เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม รัฐบาลจีนมีคำสั่งถอดรื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์จากต่างประเทศออกจากหน่วยงานราชการและสถานที่สาธารณะภายใน 3 ปี เพื่อส่งเสริมห่วงโซ่อุปทานในการพึ่งพาเทคโนโลยีภายในประเทศ โดยมีการประเมินว่าจะเริ่มรื้อถอนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์กว่า 20 – 30 ล้านชิ้น และนำอุปกรณ์ที่ผลิตโดยจีนมาติดตั้งแทน โดยในปี 2020 จะเปลี่ยนอุปกรณ์ให้ได้ 30% หลังจากนั้นเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2021 และอีก 20% ที่เหลือ ในปี 2022

จากคำสั่งในการรื้อถอนครั้งนี้ คาดการณ์ว่าจะมีผลกระทบกับบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติของสหรัฐฯ อย่าง HP, DELL และMicrosoft ขณะที่เป็นเรื่องที่ท้าทายกับจีนอย่างมากเช่นกัน เนื่องจากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่นำมาใช้ในหน่วยงานราชการใช้ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ในการทำงาน หรือแม้กระทั่งคอมพิวเตอร์ Lenovo ของจีนจำนวนมากที่ใช้ในหน่วยงานต่างๆ ก็ใช้ชิ้นส่วนจากบริษัทฮาร์ดแวร์ในสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ตาม ทางการจีนมีแผนพัฒนาเทคโนโลยีและกลยุทธ์ในอุตสาหกรรมตามนโยบาย ‘Made in China 2025’ ที่เปลี่ยนจีนจากโรงงานของโลกให้กลายเป็น ‘แหล่งผลิตสินค้านวัตกรรมของโลก’ โดยจะส่งเสริมการผลิตที่มีคุณภาพผ่านเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ในเวลานี้จีนกลายเป็นคู่แข่งทางการค้าที่น่ากลัวสำหรับมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ

สำนักข่าวเดอะการ์เดียนชี้ว่า การกระทำของจีนในครั้งนี้เป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ที่มีการห้ามแบ่งปันเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ให้กับ หัวเว่ย บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมยักษ์ใหญ่ของจีน โดยเฉพาะความร่วมมือของ Google ที่ยุติการให้บริการระบบแอนดรอยด์ในหัวเว่ยตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ สหรัฐฯ พยายามกดดันพันธมิตรในยุโรปให้ระงับโครงการ 5G ของหัวเว่ย แม้ในเวลาต่อมาทางสหรัฐฯ จะยกเลิกการแบนสินค้าหัวเว่ยชั่วคราว เพื่อลดแรงกดดันทางการค้าของทั้งสองฝ่ายที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หูสีจิน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์ในจีน มองว่า การตัดบริการด้านเทคนิคให้หัวเว่ยของสหรัฐฯ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีของจีน

 

ที่มา:

https://www.theguardian.com/world/2019/dec/09/china-tells-government-offices-to-remove-all-foreign-computer-equipment

https://www.theguardian.com/technology/2019/may/20/trump-us-ban-huawei-google-trade-war

https://www.ft.com/content/b55fc6ee-1787-11ea-8d73-6303645ac406

https://www.marketingoops.com/reports/industry-insight/made-in-china-2025-hub-of-innovative-production/

 

ภาพ: Tim Wimborne/Reuters

Tags: ,