ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามกฎหมายประชาธิปไตยของฮ่องกงแล้ว ผู้นำสหรัฐฯ อาจตัดสินใจด้วยสมการของการเมืองภายในมากกว่าทำไปเพราะเชิดชูค่านิยมอเมริกัน ข้างฝ่ายจีนนั้นมีไพ่ในมือให้เลือกทิ้งแก้ลำอเมริกาอยู่หลายใบ คำถามมีอยู่ว่า ปักกิ่งจะตอบโต้ตามคำขู่หรือไม่
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (พฤหัสบดีที่ 27 พ.ย.) จีนประณามกรณีประธานาธิบดีทรัมป์ลงนามกฎหมายประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนฮ่องกงด้วยถ้อยคำดุเดือด กระทรวงต่างประเทศจีนระบุในถ้อยแถลงว่า กฎหมายฉบับนี้ “เลวทรามต่ำช้า และแฝงเจตนาชั่วร้าย” (“The nature of this is extremely abominable, and harbours absolutely sinister intentions”)
ปักกิ่งขู่ด้วยว่า วอชิงตันแทรกแซงกิจการภายในของจีน จีนจึงจะตอบโต้อย่างหนักหน่วง อย่างไรก็ตาม จีนยังอุบเงียบว่า มาตรการที่จะงัดออกมาใช้ตอบโต้สหรัฐฯ นั้น มีอะไรบ้าง
จีนมีไม้เด็ดให้หยิบใช้ได้หลายอย่าง ปัญหาคือ จีนพร้อมจะสวนหมัดจริงๆหรือ เพราะถ้าโรมรันพันตูต่อไป ฝ่ายที่เจ็บตัวอาจไม่ได้มีแต่อเมริกา และยังไม่แน่ว่า ฝ่ายไหนจะบอบช้ำกว่า
ความมีอิสระของฮ่องกง
ทรัมป์ประกาศใช้กฎหมายประชาธิปไตยฮ่องกงเมื่อวันพุธ (27 พ.ย.) หลังจากสภาคองเกรสผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยมติท่วมท้นเมื่อวันพุธก่อนหน้า (20 พ.ย.) โดยวุฒิสมาชิกโหวตผ่านด้วยเสียงเอกฉันท์ และสภาผู้แทนราษฎรมีเสียงไม่เห็นชอบแค่ 1 เสียง
เนื้อหาหลักของกฎหมายฉบับนี้ก็คือ ถ้าสหรัฐฯ ประเมินว่า ฮ่องกงขาดความเป็นอิสระเนื่องจากจีนละเมิดหลักการหนึ่งประเทศ สองระบบ รัฐบาลอเมริกันจะต้องเพิกถอนสถานะพิเศษที่มอบให้แก่ฮ่องกงตามกฎหมายนโยบายฮ่องกงปี 1992
สถานะพิเศษที่ว่านี้ทำให้ฮ่องกงได้รับการปฏิบัติจากสหรัฐฯ แยกต่างหากจากเมืองอื่นๆ ของจีน ที่สำคัญคือสถานะพิเศษด้านการศุลกากรและการค้า ซึ่งส่งผลให้ฮ่องกงยังคงเจริญรุ่งเรืองต่อมาหลังคืนสู่อธิปไตยของจีนเมื่อปี 1997
หลักการของกฎหมายประชาธิปไตยฮ่องกง ก็คือ ในเมื่อฮ่องกงได้ประโยชน์บนหลักความมีอิสระที่จีนให้คำมั่นไว้ ดังนั้น ในวันใดที่ความมีอิสระนั้นหดหายไป ฮ่องกงย่อมมีสภาพไม่ต่างจากเมืองอื่นๆ ของจีน สหรัฐฯ จึงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิบัติต่อฮ่องกงเป็นกรณีพิเศษอีกต่อไป
เกมการเมืองของ ‘ทรัมป์’
ทำไมทรัมป์จึงลงนามประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ ว่าไปแล้ว ผู้นำทำเนียบขาวอาจไม่ได้ทำไปเพราะอุดมคติเชิดชูเสรีภาพ ปกป้องสิทธิมนุษยชน มากเท่ากับการคิดคำนวณผลได้-ผลเสียในเกมการเมืองภายในประเทศ
ตามรัฐธรรมนูญอเมริกัน อำนาจของประธานาธิบดีในการออกกฎหมายมีช่องทางทำได้ 2 อย่าง คือ ลงนามประกาศใช้ หรือปฏิเสธที่จะลงนาม ในกรณีที่ปฏิเสธ หัวหน้าฝ่ายบริหารมีช่องทางดำเนินการได้ 2 แบบ คือ ใช้สิทธิยับยั้ง หรือนิ่งเฉย
ช่องทางเหล่านี้ออกแบบภายใต้หลักการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ซึ่งต่างได้รับฉันทานุมัติให้เป็นตัวแทนในการใช้อำนาจจากประชาชน ในกรณีที่ลงนาม ผู้นำทำเนียบขาวอาจออกถ้อยแถลง (‘signing statement’) แสดงข้อวิตกเกี่ยวกับกฎหมายฉบับนั้นๆ ไว้ด้วยก็ได้ หรือแสดงเจตนาว่าต้องการให้มีการใช้บังคับเฉพาะส่วนใดของกฎหมายนั้นก็ได้
