ในยุคหลังเลือกตั้งที่เราได้รัฐบาลใหม่ แต่นายกรัฐมนตรียังเป็นนายพลคนเดิมที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งเกือบ 40 เปอร์เซ็นต์ก็เป็นทหารอาวุโสที่ไม่ออกจากราชการ ในยุคแบบนี้ก็ไม่น่าแปลกใจอะไรที่คนจะเพ่งเล็งบทบาทและการทำงานของกองทัพไทยมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ผู้เขียนเชื่อว่าคงไม่มีใครไม่อยากเห็นกองทัพไทยพัฒนา แต่ปัญหาหนึ่งที่เราเจอก็คือ การพูดคุยถกเถียงเรื่องนี้ในสังคมมักจะถูกทำให้ไขว้เขวหรือออกนอกลู่นอกทางด้วยวาทกรรมโรแมนติก อาทิ ภาพทหารอดหลับอดนอน กองทัพช่วยกู้ภัยพิบัติ ทหารแสดงความจงรักภักดี ฯลฯ ซึ่งถึงแม้จะเป็นความจริงที่น่าชื่นชม ก็ไม่ได้แปลว่ากองทัพดีพอแล้ว ไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรแต่อย่างใด 

เรื่องสำคัญที่เราควรคุยกันจริงๆ เวลาที่คุยเรื่องกองทัพและการปฏิรูปกองทัพมีอะไรบ้าง? ผู้เขียนคิดว่าขมวดรวมได้เป็น 4 หมวดใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่ งบประมาณ กำลังพล บทบาทหน้าที่ และทัศนคติและโลกทัศน์ 

 

1.  งบประมาณ 

ประเด็นที่กองเชียร์กองทัพและทหารบางคนมักจะหยิบยกขึ้นมา เวลาที่มีใครตั้งข้อสังเกตเรื่องงบประมาณด้านความมั่นคง โดยเฉพาะงบการซื้ออาวุธ ก็คือการชี้ให้ดูว่า ตัวเลขงบประมาณของกระทรวงกลาโหม ‘ไม่สูง’ เพราะยังน้อยกว่าของกระทรวงอื่นหลายกระทรวง และเมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี ยังอยู่ที่ 1.4 เปอร์เซ็นต์ น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 2.2 เปอร์เซ็นต์ของประเทศอาเซียน

ผู้เขียนฟังคำอธิบายแล้วก็คล้อยตามว่า งบประมาณ ‘ไม่สูง’ แต่ประเด็นหลักของงบประมาณไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ไม่ได้อยู่ที่เม็ดเงินเท่ากับความจำเป็นและความคุ้มค่าของการใช้เงิน 

ผู้เขียนเห็นด้วยกับกองทัพว่า การมีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยนั้นส่งผลดีต่อการป้องปรามข้าศึก สร้างความปลอดภัยให้ประชาชนและการรักษาอธิปไตย การจัดซื้ออาวุธนับเป็นวิธีถ่วงดุลประเทศเพื่อนบ้านของไทย แน่นอนว่าการจัดซื้ออาวุธของกองทัพไทยย่อมส่งผลกระทบต่อการจัดซื้ออาวุธของเพื่อนบ้าน และในทางกลับกันด้วย

อย่างไรก็ตาม งบประมาณทั้งหมดที่กองทัพใช้ในการจัดซื้ออาวุธนั้น ไม่มีแหล่งใดอื่นนอกจากเงินภาษีที่รัฐเก็บจากประชาชน ดังนั้น ประชาชนจึงมีสิทธิเรียกร้องให้กระบวนการจัดซื้อของกองทัพมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ทุกรายการอธิบายได้ว่ามีความจำเป็นอย่างไร เหตุใดจึงเลือกซื้อจากประเทศนี้ไม่ใช่ประเทศนั้น มีการจ่าย ‘ค่าหัวคิว’ ระหว่างทางหรือไม่ และที่ผ่านมากองทัพได้พยายามปรับปรุงธรรมาภิบาลในกระบวนการจัดซื้ออย่างไรบ้าง

