ทุกวันนี้เราพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า ประเทศจีนคือหนึ่งในประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจแห่งโลกตะวันออก แต่หากย้อนกลับไป 40 ปีก่อน ภาพประเทศจีนขณะนั้นกลับตาลปัตรกับสิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะนั่นคือโลกแห่งความอดอยาก ประชากรส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้า กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดถูกควบคุมโดยรัฐตามแบบฉบับลัทธิคอมมิวนิสต์

ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบคอมมิวนิสต์ ประเทศเปรียบเสมือนโรงงานขนาดใหญ่ที่ทุกอย่างเป็นของรัฐ รัฐบาลกลางเปรียบเสมือนคณะผู้บริหารที่จะสั่งว่าจังหวัดไหน มณฑลใด ควรจะผลิตอะไร จำนวนเท่าไร รวมทั้งตั้งกฎเกณฑ์ว่าแรงงานจะต้องทำงานเวลาใด เมื่อได้ผลผลิต รัฐก็จะนำมารวบรวมและแบ่งสรรปันส่วนอย่างเท่าเทียม โดยไม่คำนึงว่าเมืองใดผลิตได้มากได้น้อย หรือใครขยันขันแข็งเป็นพิเศษ

ชาวนาในยุคนั้นเปรียบเสมือนลูกจ้างในนารวม ที่ทุกเช้าจะต้องตื่นตามเสียงนกหวีด ทำงานตลอดวัน ก่อนจะกลับไปพักผ่อนได้หลังเสียงนกหวีดแจ้งหมดเวลางาน และได้ค่าตอบแทนเป็นอาหารซึ่งรัฐเป็นผู้จัดสรรให้ ไม่มีสิ่งใดเป็นของส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทำการเกษตร หรือแม้แต่ฟางสักหนึ่งเส้น

ไม่มีสิ่งใดเป็นของส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือทำการเกษตร หรือแม้แต่ฟางสักหนึ่งเส้น

ระบอบดังกล่าวนำพาความแร้นแค้นมาให้ เช่นความอดอยากครั้งใหญ่ระหว่างปี 1959 – 1961 ซึ่งเป็นระยะแรกของนโยบายก้าวกระโดดครั้งยิ่งใหญ่ (Great Leap Forward) ของประธานเหมา ประกอบกับสภาพอากาศไม่เป็นใจ และสารพัดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทำให้ประชากรจีนจำนวนมากต้องล้มตายเพราะความหิวโหย

ในช่วงเวลาดังกล่าว เสี่ยวกัง (Xiaogang) หมู่บ้านเล็กๆ ทางตะวันออกของประเทศจีนต้องสูญเสียสมาชิกชุมชนไปกว่าครึ่ง

ราว 20 ปีหลังจากความอดอยากครั้งใหญ่ ยุคของประธานเหมาสิ้นสุดลง ประเทศจีนเปลี่ยนมือสู่การนำของ เติ้ง เสี่ยวผิง ผู้นำคนใหม่ที่มีวิสัยทัศน์เปิดกว้าง กระแสการถกเถียงเพื่อ ‘ปฏิรูปเศรษฐกิจ’ เริ่มส่งเสียงดังมากขึ้นในประเทศที่จนแสนจน กล่าวคือมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวเพียง 1 ใน 3 ของกลุ่มประเทศแอฟริกาใต้สะฮารา แต่ขณะนั้น มรดกที่ประธานเหมาทิ้งไว้ก็ยังคงเข้มแข็งเกินกว่าที่ใครจะคัดง้าง

ยกเว้นชาวนา 18 คนแห่งหมู่บ้านในชนบทของประเทศจีน

กลางค่ำคืนหนึ่งในฤดูหนาว ณ ห้องที่ทรุดโทรมในหมู่บ้านเสี่ยวกัง ชาวนาทั้ง 18 คนยอมแขวนชีวิตไว้บนเส้นด้าย พิมพ์ลายนิ้วมือตกลงในสัญญาซึ่งระบุข้อความอันเป็นพื้นฐานของทุนนิยม แต่ขัดกับหลักการพื้นฐานของคอมมิวนิสต์อย่างสิ้นเชิง แต่ทั้งหมดก็พร้อมจะเสี่ยง เพราะไม่ต้องการทนอดอยากอีกต่อไป

