วันที่ 4 มิถุนายนนี้ จะเป็นวันครบรอบ 30 เหตุการณ์การปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินในปี 1989 ของประเทศจีน ก่อนหน้านี้ไม่นานรัฐบาลจีนเพิ่งสั่งบล็อคเว็บไซต์วิกิพีเดียในทุกภาษา ทำให้ชาวจีนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลใดๆ ก็ตามที่ปรากฏอยู่ในวิกิพีเดียได้อีกต่อไป
ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจีน พล.อ.เว่ยเฟิ่งเหอ กล่าวในที่ประชุมระดับภูมิภาคที่สิงคโปร์ว่า นโยบายการใช้อาวุธปราบปรามผู้ชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินซึ่งคาดการณ์ว่ามีผู้ร่วมถึงหลักแสนคน และมีผู้เสียชีวิตหลักร้อยถึงหลักพัน บาดเจ็บราวเกือบหมื่นคนนั้น ถือเป็นการกระทำที่ถูกต้องแล้ว เพราะทำให้ประเทศจีนพัฒนาและมั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้
“เหตุการณ์นั้นเป็นความวุ่นวายทางการเมืองและรัฐบาลต้องใช้มาตรการเพื่อหยุดความวุ่นวาย ซึ่งเป็นนโยบายที่ถูกต้องแล้ว 30 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นการพิสูจน์ได้แล้วว่าเพราะมาตรการของจีนที่ตัดสินใจในตอนนั้น ทำให้ประเทศได้พัฒนาและมีความมั่นคงในปัจจุบันนี้” พล.อ.เว่ยเฟิ่งเหอ กล่าว
คำกล่าวของ พล.อ.เว่ยเฟิ่งเหอ เกิดหลังจากเหตุการณ์ที่มีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์เกี่ยวกับเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมินก่อนวันครบรอบ 30 ปี ซึ่งหลังจากนั้นบัญชีก็ถูกระงับการใช้งาน โดยทางทวิตเตอร์ออกประกาศผ่านแอคเคานต์ Twitter Public Policy ว่า การถูกระงับการใช้งานเป็นเพราะ ทวิตเตอร์กำลังจัดการแพลตฟอร์ม รวมไปถึงสแปมและพฤติกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือ จึงอาจจะก่อให้เกิดความผิดพลาดได้ ซึ่งทางทวิตเตอร์กำลังพยายามหาทางแก้ไขอยู่ ขณะที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์ตั้งข้อสังเกตว่าการระงับการใช้งานอันเกิดจากการจัดการนี้เหตุใดจึงเป็นเฉพาะโพสต์ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นเพราะทวิตเตอร์ได้รับนโยบายจากรัฐบาลจีนให้เซ็นเซอร์เรื่องนี้ใช่หรือไม่ โดยจากเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายคนไม่พอใจ และร่วมกันสร้างแฮชแท็ก #TwitterMassacre เพื่อประท้วงการจัดการครั้งนี้ของทวิตเตอร์ แต่ก็ดูเหมือนว่าแฮชแท็กนี้จะถูกบล็อคด้วยเช่นเดียวกัน
ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนไม่เคยออกมาระบุตัวเลขผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว และในวันที่ 4 มิถุนายนนี้ ทางการจีนจะไม่มีพิธีรำลึกใดๆ ถึงเหตุการณ์ดังกล่าวทั้งสิ้น
อ้างอิง
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-48489002
https://twitter.com/Policy/status/1134825963089465344
https://www.cnbc.com/2019/05/15/china-blocks-wikipedia-in-all-languages.html
ภาพ : Thomas Pete/REUTERS
Tags: จีน, เซนเซอร์, เทียนอันเหมิน