ความคุ้มค่าของงบประมาณด้านความมั่นคงมีแง่มุมพิเศษที่แตกต่างจากงบประมาณด้านอื่น ตรงที่อาวุธจำนวนมากที่กองทัพจัดซื้อในแต่ละปีจำเป็นจะต้องมีการซ่อมบำรุงระยะยาว และต้องลงทุนกับการฝึกทักษะของกำลังพลในการใช้อาวุธ ด้วยเหตุนี้ คำถามสำคัญก็คือ การจัดซื้ออาวุธนำไปสู่การเพิ่มสมรรถนะทางการทหารที่คุ้มค่ากับเงินภาษีที่เสียไปหรือไม่ 

สมรรถนะทางการทหารอาจเป็นเรื่องที่ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ไม่สามารถประเมินได้ เพราะต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและความรู้เฉพาะด้าน แต่เราตั้งคำถามได้แน่ๆ กับอาวุธที่ซื้อมาแล้วใช้ไม่ได้ เพราะนอกจากจะชัดเจนว่าไม่คุ้มค่าแล้ว ยังส่อเค้าว่าการมีการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วย เพราะไม่มีเหตุผลใดๆ ที่กองทัพจะซื้ออาวุธที่ด้อยคุณภาพ

‘ของใช้ไม่ได้’ บางอย่างของกองทัพเคยตกเป็นข่าวมาแล้ว อย่างเช่นกรณีเรือเหาะของกองทัพบก ซึ่ง สำนักข่าว คมชัดลึก สรุปกรณีนี้ว่ากองทัพบกซื้อเรือเหาะและระบบตรวจการณ์มาในราคา 350 ล้านบาท เป็นตัวเรือเหาะ 260 ล้านบาท กล้องตรวจการณ์ และระบบภาคพื้น รถต่างๆ 90 ล้านบาท โดยเข้าประจำการเมื่อปี 2552 แต่ต่อมาเกิดปัญหารั่วและต้องเติมก๊าซฮีเลียมที่มีราคาแพง จนต้องจอดเก็บในโรงจอด ที่กองพลทหารราบที่ 15 (พล ร.15) อ.หนองจิก จ.ปัตตานี จนในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ผบ.ทบ. ได้จ้างบริษัทมาดูแลรักษาซ่อมบำรุง ปีละ 50 ล้านบาท และได้นำออกมาบินตรวจการณ์บ้าง แต่ถูกวิจารณ์ว่าบินต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนด จนที่สุดก็ต้องจอดเก็บไว้จนหมดอายุการใช้งาน” 

กรณีที่ลือลั่นกว่านั้นอีกคือ เครื่องตรวจกับระเบิด จีที 200 ซึ่งลงเอยเป็น “ไม้ล้างป่าช้าลวงโลก” ผู้ผลิตต่างประเทศถูกแฉและฟ้องขึ้นศาล รายงานข่าวจากบีบีซีสรุปว่า คดีจีที 200 ถูกยื่นคำร้องให้ ป.ป.ช. เข้ามาตรวจสอบในปี 2555 โดยมีผู้ถูกกล่าวหากว่า 40 คน ตำแหน่งสูงสุดเป็นเพียงเจ้ากรม ไม่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพแม้แต่คนเดียว

ประเด็นสำคัญที่คนสงสัยว่าอาจจะมีการทุจริต ก็คือราคาจัดซื้อจีที 200 หรืออัลฟ่า 6 ที่แตกต่างกันจนน่าฉงน เพราะมีตั้งแต่เครื่องละ 4.2 แสนบาท ไปจนถึง 1.3 ล้านบาท หรือต่างกันสามเท่าตัว โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดราคาถึงแตกต่างกันมาก โดยบางหน่วยงานใช้วิธีพิเศษในการจัดซื้อ กลับแพงกว่าบางหน่วยงานที่ใช้วิธีประกวดราคา

จวบจนปัจจุบัน ศาลต่างประเทศสั่งลงโทษผู้ผลิตจีที 200 ในข้อหาฉ้อโกงไปแล้ว ศาลไทยก็ตัดสินลงโทษบริษัทไทยผู้นำเข้าไปแล้ว เรือเหาะก็เลิกใช้แล้ว แต่กองทัพยังไม่เคยสอบสวนและลงโทษบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในสองกรณีนี้แต่อย่างใด และเราก็ไม่เห็นความโปร่งใสที่มากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่อง ‘งบลับ’ 

 

2. กำลังพล

เป็นที่น่ายินดีว่าเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2562 เราได้เห็นนโยบาย ‘ยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ จากหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคใหญ่อย่าง เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ อนาคตใหม่ และเสรีรวมไทย ล้วนเสนอให้ยกเลิกระบบเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนมาเป็นระบบสมัครใจแทน

