ้าง (ชนิดที่ฟังไม่ขึ้นอย่างยิ่ง) สั้นๆ เมื่อปลายเดือนมิถุนายนเพียงว่า “ติดต่อบริษัทไม่ได้”
ถ้าไทยเร่งลงนามในสัญญาสั่งซื้อภายในเดือนสิงหาคมอย่างน้อย 5 ล้านโดส บริษัทไม่น่ามีปัญหาในการเริ่มส่งมอบราวเดือนตุลาคม 2564 หรือภายในสองเดือนนับจากวันลงนามในสัญญา
4. เร่งจัดหาวัคซีนอื่นๆ เพิ่มเติมอย่างน้อย 5 ล้านโดส ภายในปีนี้ และเริ่มจัดหาสำหรับปี 2565
นอกเหนือจาก 3 แนวทางข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลควรเร่งจัดหาวัคซีนประสิทธิภาพสูงสำหรับปี 2565 อย่างเร่งด่วนด้วย ในเมื่อเราก็เห็นแล้วว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ ที่ไทยจะฉีดวัคซีนครบสองโดสให้ครอบคลุมร้อยละ 70 ของประชากรภายในสิ้นปีนี้ ดังนั้น แผนการ ‘เปิดประเทศ’ เร่งฉีดวัคซีนให้เกิด ‘ภูมิคุ้มกันหมู่’ จึงต้องเลื่อนไปเป็นปี 2565 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดง่ายๆ ก็คือ ถึงอย่างไรก็ต้องรีบเจรจาและสั่งซื้อวัคซีนสำหรับปี 2565 และต้องเป็นวัคซีนประสิทธิภาพสูงเท่านั้น เมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ระบาดของสายพันธุ์เดลตา
ถ้าหากรัฐเริ่มเจรจาและลงนามในสัญญาสั่งซื้อวัคซีนประสิทธิภาพสูงสำหรับปี 2565 เสียตั้งแต่วันนี้ (เดือนสิงหาคม) โดยเฉพาะวัคซีนชนิด mRNA (อาทิ ไฟเซอร์และโมเดิร์นนา) และ protein subunit (อาทิ โนวาแวกซ์) อย่างละไม่น้อยกว่า 30 ล้านโดส ผู้เขียนคิดว่าการให้บริษัทเหล่านี้ทยอยส่งตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 อย่างน้อย 5 ล้านโดส น่าจะพอเป็นไปได้
นอกจากนี้ วัคซีนโมเดิร์นนา จำนวน 5 ล้านโดส ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็น ‘เจ้าภาพ’ ซื้อจากบริษัทเพื่อมาขายต่อให้กับโรงพยาบาลเอกชน ว่ากันตามจริงก็ไม่จำเป็นต้องเป็น ‘วัคซีนทางเลือก’ แต่อย่างใด ในเมื่อ อภ. ซื้อเองได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะ ‘ซื้อเพิ่ม’ อีก 5 ล้านโดส สำหรับใช้ในปีนี้ รวมถึง ‘ออกเงินแทนเอกชน’ ไปเลย เพื่อไม่ให้ประชาชนต้องเสียเงิน (ติดตามเรื่องนี้ได้ในบทความตอนต่อๆ ไป)
แนวทางทั้ง 4 แนวทางที่กล่าวไปข้างต้น รวมกันน่าจะช่วยทำให้ไทยมีวัคซีนเกิน 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ได้ อย่างไรก็ดี ผู้เขียนอยากย้ำอีกทีว่า ไม่มีการันตีใดๆ ว่าถ้าลองทำสิ่งเหล่านี้แล้วจะสำเร็จ แต่การที่รัฐบาลแสดงความขวนขวาย ย่อมดีกว่าไม่ได้ลองทำอะไรเลย และดีกว่าแผน ‘ฉบับยกธงขาว’ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน
ผู้เขียนเห็นว่า ถึงเวลา (มานานแล้ว) ที่รัฐบาลต้องแสดงออกอย่างเปิดเผยและชัดเจนว่า กำลัง ‘ใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวด’ ในการฝ่าวิกฤตวัคซีน และควรรายงานความคืบหน้าทั้งเรื่องสถิติการฉีดวัคซีน การส่งมอบวัคซีน และการจัดหาวัคซีน ให้ประชาชนได้รับรู้อย่างชัดเจนอย่างน้อยรายสัปดาห์
ไม่ใช่มัวแต่อ้างกว้างๆ อย่าง “เรากำลังคุยกับหลายเจ้า” ซึ่งไม่อาจสร้างความเชื่อมั่นหรือลดทอนความไม่แน่นอนในชีวิตของประชาชนได้เลย
Tags: ศบค., Citizen 2.0, โควิด, มหากาพย์วัคซีน, แอสตราเซเนกา, ไฟเซอร์, วัคซีน, วิกฤต