จีนกำลังพัฒนาขีดความสามารถที่จะยิงจรวดนิวเคลียร์จากเรือดำน้ำตอบโต้ข้าศึกที่โจมตีแผ่นดินใหญ่ด้วยนิวเคลียร์ พร้อมกับพัฒนาขีปนาวุธสำหรับถล่มเรือบรรทุกเครื่องบินด้วย
นอกจากกองเรือน้ำลึกทำหน้าที่คุ้มครองแผ่นดินใหญ่อย่างที่เล่าในตอนที่หนึ่ง ขณะนี้ จีนยังมีกองเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ เช่นเดียวกับสหรัฐฯ รัสเซีย อังกฤษ และฝรั่งเศส แถมขีปนาวุธบางรุ่นของจีนยังมีสมรรถนะสูงกว่าของสหรัฐฯ และพันธมิตร
การเมืองระหว่างประเทศเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน รัฐใหญ่ไม่เคยรามือในเกมช่วงชิงหรือรักษาตำแหน่งหมายเลขหนึ่ง ด้วยว่าเดิมพันของการครองสถานะสุดยอดในพีระมิดอำนาจนั้นสูงลิบลิ่ว การประชันขันแข่งจึงเกิดขึ้นทุกเวลานาที
ภายใต้สภาพการณ์แบบนี้ การพัฒนาขีดความสามารถทางการทหารย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะสำหรับรัฐที่กำลังผงาดขึ้นท้าทายโครงสร้างอำนาจเดิมในการเมืองโลกอย่างเช่นจีน
ไม่ว่าจีนมีเจตนาที่จะรื้อสถานะเดิม สร้างกรอบความสัมพันธ์แบบใหม่ที่มีจีนเป็นจอมมหาอำนาจ หรือไม่ ในขั้นต่ำ ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จีนจะต้องตระเตรียมกำลังรบ อย่างน้อยในเชิงตั้งรับ เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ที่เพิ่มพูนขึ้น และปกป้องตัวเองในเกมสกัดดาวรุ่ง นี่คือแรงขับของการเสริมสร้างเขี้ยวเล็บ
ขีปนาวุธนิวเคลียร์ใต้สมุทร
ขีดความสามารถใหม่ของจีน คือ เรือดำน้ำพลังนิวเคลียร์ติดตั้งขีปนาวุธ ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า จีนมีเขี้ยวเล็บที่ว่านี้ประจำการที่ฐานทัพในเมืองซันหยาทางตอนใต้สุดของเกาะไหหลำ
ขีปนาวุธดังกล่าวติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ นั่นแปลว่า ถึงแม้คลังแสงนิวเคลียร์บนบกถูกฝ่ายปรปักษ์โจมตีด้วยนิวเคลียร์ จีนก็ยังไม่หมดประตูสู้ เพราะมีขีดความสามารถที่จะตอบโต้ด้วยจรวดนิวเคลียร์ ศัพท์แสงด้านยุทธศาสตร์เรียกขีดความสามารถนี้ว่า ‘second-strike capability’
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ระบุในรายงานประจำปีเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมาว่า เวลานี้ จีนมีขีดความสามารถในการป้องปรามนิวเคลียร์โดยมีฐานปล่อยในทะเลแล้ว (sea-based nuclear deterrence) เรือดำน้ำแต่ละลำติดตั้งขีปนาวุธชนิดทิ้งตัว (ballistic missile) ได้ถึง 12 ลูก ทุกลูกติดหัวรบนิวเคลียร์ และยิงได้ไกล 7,200 กม. ทำให้สหรัฐฯ ตกอยู่ในรัศมีการยิง
ประเด็นที่ยังไม่ทราบแน่ชัดก็คือ จีนคืบหน้าไปถึงขั้นที่ส่งเรือดำน้ำติดอาวุธเต็มพิกัดออกลาดตระเวนตลอด 24 ชั่วโมง เช่นเดียวกับเรือดำน้ำของบรรดาชาติมหาอำนาจ หรือยัง
นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่า จีนไปไกลถึงขั้นนั้นแล้ว แต่องค์การข่าวกรองเพื่อการป้องกันประเทศในสังกัดเพนตากอนระบุในรายงานเมื่อเดือนมกราคมว่า ถ้าจะป้องปรามการโจมตีด้วยนิวเคลียร์อย่างต่อเนื่องโดยอาศัยฐานปล่อยในทะเล ต้องใช้เรือดำน้ำที่ติดตั้งขีปนาวุธทิ้งตัวอย่างน้อย 5 ลำ แต่ตอนนี้จีนมีเรือดำน้ำชั้นนี้อยู่แค่ 4 ลำ (Jin-class submarines)
ชัยภูมิของสงครามน้ำลึก
จีนเลือกเมืองซันหยาเป็นที่ตั้งของกองเรือดำน้ำติดตั้งขีปนาวุธนิวเคลียร์ เพราะพื้นที่นั้นอยู่ใกล้กับทางเข้าออกร่องน้ำลึกที่เชื่อมกับทะเลจีนใต้ ซึ่งจะออกสู่ท้องทะเลไปได้ไกลพอที่จะถึงรัศมีโจมตีสหรัฐฯ