ข้อความในหนังสือฉบับนั้นระบุเพียงว่า “เราตกลงที่จะแบ่งที่ดินของชุมชนให้แต่ละครอบครัวอย่างลับๆ โดยทุกครอบครัวจะต้องผลิตตามโควตาของรัฐบาล ส่วนเกินสามารถเก็บไว้ในครัวเรือนได้ แต่หากข้อตกลงฉบับนี้ถูกเปิดเผย และใครคนใดคนหนึ่งในสัญญานี้ถูกขังคุกหรือประหารชีวิต คนอื่นในกลุ่มจะต้องดูแลลูกของเขาจนกว่าจะอายุถึง 18 ปี”

ภาพ 1 ข้อตกลงลับเมื่อ ค.ศ. 1978 ที่มีลายนิ้วมือของชาวนาทั้ง 18 คน ภาพจาก marginalrevolution.com

นับตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ชาวนาทั้ง 18 ครอบครัวก็ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ภายใต้ข้อตกลงที่ครอบครัวจะ ‘แอบเก็บ’ ผลผลิตบางส่วนไว้กับตนเอง หลังสิ้นสุดฤดูกาลเก็บเกี่ยว ตัวเลขผลผลิตก็เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่า สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงให้กับสมาชิกในชุมชน เพราะตัวเลขที่ก้าวกระโดดอย่างไร้ที่มาที่ไป ย่อมหลบไม่พ้นความสงสัยของรัฐบาล

เคล็ดลับความสำเร็จของหมู่บ้านเสี่ยวกังไม่ได้อยู่ที่แรงงาน ที่ดิน และอุปกรณ์ (เพราะทุกอย่างเหมือนเดิมทุกกระเบียดนิ้ว) แต่คือข้อตกลงลับว่าด้วย ‘สิทธิในสินทรัพย์’ ที่เป็นแรงจูงใจให้มนุษย์ยอมก้มหน้าก้มตาทำงานหนัก เพราะคาดหวังว่าในอนาคตจะไม่อดอยาก แต่หากตัดสิทธิในสินทรัพย์ออกจากสมการ ก็ไม่น่าแปลกใจหากเราจะอยากอุดอู้นอนอยู่บ้าน เพราะไม่ว่าเราจะเก่งฉกาจฉลาดทำงานขนาดไหน สุดท้ายผลผลิตทุกอย่างก็ถูก ‘หารเท่า’ อยู่ดี

หากตัดสิทธิในสินทรัพย์ออกจากสมการ ก็ไม่น่าแปลกใจหากเราจะอยากอุดอู้นอนอยู่บ้าน เพราะสุดท้ายผลผลิตทุกอย่างก็ถูก ‘หารเท่า’ อยู่ดี

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมลองชวนให้คิดขำๆ ว่าถ้าผู้จัดการทีมพนักงานขายเกิดนับถือลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นมา และปรับระบบเงินเดือนของทีมโดยคำนวณจากกำไรที่สมาชิกทุกคนในทีมทำให้กับบริษัทแล้วนำมาหารเท่ากัน แทบทุกคนคงคิดเห็นเหมือนกับผมว่าระบบดังกล่าวไม่มีทางไปรอด เพราะเราๆ ท่านๆ ก็รู้แก่ใจดีว่า พื้นฐานของคนส่วนใหญ่ (รวมถึงผมด้วย) แสนจะขี้เกียจทำงาน และถ้ามีโอกาสงามๆ อย่างระบบหารเท่า ก็คงอดไม่ได้ที่จะไปนั่งชิลล์จิบกาแฟ หรือหางานนอกสร้างรายได้เสริม เพราะต่อให้ขยันหรือขี้เกียจ สุดท้ายค่าตอบแทนที่ได้ก็ไม่แตกต่างกัน

