ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะไถฟีดเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์จนนิ้วพองก็แล้ว ก็ดูจะหนีไม่พ้น เพลง ชิพกะเดล นี่สองพี่น้องขายของในคลอง เวอร์ชั่นต่างๆ ซึ่งเป็นฉากหนึ่งจากแอนิเมชันเรื่อง Our Floating Dreams ของดิสนีย์ แย่งซีนตัวละครหลักอย่างมิคกี้และมินนี่ แม้จะโผล่มาให้เห็นหน้าเพียงไม่กี่วินาที

ดังนั้น สัปดาห์นี้เราจะไปดูกันว่า ชิพและเดลเป็นตัวอะไรกันแน่ ทำไมชื่อชิพกับเดล และเกี่ยวข้องอะไรกับเครื่องเรือนและชายฉกรรจ์กล้ามโต

ชิพกับเดลเป็นตัวอะไรกันแน่?

ชิพกับเดลเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เรียกว่าชิปมังก์ (chipmunk) พบได้ในทวีปอเมริกาเหนือ ด้วยความที่รูปร่างหน้าตาดูคล้ายกระรอก จึงเคยมีคนเรียกด้วยชื่อเช่น chipping squirrel (ว่ากันว่าเป็นเพราะเสียงร้อง) striped squirrel (เพราะลำตัวมีลายขาวดำพาด) และ ground squirrel (เพราะขุดโพรงใต้ดินเป็นที่อยู่อาศัย)

คนส่วนใหญ่เห็นชื่อ chipmunk แล้วก็อาจจะเข้าใจไปว่าต้องมาจาก chip รวมกับ munk แน่ๆ เลย แต่อันที่จริงแล้ว ว่ากันว่าต้นตอจริงๆ มาจาก ačitamo·nʔ ซึ่งเป็นคำในภาษาของชาวโอจิบวาซึ่งเป็นชนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาเหนือใช้เรียกสัตว์ชนิดนี้ แต่ด้วยความเป็นภาษาที่ตนไม่คุ้นหู ชาวอเมริกันก็เลยเรียกเพี้ยน จนไปๆ มาๆ กลายมาเป็น chitmunk และกลายมาเป็น chipmunk ในที่สุด (ว่ากันว่าที่เพี้ยนมาเป็น chipmunk เพราะได้อิทธิพลมาจากคำว่า chip นั่นเอง)

ชื่อชิพกับเดลเพราะเป็นชิปมังก์?

ชื่อพี่น้องชิปมังก์คู่นี้โดยปกติแล้วมักเขียนว่า Chip ‘n’  Dale ตัว ‘n’ ตรงกลางเป็นการกร่อนมาจากคำว่า and ที่แปลว่า และ (อ่านได้ทำนองว่า ชิปเพินเดล)

ว่ากันว่าที่ตั้งชื่อแบบนี้ไม่ใช่เพราะว่าทั้งสองเป็นชิปมังก์ (ไม่เช่นนั้นอาจจะชื่อ ชิป กับ มังก์ ไปแล้ว) แต่เพราะเป็นการเล่นคำให้พ้องเสียงกับคำว่า Chippendale ซึ่งเป็นชื่อเรียกเฟอร์นิเจอร์หรูหรา ลวดลายวิจิตรซับซ้อนที่เป็นที่นิยมในศตวรรษที่ 18

ภาพ: The Metropolitan Museum of Art

ส่วนที่เฟอร์นิเจอร์พวกนี้เรียกว่า Chippendale ก็เพราะมาจากนามสกุลของ Thomas Chippendale ช่างทำตู้ชาวอังกฤษที่เป็นคนทำเฟอร์นิเจอร์แนวนี้

แต่หากจะสืบสาวกลับไปอีก ก็จะพบว่า นามสกุล Chippendale นี้มาจากชื่อหมู่บ้าน Chippendale ใน Lancashire อีกที (สมัยก่อนนิยมนำชื่อบ้านเกิดมาตั้งเป็นนามสกุล จึงเชื่อได้ว่า Thomas Chippendale คงมีต้นตระกูลมาจากเมืองนี้)

