จีนมีทางเลือก 4 แบบที่จะรับมือเหตุประท้วงในฮ่องกง ตั้งแต่นิ่งสงบไปจนถึงบดขยี้ แต่ละแบบมีข้อดี-ข้อเสีย ตราบเท่าที่ผู้ชุมนุมยังไม่ ‘ล้ำเส้น’ สถานการณ์น่าจะยังห่างไกลจาก ‘เทียนอันเหมินภาคสอง’
การประท้วงในฮ่องกง ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน ยังไม่มีวี่แววว่าจะยุติ แม้ว่ารัฐบาลของเขตปกครองพิเศษของจีนแห่งนี้ยอมยุติการผลักดันร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนในสภา อันเป็นชนวนแรกของการเคลื่อนไหวมวลชน ไปแล้วก็ตาม
นอกจากประท้วงด้วยความถี่เพิ่มขึ้นจากรายสัปดาห์แทบเป็นรายวัน ยังส่อแนวโน้มรุนแรงขึ้นด้วยการปะทะกับตำรวจ และยกระดับข้อเรียกร้องเป็นเรื่องของระบบการปกครอง ประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ
หากสถานการณ์ย่ำแย่ลง ย่อมกระทบเศรษฐกิจฮ่องกง บั่นทอนสถานะของรัฐบาลแผ่นดินใหญ่ที่ยังต้องเผชิญข้อท้าทายจากดินแดนแปลกต่างอื่นๆ อีก อย่างเช่น ไต้หวัน
คำถามจึงมีว่า จีนจะยอมรับได้ถึงจุดไหน ขีดสุดของการตัดสินใจเข้าแทรกแซงจะอยู่ในจุดใด และจีนจะแทรกแซงอย่างไร
แน่นอนว่า ทางเลือกแบบ “บัวไม่ให้ช้ำ น้ำไม่ให้ขุ่น” เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในการจัดการความขัดแย้ง แต่โอกาสที่จะได้ใช้ “ของดี” มักจำกัดด้วยเงื่อนไขของสถานการณ์ ขณะที่ตัวเลือกรองลงไปจากนี้ก็มีราคาที่ต้องจ่าย
เฉยไว้แล้วดีเอง
จนถึงขณะนี้ จีนยังคงรับมือการประท้วงในฮ่องกงด้วยโหมดการเมือง ในด้านหนึ่ง แสดงจุดยืนสนับสนุนตำรวจฮ่องกงและหัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง อีกด้านหนึ่ง ส่งสัญญาณปรามผู้ประท้วงว่า จีนจะไม่ทน
สำนักงานกิจการฮ่องกงและมาเก๊าของจีน ออกถ้อยแถลงแสดงท่าทีดังกล่าวมาแล้ว 2 ครั้ง เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการกองทหารจีนประจำฮ่องกง พล.ต.เฉินเตาเซียง สำทับในทำนองเดียวกันว่า กองทหารของเขาสนับสนุนนางแคร์รี หลำ
นักสังเกตการณ์บางรายบอกว่า กลยุทธ์ที่จีนเลือกใช้ คือ ห้ามปราม โดยเลือกที่จะนิ่งเฉยไว้ก่อน เพราะประเมินว่า พอเปิดเทอมในช่วงต้นเดือนกันยายน ผู้ประท้วงซึ่งจำนวนมากเป็นนักเรียนนักศึกษา ก็จะกลับเข้าห้องเรียนไปเอง
นอกจากนี้ ปักกิ่งกำลังจะจัดงานเฉลิมฉลองครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเวียนมาถึงในวันที่ 21 กันยายน จึงไม่อยากทำเรื่องราวอะไรให้ใหญ่โตในช่วงเวลานี้ แม้ว่าการเลือกที่จะสงบรอในที่ตั้ง ทำให้ลูกพี่ใหญ่เสียหน้าอยู่บ้าง
คำรามกร้าว
นอกจากห้ามปรามแล้ว จีนยังเพิ่มดีกรีด้วยการประณามผู้ประท้วงที่ใช้ความรุนแรง ขณะที่กองทหารจีนประจำฮ่องกงประกาศกร้าวว่า การก่อเหตุจลาจลเป็นการกระทำที่ “ไม่อาจทนได้”
ความเคลื่อนไหวที่เรียกเสียงฮือฮาจากสื่อมวลชน คือ กรณีกองทหารดังกล่าวเผยแพร่คลิปวีดิโอแสดงการฝึกปราบจลาจลของทหารจีน มีทั้งภาพทหารยิงปืนในแนวระนาบ รถหุ้มเกราะตะลุยเคลียร์พื้นที่ หน่วยจู่โจมโรยตัวจากเฮลิคอปเตอร์ลงกลางย่านชุมชน ทหารอาวุธครบมือบุกเข้าห้องพักในอพาร์ตเมนต์ ผู้ชุมนุมในสภาพมัดมือไพล่หลังถูกทหารต้อนเดินเป็นแถว