ภายในกองทัพไทยเองเราก็เคยได้ยินการพูดเรื่อง ‘ปฏิรูปกองทัพ’ รวมถึงแนวทางการปรับลดกำลังพลให้คล่องแคล่วกะทัดรัด สามารถรบในสงครามสมัยใหม่ได้หลายรูปแบบ แต่ปัจจุบันยังไม่มีการนำเสนอต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรมแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม เมื่อเกิดกระแสยกเลิกเกณฑ์ทหารที่จุดประกายโดยนักการเมืองฝ่ายค้าน เนื้อหาปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร (Information Operations: IO) จำนวนมากกลับเบี่ยงประเด็น เน้นการชี้ให้เห็น “ความจำเป็นของการมีทหาร” หรือปลุกเร้าความรู้สึกชาตินิยมอย่างเช่นโพสรูปทหารชั้นผู้น้อยกำลังปฏิบัติภารกิจ  ซึ่งไม่ใช่ประเด็นที่กำลังถกเถียง เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธความจำเป็นของกองทัพ

ผู้เขียนเห็นว่า เราจำเป็นจะต้องคุยกันอย่างเข้มข้นต่อเนื่องในสังคมตั้งแต่เรื่องระบบ (จะยังคงเกณฑ์ทหาร เปลี่ยนเป็นระบบสมัครใจ ใช้ระบบผสม และมีรายละเอียดอย่างไร) ขนาดของกำลังพลและจำนวนนายพลที่เหมาะสม บทบาทหน้าที่ของกำลังพล รวมไปถึงการดูแลกำลังพลในทางที่สอดคล้องตามหลักสิทธิมนุษยชนด้วย 

สองประเด็นหลัง คือบทบาทหน้าที่ของกำลังพลและการดูแลกำลังพล โดยเฉพาะทหารเกณฑ์และนักเรียนทหาร เป็นเรื่องสำคัญที่กองทัพยังไม่เคยออกมามีส่วนร่วมถกเถียงทางสังคมหรือนำเสนอแนวทางแก้ไขเชิงระบบที่ชัดเจน ทั้งที่มีหลายกรณีที่บ่งชี้ปัญหา เช่น การใช้ทหารเกณฑ์ทำงานเยี่ยงคนรับใช้ในบ้านของผู้บังคับบัญชา หรือการ ‘ซ่อม’ นักเรียนทหารจนถึงขั้นปางตายหรือเสียชีวิต ดังที่ปรากกฏเป็นข่าวแล้วหลายกรณี 

 

3. ขอบเขตอำนาจหน้าที่

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า กองทัพคือผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและมีหน้าที่รักษาความมั่นคงของชาติ แต่ปัญหาคือขอบเขตอำนาจหน้าที่มีแนวโน้มที่จะขยายกว้างออกไปเรื่อยๆ ด้วยการขยับขยายนิยามของ ‘ความมั่นคงของชาติ’ 

ในบทความ “เศรษฐศาสตร์การเมืองของความกลัว” ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนอ้างอิงมุมมองของ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและบทบาทของกองทัพ อธิบายในบทความ “กอ.รมน. กับการเมืองไทย รัฐซ้อนรัฐ ทหารซ้อนพลเรือน” ว่า 

หลังจากรัฐประหาร 2557 ผู้นำทหารได้แก้ไข พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายใน 2551 เพื่อให้เกิดการขยายอำนาจของทหารให้มากขึ้น โดยอาศัยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 51/2560 …การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจึงเป็นการ ‘รื้อใหญ่’ และทำให้ กอ.รมน.มีสถานะเป็น “ผู้ควบคุมงานความมั่นคง” ของประเทศไว้ทั้งหมด

“ในเชิงสาระ การขยายบทบาทเช่นนี้เห็นได้อย่างชัดเจนจากการปรับเปลี่ยนนิยาม โดยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรมีความหมายว่า “การดำเนินการเพื่อป้องกัน ควบคุม แก้ไข และฟื้นฟูสถานการณ์ใดที่เป็นภัย หรืออาจเป็นภัยอันเกิดจากบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ทำลาย หรือทำความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินของประชาชนหรือของรัฐ รวมถึงในกรณีที่เกิดหรือคาดว่าจะเกิดสาธารณภัยตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้กลับสู่ภาวะปกติเพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ …คำสั่งนี้เปิดโอกาสให้ กอ.รมน.สามารถกำหนดเองว่า “สถานการณ์ใดที่เป็นภัยหรืออาจเป็นภัย” ซึ่งเท่ากับเปิดช่องทางให้เกิดการตีความได้อย่างไม่จำกัด  …อันจะทำให้กองทัพในอนาคตสามารถมีบทบาทกว้างขวางอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เพราะเราจะไม่สามารถควบคุมการตีความของฝ่ายทหารเช่นนี้ได้เลย”