ชื่อหมู่บ้านนี้มีที่มาจากคำว่า Chipping แปลว่า ตลาด (มาจาก ceap ในภาษาอังกฤษเก่า แปลว่า แลกเปลี่ยน ค้าขาย เป็นญาติกับคำว่า cheap ที่แปลว่า ถูก ในปัจจุบัน และนามสกุล Chapman ซึ่งมาจาก cheapman หมายถึง พ่อค้าแม่ค้า) รวมกับ Dale ที่แปลว่า หุบเขา (ยังพบได้ในชื่อเมืองหลายแห่งในอังกฤษ สก็อตแลนด์ ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา) ทำให้พอจะเดาได้ว่าคงเป็นตลาดที่ตั้งตรงหุบเขา

แต่หลายคนเห็นคำว่า Chippendale แล้ว อาจจะนึกถึงการแสดงวาบหวิวที่เอาชายหนุ่มกล้ามโตสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้นมาเต้นบนเวที ปกติจะใส่แต่คอเสื้อ หูกระต่าย ปลอกแขนเสื้อ แต่ไม่ใส่เสื้อราวกับเป็นผู้ยากไร้ที่ต้องประหยัดค่าผ้า คล้ายๆ แบบที่เห็นในเรื่อง Magic Mike


ภาพ: Flickr/ Ingrid Richter  (CC BY 2.0)

ที่ชื่อ Chippendales กลายมาเป็นชื่อโชว์วาบหวามแบบนี้ได้ ก็เพราะคลับที่เริ่มมีการแสดงแบบนี้มีชื่อว่า The Chippendales ส่วนที่คลับแห่งนั้นมีชื่อแบบนี้ ก็เพราะว่าตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์แบบ Chippendale นั่นเอง

ดังนั้น เชื่อว่าสักในมุมหนึ่งของสถานที่แปลกประหลาดอย่างอินเทอร์เน็ต น่าจะต้องมีรูป Chip ‘n’ Dale ใส่เสื้อแบบผู้ชายในโชว์ Chippendales เต้นอยู่บนเฟอร์นิเจอร์แบบ Chippendale เป็นแน่แท้

ชิปกับเดลขายถั่วในคลอง?

แม้เนื้อเพลงจะบอกว่า ชิปกับเดล ขายถั่ว แต่อันที่จริงแล้วสิ่งที่ ชิป กับ เดล ขายอยู่คือลูกต้นโอ๊ก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า acorn

ทั้งนี้ คำนี้ไม่เกี่ยวกับข้าวโพดแต่อย่างใด แต่มาจากคำในภาษาอังกฤษเก่า æcern เป็นคำใช้เรียก ผลของไม้ป่า เช่น ต้นโอ๊ค ต้นบีช เป็นต้น แต่ในยุคต่อมามีคนสู่รู้ คิดว่าน่าจะต้องมาจากคำว่า ak ที่แปลว่า ต้นโอ๊ก (ak เป็นคำอังกฤษเก่า ออกเสียงว่า อ๊าก แต่ผ่านกระบวนการ vowel shift สองรอบ จนกลายมาเป็น oak ที่ออกเสียงว่า โอ๊ก อย่างในปัจจุบัน) รวมกับคำว่า corn ที่หมายถึง ข้าวโพด แน่เลยๆ จึงเปลี่ยนตัวสะกดเป็น acorn ทำให้ตัวสะกดมีหน้าตาเช่นนี้จนมาถึงทุกวันนี้

ภาพ: https://drawception.com/game/q37TW9S5W3/chip-n-dale-work-as-chippendale-dancers/

 

บรรณานุกรม

https://en.wikipedia.org/wiki/Chip_%27n%27_Dale

https://en.wikipedia.org/wiki/Chipmunk

http://www.etymonline.com/

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Word Origin: The Hidden Histories of English Words from A to Z. 2nd ed. A&C Black: London, 2008.

Barnett, Martha. Dog Days and Dandelions: A Lively Guide to the Animal Meanings Behind Everyday Words. St. Martin’s Press: New York, 2003.

Funk, Wilfred. Word Origins: A Classical Exploration of Words and Language. Gramercy Books: New York, 2008.

Hanks, Patrick. Dictionary of American Family Names. OUP, 2013.

Jones, Peter. Quid Pro Quo: What the Romans Really Gave the English Language. Atlantic Books: London, 2016.

Merriam-Webster Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

The Merriam-Webster New Book of Word Histories. Merriam-Webster, 1991.

Tags: , , ,