ถึงแม้ยังอยู่ในจุดของการข่มขวัญ ทว่าเพียงแค่การทำท่าเงื้อง่าเฉยๆ ก็มีต้นทุน เงื้อแล้วไม่ฟัน ใครๆ ก็จะมองว่าไม่แน่จริง ทำให้เสียเหลี่ยมพี่เบิ้ม
ยอมถอย
ที่ผ่านมา จีนใช้ตัวเลือกการปรามกับการขู่ ตามแต่ระดับของสถานการณ์ นักสังเกตการณ์บอกว่า จีนยังมีอีกทางเลือกหนึ่ง นั่นคือ ผลักดันให้รัฐบาลฮ่องกงยอมอ่อนข้อ ประนีประนอมกับผู้ชุมนุม ด้วยการตอบสนองข้อเรียกร้องบางส่วน แลกกับการยุติการประท้วง
ข้อเรียกร้องที่ผู้ชุมนุมชูเป็นประเด็นเคลื่อนไหว มี 5 ข้อ คือ (1) ถอนร่างกฎหมายผู้ร้ายข้ามแดนออกจากสภา (2) ยกเลิกข้อหาก่อจลาจล (3) ปล่อยตัวผู้ประท้วงที่ถูกจับ (4) ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบสวนเหตุการณ์สลายการชุมนุม และ (5) ขอสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารโดยตรง
อย่างไรก็ดี ทางเลือกที่เปิดทางให้ฝ่ายผู้ชุมนุมประกาศชัยชนะได้เช่นนี้ เท่ากับว่า รัฐบาลฮ่องกง รวมถึงจีน ตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ ผู้มีอำนาจจะถูกมองว่า ตบรางวัลแก่ผู้ละเมิดกฎหมาย
ส่งทหารสลายม็อบ
การส่งทหารเข้าสลายการชุมนุมเป็นทางเลือกที่เป็นไปได้น้อยที่สุด เพราะมีต้นทุนสูงลิบลิ่ว แต่ใช่ว่าเป็นไปไม่ได้ นักสังเกตการณ์บอกว่า ‘เทียนอันเหมิน โมเดล’ อาจเป็นทางเลือกสุดท้าย หากว่าฝ่ายผู้ประท้วงก้าวล้ำเส้นที่จีนขีดไว้
เงื่อนไขที่รัฐบาลปักกิ่งไม่อาจยอมให้ใครข้ามเส้นได้ก็คือ ต้องไม่คุกคามความมั่นคงแห่งชาติ ต้องไม่ท้าทายอำนาจของรัฐบาลกลาง และต้องไม่ใช้ฮ่องกงเป็นฐานบ่อนทำลายจีนแผ่นดินใหญ่
จีนตระหนักดีว่า ถ้าใช้กำลังกวาดล้าง ดินแดนสมญานาม ‘มุกบูรพา’ อาจพังพินาศ เงินทุนและกิจการข้ามชาติที่สร้างฮ่องกงให้เป็นศูนย์กลางการเงินของเอเชียอาจเผ่นหนี นานาชาติจะคว่ำบาตร คู่ค้ารายใหญ่อย่างสหรัฐฯ จะเพิกถอนสิทธิพิเศษด้านการค้าของฮ่องกง ไต้หวันจะยิ่งโหมกระแสเรียกร้องเอกราช
แล้วถ้าไม่ใช้ทหาร หากสถานการณ์รุนแรงกว่าที่แล้วมา จีนยังเหลือเครื่องมืออะไรไว้จัดการกับความไม่สงบบ้าง นักสังเกตการณ์บอกว่า ปักกิ่งยังมีไม้แข็งอีก 2 อย่างให้เลือกใช้ นั่นคือ ส่งหน่วยตำรวจติดอาวุธ ทำนองคล้ายตำรวจตระเวนชายแดนของไทย เข้าไปควบคุมฝูงชน หรือประกาศกฎอัยการศึก ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
การประท้วงรอบนี้ รับมือยากกว่าเมื่อปี 2014 ในครั้งนั้น หลังจับกุม “โจชัว หว่อง” กับพวก การเคลื่อนไหว “ขบวนการร่ม” ก็ฝ่อลงจนยุติไปเอง แต่ในครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนไหวแบบมวลชน แม้มีกลุ่มประสานงาน แต่ไม่มีองค์กรนำ
ท่ามกลางสถานการณ์แบบขบวนการมวลชน ทั้งฝ่ายรัฐและฝ่ายผู้ประท้วงต่างเจอโจทย์ยากในการช่วงชิงแรงสนับสนุน รัฐบาลฮ่องกงต้องใช้วิธีสื่อสารกับคนทั้งสังคม ในขณะที่ผู้ประท้วงก็ต้องหยั่งกระแส ประเมินท่าทีของสังคม เช่นเดียวกัน.
อ้างอิง:
CNA via YouTube, 1 August 2019
AFP via ChannelNewsAsia, 8 August 2019
ภาพ: Anthony WALLACE / AFP
Tags: ฮ่องกง, จีน, การชุมนุม, ส่งผู้ร้ายข้ามแดน