ทะเลเหลืองมีระดับน้ำตื้นเกินกว่าที่จะอำพรางเรือดำน้ำขนาดใหญ่ได้ ส่วนทะเลจีนตะวันออกนั้น ถึงแม้ลึกกว่า ทว่ามีแนวคาบสมุทรเกาหลี แนวหมู่เกาะญี่ปุ่น และเกาะไต้หวัน ล้อมบังทางเข้าออก
ถ้าจะออกจากเกาะไหหลำไปให้ถึงระยะยิงสหรัฐฯ เรือดำน้ำจีนต้องเล็ดรอดการเฝ้าตรวจของฝ่ายอเมริกัน แล่นเข้าสู่ท้องทะเลทางฟากตะวันออกของหมู่เกาะฟิลิปปินส์ให้ได้
มองในมุมยุทธศาสตร์แล้ว จึงเข้าใจได้ว่า ทำไมจีนจึงเล่นบทกร้าวในการอ้างกรรมสิทธิ์ และสร้างเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกทางการทหารบนเกาะต่างๆ ในทะเลจีนใต้
เรือดำน้ำชั้นจินได้รับการคุ้มกันอย่างดีจากเรือดำน้ำของต่างชาติที่พยายามตรวจจับความเคลื่อนไหว นอกจากส่งเรือผิวน้ำและเครื่องบินคอยประกบแล้ว จีนยังส่งเรือคอร์เว็ตรุ่น 056A ซึ่งเป็นเรือล่าเรือดำน้ำที่ไฮเทคที่สุดออกตรวจหาเรือดำน้ำต่างชาติในน่านน้ำทางตอนใต้ของญี่ปุ่นและทางตะวันออกของฟิลิปปินส์ด้วย แถมยังส่งเครื่องบินรุ่น Y-8GX6 ขึ้นไประแวดระวังเรือดำน้ำต่างชาติจากทางอากาศอีกต่างหาก
เหล่ากำลังรบใหม่
จีนยังอาศัยจังหวะที่สหรัฐฯ ถูกมัดมือด้วยข้อตกลงทวิภาคีกับรัสเซีย ห้ามพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลาง เร่งพัฒนาขีปนาวุธชนิดนี้จนเทียบเคียงหรือล้ำหน้าสหรัฐฯ พร้อมกับยกระดับหน่วยทหารในส่วนนี้ขึ้นเป็นเหล่ากำลังรบใหม่
ขีปนาวุธซึ่งมีชื่อว่า ตงเฟิง (Dongfeng) ที่ว่านี้ออกแบบให้สามารถโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินและฐานทัพ ซึ่งเป็นกำลังหลักของสหรัฐฯ ในการครองความเป็นหนึ่งในภูมิภาค และปกป้องชาติพันธมิตรอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน
พร้อมกันนั้น จีนกำลังพัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียง ซึ่งเดินทางเหนือความเร็วเสียงได้อย่างน้อย 5 เท่า และหันเหทิศทางในมุมแคบได้ ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ ยังไม่มีระบบป้องกันขีปนาวุธแบบนี้
สรรพคุณสำคัญของตงเฟิง คือ ปรามไม่ให้เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐฯ แล่นเข้าใกล้ชายฝั่งของจีน
ขณะเดียวกัน จีนได้ยกระดับเหล่าทหารปืนใหญ่ขึ้นเป็นเหล่าทหารขีปนาวุธ (PLA Rocket Force)
ในระยะหลัง เพนตากอนเริ่มยอมรับว่า ขีปนาวุธจีนมีความเหนือชั้นกว่าของอเมริกัน อดีตผู้บัญชาการกองเรือแปซิฟิก พล.ร.อ.แฮร์รี แฮร์ริส ให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วว่า เวลานี้ สหรัฐฯ เสียเปรียบจีนในแง่ที่ว่า จีนมีขีปนาวุธทิ้งตัวที่ติดตั้งบนภาคพื้นซึ่งคุกคามฐานทัพและเรือรบของสหรัฐฯ ทางฝั่งตะวันตกของแปซิฟิก
เหตุที่สหรัฐฯ ไม่มีขีปนาวุธแบบเดียวกับของจีนก็เพราะเป็นอาวุธต้องห้ามตามสนธิสัญญาห้ามพัฒนาขีปนาวุธพิสัยกลางที่ทำกับรัสเซียเมื่อปี 1987 ซึ่งขีปนาวุธจีน รุ่น DF-26 นั้น ยิงได้ไกล 4,000 กม. จึงโจมตีฐานทัพอเมริกันบนเกาะกวมได้ ขณะที่ขีปนาวุธร่อนรุ่น CJ-10 ของจีนซึ่งมีพิสัย 1,500 กม.ก็สามารถถล่มฐานทัพสหรัฐฯ ในเกาหลีใต้และญี่ปุ่น
อย่างไรก็ดี นักการทหารบอกว่า ขีดความสามารถทั้งหลายของจีนยังถือเป็นเพียงศักยภาพ สรรพาวุธประดามีที่ว่ามานี้ รวมทั้งกำลังพล ยังไม่เคยผ่านการรบใหญ่ในสมรภูมิจริง เขี้ยวอาจกัดไม่เข้า เล็บอาจข่วนไม่ถลอก ก็เป็นได้
ที่แน่ๆ ก็คือ ฝ่ายสหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ เริ่มพัฒนาขีดความสามารถสำหรับรับมือและตอบโต้จีนแล้ว.
อ้างอิง:
Photographer: Reuters/ China Stringer Network
Tags: สหรัฐอเมริกา, จีน, การทหาร