หลังจากตัวเลขผลผลิตเป็นที่ประจักษ์ สัญญาลับก็ไม่ลับอีกต่อไป โชคดีที่ไม่มีใครจากหมู่บ้านเสี่ยวกังถูกนำไปประหาร แต่กลับกัน หมู่บ้านดังกล่าวกลายเป็น ‘โครงการนำร่อง’ ของรัฐบาลเติ้ง เสี่ยวผิง ก่อนจะนำไปสู่การปฏิรูปเกษตรกรรมทั่วประเทศจีนในปี 1979 โดยใช้ระบบความรับผิดชอบของครัวเรือน (household-responsibility system) ที่ทลายนารวมและแบ่งที่ดินให้แต่ละครัวเรือนบริหารจัดการด้วยตนเอง

การปฏิรูปดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นำไปสู่การบริหารจัดการแบบกระจายศูนย์มากขึ้นในอุตสาหกรรมอื่นๆ รวมถึงการเปิดประเทศเพื่อรองรับการลงทุนจากต่างชาติ และสารพัดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประเทศจีนกระโดดจากประเทศยากจนสู่ประเทศรายได้ปานกลาง พร้อมกับภาคเอกชนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และสร้าง ‘ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ’ โดยการเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปีเป็นเวลาร่วม 20 ปี และนำพาชาวจีนส่วนใหญ่ให้หลุดพ้นจากความยากจน

กราฟแสดงผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ของประเทศจีนตั้งแต่ ค.ศ. 1960 ถึง ค.ศ. 2016 จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างก้าวกระโดดราวช่วงปลายของศตวรรษที่ 20 ภายหลังการปฏิรูปเศรษฐกิจ (ข้อมูลจากธนาคารโลก)

อย่างไรก็ดี รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนในปัจจุบันมีท่าที ‘กลับด้าน’ จากการปฏิรูปของเติ้ง เสี่ยวผิง โดยเริ่มเข้าแทรกแซงภาคเอกชน เช่น การที่บริษัทหลายร้อยแห่งต้อง ‘เพิ่มพื้นที่’ ให้ตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์เข้าไปมีบทบาทอย่างเป็นกิจลักษณะ รวมถึงการหยุดกระบวนการแปลงกิจการรัฐวิสาหกิจให้เข้าสู่ภาคเอกชน

ในอนาคต ก็คงคาดเดาได้ยากว่า รัฐบาลจีนจะกลับมาบริหารประเทศตามแนวคิด ‘วางแผนจากส่วนกลาง’ อีกหรือไม่ แต่สำหรับผู้สนใจประวัติศาสตร์ ก็สามารถแวะไปเยี่ยมชมหมู่บ้านเสี่ยวกังซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนเศรษฐกิจจีนสู่ยุคทุนนิยม ดูเอกสารลับของกลุ่มชาวนา รวมถึงตามหาประวัติศาสตร์ที่ยังมีชีวิตได้นะครับ

 

เอกสารประกอบการเขียน

Fact Box

ประเทศจีนใน 100 ปีที่ผ่านมาอาจดูยากจน แร้นแค้น และล้าหลัง แต่ในหนังสือความมั่งคั่งแห่งชาติ (The Wealth of Nations) โดยอดัม สมิธ บิดาแห่งทุนนิยม ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1776 กล่าวถึงประเทศจีนว่า “เป็นดินแดนที่ร่ำรวยมาอย่างยาวนาน ตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง การเกษตรยอดเยี่ยม อุตสาหกรรมก้าวหน้า และมีประชากรมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ความมั่งคั่งนั้นต่อเนื่องมั่นคงมาตั้งแต่สมัยที่มาร์โค โปโล ไปเยือนประเทศจีนราว 500 ปีก่อน และได้กล่าวถึงการเกษตร อุตสาหกรรม และประชากร ซึ่งแทบไม่แตกต่างจากที่นักเดินทางในยุคปัจจุบันกล่าวถึง” รวมถึงระบุอีกว่า “ประเทศจีนนั้นร่ำรวยกว่าไม่ว่าส่วนใดของทวีปยุโรป และหากเปรียบเทียบค่าครองชีพระหว่างจีนกับยุโรป ก็จะพบว่าราคาข้าวในประเทศจีนถูกกว่ามาก หากเปรียบเทียบกับข้าวสาลีที่ขายในยุโรป”

สำหรับผู้สนใจ สามารถอ่านประเทศจีนในมุมมองของอดัม สมิธ ได้ที่ ADAM SMITH, THE WEALTH OF NATIONS (1776): ON CHINA

Tags: , , , , , ,