ถึงแม้ชิลีมีเศรษฐกิจดีที่สุดในย่านละตินอเมริกา นโยบายขึ้นค่ารถใต้ดินจุดชนวนให้ผู้คนนับล้านออกมาขับไล่รัฐบาล ประธานาธิบดีหัวเอียงขวาสนองตอบด้วยมาตรการลดแลกแจกแถม ตามด้วยคำประกาศโละคณะรัฐมนตรียกชุด ต้องคอยดูว่า การประท้วงซึ่งเรียกร้องการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ และลบล้างรัฐธรรมนูญยุคทหาร จะยุติหรือไม่
ภายในเวลาไม่ถึงเดือน ชิลีซึ่งเป็นประเทศที่สงบ มีเสถียรภาพ เกิดเหตุประท้วงที่มีคนเข้าร่วมนับล้านจากประชากร 18 ล้านคน การประท้วงเป็นไปอย่างรุนแรง เกิดเหตุปล้นและเผาอาคารร้านค้า ทำลายของหลวง อย่างกว้างขวาง
รัฐบาลตอบโต้ด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน ส่งทหารเข้าสมทบกับตำรวจรวมประมาณ 20,000 นาย ควบคุมสถานการณ์ในกรุงซานดิอาโก ทว่าการใช้ไม้แข็งยิ่งโหมกระพือความเดือดดาลของประชาชน
นั่นทำให้ประเด็นเรียกร้องบานปลาย ขยายจากจุดตั้งต้นเรื่องความไม่เป็นธรรมในสังคมไปสู่เรื่องการปฏิรูปการเมือง ทำลายมรดกระบอบเผด็จการของปิโนเชต์ ด้วยการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ขึ้นค่าโดยสาร 4 เซนต์
การประท้วงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งบางตัวเลขบอกว่า ก่อความเสียหายมูลค่ากว่า 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 27,100 ล้านบาท มีจุดเริ่มต้นจากคำประกาศเมื่อ 8 ตุลาคม ที่จะขึ้นค่าโดยสารรถไฟใต้ดินเป็นเงิน 4 เซนต์ หรือราว 1 บาทเศษ
คำประกาศนี้จุดกระแสความไม่พอใจอย่างรวดเร็ว การชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 18 ต.ค. ผู้ประท้วงปะทะกับตำรวจปราบจลาจล สถานีรถไฟใต้ดินหลายแห่งถูกขว้างด้วยระเบิดเพลิง แทบทุกสถานีในจำนวนทั้งหมด 164 สถานีถูกบุกทำลายข้าวของ มี 41 แห่งหมดสภาพที่จะใช้งานได้อีก
ราวเที่ยงคืนของวันนั้น ประธานาธิบดี เซวาสเตียน ปินเญรา มหาเศรษฐีผู้ผันตัวมาเล่นการเมืองพร้อมชูนโยบายกลไกตลาด ประกาศภาวะฉุกเฉิน ส่งทหารเข้ารักษาการณ์ในเมืองหลวง ทำให้ชิลีในวันรุ่งขึ้นมีบรรยากาศย้อนยุคเผด็จการทหาร ออกุสโต ปิโนเชต์ ซึ่งเคยปกครองประเทศเมื่อช่วงปี 1973-1990
การประกาศภาวะฉุกเฉินยิ่งสร้างความไม่พอใจในหมู่ประชาชน การประท้วงขยายตัวออกไปในหลายเมือง ผู้นำซึ่งมีแนวทางกลาง-ขวา ยอมระงับแผนขึ้นค่ารถใต้ดิน พร้อมกับประกาศเคอร์ฟิวในเขตเมืองหลวง แต่เหตุรุนแรงยังไม่ยุติ เริ่มมีคนตายในวันที่ 20 ต.ค. นับจนถึงเมื่อสุดสัปดาห์ มีผู้เสียชีวิตด้วยน้ำมือของกองกำลังความมั่นคงอย่างน้อย 5 ราย
นับแต่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ นอกจากมีผู้เสียชีวิต 19 ราย ยังมีผู้บาดเจ็บอีก 584 คน และมีประชาชนถูกจับประมาณ 2,410 คน
‘ทหารออกไป!’
การประท้วงยังดำเนินสืบเนื่องในสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันจันทร์ที่แล้ว (21 ต.ค.) คนนับแสนออกมาชุมนุมโดยสงบ ผู้ประท้วงตะโกน “ทหารออกไป! ทหารออกไป!”