งบประมาณปี 2561 ของ กอ.รมน. เลยหลักหมื่นล้านบาทไปแล้ว ครอบคลุมประเด็นหลากหลาย ตั้งแต่ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ บำบัดผู้ติดยาเสพติด ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ แผนการสร้างความปรองดองและสมานฉันท์ และยุทธศาสตร์การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันทรัพยากรธรรมชาติ

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ยังจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนไว้อย่างชัดเจน โดยมาตรา 25 ระบุว่า “สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น” (ตัวหนาเน้นโดยผู้เขียน) 

น่าสังเกตว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ถูกกำหนดเป็นข้อยกเว้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในรัฐธรรมนูญ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเสนอว่า ‘ความมั่นคงของรัฐ’ สำคัญกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับมุมมองนี้ และเห็นว่าข้อนี้จะเท่ากับให้อำนาจกองทัพ ในฐานะหน่วยงานผู้กุมอำนาจในการนิยาม ‘ความมั่นคง’ มีบทบาทสูงเกินควรไปมากในการออกกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงที่กฎหมายหลายฉบับจะละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพียงเพราะอ้าง ‘ความมั่นคงของรัฐ’ ที่ขาดความชัดเจน

ยังไม่นับประเด็นร้อนเรื่อง ‘การประกอบธุรกิจ’ ของกองทัพ และ ‘ผลประโยชน์ทับซ้อน’ เช่น การที่ลูกนายพลตั้งบริษัทในค่ายทหาร การที่กองทัพปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยกับบริษัทสื่อที่ตัวเองถือหุ้นกึ่งหนึ่ง การทำธุรกิจของกองทัพ ตั้งแต่สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ โรงกลั่นน้ำมัน สนามมวย ฯลฯ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้เมื่อกึ่งศตวรรษก่อน สมัยที่ไทยตกอยู่ในภาวะสงครามเย็น อาจมีเหตุผลที่กองทัพจะเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะมองเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาความมั่นคง 

แต่บริบทโลกในปัจจุบันเปลี่ยนไปมากแล้ว ไทยไม่ได้กำลังทำสงครามเย็นกับใคร การที่กองทัพยังคงประกอบธุรกิจเหล่านี้ จึงดูเป็นไปเพื่อเป้าหมายทางธุรกิจล้วนๆ มากกว่าประโยชน์สาธารณะ ก่อให้เกิดคำถามตามมาถึงความเหมาะสม ไม่นับประเด็นความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของการจัดการธุรกิจเหล่านี้ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเรามีเรื่องต้องคุยกันอีกมาก

 

4. ทัศนคติและโลกทัศน์

ศตวรรษที่ 21 เป็นยุคที่ประชาชนเรียกร้อง “ความโปร่งใสสุดขั้ว” (radical transparency) จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน ส่วนหนึ่งเนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมถึงศักยภาพในการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลของประชาชนเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้แนวคิดที่เสริมความโปร่งใสอย่าง open data, open government, blockchain ไม่ได้อยู่แต่ในกระดาษอีกต่อไป 

ในยุคนี้ หน่วยงานรัฐและเอกชนล้วนถูกสังคมกดดันเรียกร้องให้ต้องโปร่งใสมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเช่น บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ไม่เคยเปิดเผยว่าห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของตัวเองมีหน้าตาอย่างไร ซื้อวัตถุดิบจากไหน ก็ต้องเปิดเผย เพราะความกังวลเรื่องปัญหาการค้ามนุษย์และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทาน หน่วยงานราชการที่เคยอ้างว่าไม่อยากเอาเอกสารขึ้นเว็บเพราะมีค่าใช้จ่ายสูง ก็มีข้ออ้างน้อยลงเรื่อยๆ เพราะต้นทุนแทบไม่มี แถมวันนี้ประชาชนยังอยากให้เปิดเผยตามหลัก open data คือเอาข้อมูลดิบไปวิเคราะห์สังเคราะห์ด้วยคอมพิวเตอร์ได้โดยตรง 

