เมื่อยานอวกาศ ฉางเอ๋อ-4 ของจีนลงจอดบนพื้นผิวด้านไกลของดวงจันทร์ในวันที่ 3 มกราคม 2019 สร้างประวัติศาสตร์เป็นยานอวกาศลำแรกที่ลงจอดในจุดนั้นของดวงจันทร์ได้สำเร็จ ไม่เพียงแค่นั้น ฉางเอ๋อ-4 ยังได้บรรทุกกล่องที่บรรจุสิ่งมีชีวิตจากโลก ขนาด 2.6 กิโลกรัม ที่เรียกว่า Lunar Micro Ecosystem (LME) ไปด้วย ภายใน LME บรรจุสิ่งมีชีวิตหกรูปแบบไว้ในสภาพที่คล้ายคลึงกับการเติบโตบนโลก ยกเว้นแรงโน้มถ่วงและรังสีดวงจันทร์ ซึ่งได้แก่ เมล็ดฝ้าย เมล็ดพันธุ์มันฝรั่ง เมล็ดพันธุ์ผักกาดก้านขาว ยีสต์ ไข่แมลงวันผลไม้ และพืชวงศ์ผักกาด 

การทดลองการเจริญเติบโตทางชีวภาพครั้งแรกบนดวงจันทร์ของจีนในครั้งนี้กลายเป็นผลงานการทดลองครั้งยิ่งใหญ่ แต่จากสิ่งมีชีวิตหกรูปแบบที่ส่งขึ้นไปนั้น มีเพียงเมล็ดฝ้ายเท่านั้นที่ให้ผลในเชิงบวก โดยเมื่อยานอวกาศลงจอดบนดวงจันทร์ ในเวลานั้นทีมที่อยู่เบื้องหลังการทดลองนี้คิดว่าเมล็ดฝ้ายงอกขึ้นมาโดยปรากฏใบเพียงใบเดียว แต่จากการประมวลผลภาพ แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีใบงอกขึ้นมาสองใบ 

กล่อง LME ไม่ได้ถูกทำให้ร้อน ดังนั้นวันแรกเมื่อถึงดวงจันทร์ หรือประมาณ 14 วันจากโลก ต้นฝ้ายจึงตายลงเมื่ออุณหภูมิลดลงถึงลบ 190 องศาเซลเซียส แต่การทดลองยังคงดำเนินต่อไปเพื่อทดสอบอายุของสิ่งมีชีวิตภายใน LME ที่นำขึ้นไปบนดวงจันทร์

ผู้นำของการทดลองในครั้งนี้คือ สี เกิงซิน จากสถาบันวิจัยเทคโนโลยีขั้นสูงที่มหาวิทยาลัยฉงชิ่ง เขาเล่าว่าในระหว่างขั้นตอนการวางแผนมีการพูดคุยกันว่าอาจจะส่งเต่าตัวเล็กไปยังดวงจันทร์ แต่ด้วยข้อจำกัดที่น้ำหนักของกล่อง LME นั้นต้องไม่เกิน 3 กิโลกรัม ภารกิจการส่งเต่าจึงไม่สำเร็จ

มันอาจจะโหดร้ายสำหรับเต่าที่ต้องเดินทางไปดวงจันทร์ เพราะมันจะเสียชีวิตเมื่ออุณหภูมิลดลง และออกซิเจนจะหมดลงในเวลาประมาณ 20 วัน

แต่หากภารกิจนั้นสำเร็จ เต่าจากเมืองจีนก็ไม่ใช่เต่าตัวแรกที่เดินทางสู่อวกาศ ในอดีตมีเต่าทั้งสองตัวในภารกิจ Zond 5 ของสหภาพโซเวียตในปี 1968 รวมไปถึงพืชและแมลงวันผลไม้ ได้ออกไปยังนอกวงโคจรของโลกสำเร็จมาแล้ว โดยที่เต่าทั้งสองตัวถูกงดการให้อาหารอันเป็นส่วนหนึ่งของการทดลอง พวกมันกลับมาสู่โลกด้วยความอดอยากหิวโหย แต่ยังมีชีวิตอยู่

ภารกิจ Zond 5 ของสหภาพโซเวียต เป็นภารกิจแรกในการดำเนินการนำสิ่งมีชีวิตจากโลกขึ้นสู่อวกาศเหนือจากวงโคจรของโลก แต่ภารกิจของ ฉางเอ๋อ-4 จากประเทศจีน ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำสิ่งมีชีวิตจากโลก (นอกเหนือจากนักบินอวกาศ) ส่งไปยังดวงจันทร์ 

สี เกิงซิน และทีมของเขากำลังรอคอยภารกิจไปดวงจันทร์ต่อไป โดยเขาหวังว่าจะสามารถส่งสิ่งมีชีวิตไปยังดวงจันทร์อีกครั้ง และหากครั้งหน้าได้รับการอนุญาตให้บรรทุกน้ำหนักที่มากขึ้นได้ พวกเขาอาจส่งสิ่งมีชีวิตที่มีรูปแบบซับซ้อนมากขึ้น แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะเป็นอะไร

จีนได้วางแผนภารกิจ ฉางเอ๋อ-6 ซึ่งเป็นภารกิจนำตัวอย่างที่เอาไปไว้บนดวงจันทร์กลับคืนมา โดยคาดการณ์ไว้ในช่วงกลางปี ​​2020 โดยในปี 2018 จีนเชิญคู่ค้าต่างประเทศให้เข้ามามีส่วนร่วมในภารกิจนี้ โดยเพิ่มน้ำหนักของอีก 10 กิโลกรัม สามารถบรรทุกการทดลองทางวิทยาศาสตร์ขึ้นไปยังดวงจันทร์ได้ ภารกิจฉางเอ๋อ-6 นี้ เป็นภารกิจสำรองของ ฉางเอ๋อ-5 ซึ่งมีกำหนดจะเป็นภารกิจไปดวงจันทร์เพื่อนำตัวอย่างกลับมาของจีน

การทดลองนำสิ่งมีชีวิตไปยังดวงจันทร์นั้น ไม่ได้มีแค่ประเทศจีนเท่านั้นที่กำลังเดินหน้าโครงการนี้อยู่ แต่ทั้ง สหรัฐอเมริกา รัสเซีย อินเดีย องค์การอวกาศยุโรปและญี่ปุ่นต่างก็มีภารกิจในการวางแผนสู่ดวงจันทร์เช่นเดียวกัน 

 

อ้างอิง

https://www.sciencealert.com/china-s-lander-successfully-grew-some-cotton-plants-on-the-moon 

https://www.universetoday.com/143614/chinas-lander-successfully-grew-some-cotton-plants-on-the-moon-fruit-flies-and-potatoes-didnt-fare-so-well/ 

 

ภาพ : Chongqing University

 

Tags: ,