พอถึงวันอังคาร ประธานาธิบดีปินเญราออกมาขอโทษประชาชน พร้อมกับประกาศนโยบายเอาอกเอาใจชุดใหญ่ มีตั้งแต่เพิ่มเงินบำนาญขั้นต่ำ เพิ่มค่าจ้าง ขึ้นภาษีคนรวย จนถึงระงับค่าธรรมเนียมกระแสไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ชาวชิลียังไม่พึงพอใจ สหภาพแรงงานและกลุ่มขบวนการทางสังคมประกาศนัดหยุดงานทั่วประเทศ
ในวันพุธ คนนับแสนลงสู่ท้องถนนทั้งในเมืองหลวงและในหลายสิบเมือง ผู้เข้าร่วมมาจากคนหลากหลายชนชั้น เช่น สมาพันธ์สหภาพแรงงานเหมืองทองแดง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทรงอิทธิพลเพราะชิลีเป็นผู้ผลิตทองแดงรายใหญ่ที่สุดในโลก กลุ่มหมอพยาบาล และคนงานท่าเรือ
คนเหล่านี้เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกภาวะฉุกเฉินในทันที พร้อมกับขอให้รัฐบาลปรับขึ้นเบี้ยเลี้ยงชีพคนวัยเกษียณ ลดค่าหมอ ค่ายา ค่าเทอม รวมทั้งขอให้ประธานาธิบดีลาออก และขอให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้แทนของเดิมซึ่งมาจากเผด็จการปิโนเชต์
หลังจากประชาชนราว 1 ล้านคนออกมาประท้วงเมื่อวันศุกร์ ปินเญรา ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคม 2018 ประกาศในวันเสาร์ว่า เขาได้ขอให้รัฐมนตรีทุกคนลาออก และเขาจะยกเลิกภาวะฉุกเฉินหากว่า “สถานการณ์เอื้ออำนวย” ขณะที่ทหารประกาศว่า คำสั่งห้ามออกนอกเคหสถานยามวิกาลจะยกเลิก
เชื้อมูลของความไม่สงบ
การประท้วงรุนแรงในชิลีเกิดจากมูลเหตุอะไร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กีเลอร์โม โฮลซ์มานน์ แห่งมหาวิทยาลัยวาลปาไรโซ อธิบายว่า ผู้ประท้วงแยกได้เป็น 3 พวก พวกแรกคือฝ่ายซ้ายที่ต่อต้านการพัฒนาแบบตลาดเสรี พวกที่สองคือ คนธรรมดาที่ไม่พอใจกับค่าครองชีพสูง พวกที่สามคือ โจรผู้ร้ายที่ผสมโรงเข้าปล้นชิง
อันที่จริง ชิลีไม่ใช่ประเทศยากจน ธนาคารโลกจัดชิลีอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง สินแร่ทองแดงได้ช่วยลดสัดส่วนคนยากจนที่มีรายได้วันละ 5.5 ดอลลาร์สหรัฐ ลงจาก 30% ของประชากรเมื่อปี 2000 ลงมาอยู่ที่ 6.4% ในปี 2017
อย่างไรก็ดี ชิลีซึ่งเป็นสมาชิกในกลุ่มประเทศโออีซีดี มีความเหลื่อมล้ำสูงที่สุดในกลุ่ม โดยมีช่องว่างด้านรายได้ถ่างกว้างกว่าอัตราเฉลี่ยภายในกลุ่มถึง 65% และชิลียังมีความเหลื่อมล้ำพอๆ กับเพื่อนบ้านในภูมิภาคด้วย คนงานชิลีราวครึ่งหนึ่งมีรายได้ไม่เกินเดือนละ 550 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 16,600 บาท) ขณะที่กลุ่มคนที่รวยที่สุดมีรายได้สูงกว่ากลุ่มคนที่จนที่สุดถึง 13.6 เท่า
โรดริโก เปเรซ นักเศรษฐศาสตร์การพัฒนาของมหาวิทยาลัย Universidad Mayor บอกว่า คนยากจนกับคนชั้นกลางในชิลีมีชีวิตความเป็นอยู่ไม่ดีนัก รัฐไม่ได้ทำอะไรเลยในเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ หรือจัดสรรการกระจายทรัพยากร
เมื่อการประท้วงค่าโดยสารถูกตอบโต้ด้วยกำลังทหาร แถมประธานาธิบดีนั่งกินพิซซาแบบทองไม่รู้ร้อนในคืนแรกของเหตุการณ์จลาจล ผู้คนจึงลุกฮือ
มาร์เซโล เมลลา นักรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยซานติอาโก บอกว่า การประท้วงระลอกนี้มี 2 มิติ ด้านหนึ่งเรียกร้องความเป็นธรรมทางสังคม อีกด้านหนึ่งเรียกร้องการปฏิรูปการเมือง ไม่อาจบอกได้แน่ชัดว่าด้านไหนเป็นหลัก ด้านไหนเป็นรอง และยังบอกไม่ได้ว่า ผู้คนจะพอใจหรือเปล่าที่รัฐบาลตอบสนองแค่การเอาเงินของรัฐมาหว่านโปรย แต่ไม่ได้รื้อโครงสร้างเศรษฐกิจที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
ช่องว่างทางเศรษฐกิจสังคมเป็นชนวนของความร้าวฉานมาทุกยุคทุกสมัย รัฐบาลชิลีจะจัดปรับบ้านเมืองให้เข้าที่เข้าทางอย่างไร ก่อนที่ประเทศจะเป็นเจ้าภาพการประชุมกลุ่มเอเปคในเดือนพฤศจิกายน ต้องคอยติดตาม.
อ้างอิง:
AFP via Yahoo! News, 26 October 2019
AFP via Yahoo! News, 26 October 2019
ภาพปก: REUTERS/Ivan Alvarado
Tags: ความเหลื่อมล้ำ, การประท้วง, ชิลี, ละตินอเมริกา, ปิโนเชต์