ในยุคที่ ‘ความโปร่งใสสุดขั้ว’ กำลังจะกลายเป็นบรรทัดฐานและค่านิยมสากล ทัศนคติและโลกทัศน์ของกองทัพไทยกลับดูเหมือนจะติดอยู่ในโหมดสงครามเย็น ที่ “ทุกสิ่งคือความลับ” และ “การแพร่งพรายความลับบั่นทอนความมั่นคง” สังเกตจากการที่พอมีข้อมูลอะไรที่ทำให้กองทัพดูไม่ดี บางครั้งกองทัพเลือกใช้วิธีฟ้องนักข่าว หรือฟ้องนักสิทธิมนุษยชนในข้อหาหมิ่นประมาท แทนที่จะเปิดรับข้อมูลและเปิดเวทีถกเถียงอย่างสร้างสรรค์ ถ้ามีปัญหาเชิงระบบจริงก็ยอมรับและไปศึกษาหาแนวทางปฏิรูป 

นอกจากกองทัพจะควรเปลี่ยนทัศนคติเรื่องความโปร่งใสและธรรมาภิบาลของตัวเองให้สมกับที่เป็นยุคแห่งความโปร่งใสแล้ว โลกทัศน์เรื่องความมั่นคงของชาติและการจัดหาอาวุธก็ควรจะเปลี่ยนให้ทันสมัยมากขึ้นเช่นกัน บทบรรณาธิการของ คมชัดลึก เรื่องงบทหารปี 2563 เสนออย่างน่าคิดไว้ว่า

“…การจัดหายุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงนั้น สะท้อนทัศนะของผู้นำระดับสูงของกองทัพที่ให้ความสําคัญกับอาวุธใหม่ๆ จนแทบจะกลายเป็นมิติของชุดความคิดทางทหารว่า การพัฒนากองทัพมีนัยหมายถึงการนำอาวุธใหม่เข้าประจำการ และผลจากการนี้ถูกประกอบสร้างให้กลายเป็นภาพจำลองของ “ความสำเร็จทางทหาร” ที่อาวุธเหล่านี้จะเป็นดังผลงานชิ้น “โบแดง” ที่จะถูกกล่าวขานในกองทัพว่า ยุคของผู้บังคับบัญชาท่านใดมีอาวุธอะไรใหม่ประจำการในกองทัพ …นัยทางความคิดเช่นนี้ทำให้เราแทบไม่เห็นทิศทางการพัฒนาในส่วนอื่น และขณะเดียวกันทุกอย่างในกองทัพก็ถูกผูกโยงเข้ากับเรื่องหลักประการเดียวคือ ปีงบประมาณนี้กองทัพจะซื้ออะไร

“ในอีกส่วนของปัญหาที่เห็นได้ในหลายปีที่ผ่านมาคือ การตรวจสอบในเรื่องการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นสิ่งที่มีข้อจำกัดอย่างมาก ไม่ว่าจะในมุมของกระบวนการทางรัฐสภา หรือกระบวนการทางสังคมก็ตาม จนเหมือนว่าการตรวจสอบที่ถ้าจะเกิดขึ้นบ้าง ก็แทบไม่เคยส่งผลกระทบให้เกิดความเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด อันทำให้เกิดปัญหาข้อวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นการจัดซื้อของกองทัพเสมอมา โดยเฉพาะในเรื่องของความโปร่งใส จนเป็นดังเรื่อง “อื้อฉาว” (หรือที่เรียกว่าเป็น “arms scandals” ในการเมืองก็ได้)”

ทั้งหมดนี้คือสี่หมวดหมู่ที่ผู้เขียนเห็นว่า เป็นเรื่องที่เราควรคุยกันจริงๆ เวลาที่คุยเรื่องกองทัพ และในสี่หมวดนี้ เรื่องสุดท้ายคือทัศนคติและโลกทัศน์ โดยเฉพาะทัศนคติเรื่อง “ธรรมาภิบาลของภาคความมั่นคง” (security sector governance) ก็นับเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้กองทัพมาร่วมวงคุยอีกสามเรื่องได้มากขึ้นในสังคม

Tags: , ,