ด้วยเหตุที่รัฐสภาผ่านกฎหมายดังกล่าวด้วยเสียงแทบเป็นเอกฉันท์ ทรัมป์จึงเสมือนถูกมัดมือโดยปริยายว่าจะต้องลงนาม เพราะถ้าใช้สิทธิวีโต้ สภาคองเกรสก็ยังสามารถทำให้กฎหมายนี้มีผลใช้บังคับได้อยู่ดี ด้วยการลงมติ ทั้งในสภาสูงและสภาล่าง ยืนยันด้วยเสียง 2 ใน 3
หากทรัมป์เลือกนิ่งเฉย ภายใน 10 วันทำการหลังจากประธานาธิบดีได้รับกฎหมาย (ไม่นับวันอาทิตย์) คือ วันที่ 3 ธันวาคม กฎหมายฉบับนี้จะมีผลโดยอัตโนมัติ
ดังนั้น ผู้นำจากพรรครีพับลิกันจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากยอมเซ็นแต่โดยดี แถมการลงนามยังเป็นการยกการ์ดสูง ป้องกันไม่ให้ฝ่ายพรรคเดโมแครตหยิบยกเป็นประเด็นโจมตีในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2020 ด้วย
อย่างไรก็ดี ทรัมป์ยังคงแสดงท่าทีแบบแทงกั๊ก ด้วยการออกถ้อยแถลงแนบพร้อมการลงนาม แสดงความกังวลว่า “บางส่วนในกฎหมายฉบับนี้จะกระทบต่อการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญของประธานาธิบดีในการดำเนินนโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา”
ผู้นำสหรัฐฯ บอกในถ้อยแถลงด้วยว่า “ผมลงนามกฎหมายฉบับนี้ด้วยความเคารพต่อประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และประชาธิปไตยฮ่องกง”
ไพ่ในมือจีน
ถึงแม้จีนประกาศขึงขังว่าจะตอบโต้ แต่นักสังเกตการณ์สงสัยว่า ท้ายที่สุด จีนอาจทำเฉยเสีย เหมือนกับหลายกรณีก่อนหน้านี้ เพราะเกรงผลสะท้อนกลับทางเศรษฐกิจ
เหมยซินหยู นักวิจัยประจำหน่วยงานคลังสมองในสังกัดกระทรวงพาณิชย์จีน บอกว่า จีนอาจหยิบยกเรื่องกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาทวงถามท่าทีของสหรัฐฯ ว่าจะเอาอย่างไร หรืออาจขอคำมั่นสัญญาว่าจะไม่นำกฎหมายฉบับนี้มาใช้
สำหรับไม้เด็ดที่จีนอาจใช้แก้ลำอเมริกา ว่ากันว่ามีทั้งเครื่องมือทางเศรษฐกิจ และเครื่องมือทางการทูต
ในด้านเศรษฐกิจ กลยุทธ์เตะถ่วงการเจรจาการค้า นับเป็นทางเลือกหนึ่ง อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่า ถ้าทั้งสองฝ่ายยังไม่บรรลุข้อตกลงระยะหนึ่ง อัตราภาษีศุลกากรชุดใหม่จะเริ่มมีผลในช่วงกลางเดือนธันวาคม ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนที่กำลังเติบโตในอัตราต่ำที่สุดในช่วงหลายทศวรรษ ขณะที่การประท้วงในฮ่องกงยังไม่มีวี่แววเลิกรา
ทางเลือกอื่นๆ ยังมีเช่น กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศบัญชีรายชื่อนิติบุคคลอเมริกันที่ไม่น่าเชื่อถือ (‘unreliable entities’ list) ซึ่งจีนกล่าวหาว่าละเมิดกฎเกณฑ์ของระบบตลาด ทำลายสิทธิประโยชน์ของบริษัทจีน หรือบั่นทอนความมั่นคงของประเทศจีน หรือจีนอาจหยุดซื้อสินค้าอเมริกัน เทขายพันธบัตรสหรัฐฯ หรืองดส่งออกธาตุหายากไปยังสหรัฐฯ
ในด้านการทูต จีนอาจยุติการให้ความร่วมมือในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือและอิหร่าน เรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศ หรือลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต และอาจงดออกวีซ่าให้แก่ ส.ส.และวุฒิสมาชิกที่จัดทำร่างกฎหมายฉบับนี้
อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่า จีนเคยเงื้อง่าราคาแพง แต่สุดท้ายไม่ลงดาบฟันมาแล้วหลายครั้ง เช่น กรณีสหรัฐฯ ขายอาวุธให้ไต้หวัน คว่ำบาตรบริษัทที่พัวพันการละเมิดสิทธิมนุษยชนในซินเกียง และขึ้นบัญชีดำหัวเว่ย.
อ้างอิง:
ภาพ: REUTERS/Damir Sagolj
Tags: ฮ่องกง, จีน, ประชาธิปไตย, สงครามการค้า, สหรัฐอเมริกา